Shiny Object Syndrome อาการที่เราโฟกัสกับอะไรไม่ได้สักอย่าง

เคยเป็นไหม อยากทำอะไรหลายอย่าง แต่ทำได้ไม่เสร็จสักอย่าง ?

เมื่อเรากำลังทำงานอะไรบางอย่างอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ก็คิดไอเดียดีๆ ออก แล้วจึงหันไปทำสิ่งนั้นแทน ปรากฎทำไปทำมา มีงานใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนล้นมือ แต่กลับทำไม่เสร็จสักงานเดียว

นี่เป็นลักษณะของคนที่มีอาการ ‘Shiny Object Syndrome’ อาการที่เรามัวแต่มองหาสิ่งใหม่ๆ จนโฟกัสกับอะไรไม่ได้นาน และวันนี้ Career Fact จะมาเล่าให้ฟังว่าอาการนี้คืออะไร ส่งผลเสียต่อเราหรือไม่ และสามารถหลีกเลี่ยงจากอาการนี้ได้อย่างไร

 

ShinyObjectSyndromeคือโรคอะไร?

Shiny Object Syndrome คืออาการที่ทำให้เราเลิกทำสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วไปทำสิ่งใหม่ๆ ที่ดูล่อตาล่อใจมากกว่าแทน ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะเป็นไอเดียหรือเทรนด์ใหม่ที่ทุกคนกำลังสนใจทำกัน โดยที่เราอาจจะยังไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ดีว่าสิ่งนั้นมันมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้างหรือดีกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้อย่างไร

ชื่อเรียกอาการ Shiny Object Syndrome มีที่มาจากพฤติกรรมของเด็กที่ชอบสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นหรือหนังสือการ์ตูน แต่พอเล่นหรืออ่านไปได้สักพักหนึ่งแล้ว ก็เริ่มเบื่อ จนต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นมากกว่าของเดิมๆ

 

เรามีอาการShinyObjectSyndromeหรือเปล่า?

ถามตัวเองว่าเราเป็นเหมือน ‘กระต่าย’ ที่ชอบกระโดดไปมาหรือเปล่า เช่น เราอาจทำโปรเจกต์หนึ่งอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีไอเดียใหม่เลยไปทำโปรเจกต์อันใหม่แทน โดยคิดไปเองว่าโปรเจกต์อันใหม่นั้นสำคัญและเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าอันเก่า นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่มีอาการนี้

ปกติแล้วคนเราจะมีแรงฮึดเวลาที่เราทำอะไรสักอย่างเสร็จ เหมือนเป็นความรู้สึกว่า เราได้ทำอะไรบางอย่างสำเร็จ แต่คนที่มีอาการ Shiny Object Syndrome จะขาดความรู้สึกตรงนี้ไป เพราะว่าพอเราเปลี่ยนโปรเจกต์ไปเรื่อยๆ ทั้งที่ยังทำไม่เสร็จ เราจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีงานเยอะขึ้น และเริ่มเครียดจากการที่เรามีโปรเจกต์หลายๆ อันที่ทำเสร็จแค่ครึ่งๆ กลางๆ แต่ไม่เสร็จสักอัน เราจึงไม่มีแรงฮึดจะทำงานต่อ

 

การมีอาการShinyObjectSyndromeส่งผลเสียอะไรต่อเราไหม?

ย่างแรกเลยคือเราจะไม่บรรลุเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เวลาที่เราเปลี่ยนไปทำอะไรใหม่ๆ แต่ไม่ได้คำนึงว่า เราจะทำสิ่งใหม่นั้นได้สำเร็จจริงๆ หรือไม่สุดท้ายแล้วเราจะหาทางไปต่อไม่เจอและก็ต้องล้มเลิกเป้าหมายใหม่นั้นไป

นอกจากนี้ เวลาที่เราทำโปรเจกต์ต่างๆ เราต้องลงทั้งแรงและเงินไปกับมัน ซึ่งถ้าเราจะล้มเลิกโปรเจกต์แล้วไปทำอย่างอื่นแทน เราก็จะเสียทรัพยากรที่เราใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งนักวิจัยจะเรียกสิ่งที่เสียไปนี้ว่า ‘ต้นทุนจม’ (Sunk Cost)

ยิ่งถ้าเราเป็นหัวหน้าทีม เราต้องยิ่งระวังการถูกอาการนี้ชักจูงเราไปจากเป้าหมายหลักของเรา สมมติว่าวันก่อนเราบอกทีมของเราว่า เป้าหมายเราคือ ‘A’ แต่วันต่อมา เราดันเปลี่ยนใจและบอกทีมของเราว่า เป้าหมายเราเปลี่ยนเป็น ‘B’ แทน ลูกน้องคงตามเราไม่ทันและคงเครียดจากการที่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปๆ มาๆ

 

เราจะป้องกันอาการนี้ได้อย่างไร?

 

1. ตั้งเป้าหมายที่ดี

ถ้าเราเป็นคนที่ไขว้เขวได้ง่ายจากสิ่งที่น่าสนใจ อย่างแรกที่ต้องทำเลยคือการตั้งเป้าหมายที่ดีและสามารถวัดได้ เราต้องลองตั้งเป้าหมายระยะยาวของเราและระยะสั้นดู เป้าหมายระยะยาวจะเป็นเหมือนป้ายบอกทางที่ช่วยให้เราสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ออกนอกเส้นทาง ส่วนเป้าหมายระยะสั้นจะทำให้เราได้วัดผลตัวเองเป็นระยะๆ เราอาจจะตั้งเป้าหมายว่าในอีก 90 วัน เราจะต้องทำอะไรได้เท่าไร แล้วมาวัดผลดูทีหลังว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายของเราหรือไม่ แต่หากเราไม่ตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่แรก เราก็จะไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร แล้วเราก็จะไล่ตามสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

2. หัดเมินสิ่งใหม่ๆ บ้าง

ถ้าเราเลือกทำทุกอย่าง และมัวแต่มองหาสิ่งใหม่ๆ เราจะมีงานล้นมือโดยไม่ทันตั้งตัว เวลาที่เรามีเป้าหมายที่ดีและมีการแพลนไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะทำอะไรบ้าง เราจะเมินสิ่งที่ล่อตาล่อใจใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น เราต้องหัดปฏิเสธที่จะทำอะไรใหม่ๆ ให้บ่อยขึ้น เว้นแต่ว่าสิ่งนั้นมันสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเรา เราจึงค่อยมาพิจารณาดูอีกทีว่าควรจะทำไหม

 

3. ประเมิน ‘ความสว่าง’ หรือความน่าดึงดูดของสิ่งนั้น

เราหลายคนชอบทำสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่ได้ประเมินคุณค่าของมัน หรือดูว่ามันสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเราหรือไม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่รอบคอบ สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องให้เวลาตัวเองในการคิดถึงคุณค่าของสิ่งใหม่นั้น แล้วดูว่ามันคุ้มค่าที่จะทำหรือไม่ หรือเราอาจจะลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า จุดประสงค์ของโปรเจกต์ใหม่นี้คืออะไร? สิ่งที่เราจะทำมันสอดคล้องกับเป้าหมายของเราไหม? มันจะใช้เวลาหรือเงินลงทุนเท่าไร? หรือ มันจะสร้างความต่างอะไรให้กับเราได้บ้าง? การถามคำถามเหล่านี้จะทำให้เราเห็นถึงข้อดีจริงๆ ก่อนลงมือทำจริง

 

4. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

คนเราชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น พอเราเห็นเพื่อนเราประสบความสำเร็จ เราก็อยากทำได้แบบเขาบ้าง เลยอยากทำในสิ่งที่เพื่อนของเราทำแล้วสำเร็จ แต่นั่นทำให้เราต้องเสียทั้งเวลาและพลังไปกับการดูว่าเพื่อนของเราทำอะไร และพยายามเลียนแบบเขา ดังนั้นเราต้องเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่การจะทำได้เราต้องมีเป้าหมายของตัวเองที่ชัดเจนก่อน เราจึงจะสามารถพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายนั้นได้อย่างแน่วแน่

นอกจากนี้ การเปรียบเทียบกับคนอื่นยังทำให้เรามีความมั่นใจลดลงและทำให้เราไม่เห็นคุณค่าในตัวเองอีกด้วย เราจึงชอบหาสิ่งใหม่ๆ มาเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด วิธีที่ดีกว่าคือเราต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองและต้องมีเป้าหมายที่ดี แล้วเราก็จะมีความมั่นใจมากขึ้น

 

ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองมีอาการนี้อยู่ เราอาจจะลองนำเคล็ดลับ 4 ข้อนี้ไปใช้ เพื่อทำให้เราจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ได้มากขึ้น บริหารเวลาได้ดีขึ้น และไม่โดนสิ่งใหม่ๆ ที่ล่อตาล่อใจเบี่ยงเบนเราให้หลุดโฟกัสไป

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3wQDHBi
https://bit.ly/35KjTDm
https://bit.ly/3gR1DO4

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights