ปัณณ์และจีโน่ แห่ง POPPA ที่กล้าลาออกจากงานเพื่อทำธุรกิจในยุคโควิด

พบกับเรื่องราวของ ปัณณ์และจีโน่ แห่ง POPPA Craft Popcorn

กับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับในวันที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อทำธุรกิจของตัวเองในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด

ในวิกฤติครั้งนี้ร้านอาหารหลายร้านกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ไร้มาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจากรัฐ Poppa BKK เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

Career Fact ขอส่งต่อเรื่องราวที่พวกเขาเผชิญในวิกฤติครั้งนี้ และส่งกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปด้วยกัน

 

จุดเริ่มต้น POPPA

Poppa BKK เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด แต่ย้อนกลับไปก่อนที่ทั้งคู่จะจับมือกันทำร้านนี้ ปัณณ์และจีโน่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และทำงานอยู่บริษัทเดียวกัน ทั้งคู่มีความฝันว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พอทำงานได้สักพักจึงคุยกันว่าอยากทำธุรกิจร่วมกัน จนพบว่าเขาทั้งสองคนมีความชอบป๊อปคอร์นเหมือนกัน 

แม้ตอนแรกจะตั้งใจว่าเปิดร้านในห้าง แต่ทั้งคู่ชอบไปเดิน The Commons ทองหล่อ และพบว่าที่นั่นไม่มีอาหารประเภทสแน็คเลยจึงสนใจและขอยื่นเรื่องว่าจะเอาเข้าไปขาย

พวกเขาใช้ช่วงเวลา Work From Home เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจป๊อปคอร์น โดยวางแผนให้โควิดรอบแรกของต้นปี 2020 ผ่านไปก่อนค่อยเปิดร้าน เพราะไม่คาดคิดว่าจะมีระลอกสองตามมา

 

หาจุดแข็งที่ไม่เหมือนใคร

เมื่อได้ไอเดียในการทำธุรกิจ ทั้งคู่ก็หาวิธีทำป๊อปคอร์น คิดสูตรผงปรุงรส ออกแบบแบรนด์ โดยใช้เวลากว่า 8-9 เดือนในการหาจุดแข็งให้กับร้าน 

จีโน่ เล่าว่าพยายามจะทำรสชาติให้เป็นตัวของตัวเอง ผงปรุงรสก็คิดสูตรเองโดยไม่ได้เอาสูตรจากใคร จุดเด่นอีกอย่างที่ไม่เหมือนใครตือเป็นป๊อปคอร์นที่ทำแบบ 1 ออเดอร์ต่อ 1 คน และไม่ใช้เดลิเวอรี่เป็นเป้าหมายหลัก

 

ลาออกจากงานประจำทั้งคู่

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง แต่ปัณณ์และจีโน่ตั้งใจไว้แล้วว่าจะออกมาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว พวกเขาบอกว่าตอนแรกครอบครัวก็ไม่สนับสนุนกับการออกมาจากงานประจำ และทั้งคู่ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ตอนนั้นแค่ ‘เชื่อมั่นในตัวเอง’

แม้ตอนแรกก็คิดว่าจะทำควบคู่กันไปได้ แต่พอทำไปแล้วรู้สึกว่าถ้าทำงานประจำควบคู่ไปด้วยจะไม่สามารถทุ่มเทให้ธุรกิจได้อย่างเต็มที่เพราะว่าการเปิดร้านอาหารมีหลายเรื่องและปัญหาจุกจิกให้ดูแลรวมถึงเป็นช่วงที่กำลังจะเปิดร้าน หากทำงานประจำจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที พอเห็นยอดขายในช่วง 1-2 วันแรก ปัณณ์ก็มั่นใจจึงลาออกตามจีโนที่ออกมาก่อน ซึ่งทั้งคู่บอกว่าเพราะผลตอบรับช่วงแรกทำให้ตัดสินใจได้เร็ว

จีโน่เสริมว่าถ้ามองกลับไปรู้สึกว่าไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะไม่มีอะไรมาหลักประกันเลยว่าการเสียเวลาร่วม 8 เดือนในการลองผิดลองถูกแล้วจะสามารถเปิดธุรกิจได้ แต่ในวันนั้นเขาวางเป้าหมายไว้แล้วว่ายังไงก็ต้องทำ “ถ้ามันจะผิดขอให้ผิดในสิ่งที่เราตัดสินใจเอง” เขากล่าว

พอเจอโควิดเป้าที่วางก็ไม่ตรงตามความคาดหวัง ทั้งคู่บอกว่ามีแว็บนึงที่คิดว่าจะกลับไปทำงานประจำ แต่สุดท้ายแล้วก็คิดว่าในที่สุดต้องปรับตัวให้ได้

 

แชร์มุมมองเริ่มต้นธุรกิจในช่วงโควิด

ช่วงมกราคมจนถึงปลายเดือนมีนาคม ธุรกิจของพวกเขาไม่มีรายได้เพราะยังไม่ปรับตัว แต่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งจีโน่บอกว่าส่งผลต่อสภาพจิตใจอยู่บ้าง เขาคิดว่าตัวเองถูกทดสอบเร็วเกินไป และยังเป็นบททดสอบที่โหดร้ายมากที่สุดเท่าที่มันจะเกิดขึ้นได้

ปัณณ์อธิบายถึงการเริ่มทำธุรกิจในช่วงโควิดให้ฟังว่า ช่องทางออนไลน์เป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้สำหรับการทำธุรกิจในยุคนี้ POPPA ร้านเริ่มจากการส่งไปที่ Grab และ Lineman ก่อน แต่ตอนหลังก็คิดได้ว่าสินค้าน่าจะอยู่ได้นานเลยลองเปิดร้านใน Shopee ซึ่งทั้งคู่บอกว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้

โมเดลธุรกิจในตอนแรกทั้งคู่ไม่ได้ตั้งใจทำเดลิเวอรี เพราะคิดว่าเมื่อลูกค้ามากินแล้วติดใจค่อยสั่งกลับบ้าน แต่ช่วงที่โควิดระบาดหนักการตลาดออนไลน์จึงเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ทั้งส่วนการตลาดและยิงโฆษณาในเฟซบุ๊กโดยต้องการเป็น First of Mind สำหรับลูกค้า

จึงพัฒนาสินค้าให้เก็บได้นานขึ้นแต่ยังคงคอนเซปต์ในรูปแบบ 1 ต่อ 1  คนเหมือนเดิม

 

เอาตัวรอดด้วย Cloud Kitchen

Cloud Kitchen หรือครัวกลางที่ให้บริการกับลูกค้า โดยมีจุดประสงค์หลักคือการรับออเดอร์ลูกค้าที่สั่งแบบเดลิเวอรี่ และมีลูกค้าแบบ OEM หรือ (Original Equipment Manufacturer) ด้วย ยิ่งวิกฤตรอบนี้มีมาตรการสั่งปิดร้าน ทำให้ Cloud Kitchen เป็นเหมือนทางออกแหนึ่งที่ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยปัณณ์เสริมว่าการย้ายมาทำ Cloud Kitchen แบบเต็มรูปแบบไม่ได้ทำให้ POPPA แตกต่างจากตอนให้บริการที่ The Commons ในเรื่องของการส่งสินค้าเลย

 

ไร้การช่วยเหลือจากรัฐ

ช่วงที่ภาครัฐสั่งปิดร้าน 14 วันโดยที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐนั้นนอกจากจะเป็นการสั่งปิดก็ไร้ประสิทธิภาพและแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ที่เข้าใจผู้ประกอบการร้านค้าแล้ว ยังทำให้หลายร้านไม่สามารถไปต่อได้ ร้านเล็กๆ ไม่สามารถปรับตัวได้และได้รับผลกระทบหนัก ทั้งที่ร้านอาหารไม่ใช่คลัสเตอร์ที่สำคัญเทียบกับซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ยังเปิดอยู่ จีโน่เสริมว่าร้านอาหารใกล้เคียงสาขาที่ The Commons บางร้านที่มีเงินก็สามารถปรับตัวได้ แต่บางร้านก็ถูกปิดไปเลยเพราะปรับตัวไม่ได้ 

ทั้งคู่ยกตัวอย่างว่า บางร้านขายประสบการณ์ในการกิน ทำให้การปรับตัวนั้นเป็นเรื่องยาก ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐและผู้มีอำนาจต้องทำความเข้าใจมากกว่านี้

 

เป้าหมายในอนาคตของ POPPA

หลังจากจบโควิดทั้งคู่มีแพลนว่าจะเปิดสาขาเพิ่ม และอาจจะมีการคอลแลปส์กับแบรนด์อื่นๆ ด้วย รวมถึงพัฒนาและปรับรสชาติสินค้าให้รองรับกับนักท่องเที่ยวหากเปิดประเทศ นอกจากนี้ยังพร้อมขยายธุรกิจด้าน OEM ให้กับคนที่สนใจการทำป๊อปคอร์น และถ้าขยายธุรกิจได้ใหญ่มากพอก็อาจจะเพิ่มสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากป๊อปคอร์นเข้าไป

 

สิ่งที่อยากฝากถึง SME และผู้ประกอบการ

วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจที่พัง แต่รวมถึงการเมือง โรคระบาด ซึ่งเขาทั้งคู่คิดว่ามันยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ดังนั้นการทำธุรกิจออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางที่ ‘จำเป็น’ ไม่ใช่แค่ตัวเลือก จีโน่และปัณณ์ย้ำว่าหากไม่มีความรู้ก็ต้องไปหาความรู้ให้ได้ และการจะดูแลช่องทางออนไลน์ให้ดีได้คือต้องมั่นใจในเรื่องของหลังบ้านอย่างการสต็อกสินค้า เพราะหากดูแลไม่ดีหากมีการสั่งปิดอีกครั้งก็จะลำบากในเรื่องของกระแสเงินสด 

‘ปรับตัวให้พร้อม’ คือสิ่งที่ปัณณ์และจีโน่แห่ง POPPA ทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights