5 นิสัยที่ทำให้เรากลายเป็นคนไร้ความคิดสร้างสรรค์

ว่ากันว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นมีอยู่ในตัวคนที่ฉลาดมากๆ เท่านั้น

แต่ความจริงแล้วมีผลวิจัยเผยว่าเมื่อไอคิวเกิน 120 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ความฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันเท่าไรแล้ว นั่นหมายความว่า ถึงแม้เราจะไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนส่วนใหญ่ เราก็ยังสามารถสร้างสรรค์อะไรแปลกใหม่ขึ้นมาได้

แล้วทำไมน้อยคนนักถึงมีความคิดสร้างสรรค์ในระดับสูง? เพราะเราเติบโตมาพร้อมกับนิสัยที่บดขยี้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ข่าวดีคือนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรากำจัดมันได้ (ถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจมากพอ)

และนี่ก็คือนิสัยแย่ 5 อย่างที่รั้งเราไว้ไม่ให้กล้าแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา

สรรสร้างผลงานและประเมินผลงานไปพร้อมกัน

เราไม่สามารถขับรถเกียร์หนึ่งและเกียร์ถอยไปพร้อมกันได้ ความคิดคนเราก็เหมือนกัน การพยายามคิดหลายอย่างไปพร้อมกันสุดท้ายแล้วก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร การสร้างสรรค์ผลงานหมายถึงการสร้างไอเดียใหม่ การจินตนาการภาพ การมองไปข้างหน้า ส่วนการประเมินผลงานหมายถึงการวิเคราะห์และตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

คนส่วนใหญ่จะรีบประเมินผลงานตัวเองเร็วไปและบ่อยเกินไป ผลที่ตามมาคือการสร้างสรรค์ผลงานที่น้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้เรากล้าคิดกล้าสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น สิ่งที่เราต้องทำคือการแยกขั้นตอนการสร้างและขั้นตอนการประเมินให้ขาดจากกัน พยายามคิดหลายๆ ไอเดียขึ้นมาก่อน เสร็จแล้วค่อยตัดสินทีหลังว่าไอเดียไหนเป็นไอเดียที่ดี

กลัวความล้มเหลว

หลายคนจำ ไมเคิล จอร์แดน ได้ในฐานะนักบาสเก็ตบอลผู้ยิ่งใหญ่ แต่น้อยคนนักที่จะจดจำเขาในฐานะคนที่ชู้ตพลาดมากว่า 9,000 ครั้ง

ไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรือเผชิญกับความล้มเหลว แต่ถ้าเราพยายามหลีกเลี่ยงความล้มเหลวมากเกินไป ก็จะกลายเป็นว่าเราพยายามหลีกเลี่ยงความสำเร็จไปด้วยเช่นกัน มีคำกล่าวว่าหากต้องการเพิ่มอัตราความสำเร็จ เราต้องกล้าทำพลาดให้มากขึ้น พูดอีกอย่างคือถ้าเรากล้าคว้าโอกาสมากกว่า เราก็มีแววว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า

กลัวความไม่ชัดเจน

คนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่เข้าใจง่าย แต่น่าเสียดายที่เส้นทางชีวิตเราไม่ได้ถูกจัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อยเสมอไป บางครั้งก็มีสิ่งที่เราไม่มีวันเข้าใจ หรือปัญหาที่เราไม่มีทางแก้ไข และบางครั้งไอเดียดีๆ ก็เกิดขึ้นท่ามกลางความสับสันวุ่นวาย เพราะฉะนั้น จงฝึกตนให้คุ้นชินกับความสับสนและความไร้ระเบียบ เพราะบางครั้งไอเดียที่เวิร์กก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมารองรับ

ขาดความมั่นใจ

การที่เราจะกล้าคิดวิธีแก้ปัญหาที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครออกมาได้ ขั้นแรกคือเราต้องมั่นใจในตัวเองก่อน ซึ่งการจะสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองได้ เราก็ต้องพาตัวเองไปคลุกคลีกับการคิดสร้างสรรค์ให้คุ้นเคย พอเราเริ่มชินว่าไอเดียที่ออกมามักจะฟังดูแปลกในตอนแรก พอเราคุ้นเคยว่าความผิดพลาดก็แค่ประสบการณ์การเรียนรู้ ความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ก็จะค่อยๆ สั่งสมในตัวเรา

แทนที่จะแบ่งไอเดียเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ลองแบ่งเป็นอะไรที่เคยลองและยังไม่เคยลอง เพราะความสำเร็จไม่ได้มีหนทางเดียว

รับข้อมูลมามากเกินไป

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Analysis Paralysis’ คือการใช้เวลาไปกับการคิดถึงปัญหาและยัดข้อมูลใส่สมองมากเสียจนไม่กล้าลงมือทำสักที จริงอยู่ที่การรับข้อมูลก็เปรียบได้กับการให้อาหารสมอง แต่ถ้าเราสามารถทานอาหารเยอะเกินไปได้ เราก็สามารถคิดมากเกินไปได้เช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่คนที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกันคือพวกเขารู้ว่าควรจะหยุดสะสมข้อมูลแล้วเริ่มลงมือทำ เพราะพวกเขารู้ว่าการลงมือทำตามแผนที่ดีในวันนี้ย่อมดีกว่าการ ‘รอ’ ทำตามแผนที่สมบูรณ์แบบในวันพรุ่งนี้

หากใครรู้ตัวว่ามีปัญหาเหล่านี้อยู่ อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะการรู้ว่าอะไรที่เป็นตัวฉุดรั้งเราอยู่ก็คือขั้นแรกของการทลายกำแพงที่ขวางกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเราแล้ว!

เพราะความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่ AI ทำแทนเราไม่ได้ ฝึกฝนให้ตัวเองมี Creativity ไปกับคุณสาธิต กาลวันตวานิช ในคอร์ส “The Power of Creative and Critical Thinking: พลังของการคิดสร้างสรรค์แบบมีตรรกะ” ได้ที่ https://www.cariber.co/satit-kalawantavanich

อ้างอิง

https://bit.ly/3dMDiIH

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights