ศ.ดร. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี: ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ความสุข

คุยเรื่องความสุขและเส้นทางสายวิชาการของเด็กที่สอบไม่เก่งไปกับ ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์วิจัย Behavioral Science ที่ Warwick Business School และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ความสุขคนเดียวในประเทศไทยว่าอะไรเปลี่ยนเด็กชั้นมัธยมที่ไม่เคยได้เกรดเอให้หลงใหลการทำวิจัย? ทำไมต้องเป็นเศรษฐศาสตร์ความสุข? และต้นเหตุความไม่สุขของคนเราคืออะไร?

 

จากเด็กหัวไม่ดีสู่ศาสตราจารย์วิจัย

อาจารย์ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษมาตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือเกือบ 30 ปี ที่แล้ว ตอนเด็กๆ เขาไม่ใช่คนหัวดีเท่าไร เห็นได้จากผลการเรียนที่ได้ตั้งแต่เกรดบี ซี ดี แต่ไม่เคยได้สัมผัสเกรดเอเลยตอนเรียนมัธยม แต่เขาก็สามารถเข็นตัวเองจนเรียนจบที่ Brunel University สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 ก่อนจะเรียนต่อปริญญาเอกที่ Warwick University ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยตั้งใจว่าจะทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ไม่ค่อยมีคนศึกษา เขาจึงเลือกทำหัวข้อเศรษฐศาสตร์และความสุขหลังจากได้ฟังสัมมนาของ แอนดรูว ออสวอลด์ (Andrew Oswald) เขากล่าวไว้ว่า “ในเมื่อเราสามารถวัดความสุขของคนได้ แล้วทำไมเราถึงไม่ใช้ดัชนีความสุขเป็นเป้าหมายของตัวบุคคล องค์กร หรือประเทศ? ทำไมเราต้องไปดูตัวชี้วัดอื่นที่ไม่สามารถสะท้อนความรู้สึกของคนจริงๆ?” 

ประโยคนี้ทำให้เขานึกถึงโควตของ Joseph Stiglitz (นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน) ที่ว่า “สิ่งที่เราวัดส่งผลต่อสิ่งที่เราทำ ถ้าเราวัดถูกอย่าง เราก็จะให้ความสำคัญถูกเรื่อง ถ้าเราวัดผิดอย่าง เราก็จะให้ความสำคัญผิดเรื่อง” ดังนั้นในเมื่อความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง เราก็ควรจะนำมันมาเป็นตัวชี้วัดหลักและร่างนโยบายต่างๆ ตามนั้นด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจากเด็กเรียนไม่เก่งคนนั้นถึงกลายเป็นด็อกเตอร์ที่ชอบการวิจัย อาจารย์บอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากการได้ศึกษาหัวข้อที่อยากรู้จริงๆ ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกว่ากำลังฝืนตัวเอง และทักษะแวดวงวิชาการก็แตกต่างจากการอ่านหนังสือเรียนเพื่อนำไปสอบ ทักษะอย่างแรกที่จำเป็นต้องมีคือการเป็นคนช่างสงสัยและชอบตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น ทักษะที่สองคือการสื่อสารแนวคิดยากๆ และซับซ้อนให้เข้าใจง่ายและสนุก ซึ่งทั้งสองเป็นสิ่งที่เขามีติดตัว

 

การสนับสนุนที่แตกต่าง

พอเรียนจบเขาก็ไล่สมัครงานรวมกว่า 200 ที่แต่มีเพียง 7 ที่เท่านั้นที่เรียกไปสัมภาษณ์ จนสุดท้ายได้งานแรกเป็นนักวิจัยเศรษฐศาสตร์การศึกษาที่ UCL Institute of Education เมื่อทำจนครบสัญญา 3 ปีเขาก็ออกหางานใหม่ ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ภรรยาของอาจารย์จำเป็นต้องกลับมาที่ไทย แต่เขารู้ตัวดีว่าหากกลับเมืองไทย เขาจะไม่ได้วิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์และความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจจริงๆ เพราะไม่ใช่หัวข้อแนว Hard Skills วิจัยแล้วเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมจับต้องได้ที่มหาวิทยาลัยในเมืองไทยให้ความสนใจ นอกจากนี้ระบบในเมืองไทยยังไม่สร้าง “แรงจูงใจ” ให้คนตีพิมพ์งานวิจัย ต่างจากที่อังกฤษที่พร้อมมอบให้ทั้งเงินทุนในการวิจัยและสนับสนุนการเลื่อนตำแหน่ง และขอแค่ให้คุณเป็นคนเก่ง ไม่ว่าจะทำวิจัยหัวข้ออะไร ถ้างานวิจัยของคุณดีพอ ทางรัฐบาลก็พร้อมสนับสนุนจนอาจนำงานวิจัยไปต่อยอดเป็นนโยบายระดับประเทศได้

อาจารย์ค่อนข้างมั่นใจว่าไฟในการไล่ตามเป้าหมายทางวิชาการของเขาจะต้องมอดลงแน่นอนหากกลับเมืองไทย  เขาจึงตัดสินใจทำตามความฝันที่อังกฤษต่อเนื่องจากมีลู่ทางในการต่อยอดทางอาชีพมากกว่า โดยแลกกับการอยู่ห่างจากคนรักอยู่ระยะหนึ่ง

 

อยากอยู่ประเทศไหนเป็นพิเศษไหม

เส้นทางนักวิชาการของเขาไม่ได้อยู่แค่ที่อังกฤษ ระหว่างทางเขายังแวะเวียนไปที่สิงคโปร์และออสเตรเลียก่อนจะกลับมาที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง เราจึงอยากรู้ว่ามีประเทศไหนที่อาจารย์ไปอยู่แล้วอยากปักหลักใช้ชีวิตที่นั่นไปตลอดไหม คำตอบของอาจารย์คือไม่มี เพราะว่า “มันจะมีสิ่งที่เราเรียกว่า sunk cost fallacy หมายความว่าเวลาเราลงทุนอะไรไปแล้วเราจะไม่กล้าคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามาเพราะเสียดายต้นทุนที่เสียไป แต่พี่จะไม่มีแนวคิดแบบนั้น ถ้ามีโอกาสที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น พี่ก็พร้อมจะคว้ามันไว้ทันที” 

ตัวอย่างจากประสบการณ์ของอาจารย์คือการที่เขาได้เลื่อนขั้นเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่อายุ 34 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 ปีเพราะเขาเลือกที่จะย้ายไปมหาวิทยาลัยอื่นที่มอบโอกาสแทนที่จะรอเลื่อนขั้นจากภายในที่มหาวิทยาลัยเดิม แต่นั่นก็เป็นคำตอบในช่วงที่เขากำลังเดินหน้าทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ ในวันที่เขาบรรลุเป้าหมายแล้วอย่างในปัจจุบัน อาจารย์และภรรยาก็เริ่มมองหาสถานที่ปักหลักแล้วเช่นกัน โดยเน้นเพียงว่าให้อยู่ใกล้ครอบครัวเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ได้ใช้สิ่งที่ศึกษามาในชีวิตประจำวันหรือเปล่า

อาจารย์บอกว่าส่วนใหญ่จะได้ใช้เวลาต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เพราะเมื่อเวลาต้องเลือกระหว่าง 2 ตัวเลือกคนเราก็มักจะให้น้ำหนักกับปัจจัยที่มีความแตกต่างชัดที่สุด โดยอาจจะลืมไปว่าปัจจัยนั้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เราควรคำนึงถึงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยหนึ่งได้สอบถามคนในพื้นที่แคลิฟอร์เนียและมิดเวสต์อเมริกาว่าคนในพื้นที่ไหนมีความสุขมากกว่ากัน ทั้งสองพื้นที่ตอบแคลิฟอร์เนีย เพราะเวลาเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนที่สุดคืออากาศ แต่ผลการวิจัยกลับพบว่าทั้งสองพื้นที่นั้นมีความสุขพอกัน เนื่องจากคนในสองพื้นที่มีวิถีชีวิตคล้ายกัน และอากาศก็มีผลต่อความสุขในชีวิตน้อยมากๆ 

หรือในกรณีของอาจารย์เองที่เคยอยากมีลูก ส่วนหนึ่งเพราะว่าค่านิยมของสังคมที่มองว่าการมีลูกคือการทำให้ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ แต่ภรรยากลับไม่อยากมี นั่นทำให้เขาต้องกลับไปคิดทบทวนใหม่ว่าการมีลูกนั้นสำคัญมากอย่างที่คิดจริงๆ หรือเปล่า เพราะก็มีงานวิจัยบอกอยู่ว่าคู่แต่งงานที่ไม่มีลูกก็ไม่ได้มีความสุขน้อยไปกว่าคู่ที่มี แถมเมื่อถึงเวลามีลูกจริงๆ คนที่ดูแลและใกล้ชิดกับลูกมากกว่าก็คือคนเป็นแม่ อาจารย์จึงได้ข้อสรุปใหม่ว่าภรรยาควรมีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องนี้มากกว่า

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุข

อาจารย์บอกว่าตัวการที่ทำให้เราไม่มีความสุขคือการที่เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ตัวอย่างเช่น เรื่องคะแนนสอบ พอเรารู้ว่าเราทำคะแนนได้ดี เราก็อาจจะดีใจในตอนแรก แต่เมื่อรู้ว่าคนอื่นๆ ก็ทำได้ดีเหมือนกัน เราก็จะเริ่มมีความสุขกับคะแนนของตัวเองน้อยลง เพราะเราสูญเสียความรู้สึกที่ว่าเราเก่งกว่าคนอื่นไป  หรือเรื่องเงิน ที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคิดว่าเมื่อเงินมากขึ้น โอกาสก็จะมากขึ้น ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าดูภาพรวมของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศอเมริกที่ถึงแม้จะมี GDP เพิ่มขึ้นทุกปี ความสุขในภาพรวมของคนในประเทศก็ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย เพราะถึงแม้รายได้ของตัวเองจะเพิ่ม รายได้ของคนอื่นก็เพิ่มตาม ทำให้ไม่รู้สึกว่าเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความพิเศษอะไร ทั้งๆ ที่ถ้าคนเลิกเปรียบเทียบ เลิกให้ความสำคัญกับรายได้ของคนอื่น คนเหล่านั้นก็อาจจะมีความสุขมากกว่านี้

ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียแพร่หลายก็ทำให้คนเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น การเห็นภาพชีวิตดีๆ ของคนอื่นทุกวันอาจทำให้เราหลงลืมไปว่าภาพที่เห็นอาจไม่ใช่ความจริง 100% เสมอไป แต่เป็นเพียงมุมใดมุมหนึ่งของชีวิตที่ผ่านการเลือกสรรมาแล้ว เราจึงควรย้ำเตือนจุดนี้กับตัวเองเพื่อไม่ให้สื่อเหล่านี้บั่นทอนความสุขไปจากใจเรา

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights