ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์: ผู้ผันตัวจากนักวิจัย ไปผลักดันวงการสตาร์ตอัปไทย

วันนี้ Career Fact จะมาเล่าเรื่องราวของ ‘พี่ฮี’ ดร. ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ผู้ผันตัวเองจากนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์สู่ส่วนหนึ่งของการผลักดันวงการสตาร์ทอัปไทย จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ที่นี่

 

เส้นทางสู่ด็อกเตอร์

พี่ฮีเติบโตมาในย่านเยาวราชและเป็นเด็กที่เรียนค่อนข้างดี เวลาจะเลือกคณะที่เข้าจึงเป็นไปตามสูตรที่สังคมกำหนดไว้ว่าเด็กหัวดีควรเรียนอะไร ซึ่งทางเลือกก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น หมอ วิศวะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะเคมีเพราะชอบด้านนี้มากกว่า โดยเขามีความฝันว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เขาชอบเวลาได้ลองเล่นใส่เสื้อกาวน์ ชอบดูนักวิทยาศาสตร์ผสมสารเคมี ชอบการค้นคว้าจนพบความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์กับโลก ประกอบกับที่บ้านเองก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับเคมีด้วย

หลังเรียนจบปริญญาตรีและทำงานได้ระยะหนึ่งพี่ฮีก็ได้ทุน Fulbright ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา โดยพี่ฮีเลือกเรียนด้านพลังงานหมุนเวียนเพราะมองว่าเป็นสิ่งที่โลกอนาคตต้องการ และเลือกที่จะทำโพสต์-ด็อก (Post-doc) หรือ นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ต่อ เพราะยังอยากท่องโลกต่อและยังมีไฟในการทำวิจัยอยู่ ซึ่งสำหรับพี่ฮีก็รู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกเพราะเส้นทางนี้ทำให้เขาได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ

หลังจากเป็นนักวิจัยที่ MIT ได้ประมาณ 1 ปี เขาก็ย้ายไปเป็นนักวิจัยต่อที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ซึ่งพี่ฮีมองว่าเป็นประเทศที่ความเป็นอยู่ดีมาก ด้วยความเป็นรัฐสวัสดิการทำให้เรียกว่าเป็น “รัฐที่สมบูรณ์แบบ” ได้เลย แต่ในขณะเดียวกันบรรยากาศเงียบสงบของแถบสแกนดิเนเวียก็อาจจะชวนเหงามากเกินไปสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องอาศัยอยู่ต่างถิ่นด้วยตัวคนเดียว พี่ฮีจึงตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อไปช่วยทำธุรกิจที่บ้าน

 

ลึกๆแล้วทุกคนล้วนอยากคืนกำไรให้กับสังคม

กลับมาช่วยที่บ้านได้ไม่นานพี่ฮีก็พบว่านี่ยังไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่จะให้ไปเป็นอาจารย์หรือนักวิศวะเคมีก็ยังไม่ตอบโจทย์ หลังจากมีโอกาสได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นแล้วเขาก็อยากเลือกเส้นทางที่แตกต่างจากคนทั่วไปที่เรียนจบด้านนี้มา

ส่วนตัวเขาเชื่อว่าลึกๆ แล้วถ้าทำได้ ทุกคนก็อยากมอบอะไรกลับไปให้สังคมหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เขาตั้งคำถามต่อว่า “ต้องทำอย่างไรถึงจะได้ทำงานใกล้กับคนที่กำหนดทิศทางของประเทศได้?” และจากการตั้งคำถามก็ทำให้เขาได้รู้จักกับงานด้าน Management Consulting ที่จะได้ร่วมงานกับทั้งผู้บริหารและรัฐบาลเพื่อให้คำแนะนำที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ เขาจึงเริ่มสนใจในอาชีพนี้

อีกมุมหนึ่งที่พี่ฮีมองว่าเป็นเสน่ห์ของสายงานนี้คือ มันเป็นสายงานที่บังคับให้เขาต้องตักตวงความรู้และทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลาเนื่องจากพี่ฮีไม่ได้จบมาด้านนี้โดยตรง ในแง่หนึ่งการที่ถูกบังคับให้เรียนรู้ตลอดเวลาก็ย่อมทำให้เกิดความเหนื่อย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายใต้เวลาที่จำกัด

หลังจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เขาก็เริ่มลงมือทำตามที่ตั้งใจไว้ทันที โดยสุดท้ายเขาสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Roland Berger บริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจสัญชาติเยอรมัน ที่เปิดโอกาสให้พี่ฮีได้ร่วมงานกับรัฐมนตรีหลายท่านและผู้บริหารบริษัทภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในการช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของในประเทศ

หนึ่งในโปรเจกต์ที่เขาได้ทำในฐานที่ปรึกษาคือพัฒนาแผน วางเสปต์ และเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่สร้างตึก True Digital Park ตั้งแต่เริ่มต้น และโปรเจกต์นี้เองก็ได้เปิดโอกาสให้เขาได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ True Digital Park อย่างในปัจจุบัน

 

รู้สึกเสียดายความรู้ที่ร่ำเรียนมาไหม

พี่ฮีใช้เวลาราว 10 ปีไปกับการร่ำเรียนในสายเคมีและพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย เราจึงอยากรู้ว่าพี่ฮีรู้สึกเสียดายกับการเปลี่ยนสายมาด้าน Consulting หรือเปล่า หรือมองว่าเป็นการพักความฝันชั่วคราว? ทางพี่ฮีให้คำตอบมาว่าเขามองชีวิตเหมือนกับเกม การที่เราฝึกฝนสกิลหนึ่งมาจนอยู่ในระดับเชี่ยวชาญ แต่พอถึงสนามจริงไม่ได้นำมันออกมาใช้ ก็ไม่ได้แปลว่าสกิลนั้นจะหายไหน มันยังติดตัวเราตลอด

อย่างตอนนี้แม้จะทำงานที่เกี่ยวกับธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ให้คำปรึกษาบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเคมีหรือพลังงานอยู่ หรือแม้กระทั่งอาจจะออกมาทำสตาร์ทอัปที่เกี่ยวกับเคมีและพลังงานในอนาคตก็มีเป็นไปได้เช่นกัน หลายคนอาจจะมองไม่ออกว่าสองศาสตร์นี้จะมาบรรจบกันได้อย่างไร แต่พี่ฮียืนยันว่าเป็นไปได้ เพราะสมัยเรียนปริญญาเอกเขาเคยเข้าร่วมแข่งทำสตาร์ทอัปพลังงานสะอาดร่วมกับนักศึกษา MBA มาแล้ว เขาจึงไม่รู้สึกว่าการข้ามมาสายธุรกิจคือการทิ้งความรู้วิทยาศาสตร์ที่ตัวเองมี

 

True Digital Park งานที่มากกว่าแค่ดูแลตึก

อีกนัยหนึ่งของตำแหน่ง General Manager ผู้ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมอีกที เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพี่ฮีก็คือดูแลทุกส่วนตั้งแต่ส่วนของออฟฟิศปล่อยเช่า ส่วนของ Coworking Space สำหรับชุมชนสตาร์ทอัปของทั้งคนไทยและต่างชาติ ส่วนของสถานที่จัดงานอีเวนท์ และโปรแกรมต่างๆที่จะช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัปเติบโต อาทิ Startup Sandbox ซึ่งในแต่ละส่วนก็จะมีตัวชี้วัดผลงานที่ต่างกัน เช่น ต้องมีสตาร์ทอัปและบริษัท tech มาใช้พื้นที่เยอะๆ ต้องมีสัดส่วนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าเมืองไทยนั้นก็เป็น hub ที่เหมาะกับสตาร์ทอัปต่างชาติเช่นกัน เป็นต้น

 

ส่วนไหนที่สตาร์ทอัปไทยพัฒนาได้อีก

เนื่องจาก True Digital Park กำลังจะเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับวงการสตาร์ทอัปไทย เราจึงอยากรู้ว่ามีจุดไหนที่ยังเป็นปัญหาสำหรับสตาร์ทอัปไทย หรือมีจุดไหนที่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยพี่ฮีก็ได้ให้คำตอบกับเรามา 4 ข้อ 1) การหา Talent มาประกอบเป็นทีม เพราะ Talent ส่วนใหญ่มักจะโดนดึงตัวไปอยู่ตามบริษัทใหญ่ๆ คนในทีมเติบโตไม่ทันสตาร์ทอัปที่ต้องscale อย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งคนในทีมก็ประสบการณ์น้อยเกินกว่าจะรับบทบาทผู้บริหาร สิ่งที่ตามมาคือต้องเสียเงินก้อนใหญ่ไปจ้างคนที่ประสบการณ์มากกว่า 2) เรื่องของการเข้าถึงโอกาสในการขยายธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี connection ที่ดีเสมอไป 3) เรื่องของแหล่งเงินทุน เพราะเดี๋ยวนี้นักลงทุนเรียกได้ว่าระมัดระวังในการให้เงินทุนมากขึ้นเยอะ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นกับสตาร์ทอัปไทยว่าจะสามารถทำให้โตได้อย่างยั่งยืนจริง และ 4) กฎหมายและข้อบังคับต่างๆจากทางภาครัฐที่ทุกคนน่าจะพอทราบอยู่แล้ว

 

True Digital Park เข้ามาเติมช่องว่างอย่างไร

จุดประสงค์หลักการมีอยู่ของ True Digital Park คือส่งเสริมให้คนที่มีความริเริ่มและอยากทำสตาร์ทอัปสามารถสร้างธุรกิจได้จริง สิ่งที่ True Digital Park พยายามทำอยู่จึงเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนในแวดวงสตาร์ทอัปรวมถึงองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพูดคุยแต่กับบริษัทสตาร์ทอัปแต่ไม่พูดคุยกับรัฐบาลเลย ก็จะไม่สามารถผลักดันอะไรได้ และการสร้างเวทีให้สตาร์ทอัปเหล่านี้ได้โชว์ศักยภาพจนเข้าตาภาครัฐหรือภาคเอกชนที่สนใจ

 

บทเรียนที่อยากฝาก

สิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ควรมีคือ ‘Perseverance’ เพื่อให้อดทนผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้จนถึงเป้าหมาย เพราะพี่ฮีมองว่าคนรุ่นใหม่หลายคนมักได้รับความหวังหรือแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จที่เห็นตามสื่อต่างๆ โดยอาจจะมองข้ามไปว่าคนเหล่านี้กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ อดทนฟันฝ่าอุปสรรค และรู้จักไขว่คว้าโอกาส และเมื่อมีฝันแล้วก็ต้องมีวินัยและให้เวลากับการไล่ตามความฝันของตัวเองด้วย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights