บารัค โอบาม่า: เส้นทางชีวิต ครอบครัว และมุมมองทางสังคมในระบอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางกระแสการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย และยังเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของศึกตัดสินผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘บารัค โอบามา’ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ My Next Guest: Needs No Introduction ของ เดวิด เลทเทอร์แมน เกี่ยวกับเส้นทางชีวิต ครอบครัว และมุมมองทางสังคมในระบอบประชาธิปไตย ติดตามได้ที่นี่

 

“เมื่อผมคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เป็นผมในวันนี้ ทุกอย่างย้อนกลับไปที่แม่ของผมทั้งนั้น”

 

บารัค โอบามา เริ่มเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของเขาว่า พ่อแม่ของเขาพบกันที่ฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา พวกเขาคบกันระยะหนึ่งก่อนที่จะแต่งงานกันและมีเขา ทว่าไม่นานพวกเขาก็เลิกกันไป โดยเขาอาศัยอยู่กับแม่และตายาย

 

เขาเล่าให้ฟังต่อว่า แม่ของเขาเป็นชาวมิดเวสต์ที่ยึดถือความซื่อสัตย์ มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบ พยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์และให้เกียรติผู้คนอยู่เสมอ ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็ได้ถ่ายทอดมายังเขาและสะท้อนออกมาผ่านงานที่เขาทำ

 

ขณะเดียวกัน บารัค โอบามาเองก็พูดถึงคุณพ่อของเขาว่าพ่อของเขาก็ทิ้งอะไรบางอย่างไว้ในตัวของเขาเช่นกันโดยแม้ว่าเขาจะไม่ได้เติบโตมากับพ่อและมีโอกาสเจอกันแค่ช่วงสั้นๆ ประมาณเดือนเดียวเท่านั้น แต่พ่อของเขาก็สอนให้เขาอยากที่จะมีตัวตนในชีวิตของลูกๆ ตัวเอง

 

“เขาไม่ได้สอนเรื่องนี้ผมโดยตรงหรอก แต่เขาสอนผมด้วยการหายไป” บารัค โอบามา กล่าว

 

เขายอมรับว่าในตอนเด็ก คุณแม่ของเขาจะคอยสอนหนังสืออยู่ที่บ้านจนเหมือนกับว่าเขามีโรงเรียนสองแห่ง และนั่นทำให้เขาเริ่มเบื่อการเรียน เริ่มไม่ใส่ใจและไปปาร์ตี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็อ่านหนังสือมากขึ้นและเริ่มให้ความสนใจเรื่องสิทธิของพลเมือง ในวันที่เรียนจบ บารัค โอบามา คิดกับตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่จะคุ้มค่ากับความพยายามของเขา ซึ่งเขาก็ได้คำตอบว่า มันคือการพยายามผลักดันสังคมไปข้างหน้า

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์ เลทเทอร์แมน ได้พูดถึงเหตุการณ์ “Bloody Sunday” หรือการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของกลุ่มแอฟริกันอเมริกัน ที่สะพานเอ็มพันด์ แพตทัส เมืองเซลมา รัฐอลาบาม่า ในปี 1965 ซึ่งในวันนั้นมี จอห์น ลูอิส อดีตส.ส.ของสหรัฐเป็นคนนำขบวน ทว่าพวกเขาก็เดินขบวนได้ไม่กี่นาทีก่อนถูกกองทัพของรัฐใช้ความรุนแรงในการยุติการเดินขบวนในวันนั้น

 

อย่างไรก็ดี จอห์น ลูอิส ยังคงเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำต่อไป เคยถูกจำคุกมาแล้วกว่า 45 ครั้ง จนสุดท้ายพวกเขาก็ได้รับความเท่าเทียมทางสังคม

 

“จอห์น ลูอิส พูดถูกที่บอกว่า เขาและผู้ร่วมขบวนในวันนั้นคือคนที่อุ้มผมและสหรัฐข้ามสะพานมา เพราะถ้าไม่มีพวกเขา ก็ไม่มีผมในวันนี้” อดีตประธาธิบดีแอฟริกันอเมริกันคนแรกของสหรัฐ กล่าว

 

บารัค โอบามา พูดถึงเรื่องนี้ว่า จอห์น ลูอิส คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเลือกมาทำงานด้านนี้ เพราะที่ผ่านมา ตัวเขาเองก็ล้มเหลวมากหลายต่อหลายหน เขาเคยจัดประชุมเกี่ยวกับความยากจนครั้งหนึ่งที่สุดท้ายมีคนมาร่วมงานแค่ 4 คนเท่านั้น มันทำให้เขาไม่มีความสุขเป็นอย่างมาก แต่เรื่องราวของจอห์น ลูอิส ก็คอยย้ำเตือนว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร และพาเขาก้าวข้ามความล้มเหลวเหล่านั้นมาได้

 

เขาเชื่อว่า การที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองก่อนเมื่อเราเห็นความโหดร้ายหรือความไม่เท่าเทียม เราต้องตั้งคำถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เราเองมีส่วนด้วยหรือไม่และเราจะทำอย่างไร เราพร้อมจะเสียสละเพื่อจะเปลี่ยนแปลงมันหรือไม่

 

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป แต่มันเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และนั่นทำให้เราเดินหน้าได้” บารัค โอบามา กล่าว

อย่างไรก็ตาม บารัค โอบามา ยังพูดต่อว่า แม้ว่าปัจจุบัน ความเท่าเทียมได้แผ่ขยายออกมาทั่วถึงมากขึ้นสำหรับชาวอเมริกัน แต่ร่องรอยของความคิดยังคงถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ อยู่ดี เขายกตัวอย่างถึงการเลือกตั้งปัจจุบัน พลเมืองอเมริกันต่างมีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม แต่สุดท้ายแนวคิดที่ว่า มีเพียงคนบางกลุ่มที่คู่ควรต่อการออกเสียงก็ยังคงอยู่ต่อไป

 

เขาคิดว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ คนหมดศรัทธากับการเลือกตั้ง คนอเมริกันไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ อย่างไรก็ตาม บารัค โอบามา กลับไม่เห็นด้วยเพราะเขาเชื่อว่า หากทุกคนมีความเชื่อและช่วยกันแสดงออกถึงความอยุติธรรม จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

“เด็กขนของบนรถไฟ หรือกลุ่มแม่บ้าน อาจจะรู้สึกว่าพวกเขาเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ถ้าพวกเขาจำนวนมากรวมตัวกันแสดงออกถึงความไม่ยุติธรรมเหล่านั้น เราจะสามารถปลุกมโนธรรมของคนในชาติได้”

 

กระนั้น บารัค โอบามา ยังพูดต่อว่า แม้ในทุกช่วงประวัติศาสตร์ จะมีคนอย่างจอห์น ลูอิส ที่กล้าหาญและพร้อมสู้แม้ความหวังจะริบหรี่ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนมากมายที่อาจจะไม่กล้าหาญเท่าหรืออยากมีส่วนร่วมแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่พวกเขาก็วิธีการในแบบของตัวเองที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าเช่นกัน

 

“ไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินขบวนหรือลงเล่นการเมือง บางคนอาจจะเป็นอาสาในชุมชนท้องถื่นเพื่อทำอะไรดีๆ พวกเขาอาจจะส่งเสริมเพื่อนและเพื่อนบ้านให้ทราบถึงปัญหาและไปลงคะแนน ซึ่งมันสามารถทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้เช่นกัน” บารัค โอบามา ทิ้งท้าย

 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights