พิสิษฐ์ ธนเศรษฐ์สกุล: CBO แห่ง N-Squared กับฝันที่อยากขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตในระดับภูมิภาค

ถ้าคุณมีความฝันอยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพ คุณจะต่อยอดมันอย่างไร?

แล้วอะไรคือสิ่งที่จะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้?

พบกับเส้นทางอาชีพจากจุดเริ่มต้นที่เรียนจบจากคณะวิศวะฯ สู่ความชอบงาน Consult ก่อนจะมุ่งหน้าทำตามฝันในการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ในระดับภูมิภาค 

วันนี้ #CareerTalk พูดคุยกับ พี่สปริง-พิสิษฐ์ ธนเศรษฐ์สกุล CBO แห่ง N-Squared eCommerce Group ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจจากมุมมองที่เรียบง่ายว่า การที่เราจะเข้าใจปัญหาของพ่อค้าให้ดีพอ คงไม่มีอะไรดีเท่ากับการเป็นพ่อค้าเอง

ติดตามได้ที่นี่

จุดเริ่มต้นของพี่สปริง

พี่สปริงเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเล่าให้ฟังว่าเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เรียนจบสูง ดังนั้นเมื่อเขาอยากเรียนอะไรก็สนับสนุนเต็มที่ และเชียร์ให้เอาดีด้านวิศวะ

ระหว่างเรียนมีโอกาสครั้งสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ ได้ฝึกงานวิศวกรที่โรงงาน ซึ่งทำให้เขารู้ว่าตนเองสนุกกับการเรียน แต่ไม่ได้สนุกไปกับการทำงานจริงด้านวิศวะเลย ส่วนอีกเรื่องคือการไปแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นความตั้งใจของทุกคนที่ไปเรียนที่นั่น “ทุกคนไม่ได้มาเรียนแค่เพื่อเรียนจบ แต่เขามีฝัน เขารู้อยู่แล้วว่าจะเป็นอะไร ดังนั้นเขาจึงเรียนเพื่อเป็นสิ่งนั้น” เขากล่าว

ยิ่งได้อยู่กับเพื่อนและแวดล้อมไปด้วยกลุ่มคนที่อยากทำงานด้าน Consult เขาจึงรู้ตัวเองว่าต้องเปลี่ยนจากสายเทคนิคอย่างวิศวะมาทางสายธุรกิจให้ได้

เปลี่ยนสายสู่Consult

พี่สปริงเริ่มทำงานแรกที่ Iris Consulting อยู่ 2 ปี ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และลองทำแทบทุกอย่าง เขาจึงเข้าใจว่าจะเป็น Consult ที่ดีได้ต้องขยัน ทิ้งอีโก้ ดูแลทีมและทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุด

“เราได้เข้าใจว่าการเป็น Consult ที่ดี คือต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว” เขากล่าว

แม้จะคิดว่า Consult เป็นงานที่ใช่ แต่เรื่องการเข้าหาคนก็ดูจะไม่เข้ากับบุคลิกส่วนตัวของพี่สปริงมากนัก เขาจึงตัดสินใจว่าจะทำงานในอุตสาหกรรมที่ตัวเองสนใจจริงๆ คือด้านเทคโนโลยีและไอที ซึ่งในประเทศไทยขณะนั้นมีเพียงไม่กี่บริษัท และ Lazada ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก จึงทำงานได้อยู่ 1 ปีกับทีมการตลาด ก่อนจะย้ายไปบริษัทที่ชื่อว่า Happyfresh ในตำแหน่ง Head of Marketing

พี่สปริงบอกว่าสิ่งที่ได้จาก Consulting Firm มากที่สุดไม่ใช่ความรู้ แต่เป็น ‘ความอึด’ เพราะต้องทำตามเดดไลน์ ทำให้ทัน รวมถึงทักษะการทำสไลด์ ที่ต้องสื่อสารกับคนให้ตรงจุดด้วย ซึ่งยังนำมาใช้ได้ในการทำงานเสมอ 

เพราะฝันจึงต้องทำ

พี่สปริงเริ่มมีความฝันว่าอยากทำสตาร์ทอัพเองตั้งแต่ตอนอยู่ Lazada เพราะเห็นเพื่อนหลายๆ คนที่กล้าออกไปทำ นอกจากนี้ยังตกตะกอนความคิดได้ว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จคือทีม และพาร์ทเนอร์ที่เก่ง แต่การจะให้คนเก่งมาทำงานด้วย ก็ต้องยกระดับความสามารถของตัวเองให้ได้ก่อน เขาจึงตั้งใจทำงาน และลองทำในทุกโอกาสที่ได้รับ 

ก่อนจะได้พบปะกับคุณหนึ่ง – นัฐพล CEO ของ N-Squared ครั้งแรกที่งานๆ หนึ่ง จึงได้คุยกัน “เรารู้สึกถึงความฉลาด รู้ลึก แต่ถ่อมตัว จึงหาไอเดียทำธุรกิจด้วยกัน” พี่สปริงเล่าเสริม 

จากไอเดียธุรกิจสู่N-Squared

“สิ่งที่เราตระหนักคือ จะทำธุรกิจให้ดี ธุรกิจของเราจะต้องเป็น Pain Killer ต้องแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนด้วย”

ถ้าจะหาทางทำธุรกิจให้เกิด สิ่งที่ต้องลงทุนคือเวลาและแรง ทั้งสองคนจึงนัดเจอกันสัปดาห์ละครั้งที่ร้านกาแฟ และระดมไอเดียในการทำธุรกิจอยู่ 6 เดือน พี่สปริงเล่าว่าคุณหนึ่งแชร์ไอเดียและปัญหาที่เจอตลอดกับธุรกิจขายไม้ม็อบ ทั้งคู่จึงได้ไอเดียว่าถ้าเช่นนั้น ก็แก้ปัญหาที่เจอกับตัวเองเลยน่าจะดีกว่า จึงเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นของไอเดียธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาและช่วยคนที่ขายของออนไลน์ และภายในเย็นวันนั้น พี่สปริงกลับบ้านเพื่อกดสั่งของจาก Alibaba มาขาย และขายเครื่องออกกำลังกายชื่อแบรนด์ XtivePro จนมียอดขายดี ทั้งคู่จึงตัดสินใจรวมกิจการกัน แล้วก่อตั้งเป็นบริษัท N-Squared eCommerce ขึ้นมา

“เรารู้แล้วว่าการที่เราจะเข้าใจปัญหาของพ่อค้าให้ดีพอ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการเป็นพ่อค้าเอง” เขาเสริม

ต่อยอดในตลาดอีคอมเมิร์ซ

จุดเริ่มต้นของ N-Squared เป็นปีเดียวกับที่อาลีบาบาตัดสินใจลงทุนกับ Lazada ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลต่อตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างมาก พี่สปริงและคุณหนึ่งจึงมีไอเดียธุรกิจใหม่ที่ได้ขึ้นมา คือการทำตัวเองให้กลายเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าลงมือทำเองแบบสตาร์ทอัพสไตล์ดั้งเดิม N-Squared จึงได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Lazada ในการนำของของแบรนด์ต่างๆ มาขายในแพลตฟอร์ม Lazada

“เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือการที่เราเป็นเจ้าของสนามมวย ให้คนมาต่อยมวย แล้วเก็บค่าตั๋ว ไม่ใช่ลงไปต่อยเอง” พี่สปริงกล่าว

คนและทีมคือหัวใจของธุรกิจ

“วันแรกๆ เราแทบไม่กล้าชวนคนไปดูออฟฟิศด้วยซ้ำเพราะออฟฟิศเราเป็นตึกแถว” พี่สปริงเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การปลุกปั้นบริษัทสตาร์ทอัพตั้งแต่วันแรกที่ต้องซื้อใจคนด้วยวิธีขายอนาคตของบริษัท บอกและสื่อสารว่าตัวเองจะเป็นอะไร ซึ่งมีความยากตั้งแต่การประกาศรับสมัครคนทำงาน รวมถึงการดูแลคน พัฒนาคน พี่สปริงบอกว่าต้องยกเครดิตให้คุณหนึ่งที่เอาใจใส่เรื่องคนมากๆ

ขณะเดียวกันการดูแลทีมก็เป็นหัวใจของ N-Squared ด้วย ที่หัวหน้าต้องใกล้ชิดกับทีม และเข้าถึงกับทุกคนได้ พี่สปริงบอกว่า N-Squared เป็นองค์กรที่กฎไม่เยอะ เพราะเชื่อว่าการยึดติดกับกฎมากไป ไปบดบังความสามารถคนเก่ง จึงเชื่อในการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้และผิดพลาด ดังนั้นคนที่ N-Squared อยากร่วมงานด้วย คือคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ ส่วนคนที่เหมาะกับทีม Business Development ต้องชอบพบปะผู้คนและชอบช่วยเหลือคน เพราะต้องไปเก็บข้อมูลปัญหาของคน รวมถึงมีความรู้ในสิ่งที่ถนัด

“เรายังใหม่และยังพลาดอยู่ ดังนั้นเราเลยไม่ตัดสินคนจากความผิดพลาด แต่สนับสนุนให้เขากล้าที่จะผิดพลาด” เขากล่าวเสริม

เป้าหมายอนาคต

แม้ในช่วงโควิด-19 จะส่งผลดีต่อธุรกิจของ N-Squared คือการส่งของที่มากขึ้น แต่ปัญหาคือการขยายตลาดไปต่างประเทศที่ลำบาก เพราะเดินทางไม่ได้ รวมถึงการพูดคุยในทางธุรกิจต้องผ่านจอ ทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ดีเท่าการเจอหน้ากัน

พี่สปริงเล่าให้ฟังว่า N-Squared เริ่มต้นความกล้าคิด ลงมือทำมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่คล้ายกับสิ่งที่อยากเป็น และปัจจุบันการทำงานก็มีกลยุทธ์มากขึ้น แม้จะมาไกลมากจากวันแรก แต่ปัญหาก็มีเข้ามาตลอด เหมือนเกมที่ต้องผ่านด่านแรกเพื่อไปเจอบอสด่านสอง แต่เขาเชื่อว่าบริษัทใหญ่ทุกแห่ง ผ่านปัญหาแบบเดียวกันมาหมดแล้ว เราอาจจะแค่แก้ไม่เป็น ดังนั้นก็ต้องไปหาคนที่แก้เป็นมาช่วยเหลือ 

ปัจจุบันพี่สปริงทำงานในตำแหน่ง CBO หรือ Chief Business Officer โดยหน้าที่หลักคือมองหาโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่ การหาลูกค้าและคู่ค้าใหม่ เปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศ และดูแล Corporate Partnership เช่น เอเจนซี่ อินฟลูเอนเซอร์  เป้าหมายของพี่สปริงและ N-Squared ในอนาคตคือการทำให้คู่ค้าอยากทำงานด้วย และดูแลลูกค้าที่ไว้ใจให้ดีที่สุด พร้อมกับเติบโตเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ที่โดดเด่นในระดับภูมิภาค  โฟกัสที่การแก้ปัญหาของลูกค้าและมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ  และมอบประสบการณ์ที่ดีในทุกประเทศที่ขยายตลาดไป

เลือกงานให้ตรงใจ

จากประสบการณ์และเส้นทางการทำงานของพี่สปริง เขาบอกว่าหากดูแล้วก็จะรู้ว่าตัวเขาเป็นคนเลือกงาน โดยใช้ 3 ปัจจัยในการเฟ้นหางานที่ตอบโจทย์กับตัวเองมากที่สุด ได้แก่

1.อุตสาหกรรมเติบโตไหม

2.บริษัทที่เติบโตในอุตสาหกรรมนั้นๆ

3.หาทีมที่ซัพพอร์ทเสมอ

อยากให้มาทำงานด้วยกัน!

ถ้าใครที่กำลังมองหางานหรือสนใจธุรกิจสตาร์ทอัพ พี่สปริงบอกว่าเป็นโอกาสที่ดีกับการทำงานที่ N-Squared เพราะเป็นธุรกิจกำลังเติบโต รวมถึงได้ทำงานในต่างประเทศ ในการเปิดตลาดใหม่ซึ่งเป็นโอกาสครั้งสำคัญของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังได้ลงหน้างานจริง และเป็นสนามของผู้สนใจอยากเป็นผู้ประกอบการ

ในอนาคตพี่สปริงเชื่อว่าการทำธุรกิจร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนจะมีมากขึ้น และทุกวันนี้ก็เชื่อว่าอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซยังเติบโตอยู่ โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาด  ดังนั้นถ้าวันนี้หลายๆ คน อยากเข้าใจธุรกิจในระดับภูมิภาค ที่มากกว่าการกูเกิล อยากลอง อยากลงมือทำ อยากเปิดประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศ N-Squared น่าจะตอบโจทย์สิ่งเหล่านั้นได้

“ถ้าผมย้อนไปเป็นวัยรุ่นใหม่ แล้วอยากเติบโตกับบริษัทใดสักแห่ง ผมคิดว่าผมก็จะมาทำที่นี่” เขาเสริม

บทเรียนที่อยากฝาก

ตลอดบทสนทนากับพี่สปริง เขาย้ำตลอดว่า “ยิ่งรู้ตัวเองเร็วว่าต้องการเป็นอะไร ยิ่งดี” ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของประสบการณ์ สิ่งสำคัญคือหลงทางได้ แต่อย่าหลงทิศ และถ้าให้แนะนำตัวเองในอดีตได้ เขาอยากจะบอกคนที่อยากเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการว่า จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันเป็น Mindset ในการทำธุรกิจ ซึ่งการทำงานในบริษัทก็สามารถเติบโตได้หากมีวิธีคิดแบบผู้ประกอบการ

“แม้ว่าหลายคนจบมายังไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร ก็ต้องลองทำไปก่อน หาโอกาสในการหาสิ่งที่ชอบจากการลงมือทำ” พี่สปริงกล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights