The Decorum: ร้านเสื้อผ้าที่เข้าใจความต้องการของผู้ชาย

ไขกุญแจความสำเร็จของ The Decorum ร้านมัลติแบรนด์สำหรับผู้ชายที่อยากดูดีกับ ‘กาย’ ศิรพล ฤทธิประศาสน์ และ ‘บอล’ วรงค์ ภัทรชัยกุล

จุดเริ่มต้นของTheDecorum

คุณกาย ศิรพล ฤทธิประศาสน์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และคุณบอล วรงค์ ภัทรชัยกุล เจ้าของธุรกิจขายเสื้อผ้าลูกไม้ผู้หญิง ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความชื่นชอบที่คล้ายกันทั้งสไตล์การแต่งตัวแบบ Classic Menswear ความหลงใหลในเสื้อผ้าและการตัดเย็บ ผสานกับสายตาที่มองเห็นศักยภาพของตลาดเสื้อผ้าผู้ชายในเมืองไทยจึงร่วมกันสร้าง The Decorum ขึ้นมา

จุดเด่นของ The Decorum

คุณกายเล่าให้เราฟังว่า “The Decorum เป็นคอมมูนิตี้ของผู้ชายที่ชอบการแต่งตัวแบบคลาสสิก” มาที่เดียวได้จบครบวงจร ตั้งแต่เชิ้ต รองเท้า และสูท คุณบอลยังย้ำกับเราว่า “The Decorum จะหาของที่มีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล เราต้องใช้เองด้วยเพื่อที่จะแนะนำให้กับลูกค้าได้ บางอย่างราคาสูงก็ต้องสอดคล้องกับคุณภาพที่ตามมา ของแพงถ้าไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เราก็ไม่เอาเข้ามาขาย” 

ร่วมงานกับKamakuraได้ยังไง?

เท้าความก่อนว่า Kamakura เป็นแบรนด์เสื้อเชิ้ตของญี่ปุ่น เกิดจากความตั้งใจของคุณ Yoshio Sadasue ที่ต้องการผลิตเสื้อเชิ้ตคุณภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผล เสื้อของแบรนด์ผลิตที่ญี่ปุ่น เย็บตะเข็บข้างเนี้ยบทั้งด้านในและด้านนอก ใช้เทคนิคการเย็บแบบ Single Needle ซึ่งเป็นวิธีการเย็บที่ต้องใช้ความชำนาญของช่างตัดเย็บเป็นพิเศษ และใช้กระดุมทำจากเปลือกหอยแท้ 

ความใส่ใจในรายละเอียดของเจ้าของแบรนด์ที่ถูกถักทอผ่านเสื้อผ้าไปถูกตาต้องใจกับความต้องการของ The Decorum คุณกายและคุณบอลจึงตัดสินใจติดต่อเจ้าของแบรนด์ Kamakura ไปโดยตรงทางอีเมลเลย ตอนแรกถูกปฏิเสธแบบสุภาพ แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งคุณกายและคุณบอลก็ไม่คิดยอมแพ้ งัดทุกท่วงท่าของความใส่ใจและความหลงใหลในแบรนด์ของอีกฝ่ายเพื่อซื้อใจ ทั้งสองใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จนในที่สุดก็ได้ Kamakura มาเป็นส่วนหนึ่งของร้านมัลติแบรนด์ ซึ่งคุณกายได้ให้เกร็ดเล็กๆ ที่น่าสนใจไว้ว่า

เราต้องสนใจด้วยว่าเจ้าของแบรนด์เป็นคนชาติไหน เพราะธรรมชาติของเขาก็จะต่างกัน อย่างญี่ปุ่นจะไม่ได้สนใจเรื่องของส่วนแบ่งการตลาดเท่าฝั่งอเมริกา

กลุ่มลูกค้า

ทั้งสองเห็นตรงกันว่า กลุ่มลูกค้าคือผู้ชายที่อยากใส่เสื้อผ้าที่ดูดี แต่อาจไม่ถึงขั้นหลงใหลในแฟชั่น หรือแต่งตัวจัด ด้วยเหตุผลนี้ คุณกายและคุณบอลจึงใช้รูปที่ถ่ายจากคนกันเองในการโปรโมทผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ง่าย คนธรรมดาทั่วไปก็ใส่ได้ ดังนั้นก่อนที่เราคิดจะใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อโปรโมทแบรนด์ของตัวเอง เราต้องรู้จักสินค้าของเราก่อนว่าเหมาะกับช่องทางการโปรโมทแบบไหน

How to ได้ใจลูกค้าในแบบ The Decorum

  1. จ้างพนักงานที่หลงใหลในสินค้าไม่ต่างจากเรา เพราะเขาจะสามารถพูดคุย ให้ข้อมูล ตอบคำถามลูกค้า และรักษาคอมมูนิตี้ไว้ได้ วิธีคลาสสิกอย่างการเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปากยังคงได้ผลเสมอ
  1. ใช้สื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นโพสรูปหรือคลิปวีดิโอ เพราะใช้ทุนน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก 
  1. สื่อออนไลน์ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ลูกค้ารู้จักคุณภาพของแบรนด์ไม่คุ้นหูมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขายให้กับร้านมัลติแบรนด์
  1. ซื้อใจลูกค้าต่างชาติด้วยคอนเทนต์ภาษาอังกฤษและการให้บริการส่งต่างประเทศฟรี
  1. จัดอีเวนท์บ่อยๆ แทบทุกเดือนในช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิด เช่น อีเวนต์ของคนแฟชั่นที่เรียกว่า Trunk Show โดยจะนำช่างตัดสูท ช่างกางเกง ช่างทำรองเท้าฝีมือดีจากต่างประเทศมานำเสนอให้คนไทยได้รู้จักและได้ใช้บริการ

Key Takeaway

Start with passion: เริ่มจากความชอบ เราถึงจะสนุกและสู้กับมันได้ แม้ต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่ได้เปรี้ยงในครั้งแรกที่ลงทุนลงแรง 

Start small: เริ่มจากเงินทุนที่น้อยก่อนเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดแบรนด์ต่อไป เหมือนที่ The Decorum เลือกเปิดร้านที่อารีย์ซึ่งเป็นที่ของคุณกายในช่วงแรก แทนที่จะเลือกทำเลที่สยาม

Reinvest: ลงทุนซ้ำเพื่อต่อยอดการเติบโตของธุรกิจ ต้องกล้าลงทุนในจุดที่ต้องคว้าโอกาสไว้ เก็บเงินสำหรับตัวเองให้น้อยเข้าไว้ ในช่วงที่ธุรกิจยังไม่มั่นคง

แผนต่อไปหลังจากนี้

เปิดร้านใหม่แนว Casual wear ชื่อว่า Club Luminaries ซึ่งได้เปิดตัวไปแล้ว และในปี 2565 จะร่วมกับพาร์ทเนอร์สิงคโปร์เปิดร้านในประเทศสิงคโปร์ เพราะจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าไปประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และยังคงอยากให้มีทั้งส่วนที่เป็นแบรนด์ของตัวเองและเป็นมัลติแบรนด์ด้วย 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights