ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง: นักจัดสวนผู้ไม่เคยหยุดให้ใครตามทัน ผู้สร้างสรรค์ Little Tree

สวนที่ดีไม่ใช่แค่มองแล้วสวย แต่ต้องใช้งานได้ นั่งเล่น รื่นรมย์ไปกับมันได้

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของนักจัดสวนมากประสบการณ์แห่ง Little Tree Garden พี่วิทย์ – ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง จากความรู้สึกผูกพันและซึมซับโดยไม่รู้ตัวจนเปลี่ยนเป็นความชื่นชอบและกลายมาเป็นอาชีพ ‘นักจัดสวน’

โตมากับต้นไม้

พี่วิทย์เติบโตในครอบครัวเกษตรกร โดยธุรกิจของคุณพ่อทั้งสวนผลไม้ ไม้ดอก และสวนกล้วยไม้ที่นครปฐมเป็นแหล่งรายได้ให้ครอบครัวจนสามารถส่งลูกทั้ง 3 คนเรียนจบปริญญา

ก่อนที่จะมาเป็นนักจัดสวนอย่างทุกวันนี้ พี่วิทย์บอกว่าเขาโตมากับสวนและต้นไม้ ทำให้รู้สึกผูกพันและซึมซับโดยไม่รู้ตัว จนเปลี่ยนเป็นความชื่นชอบ ตอนที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเขายังไม่รู้ตัวว่าอยากทำอาชีพอะไร รู้แค่ว่าสนุกกับการจัดสวน จัดมุมต่างๆ ของบ้าน ได้ทำสวนหย่อม ได้เลี้ยงปลา และการได้เห็นทุกยุคที่คุณพ่อสะสมต้นไม้ ติดตามคุณพ่อไปที่ต่างๆ เลยมีมุมสะสมเป็นของตัวเอง

พี่โตมากับต้นไม้ พอมาเป็นนักจัดสวนเลยมองย้อนกลับไปว่าเป็นสิ่งที่เรารักมาตั้งแต่เด็ก

จุดเริ่มต้นของนักจัดสวน

เมื่อถามว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นนักจัดสวนนั้น พี่วิทย์อยากทำอาชีพนี้ตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า?

ไม่เคยคิดว่าจะทำอาชีพนักจัดสวน แค่ชอบและสนุกที่ได้ทำ

เขากล่าวถึงอาชีพนักจัดสวน

แม้วัยเด็กพี่วิทย์ยอมรับว่าเป็นเด็กไม่ชอบเรียน แต่ได้พี่สาวทั้งสองคนที่คอยผลักดันให้เขาใส่ใจการเรียนอยู่ตลอด พอเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสยาม ก็มีโอกาสไปใช้ชีวิตที่ออสเตรเลียตามพี่ๆ แต่พี่วิทย์เป็นคนติดบ้านมากเลยอยู่ได้แค่ 3 เดือน จนวันหนึ่งที่พี่สาวทั้งสองคนของพี่วิทย์กลับจากต่างประเทศมาเปิดโรงเรียนสอนภาษาที่บ้าน ทำให้ต้องรีโนเวทบ้านและสวน พี่วิทย์ก็อาสารับหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง

เขาบอกว่าจุดเริ่มต้นวันนั้น ทำให้คนได้เห็นสวนจากฝีมือของเขา และเพื่อนๆ ก็ชื่นชอบผลงาน เลยมีโอกาสไปจัดสวนให้กับเพื่อนเรื่อยๆ จนกลายเป็นการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก โดยเฉพาะผลงานจัดสวนอังกฤษที่เป็นสิ่งใหม่ในยุคที่คนบ้านเรานิยมจัดเป็นสวนน้ำตก สวนบาหลี หรือสวนทรอปิคอล หลังจากนั้นอาชีพนักจัดสวนก็กลายเป็นทั้งชีวิตและลมหายใจของเขามาจนถึงทุกวันนี้

ช่วงแรกไม่เคยคิดเรื่องเงินหรืออาชีพ มันเป็นโอกาสให้ทดลองโจทย์ใหม่ๆ และสนุกมาก

พี่วิทย์กล่าว

สวนสวยด้วยลายเซ็น

พี่วิทย์เล่าให้ฟังว่าช่วงแรกที่เริ่มต้นจัดสวนใหม่ๆ เขาจะดูแลเรื่องสรรหาต้นไม้เป็นหลัก แต่พอทำเรื่อยๆ จนคนสนใจมากจึงต่อยอดสู่การทำของตกแต่ง สินค้าจัดสวน รวมถึงกระถางด้วย ซึ่งผลงานแรกๆ เริ่มจากปูนปั้นเป็ดคู่ที่ไปตกแต่งในสวนลูกค้าจนกลายเป็นลายเซ็นส่วนตัวที่ทำให้ลูกค้าหลายคนชื่นชอบ และอยากได้ไปไว้ในสวนบ้าง

เมื่องานดีไซน์ที่ใช้ในงานของตัวเองไปถูกตาต้องใจคนอื่น พี่วิทย์ก็เลยผลิตของออกมาขายมากขึ้น ซึ่งเขาบอกว่าเป็นผลพลอยได้จากผลงานที่ชอบมากกว่าทำสินค้าเพื่อขาย ตั้งแต่ปูนปั้น เก้าอี้สนาม จนถึงกลาสเฮ้าส์ ทำให้เป้าหมายของพี่วิทย์ไม่ใช่เรื่องของการทำกำไรให้กับธุรกิจเป็นหลัก แต่เขามุ่งมั่นกับการพัฒนาสวนมากกว่า

พี่ไม่ใช่สายธุรกิจที่ทำแล้วต้องโต เป้าหมายของพี่เลยแค่ทำแล้วสนุกก็ไปต่อ

เขากล่าวเสริม

นอกจากนี้ปัญหาของงานออกแบบสวนที่พี่วิทย์เจอมาตลอดคือ โดนลอกเลียนแบบและโดนขายตัดราคา ซึ่งเขาคิดว่าข้อดีของการที่คนอื่นทำตามหรือใช้งานของเขาเป็นตัวอย่างคือการปลุกกระแส แต่ข้อเสียคือต้องคิดเยอะและปรับตัวให้ใหม่ตลอด

สวนที่ดีไม่ใช่แค่มองแล้วสวย

หลายคนก็อยากมีบ้านที่สวนสวย พี่วิทย์บอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบคือ “บ้านกับสวนสอดคล้องกัน” ความต่างไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าทุกอย่างต้องกลมกลืนกัน นอกจากนี้วิธีการเลือกรูปแบบของสวน และเลือกต้นไม้ก็สำคัญ ซึ่งสวนที่สวยสำหรับพี่วิทย์ต้องมีจุดโฟกัสที่มองแล้วอยากเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในสวนด้วย 

สวนที่ดีไม่ใช่แค่มองแล้วสวย แต่ต้องใช้งานได้ นั่งเล่น รื่นรมย์ไปกับมันได้

นิยามของพี่วิทย์สำหรับการออกแบบในฐานะนักจัดสวนที่ผ่านประสบการณ์มาเป็นสิบปี

พี่วิทย์บอกว่าการทำงานกับลูกค้าส่วนใหญ่จะได้รับอิสระในการสร้างสรรค์เต็มที่ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องดูความเหมาะสมตามโจทย์ที่ได้รับและความรู้ที่เขามี เพราะหน้าที่ของนักจัดสวนต้องทำให้มากกว่าความสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องธรรมชาติของต้นไม้และการจัดวาง

เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสวนแนวต่างๆ ที่เหลือเป็นเรื่องของการจัดวางและออกแบบ เวลาลูกค้าต้องการอะไร ถ้ามันไม่ใช่ ไม่ดี เราจะเตือนเขา ไม่ใช่ตามใจ

เขากล่าว

ความรู้ของนักจัดสวน

แม้ไม่ได้จบดานการออกแบบสวนมาโดยตรง แต่พี่วิทย์เป็นคนอินกับสวนมาตั้งแต่เด็ก สิ่งที่ทำให้เขาสามารถทำอาชีพนี้ได้คือการศึกษาจากหนังสือ และค้นหาจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมอยู่ตลอด พอรับงานจริงๆ ก็ต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้สามารถตีโจทย์และออกแบบได้ตามความต้องการของลูกค้า พอได้จัดสวนมาเป็นสิบปีจนมีประสบการณ์ในการทำงานมามาก การจัดวางก็กลายเป็นเรื่องง่าย แต่ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ก็ยังคงสำคัญที่สุด

ต้นไม้ที่พี่วิทย์นำเข้าจากต่างประเทศโดยส่วนมากเขาจะนำมาทดลองปลูกก่อนที่จะไปใช้จัดสวนจริงอย่างเช่น ต้นมะกอก ที่พี่วิทย์เป็นเจ้าแรกที่นำเข้ามา และใช้เวลาศึกษาด้วยตัวเองจนรู้ว่าสามารถปลูกในประเทศไทยได้หากดูแลอย่างถูกวิธี จนกลายต้นไม้ยอดฮิตที่หลายๆ คนจับจองกันไปไว้ในสวนที่บ้าน

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา พี่วิทย์บอกว่าระยะเวลาที่ใช้จัดสวนๆ หนึ่งอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ถ้าช่วงสถานการณ์ปกติบางสวนใช้เวลา 3-4 เดือน ซึ่งเขาใช้เวลากับสวนนานมากเพราะเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าต้องปราณีต และต้องรู้สึกว่าสวนนั้นสวยจริงๆ จึงจะสามารถออกแบบให้เสร็จได้

งานที่ง่ายคืองานที่ย่ำอยู่กับที่ พี่ไม่เลือกทำงานแบบนั้น

พี่วิทย์กล่าวเสริม

บทเรียนที่ส่งต่อถึงทุกคน

พี่วิทย์เป็นคนหนึ่งที่หาตัวเองเจอช้า สิ่งที่เขาอยากฝากให้ถึงคนรุ่นใหม่ๆ ก็คือหาโฟกัสในสิ่งที่ชอบ ทำแล้วสนุกและมีความสุข และโฟกัสที่ละเรื่องเพื่อให้ตัวเองเจอได้เร็ว เพื่อที่จะได้ต่อยอดเป็นอาชีพได้ จะได้หาตัวเองเจอ เขายินดีที่คนรุ่นใหม่มีโอกาสในเรียนรู้มากและเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่าย ทำให้หลายคนอยากทำและทดลองสิ่งต่างๆ หลายด้าน แต่การจะหาตัวเองเจอนั้นอาจจะต้องลองโฟกัสทีละเรื่องที่สนใจจริงๆ และเมื่อรู้ลึกจนต่อยอดได้ก็จะมีโอกาสมากขึ้นและได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ

เป้าหมายของพี่วิทย์ คืออยากให้ทุกคนมีความสุขกับต้นไม้

นอกจากคำตอบที่เราได้จากพี่วิทย์เมื่อถามถึงแพลนในอนาคตว่า “ต้นไม้อยู่ในสายเลือด จะทำอะไรก็คงหนีไม่พ้นต้นไม้ที่เราต่อยอดไปเรื่อย ไม่ท้อเพราะยังสนุก จะจัดสวนจนจัดไม่ไหว” เขายังวางแผนอนาคตว่าวันหนึ่งหากไม่อยากจัดสวนให้ลูกค้าแล้วก็อยากสร้างพื้นที่สีเขียวไปเรื่อยๆ ให้คนได้สัมผัสธรรมชาติ และได้ใช้พื้นที่เยอะๆ 

อยากให้มีพื้นที่สีเขียวมีมูลค่ามากขึ้น ให้คนเข้าไปใช้ชีวิต อยากให้ต้นไม้เข้าไปช่วยให้มีความสุขและอยู่ในชีวิตของทุกคน

วิทย์ – ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights