วีระพงศ์ โก: เส้นทางของนักวิจัยทางการแพทย์สู่สายธุรกิจผู้บริหาร Lazada

วันนี้ Career Fact จะพาไปพูดคุยกับ ‘พี่โก’ วีระพงศ์ โก Chief Operating Officer แห่ง Lazada (ประเทศไทย) จากนักวิจัยสายวิศวกรรมชีวการแพทย์สู่เส้นทางของสายงานด้านธุรกิจที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมากมายจากสหรัฐอเมริกา และไม่เคยปฏิเสธโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

 

วิศวกรคือความฝันในวัยเยาว์

เด็กต่างจังหวัดที่โชคดีได้โควต้าเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ คือประโยคที่พี่โกย้อนความหลังให้เราฟัง เขาเติบโตมากับร้านขายเทปคาสเซ็ทและซีดีของครอบครัวที่จังหวัดสงขลาก่อนสอบโควต้าย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในชั้น ม.ปลาย 

เขาเล่าให้ฟังว่าอยากเป็นวิศวกรมาตลอดเพราะชอบวิชาเลข แต่ก็มีช่วงไขว้เขวที่อยากเป็นผู้กำกับหนังและนักแปลหนังด้วยเพราะชอบดูหนังมาก และรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่พาเขาไปอีกโลก แต่เขาก็รู้ตัวว่าไม่ใช่คนที่เก่งด้านอาร์ตขนาดนั้นจึงมุ่งมั่นสู่เส้นทางที่ใช่สำหรับตัวเองมากกว่า

หลังเรียนจบชั้นมัธยมพี่โกสอบชิง ‘ทุนคิง’ หรือ ทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในสาขา Biomedical Engineering ที่ Duke University แม้จะตั้งใจเรียนวิศวะเคมีในตอนแรกและไม่ชอบวิชาชีวะมากๆ ในช่วง ม.ปลาย แต่เขาก็ตัดสินใจเรียนด้วยความคิดที่ว่า “อุตส่าห์ได้โอกาสที่ดีแล้ว ทำไมไม่ลองเรียนอะไรใหม่ๆ บ้าง” พี่โกบอกว่าเขาชอบวิชาที่ใช้ความคิดและการเรียนสาขานี้ก็เป็นเหมือนการต่อเลโก้ที่เชื่อมโยงความคิดให้เป็นรูปร่างจับต้องได้

 

เป้าหมายที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในช่วงปริญญาตรีพี่โกเซ็ตเป้าหมายไว้ตลอดว่าอยากกลับมาเป็นอาจารย์ที่เมืองไทย แต่ลึกๆ ในใจก็มีสายอาชีพธุรกิจที่อยากลองด้วย เขาเล่าว่าสิ่งที่เสียใจที่สุดในช่วงเวลานั้นคือการปิดกรอบตัวเองว่าอยากเป็นอาจารย์ ทำให้มุ่งมั่นทำรีเสิร์ชแค่อย่างเดียว จึงพลาดโอกาสลองฝึกงานในองค์กรธุรกิจ จนกระทั่งตอนปี 4 ที่เพื่อนๆ คนอื่นกำลังหางาน พี่โกเข้าไปฟังงาน Career Fair และยื่นเรซูเม่ให้กับบริษัท Putnam Associates เพื่อทำงานที่อเมริกาในช่วงเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาเอก แม้จะเป็นการสมัครงานแบบสนุกๆ ไม่คาดหวัง แต่เขาก็เข้าทำงานเพื่อหาประสบการณ์ในสายงานด้าน Biotech Consulting 

เมื่อทำงานได้เกือบหนึ่งปี ชีวิตของเขาก็กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนต่อปริญญาเอกตามที่ตั้งใจ แม้ช่วงแรกจะตั้งใจว่าอยากเป็นอาจารย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากพี่โกได้ลองทำงานในองค์กรธุรกิจและเรียนปริญญาเอกไปสักพักก็เห็นว่าการเป็นศาสตราจารย์ที่ต้องรับผิดชอบห้องแล็ปไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองอยากทำ เขาจึงอยากทดลองสิ่งใหม่ๆ ในสายงานธุรกิจมากกว่า

 

PhDคือการวิ่งมาราธอน

พี่โกบอกว่าไม่รู้สึกว่าเขาเสียโอกาสใดๆ และมีหลายสิ่งที่เขาได้รับจากการเรียนปริญญาเอก เช่น มีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเมนเทอร์และไอดอลในการทำงาน และสอนให้รู้จักว่า People Manager ที่ดีต้องเป็นอย่างไร 

“เราคิดว่าแค่การได้เมนเทอร์ที่ดีมันก็คุ้มค่าแล้วกับ 3-4 ปีที่ใช้เวลาที่สแตนฟอร์ด” พี่โกกล่าว

นอกจากนี้เขายังได้เรียนรู้การจัดการปัญหา เพราะการเรียนปริญญาเอกมีปัญหาตลอดเวลา ต้องคิดการแก้ปัญหาทุกวัน และยังสอนให้มีความยืดหยุ่นมากเพราะในขณะที่พี่โกใช้เวลา 4 ปีเพื่อเรียนจบ เพื่อนบางคนของเขาใช้เวลาถึง 11 ปี พี่โกบอกว่า “การเรียนปริญญาเอกมันเหมือนวิ่งมาราธอนนะ ทุกคนต้องตั้งเป้าหมายและมีเวลาของตัวเอง”

 

Specialist กับ Generalist

หลังใช้ชีวิตที่อเมริกาถึง 12 ปี พี่โกสมัครงานด้าน consulting กับบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง Boston Consulting Group (BCG) เพราะอยากกลับมาทำงานที่เมืองไทยและอยากใช้ชีวิตกับครอบครัว และเขารู้ว่าการกลับเมืองไทยอาจจะต้องเจอ Culture Shock ในการทำงานจึงเลือกทำงานกับบริษัทนี้เพราะมีวัฒนธรรมการทำงานแบบอเมริกันที่คุ้นเคยอยู่บ้าง รวมถึงเป็นสายงานที่ต้องเปลี่ยนโปรเจกต์ทุก 3 เดือน ซึ่งพี่โกบอกว่าเขาอยากรู้ว่าแต่ละองค์กรทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากจะทำให้รับรู้สายงานต่างๆ และได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำของเมืองไทยแล้ว ถ้าปรับตัวได้ก็จะเห็นโอกาสว่าอยากทำงานกับบริษัทต่างๆ ต่อไปได้

พี่โกเล่าให้ฟังว่าแม้ผ่านการทำงานสายวิจัยเฉพาะทางในช่วงเรียนปริญญาเอก แต่การทำงานหลากหลายด้านกับ BCG เป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกจนทำให้มาอยู่จุดนี้ได้ในปัจจุบัน ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อได้เป็นผู้บริหารจริงๆ เขารู้สึกว่าการทำงานกับการจัดการคนทำให้รู้มุมมองของคนอื่นมากขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนที่พัฒนาให้เขาเป็นผู้จัดการที่กลมกล่อมขึ้น

 

ออฟฟิศที่ยากที่สุดในโลก

หนึ่งในประสบการณ์การทำงานที่ประทับใจที่สุดของพี่โกคือการได้รับโอกาสไปทำงานกับออฟฟิศ BCG ที่นิวยอร์ก ด้วยการเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในโปรแกรม Ambassador โดยบริษัทจะเลือกตัวแทนจากคนที่ทำผลงานได้ดีในแต่ละภูมิภาค โดยตัวแทนสามารถเลือกได้ว่าอยากทำงานกับออฟฟิศของบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก “ออฟฟิศที่นิวยอร์กเป็นออฟฟิศที่ยากที่สุดในโลก เพราะมีความเป็นสากลและมืออาชีพมาก ถือเป็นปีที่ยากลำบาก เจองานท้าทายมีโปรเจ็คที่ทั้งง่ายและยาก” 

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานกับ BCG พี่โกบอกว่างานที่ทำแม้จะมีความยาก แต่โอกาสที่จะเติบโตในสายงานนั้นๆ ต้องมาจากการทำให้เห็นว่าเราให้อะไรกับบริษัทได้บ้าง ต้องสร้างให้ทุกคนเห็นคุณค่าว่าเราถนัดทำงานด้านใดเป็นพิเศษ เมื่อได้แสดงให้เห็นแล้วโอกาสในการเลือกงานที่ใหญ่ขึ้นก็จะมาเอง

สิ่งที่พี่โกได้เรียนรู้จากการทำงานกับ BCG คือเรื่องของ People Management และการให้ความสำคัญกับฟีดแบ็กตลอดเวลา เขาเล่าว่าถูกเทรนเรื่องการให้ฟีดแบ็กเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ และเคยมีเคสที่ต้องเขียนฟีดแบ็กให้กับพนักงานที่เข้ามาใหม่เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของผู้จัดการที่ดีที่ต้องคอยให้ฟีดแบ็กเพื่อประโยชน์ของพนักงานหรือลูกน้อง

 

งานที่ตัดสินใจและลงมือทำเอง

หลังจากทำงานกับ BCG ประมาณ 5 ปี พี่โกก็ถูกชักชวนให้มาทำงานที่ Lazada ในตำแหน่ง Chief of Staff ซึ่งเป็นโอกาสในการทำงานใหม่ๆ และได้ดูแลหลายด้านในองค์กร เหตุผลที่ตัดสินใจตอบรับงานนี้เพราะ ตอนนั้น Lazada ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ แม้จะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง โอกาสในการเติบโตยังมีได้อีกมาก ประสบการณ์ที่เขาไปทำงานในนิวยอร์คทำให้เขาเห็นเทรนด์โลกที่ก้าวหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงการทำงานกับบริษัทจีนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเพราะพี่โกมองว่าโลกปัจจุบันไม่ใช่แค่โลกของอเมริกาเพียงผู้เดียวอีกต่อไป

พี่โกบอกว่าแม้หลายคนมักจะถามว่าบริษัทอเมริกากับบริษัทจีนมีความแตกต่างกันอย่างไร เขาให้คำตอบว่าในการทำงานแทบไม่มีความแตกต่างกันเลย รวมถึงมีความเป็นมืออาชีพที่สูงมากทั้งคู่ นอกจากนี้พี่โกเล่าให้ฟังว่าการทำงานระหว่างตำแหน่ง Consult กับ Chief of Staff มีความแตกต่างกันมากเพราะจากที่เป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้คนอื่นตัดสินใจ แต่ Chief of Staff ที่นอกจากเป็นผู้ช่วยซีอีโอแล้ว ต้องเป็นคนตัดสินใจและลงมือทำโปรเจ็คต่างๆ ด้วยตัวเอง

 

ตลาดอีคอมเมิร์ชที่ยังโตได้อีก

พี่โกมองว่าตลาดอีคอมเมิร์ชยังโตไปได้เรื่อยๆ เหมือนที่จีนสามารถโตได้ถึง 37% และ อเมริกา 31-32% ซึ่งอีคอมเมิร์ชของธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยยังมีช่องว่างให้โตได้ และเป้าหมายของ Lazada คือการที่ทุกอย่างต้องโตไปพร้อมกันเหมือนเป็น ecosystem เขาเสริมว่าสิ่งสำคัญคือความต้องการของลูกค้าบนพื้นฐาน ‘customers first’ ดังนั้นเป้าหมายของ Lazada ซึ่งคือการเป็นประตูที่ลูกค้าเข้าไปแล้วสามารถเข้าถึงสินค้าทุกอย่างตามที่ต้องการ พี่โกบอกว่าแม้ทุกคนจะมีรายได้แตกต่างกันแต่เมื่อเข้าไปใช้งานทุกคนจะมีสินค้าที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างครบถ้วน

 

คนรุ่นใหม่ต้องกล้าที่จะเสี่ยง

“ต้องกล้าที่จะเสี่ยง เพราะหลายคนกลัวที่จะเสี่ยง” คือสิ่งที่พี่โกอยากฝากให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ๆ ทุกคน ทั้งเรื่องย้ายงาน เปลี่ยนโปรเจ็คที่ทำ พี่โกบอกว่าสิ่งที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้คือการถามตัวเองตลอดว่า ถ้าไม่ตัดสินใจแบบนั้น เราจะเสียใจภายหลังตอนเราอายุ 40-50 ไหม ซึ่งหากใจเราบอกว่าเราจะเสียใจถ้าไม่ตัดสินใจเราก็ต้องลงมือทำมันเลย เหมือนที่พี่โกตัดสินใจออกมาจาก BCG หรือตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ

นอกจากนี้พี่โกบอกว่าวันแรกที่เข้าทำงานควรถามตัวเองว่า “อยากให้คนอื่นในบริษัทรู้จักตัวเองว่าอะไร” เพราะหากเราไม่สามารถรู้หรือหาตำแหน่งให้ตัวเองได้ ก็จะไม่รู้ว่าจะกำหนดตัวเองได้ว่าเป็นอย่างไร อย่างที่พี่โกบอกว่าเขาอาจเป็น Problem Solver ที่คอยแก้ปัญหาให้กับทุกคน แต่ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเขา ทุกคนมีสิ่งตัวเองเป็นและต้องการให้คนอื่นเห็นแตกต่างกันไป ซึ่งต้องถามตัวเองว่าอยากเป็นแบบใด

 

สิ่งที่ผู้จัดการที่ดีต้องมีในมุมมองพี่โก

แม้ว่าแต่ละคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน แต่หนึ่งในคุณสมบัติที่พี่โกมองว่าสำคัญกับการเป็นผู้จัดการที่ดีคือต้องเป็น ‘active listener’ ที่ฟังลูกน้องว่าต้องการอะไร ฟังแล้วพยายามกลั่นกรอง รวมถึง ‘กำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ทีม’ เพราะหากทีมไม่รู้ว่า direction เป็นอย่างไร การทำงานก็จะลำบาก นอกจากนี้ยังต้องเป็นเป็นเหมือนฟิลเตอร์และคนจัดลำดับความสำคัญ ให้กับทีมเพื่อทำให้ทุกคนรู้โฟกัสของตัวเอง และสุดท้ายคือต้องให้ฟีดแบ็ก ให้คำแนะนำ เป็น ทั้งโค้ชและเป็นเมนเทอร์ที่ดีให้กับทีมงานของตัวเองได้

“ไม่ใช่โฟกัสว่าจะเป็น good business person ได้ยังไง แต่คิดว่าจะเป็น good manager ได้ยังไงด้วย” พี่โกกล่าว

 

เป้าหมายแรกและสุดท้ายยังคงเป็นการเรียนรู้

“คิดว่ายังมีโอกาสที่เรียนรู้อะไรอีกเยอะ เป้าหมายชีวิตของเราคือเราชอบเรียนรู้ ถ้าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็อยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”

คือคำตอบของพี่โกที่ชัดเจนสำหรับเป้าหมายในชีวิตของเขาในอนาคต และเราก็เชื่อเช่นกันว่าการเรียนรู้คือกุญแจที่จะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights