ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล: จากเจ้าของกิจการ-พนักงานบริษัท-นักลงทุน-สู่ Country Head

วันนี้ Career Fact จะมานำเสนอเรื่องราวของ ‘พี่แน่น’ ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล ชายผู้เริ่มต้นเส้นทางนักธุรกิจด้วยการเปิดร้านเช่าการ์ตูน ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดเมื่อทำร้านเสื้อผ้า และเรียนรู้การบริหารองค์กรผ่านการเป็นพนักงานบริษัท

จากเจ้าของกิจการ-พนักงานบริษัท-นักลงทุน-สู่ Country Head ชีวิตหลายบทบาทของเขาจะเป็นอย่างไร

วัยเด็กที่หล่อหลอมให้คิดต่าง

ตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จะพาพี่แน่นไปเที่ยวต่างประเทศทุกปี ซึ่งพี่แน่นมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเองมีวิธีคิดที่ต่างจากคนอื่น เพราะการไปเยือนต่างประเทศก็คือการได้เปิดโลก ได้มาเห็นวัฒนธรรม สถานที่ และการใช้ชีวิตที่ต่างออกไป นอกจากนี้ด้วยความที่เรียนโรงเรียนนานาชาติมาตั้งแต่เกรด 6 จึงทำให้มีหัวคิดที่ค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองและกล้าริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แม้ไม่เคยทำมาก่อน

ทำธุรกิจตั้งแต่ประถม

โดยปกติพี่แน่นมักจะให้สัมภาษณ์ว่าธุรกิจแรกที่ทำคือร้านเสื้อผ้าตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่ความจริงแล้วธุรกิจแรกสุดคือร้านเช่าหนังสือการ์ตูนตอนป.4

จุดเริ่มต้นมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่ซื้อหนังสือการ์ตูนให้บ่อยๆ จนเมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีเยอะมากๆ ก็เริ่มคิดว่าจะทำยังไงให้หาเงินมาซื้อเองได้โดยไม่ต้องรบกวนคุณพ่อคุณแม่ จึงปิ๊งไอเดียเอาหนังสือการ์ตูนที่ตัวเองมีมาปล่อยเช่าให้เพื่อนๆ แล้วก็เอาเงินที่ได้มาซื้อเล่มใหม่ให้ตัวเอง.เมื่อธุรกิจขนาดย่อมไปได้ดีพี่แน่นก็เริ่มรู้สึกสนุกกับการทำธุรกิจมาตั้งแต่ตอนนั้น

ความฝันผันแปรไปตามวัย

แต่ถึงพี่แน่นจะดูเหมือนค้นพบแพชชั่นของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เส้นทางนักธุรกิจของเขาก็ไม่ได้ดำเนินมาแบบเป็นเส้นตรง เพราะนอกจากเรื่องธุรกิจแล้วพอโตขึ้นเขายังค้นพบความชอบอีกอย่างหนึ่งนั่นคือศิลปะ โดยเขาหลงใหลในศิลปะหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวาดรูปไปจนถึงการแต่งตัว อาชีพในฝันของเขาตอนวัยรุ่นจึงค่อยๆ เบนเข็มมาทางสถาปนิก.แต่สุดท้ายก็มาจบที่คณะ BBA จุฬาฯ และกลับมาสู่เส้นทางนักธุรกิจเช่นเดิม เพราะสอบเข้าคณะสถาปัตย์ในสาขาที่ต้องการไม่ติด เนื่องจากตอนนั้นคณะสถาปัตย์มีแค่ภาคไทยและการต้องมาอ่านหนังสือเตรียมสอบเป็นภาษาไทยทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับเด็กโรงเรียนอินเตอร์อย่างพี่แน่น

จุดเริ่มต้นของ Plus One ร้านขึ้นห้างที่เริ่มจากอยากทำเสื้อผ้าใส่เอง

จุดเริ่มต้นของร้านขายเสื้อผ้าของพี่แน่นแทบจะเป็นหนังม้วนเดิมกับตอนร้านเช่าการ์ตูน อย่างที่บอกไปว่าพอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นพี่แน่นก็เริ่มมีความสนใจด้านการแต่งตัวและแฟชั่น เวลาไปเที่ยวแต่ละครั้งก็ซื้อเสื้อผ้ากลับมาเยอะจนคุณพ่อคุณแม่ออกปากบ่น แต่คราวนี้ต่างออกไปตรงที่เสื้อผ้าที่เมืองไทยก็ยังไม่ถูกใจ แต่จะให้ซื้อจากเมืองนอกตลอดก็ไม่ไหว จึงเริ่มออกแบบเสื้อผ้าไว้ใส่เอง พอเพื่อนๆ มาเห็นก็สนใจอยากซื้อ พี่แน่นก็เลยตัดสินใจเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองขึ้นมา

ด้วยความที่นี่เป็นการทำธุรกิจจริงจังครั้งแรก พี่แน่นก็บอกกับเรามาตามตรงว่า “พลาดทุกอย่างเท่าที่จะพลาดได้” ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขาย บริหารหุ้นส่วน ไปจนถึงค่าเช่าที่ เพราะตอนนั้นก็ยังเรียนไม่จบทำให้ไม่ได้มีความรู้เชิงลึกอะไร ประสบการณ์ก็ไม่มี แต่ทุกๆ ความผิดพลาดก็ทำให้ได้รับบทเรียนกลับมาว่าสิ่งที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

จบมาเป็นพนักงานบริษัท

อันที่จริงร้านเสื้อผ้าของพี่แน่นก็ไปได้สวยมากพอจะเลี้ยงตัวเองได้ แต่พี่แน่นมองว่าโลกการทำงานยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก หลังเรียนจบจึงเลือกที่จะทำธุรกิจไปด้วยและทำงานบริษัทไปด้วย โดยมีเป้าหมายคือบริษัทต่างชาติเป็นหลัก ในใจเขาตอนนั้นจึงไม่ได้คิดจะสมัครงานที่ SCG เลย

แต่โชคชะตากลับเล่นตลก เมื่อเขาลงทางด่วนผิดในวันที่ตั้งใจเดินทางไปสมัครงานแถวสาทร พอหลงทางพี่แน่นก็ขับแบบไม่รู้ทางไปเรื่อยๆ จนเจอตึก SCG แล้วนึกขึ้นมาได้ว่าคุณพ่อเคยบอกว่าเป็นบริษัทที่ดี ก็เลยเดินเข้าไปสมัคร

และก็เป็นอีกครั้งที่พี่แน่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีโชค เพราะเมื่อทางบริษัทเห็นว่าภาษาอังกฤษเขาค่อนข้างดีก็ชวนไปทำบริษัทลูกที่ชื่อว่าค้าสากลซิเมนต์ไทย (SCT) โดยมีงานหลักเป็นการขายสินค้าเกี่ยวกับบ้าน เมื่อได้ยินคำว่า ‘บ้าน’ ปุ๊บ พี่แน่นก็ตอบตกลงทันทีเพราะครั้งหนึ่งเขาเคยอยากเป็นสถาปนิก การได้มาทำงานนี้จึงเหมือนได้เติมเต็มความฝันในใจอยู่เนืองๆ

พี่แน่นเทียวไปเทียวมาตามประเทศต่างๆ มาตลอด 5 ปีแรกที่ทำงานที่นี่ ตั้งแต่แถบเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ไปจนถึงแอฟริกาเพื่อไปลุยขายของ ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเหมือนตอนนี้ การจะติดต่ออะไรก็ต้องผ่านสถานทูตก่อนบ้าง ต้องเช่ารถหน้างานบ้าง แถมด้วยตัวงานที่เป็นเซลส์ก็ต้องคอยแบกตัวอย่างสินค้าไปเคาะหน้าประตูลูกค้าแต่ละคน ทำให้เขาได้ประสบการณ์ทำงาน การใช้ชีวิตและความรู้การตลาดของประเทศต่างๆ กลับมามากมาย และอาจนับว่าเขาเป็นหนึ่งในหัวหอกในการช่วย SCG ขยายธุรกิจไปถึงระดับโลกเลยก็ว่าได้

เลิกทำธุรกิจส่วนตัวเพื่อมาโฟกัสงานประจำ

เราเลือกตัดรายได้จากธุรกิจส่วนตัวออกเพื่อแลกกับโอกาสที่ใหญ่กว่า

พองานประจำเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนทำทั้งสองอย่างไม่ไหว พี่แน่นก็ต้องเผชิญหน้ากับทางแยกว่าจะเลือกทำธุรกิจส่วนตัวหรืองานประจำ

ซึ่งสุดท้ายแล้วพี่แน่นก็เลือกที่จะหยุดพักธุรกิจร้านเสื้อผ้า เพราะตอนอยู่ที่ SCG เขารู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ทุกวัน อีกสาเหตุหนึ่งที่เลือกงานประจำนั้นเป็นเพราะสมัยเรียนมหาวิทยาลัยพี่แน่นไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไร จึงรู้สึกว่าความรู้ตัวเองมีไม่เพียงพอ แต่ที่ SCG มีทุนการศึกษาให้ พี่แน่นจึงวางแผนว่าจะทำงานประจำและเรียนต่อก่อน

ไม่ใช่แค่ Employee แต่ทุกคนต้องเป็น Entrepreneur

สิ่งที่พี่แน่นนำเสนอตอนยื่นขอทุนคือ เขามองว่า SCG เป็นสตาร์ทอัปขนาดใหญ่บริษัทหนึ่ง.หลักคิดง่ายๆ คือ ปูนซีเมนต์เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วก็เป็นเทคโนโลยีใหม่อย่างหนึ่งเหมือนกับอินเทอร์เน็ตในยุคเก้าศูนย์ และเนื่องจากปูนซีเมนต์เป็นโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดไทยในตอนนั้น จาก ‘สตาร์ทอัป’ ก็สเกลไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงระดับประเทศอย่างทุกวันนี้.ช่วงที่พี่แน่นยื่นขอทุนเป็นช่วงที่ SCG อยู่มาครบ 100 ปีพอดี เขาจึงตั้งคำถามว่า “SCG เหมือนสตาร์ทอัปที่วิ่งมา 100 ปีแล้ว แต่อีก 100 ปีถัดไปบริษัทจะทำยังไงต่อ” เพราะถ้าทำอะไรเหมือนเดิมโดยที่ไม่มีการต่อยอดจากความสำเร็จ บริษัทก็จะไม่พัฒนาไปไหน พี่แน่นจึงบอกกับทางผู้บริหารที่เขากำลังยื่นขอทุนว่า พนักงานในบริษัทควรมีความเป็น Entrepreneur หรือผู้ประกอบการในตัวเพื่อให้ทุกคนกล้าริเริ่มลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

สุดท้ายพี่แน่นก็คว้าทุนเรียนต่อปริญญาโทสาขา MBA ที่ Columbia Business School ได้สำเร็จ

หนึ่งในทีมที่ร่วมก่อตั้ง AddVentures

หลังเรียนจบและกลับมาทำงานที่ SCG ได้ระยะหนึ่ง ทาง Digital Ventures ของ SCB ก็ชวนพี่แน่นไปเป็น Mentor

เมื่อพี่แน่นเห็นว่าทาง SCB ทำ Venture ของตัวเองได้ ก็เชื่อว่า SCG น่าจะทำได้ พอคิดเช่นนั้นเสร็จก็ไม่รอช้า รีบนำไอเดียไปเสนอกับผู้บริหารทันทีก่อนจะพบว่า SCG เองก็มีความคิดจะทำ Corporate Venture Capital ของตัวเองและมีทีมที่สร้างขึ้นมาเพื่อโปรเจกต์นี้อยู่แล้ว จึงส่งให้พี่แน่นเข้าไปร่วมทำงานกับทีมนี้.พี่แน่นจึงได้เป็น 1 ในทีมที่ร่วมก่อตั้ง AddVentures ของ SCG

AddVentures คือใบเบิกทางสู่ Zilingo

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า SCG เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่แน่นมีวันนี้ เพราะเมื่อถามพี่แน่นว่าเริ่มมาทำ Zilingo ได้อย่างไร คำตอบก็ยังคงเกี่ยวข้องกับ SCG.การทำ AddVentures นั้นเปิดโอกาสให้เขาได้ขยายเน็ตเวิร์กวงการสตาร์ทอัปไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ได้มาทำความรู้จักและพูดคุยกับ Zilingo พอทางนั้นเห็นว่าพี่แน่นมีแบ็กกราวด์ทั้งเรื่องแฟชั่นและสตาร์ทอัปก็เลยชวนมาเป็น Country Head ส่วนฝั่งพี่แน่นเองเห็นว่าหน้าที่และความรับผิดชอบค่อนข้างตรงกับสิ่งที่อยากทำ คือการได้บริหารบริษัทด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ให้คำแนะนำเหมือนกับตอนเป็นนักลงทุน แถมยังเป็นวงการเสื้อผ้าที่เขาสนใจมานานอีก เขาจึงตกปากรับคำกับทางนั้นอย่างไม่ลังเล

นิยามของ Zilingo และเป้าหมายต่อไป

Zilingo คือแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่ดูแลและให้บริการกับทั้งซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ขายที่เป็นโรงงาน ผู้ผลิต หรือ ผู้จัดจำหน่าย โดยตั้งใจว่าจะนำเทคโนโลยีไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน

เป้าหมายต่อไปคือจะเน้นลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการมากกว่าลูกค้ารายย่อย เพราะต้องการเป็น Supplier ให้กับเจ้าของกิจการที่ทำธุรกิจแฟชั่นออนไลน์ เป้าหมายที่สองคือ เพิ่มเซอร์วิสด้านการตลาดครบวงจรให้กับแบรนด์ โดยจะช่วยแบรนด์ทำคอนเทนท์ ช่วยทำ digital marketing เพื่อเตรียมความพร้อมให้แบรนด์ที่ต้องการย้ายหรือขยายมาช่องทางออนไลน์

แพชชั่นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้

พอไล่ดูประวัติของพี่แน่นแล้วจะเห็นว่ามีคำว่าแพชชั่นหรือสิ่งที่ชอบเป็นส่วนหนึ่งในทุกช่วงระยะการทำงาน เราจึงอยากรู้ว่าพี่แน่นมีความเห็นเกี่ยวกับคำว่า ‘แพชชั่น’ อย่างไร.คำตอบสั้นๆ ของพี่แน่นก็คือ “ขาดไม่ได้ เพราะมันเหนื่อย” ยิ่งทำสตาร์ทอัปก็ยิ่งเหนื่อย เพราะเป็นวงการที่ทุกอย่างเร็วไปหมด ต้องรีบลอง รีบพลาด รีบลุกขึ้นมาใหม่ จนกว่าจะเจอหนทางที่ใช่ และเมื่อเราขับเคลื่อนด้วยความเร็วติดต่อกันนานๆ ถ้าเรามีแพชชั่นมาหล่อเลี้ยงไม่มากพอ สุดท้ายไฟในตัวเราก็จะหมด.สำหรับพี่แน่น ถ้าไม่มีแพชชั่นมาคอยผลักดันในวันที่เราล้ม การจะไปให้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จก็แทบเป็นไปไม่ได้

ภูมิต้านทานความผิดหวัง

อย่างแรกคือต้องยอมรับว่าตัวเองไม่เพอร์เฟกต์ เมื่อเรายอมรับว่าตัวเองพลาดพลั้งได้ เราก็จะรับมือกับความผิดหวังได้ง่ายขึ้น เวลาลองเสี่ยงทำอะไรใหม่ๆ เราก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่ามันมีทั้งโอกาสที่จะสำเร็จและล้มเหลว ถ้ามันล้มเหลวขึ้นมา สิ่งที่ต้องทำก็แค่ถามตัวเองว่าเราได้บทเรียนอะไรจากความผิดพลาดครั้งนี้ มากกว่าไปนั่งเสียดายในสิ่งที่ทำลงไป

ทุกครั้งที่พลาด ถ้าเรามองด้านบวกของมัน ก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทานความผิดหวังได้

แต่ในฐานะผู้บริหาร สิ่งที่พี่แน่นไม่เคยละเลยคือทีม ในทีม 10 คน ถ้ามี 2 คนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไปทำไมเวลาเจอความล้มเหลว แค่นั้นก็ทำให้ทีมเป๋ได้แล้ว การ ‘แจกวัคซีน’ ให้กับทุกคนในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ.หัวหน้าต้องสื่อสารให้ชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโปรเจกต์ว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำนั้นมีโอกาสพลาดและถ้าพลาดก็ขอให้ถือว่าเรียนรู้ไปด้วยกัน อย่าคาดหวังว่าต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น

เคล็ดลับการบริหารพนักงาน

หากต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่คนในทีมกล้าบอกปัญหามากับเราตรงๆ ก็ต้องทำให้คนในทีมเรียกเราว่า ‘พี่’ ให้ได้ก่อน

เขาลองเปรียบเทียบบริษัทหรือทีมๆ หนึ่งเป็นรถ Formula 1 โดยมีหัวหน้าเป็นคนขับ เวลาขับคนขับก็คงจะอยากรู้เวลามีฟันเฟืองตัวไหนที่ไม่แน่นหรือมีปัญหาหรือเปล่า จะได้หาทางแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งการจะรู้ปัญหาได้ก็ต้องมีคนกล้าบอก นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมพี่แน่นมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนเป็นหัวหน้าคือต้องทำตัวให้คนเข้าถึงได้ง่าย

อดทนและอย่าไขว้เขว

เมื่อถามถึงบทเรียนที่อยากฝากกับคนรุ่นใหม่ พี่แน่นก็บอกกับเราว่า คนรุ่นใหม่นั้นโชคดีตรงที่มี ‘โอกาส’ ได้ลองทำอะไรหลายอย่างตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ แต่พอมีโอกาสเยอะ ก็อาจทำให้ความสนใจไขว้เขวได้ง่ายเช่นเดียวกัน

พี่แน่นจึงอยากฝากให้คนรุ่นใหม่มีความอดทนและมี ‘resilience’ หรือการปรับตัวเวลาเจอปัญหา เพราะพี่แน่นมองว่าคนรุ่นนี้มักอยากรีบประสบความสำเร็จไวๆ แต่ในความเป็นจริงกว่าจะประสบความสำเร็จก็ต้องผ่านอุปสรรคไปให้ได้ก่อน

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights