ปรีดิ์ หวังเจริญ แห่ง ShobShop ผู้ก้าวขึ้นเป็น CEO เต็มตัวด้วยวัยเพียง 24-25 ปี

วันนี้ Career Fact จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘พี่ปรีดิ์’ หวังเจริญ CEO และ Co-Founder แห่ง ShobShop ผู้ได้รับบทบาทผู้นำตั้งแต่ยังเป็นเด็กจบใหม่ และก้าวขึ้นเป็น CEO เต็มตัวด้วยวัยเพียง 24-25 ปี

เขารับมืออย่างไรเมื่อต้องเป็นผู้นำทีมตั้งแต่อายุยังน้อย? ประสบการณ์ในฐานะผู้นำให้บทเรียนอะไรกับเขาบ้าง? และนิยาม CEO ที่ดีสำหรับเขาเป็นอย่างไร? ค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้

เริ่มค้นพบตัวเองหลังเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย

พี่ปรีดิ์ในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กทั่วไปในวัยเดียวกัน เขาไม่ได้มีอาชีพในฝันที่ชัดเจนแต่แรกว่าโตขึ้นต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจหรือออกมาทำสตาร์ทอัป ภาพความฝันที่เห็นก็ยังเป็นเพียงภาพเบลอ ตอนนั้นเขาคิดแค่ว่า ในเมื่อชอบเรียนวิชาอย่างฟิสิกส์และแคลคูลัส คณะที่ควรจะเรียนต่อก็คงหนีไม่พ้นคณะวิศวะ เขาจึงเลือกเรียนต่อด้าน Mechanical Engineering หรือวิศวกรรมเครื่องยนต์ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา

แต่พอได้เริ่มเรียนจริงๆ สิ่งที่พี่ปรีดิ์สนใจไม่ใช่วิชาของคณะที่ตัวเองเลือกเรียน แต่กลับเป็นวิชาด้านสังคมศาสตร์อย่างพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ทำให้ได้รู้ว่าทำไมเราถึงตัดสินใจซื้ออะไรบางอย่าง

นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่ปรีดิ์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า หรือจริงๆ เขาจะสนใจเรื่องธุรกิจ เรื่องการคิดค้นโปรดักต์มาแก้ไขปัญหาให้คนอื่นให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นมากกว่า เมื่อเรียนต่อปริญญาโท พี่ปรีดิ์จึงตัดสินใจเรียนต่อด้าน Technology Management ที่ผสมสองศาสตร์รวมกันคือเทคโนโลยีและการบริหาร เพื่อนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาที่ยังไม่เคยถูกแก้มาก่อน

โอกาสแรกของการสร้างอิมแพค

ท่ามกลางข้อเสนอจากทั้งในเมืองไทยและในอเมริกา พี่ปรีดิ์เลือกที่จะเริ่มงานกับ True Corporation

ปัจจัยหลักที่พี่ปรีดิ์ตัดสินใจร่วมงานกับ True ไม่ใช่รายได้ เพราะแน่นอนว่าฝั่งอเมริกาให้สูงกว่าอยู่แล้ว แต่คือโอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง โดยมีโจทย์คือจะทำแอปฯ อะไรก็ได้ ขออย่างเดียวคือแอปฯ นี้ต้องสร้างอิมแพค พี่ปรีดิ์ในวัย 23 ปีจึงตอบรับโอกาสหายากแบบนี้ทันที เพราะตำแหน่งระดับนี้ส่วนใหญ่คนที่มีโอกาสได้ลองทำจะต้องอยู่ระดับ Manager แต่พี่ปรีดิ์กลับได้รับโอกาสนี้ ในขณะที่ยังเป็นเด็กที่จบใหม่เพียงไม่นาน แถมทุกอย่างตรงกับสิ่งที่เขาอยากทำมาตลอด

คำว่าอิมแพคก็ตีความได้หลายอย่าง บางคนอาจจะตีความไปในแง่ของเม็ดเงิน แต่พี่ปรีดิ์ตีความในแง่ของสังคม พี่ปรีดิ์จึงเสนอโปรเจกต์ ‘Autistic Application’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กกลุ่มออทิสติก โดยได้แรงบันดาลใจจากการทำงานอาสาที่สถานรับเลี้ยงเด็กตอนยังอยู่ที่อเมริกา เขาได้เห็นว่าความจริงแล้วการนำเทคโนโลยีอย่างแท็บเล็ตมาใช้ในการเรียนนั้นจะทำให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ได้เร็วกว่าการเรียนบนกระดาษ

รับฟังผู้ใช้งานจริง สื่อสารเป้าหมายกับคนในทีม

สำหรับพี่ปรีดิ์ การได้ร่วมทีมนี้ก็เหมือนกับการได้ทำบริษัทสตาร์ทอัป ระหว่างทางพี่ปรีดิ์จึงได้รับบทเรียนในการทำสตาร์ทอัปไปด้วย

บทเรียนแรกคือ เวลาสร้างโปรดักต์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งเสมอคือความต้องการของผู้ใช้งาน เพราะสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการไม่มีวันตรงกันถ้าเราไม่ได้ลอง ‘คุย’ กับเขาจริงๆ โดยหลังจากลองออกแบบแอปฯ มาให้ใช้งานแล้วเสียงตอบรับไม่ดีเท่าที่ควร พี่ปรีดิ์ก็เป็นฝ่ายติดต่อไปหาโรงเรียนเด็กพิเศษหลายที่เพื่อไปคุยกับผู้ปกครองและคลุกคลีกับเด็กๆ ด้วยตัวเอง

บทเรียนที่สองคือการสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้กับทีม ด้วยความที่เข้าไปเป็นผู้นำทีมตั้งแต่อายุยังน้อยมาก การนำทีมในช่วงแรกจึงไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเท่าไร เพราะยังไม่มีใครเชื่อใจในศักยภาพ แต่ในฐานะคนที่ต้องนำทางโปรดักต์ว่าจะต้องไปในทิศทางไหน สิ่งที่พี่ปรีดิ์พอจะทำได้ก็คือมอบ ‘จุดมุ่งหมาย’ ของโปรเจกต์นี้เพื่อให้ทุกคนในทีมเห็นว่าคุณค่าของมันคืออะไร เราจะสร้างอิมแพคต่อสังคมอย่างไร โดยการพาทีมไปที่มูลนิธิออทิสติกเพื่อมาดูว่าเทคโนโลยีที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้นเป็นประโยชน์กับเด็กเหล่านี้จริงๆ เมื่อได้มาเห็นภาพนี้ ทีมก็จะได้คำตอบของคำถามที่ว่าทำแล้วได้อะไร?

การเป็นหัวหน้าไม่ใช่การเป็นดาวเด่นในทีม แต่คือการสร้างเวทีให้คนอื่นๆ ได้ฉายแสงบนนั้น

พี่ปรีดิ์กล่าว

เริ่มเส้นทางของตัวเอง

หลังจากจบโปรเจกต์แรก พี่ปรีดิ์ก็ได้ร่วมทีมพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่อยู่ช่วงหนึ่งก่อนจะลาออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง

โอกาสที่พี่ปรีดิ์เล็งเห็นใน ShobShop ไม่ได้มาจากความเชื่อว่า E-Commerce จะเติบโต แต่มาจากพฤติกรรมบางอย่างของผู้บริโภค พี่ปรีดิ์บอกว่าพฤติกรรมที่ผู้บริโภคในเมืองไทยโดดเด่นมากๆ คือความไวต่อของลดราคา ตัวอย่างที่พี่ปรีดิ์เห็นแล้วคิดว่าน่าสนใจคือการใช้เวลาเกือบทั้งพักเที่ยงไปกับการต่อแถวซื้อกาแฟ 1 แถม 1 หรือการวางแผนท่องเที่ยวโดยยึดจากราคาที่พักหรือราคาไฟลท์บินที่ถูกที่สุดเป็นหลัก แทนที่จะวางแผนโดยยึดวันหยุด จากจุดนี้ทำให้พี่ปรีดิ์เล็งเห็นโอกาสในการออกแอปพลิเคชันในมือถือไว้รวบรวมดีลที่สามารถ Personalize ตามความชอบของผู้ใช้งาน

อุปสรรคแรก

พี่ปรีดิ์คิดว่ามันเป็นโปรดักต์ที่ดี แต่อย่างที่บอกไปตอนแรก สิ่งที่เราคิดว่าดีกับสิ่งที่คนอื่นชอบ บางครั้งก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

ช่วงแรกๆ ที่เปิดตัวแอปพลิเคชันนั้นยอดดาวน์โหลดน้อยมาก จนต้องใช้ดาราและ Influencer มาช่วยโปรโมตให้ยอดกระเตื้องขึ้น แต่สุดท้ายคนก็ดาวน์โหลดมาเฉยๆ โดยไม่ใช้งานแอปฯ อยู่ดี ทำให้พี่ปรีดิ์กลับมาใช้บทเรียนสตาร์ทอัปที่เคยได้จากตอนทำโปรเจกต์แรก นั่นคือการถามความเห็นผู้บริโภค คำตอบที่ได้กลับมาคือ “ทำไมต้องมาดูในแอปฯ ในเมื่อตามเว็บไซต์อื่นก็มีให้ดูทั่วไป?”

จะเห็นว่าปัญหาที่ปรีดิ์เจอในระยะนี้คือผู้บริโภคยังไม่เห็นความจำเป็นว่าแอปฯ นี้ดีอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง พี่ปรีดิ์จึงเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดใหม่ จากเดิมใช้ดารา พี่ปรีดิ์ก็สังเกตว่าคนอาจตามมาดาวน์โหลดเพราะชอบดาราคนนั้นเฉยๆ แต่ไม่ได้ชอบตัวแอปฯ อย่างแท้จริง พี่ปรีดิ์จึงคิดหาวิธีที่จะทำให้คนสนใจที่ตัวแอปฯ จริงๆ ด้วยการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักบนโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่สนใจเรื่องโปรโมชันให้มารวมกัน ประกอบกับออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการเดินห้าง เช่น มีบอกว่าบัตรเครดิตของธนาคารนี้มีส่วนลดพิเศษกับร้านไหนบ้าง จนทำให้มี Active User ถึงราว 20,000 คนต่อเดือน

กับดักความสำเร็จ

ถึงแม้ตัวแอปฯ จะดูไปได้ดี มีกำไรพอประมาณ แต่พี่ปรีดิ์กลับมองว่าระยะนี้เป็นระยะที่อันตรายที่สุด

พี่ปรีดิ์แบ่งโปรดักต์ออกเป็น 3 แบบ 1. โปรดักต์ที่ไม่มีใครใช้ 2. โปรดักต์ที่ ‘Nice to have’ คือมีก็ดีแต่ไม่มีก็ได้ 3. โปรดักต์ที่ทุกคนต้องใช้ หลายคนอาจมองว่าแบบแรกเป็นโปรดักต์ที่แย่ที่สุด แต่พี่ปรีดิ์มองว่า โปรดักต์ที่แย่ที่สุดคือแบบที่สอง เพราะหลายครั้งมันก็ลวงตาให้เราเชื่อว่าอีกนิดเดียวจะสามารถกลายเป็นโปรดักต์ที่ทุกคนต้องใช้ แต่ความจริงแล้วเราอาจจะติดอยู่ที่ระยะที่สองไปตลอดโดยไม่มีทางพัฒนาต่อได้

พี่ปรีดิ์ติดอยู่ในระยะที่สองอยู่ราว 1 ปีครึ่งก่อนจะตัดสินใจ ‘ฆ่า’ แอปฯ รูปแบบเดิมทิ้งไป แล้วสร้างแอปรูปแบบใหม่ขึ้นมา ถึงแม้ว่าจะมีผู้ใช้งานจำนวนหลักหมื่นแล้วก็ตาม เพราะหลังจากทำเพจ Facebook มาระยะหนึ่งจนเพจได้รับความนิยม สิ่งที่พี่ปรีดิ์สังเกตเห็นคือ ทุกครั้งที่ลงคอนเทนต์ว่ามีเสื้อผ้ายี่ห้อ A กำลังลดอยู่ในห้าง B ก็จะมีคนส่งข้อความหลังไมค์มาเต็มไปหมดว่า “รับหิ้วไหม?” เพราะหลายคนไม่ได้สะดวกไปซื้อด้วยตัวเอง ซึ่งนี่แหละ ที่พี่ปรีดิ์มองว่ามันคือโปรดักต์ที่คนจำเป็นต้องใช้ ไม่ใช่แค่มีไว้ก็ดี เพราะถึงแม้การรับหิ้วอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำเป็นแพลตฟอร์มอย่างจริงจังและเชื่อถือได้ว่าคนฝากซื้อจะไม่โดนหลอก คือสิ่งที่ทำให้ ShobShop แตกต่าง

การตัดสินใจ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก็ควรทำ ถ้ามันถูกก็ดีไป ถ้ามันผิดก็แค่ Move On สิ่งที่แย่ที่สุดคือการที่เราไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย

โปรดักต์ที่ดีไม่จำเป็นต้องคูลเสมอไป

สิ่งที่คนทำสตาร์ทอัปจำนวนไม่น้อยคิดคือ โปรดักต์ที่ทำออกมาต้องมีความเท่ ความคูล เห็นแล้วต้องว้าว แต่พี่ปรีดิ์กลับประสบความสำเร็จจากอะไรที่ดูเรียบง่าย แบบนี้หมายความว่า ‘ความเรียบง่าย’ ที่ว่านี้ คือเคล็ดลับความสำเร็จหรือเปล่า?

ส่วนตัวพี่ปรีดิ์มองว่าการคิดโปรดักต์ให้สตาร์ทอัปนั้นทำได้หลายแบบ จะทำเหมือนพี่ปรีดิ์ ที่สร้างโปรดักต์จากความต้องการผู้บริโภคก็ได้ หรือเห็นเทคโนโลยีเจ๋งๆ แพลตฟอร์มคูลๆ จากต่างประเทศแล้วอยากเอามาลองทำในไทยก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่คนมักลืมคือการ Localization หรือปรับเปลี่ยนโปรดักต์ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนไทยหรือเช็กก่อนว่ามี Market Need ในไทยหรือเปล่า เพราะการที่โปรดักต์จากต่างประเทศประสบความสำเร็จในบ้านตัวเอง ไม่ได้แปลว่ามันจะประสบความสำเร็จได้ทุกที่

เคล็ดลับอีกข้อของพี่ปรีดิ์คือการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็น เพราะคนไทยเล่นโซเชียลเยอะมาก และการออกโปรดักต์แล้วจะได้รับเสียงตอบรับดีตั้งแต่ครั้งแรกนั้นยาก แต่ถ้ามีช่องทางสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านโซเชียลมีเดีย แบรนด์ก็จะมีฐานลูกค้ามาตั้งแต่ก่อนปล่อยโปรดักต์ออกมา

Young Leader

สิ่งหนึ่งที่พี่ปรีดิ์ได้เรียนรู้จาก ShobShop นอกเหนือจากการออกแบบโปรดักต์ให้ตอบโจทย์ความต้องการคือการทำหน้าที่ผู้นำองค์กรให้ดี

การเป็น CEO ที่ดีใช้ความเก่งแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีม และเป็นที่พึ่งให้ทุกคนในเวลาที่ทีมต้องการ

พี่ปรีดิ์เผย

เพราะพี่ปรีดิ์มองว่าคนรุ่นใหม่เก่งมากและมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่มากมาย หน้าที่สำคัญในฐานะผู้นำจึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงความสามารถทุกคนให้ออกมาได้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันในยามที่เจออุปสรรคก็ต้องแข็งแกร่งเป็นพิเศษเช่นกัน

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights