หนี้ครัวเรือนแตะ 90% สูงสุดในรอบ 18 ปี รัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร?

หนี้ครัวเรือนแตะ 90% สูงสุดในรอบ 18 ปี เมื่อคนไทยยังก่อหนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร

หนี้ครัวเรือนคือหนี้คนไทยทั้งประเทศ!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยมีแนวโน้มขยับขึ้นสูงถึง 88-90% ในปี 2563 เนื่องจากสัดส่วนดังกล่าวมาจากปริมาณหนี้หารด้วยจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย จีดีพีก็ย่อมลดลง ทำให้ตัวหารลดตามไปด้วย ประกอบกับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการพักชำระหนี้ ทำให้ปริมาณหนี้ไม่ลดลงตามภาพเศรษฐกิจ เป็นผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงขึ้นนั่นเอง

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาระหนี้ที่สูงได้กลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน และทำให้ครัวเรือนไทยขาดภูมิคุ้มกันต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ วิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ก็ได้ตอกย้ำถึงความเปราะบางดังกล่าว

หนี้ครัวเรือน หนี้ในระบบ หนี้เสีย

หนี้ครัวเรือน คือ เงินที่สถาบันการเงินให้บุคคลธรรมดาที่มีที่อาศัยอยู่ในประเทศกู้ยืมเงิน ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจมีจุดประสงค์ที่จะกู้ยืมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อประกอบธุรกิจก็ได้ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลหนี้ครัวเรือน เฉพาะจำนวนที่สถาบันการเงินให้กู้ยืม โดยเรียกว่า “หนี้ในระบบ” ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) คือ สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือนติดต่อกัน  หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หนี้เสีย”

ทำไมคนไทยมีหนี้สูง

1 ใน 3 ของคนไทยมีมูลหนี้หรือที่มาของการเกิดหนี้ ตัวอย่างเช่น สัญญา อยู่ในระดับสูง โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 128,384 บาท และ 1 ใน 6 ของผู้กู้มีมูลหนี้เสียสูงขึ้น โดยมีค่ากลางหนี้เสียต่อผู้กู้ 64,551 บาท (ข้อมูลเดือน ก.ค. 63) หลายคนอาจสงสัยว่า ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ ทำไมคนไทยจำนวนมากถึงยังเลือกก่อหนี้เพิ่มแทนที่จะออมเงินไว้ในยามฉุกเฉิน จึงขอแบ่งกลุ่มคนก่อหนี้ออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

กลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังชำระหนี้ หรือกลุ่มที่รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก จะก่อหนี้ในการซื้อบ้าน ซื้อรถ ตามแคมเปญที่ผู้ประกอบการผลักดันออกมาเพื่อประคองตลาด

กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาสภาพคล่อง เป็นกลุ่มที่รายได้ไม่เพียงพอเพราะโดนลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง จึงต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้น แนวโน้มการจ้างงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินคุณภาพหนี้ครัวเรือนของคนกลุ่มนี้ว่าจะกลายเป็นหนี้เสียที่ไม่ได้รับการชำระหรือไม่

หากหลายคนไม่สามารถชำระหนี้ค้างได้ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบในภาคการเงินเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารจะไม่มีเงินสำรองเพียงพอที่จะปล่อยกู้ได้ในอนาคต ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยตรงหลายทางไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและการจ้างงาน และที่สำคัญคือ ส่งผลให้กำไรของธนาคารลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อแตกต่างของหนี้ครัวเรือนในไทย

ส่วนใหญ่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในสัดส่วนที่สูงมักเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร 89.5% นิวซีแลนด์ 96.9% เพราะความจริงแล้วหนี้ครัวเรือนไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากระดับหนี้ครัวเรือนสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจก็จะขยายตัวได้

คำถามคือ หนี้ครัวเรือนของไทยต่างจากประเทศเหล่านี้อย่างไร?

ข้อมูลสถิติจาก TMB Analytics เปรียบเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทย สิงคโปร์และอังกฤษให้เห็นถึงข้อแตกต่าง กล่าวคือ ในขณะที่สิงคโปร์และอังกฤษมีสัดส่วนหนี้บ้านสูงถึง 74% และ 84% และมีสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเพียง 3% และ 4% ตามลำดับ ไทยกลับมีสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลสูงถึง 34% และมีหนี้บ้านเพียง 40%

มองเผินๆ อาจคิดว่าคนไทยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับของชิ้นเล็กชิ้นน้อยหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วยังมีอีกแง่มุมหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือบริษัท SME จำนวนมากเลือกเป็นหนี้ประเภทนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ เนื่องจากสินเชื่อธุรกิจเข้าถึงได้ยากกว่า เพราะมีเงื่อนไขด้านหลักประกัน ปัญหานี้เกิดขึ้นกับสินเชื่อบ้านเช่นกัน สัดส่วนหนี้ของคนไทยจึงเป็นการสะท้อนปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อบางประเภทได้ยาก จนเกิดปัญหาการกู้หนี้ผิดประเภทไปโดยปริยาย

แก้ปัญหาอย่างไรให้ตรงจุด

ตอนนี้ผู้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือมีจำนวนราว 11.5 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท หรือ 28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ทว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า สินเชื่อที่เข้ามาตรการช่วยเหลือมีลักษณะกระจุก ทำให้บางพื้นที่น่าเป็นห่วงเป็นพิเศษ

ภาคอีสานตะวันออกที่มีสัดส่วนสินเชื่อเข้ามาตรการสูงถึง 40-60% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล (มีจำนวนบัญชีมาก) และสินเชื่อบ้าน (มีขนาดมูลหนี้สูง) และส่วนใหญ่ก็เป็นการเข้ามาตรการในลักษณะเลื่อนการชำระเป็นหลัก แต่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคใต้ และภาคเหนือตอนบนมีสัดส่วนสินเชื่อที่เข้ามาตรการสำหรับหนี้เสีย (NPL) สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ผู้กู้ที่เข้ามาตรการมีภาระหนี้สูงและคุณภาพด้อยกว่าผู้กู้ที่ไม่ได้เข้าอย่างมีนัยสำคัญ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย ​อึ๊งภากรณ์พบว่า ผู้กู้ที่เข้ามาตรการมีมูลหนี้และจำนวนบัญชีสินเชื่อในพอร์ตสูงกว่าผู้กู้ที่ไม่ได้เข้า โดยผู้กู้ที่เข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียมีภาระหนี้มากที่สุด รองลงมาคือผู้กู้ที่เลื่อนชำระ และผู้กู้ที่ลดอัตราการชำระ จึงอาจมองได้ว่า นโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ระยะยาว

ข้อสังเกตดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของความจำเป็นในการคิดหานโยบายใหม่เพื่อมาแก้ปัญหาหนี้ท่วมของครัวเรือนไทย และเมื่อพิจารณาระดับความรุนแรงในแต่ละพื้นที่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ที่ไม่เท่ากัน ยิ่งย้ำชัดว่าควรออกนโยบายแก้ไขปัญหาให้มีลักษณะเป็น Customization โดยนำ Big Data มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ออกนโยบายเดียวแล้วหวังว่าจะให้แก้ปัญหาครอบจักรวาล

อ้างอิง https://bit.ly/34XH5NL https://bit.ly/3k5uHle https://bit.ly/3nTeiCM

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights