พงศกร พงษ์วัชรารักษา: CEO อายุน้อยเจ้าของแบรนด์ ‘พริก ก้า พิก พริกทอดกรอบ’

คราวนี้ Career Fact จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ ‘คุณแดนนี่’ พงศกร พงษ์วัชรารักษา CEO อายุน้อยและเจ้าของแบรนด์ ‘พริก ก้า พิก พริกทอดกรอบ’ ผู้เริ่มดำเนินธุรกิจช่วงโควิดระบาดท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนรอบตัว

เขาได้ไอเดียการทำธุรกิจมาจากไหน? เขาพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในช่วงโควิดได้อย่างไร? เรียนจบแล้วเริ่มทำธุรกิจเลยมีข้อเสียอะไรไหม? ติดตามได้ที่นี่

ถูกฝึกให้มองภาพรวม

ตั้งแต่เด็กถ้าคุณแดนนี่อยากซื้อของเล่นซักชิ้น คุณพ่อคุณแม่จะไม่ยอมซื้อให้แบบง่ายๆ ครั้งหนึ่งตอนนั้นประมาณ ป.2 เขาอยากได้ของเล่นใหม่ คุณพ่อเลยบอกว่า ถ้าลูกอยากได้ลูกต้องพยายามเก็บเงินเพื่อซื้อเองเพื่อให้เรารู้คุณค่าของสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเอาของเล่นเก่าๆ มาขาย หรือเอาขนมที่ย่าทำไปขาย ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำให้เขารู้จักคุณค่าของเงินและไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ทำให้เริ่มคิดว่าจะต้องทำยังไงให้ขายได้ แบบไหนที่คนจะสนใจ แล้วต้องขายกี่วันถึงจะได้ของเล่นไปเล่นกับเพื่อนๆ เขาโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก และเป็นแบบนี้เรื่อยมา

พอโตขึ้นหน่อยช่วงประมาณ ม.3 เป็นต้นมา คุณแม่ก็ให้เข้ามาช่วยงานโรงแรมและสิ่งหนึ่งที่คุณแม่สอนคุณแดนนี่มาตลอดคือ “ถ้าลูกจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้ ลูกต้องรู้ทุกอย่างในองค์กร” เธอจึงฝึกให้คุณแดนนี่ทำงานทุกฝ่ายตั้งแต่เก็บใบไม้ในสระว่ายน้ำ ทำความสะอาดห้อง เปลี่ยนผ้าปูที่นอน งานธุรการ ทำบัญชี ช่วยเหลือด้านการตลาด ไปจนถึงการบริหาร เขาถูกขัดเกลาให้มองภาพรวมมาตลอด จนถึงระดับมัธยมปลาย ทำให้ฝันอยากเป็นนักธุรกิจมันยิ่งชัดขึ้น จึงตัดสินใจเลือกเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

แล้วคณะวิศวกรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจอย่างไร ทำไมเขาจึงไม่เลือกเรียนสายตรง?

อยากเป็นนักธุรกิจทำไมไม่เรียนบริหาร?

เพราะคุณแดนนี่คิดว่าทักษะการบริหารไม่สามารถเรียนรู้แค่ทฤษฎีและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทักษะบริหาร ต้องเกิดจากการลงมือทำจริงๆ ทำให้เขาเลือกเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ 4 ปีที่นี่ หล่อหลอมให้คุณแดนนี่มีตรรกะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และยังช่วยปูพื้นฐานด้านการบริหารธุรกิจในแง่ของการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดประหยัดต้นทุนสุดและได้ผลตอบแทนมากที่สุด ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง

จะเห็นได้ว่าคุณแดนนี่มักจะมีมุมมองการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างนอกกรอบและแตกต่างจากคนอื่น

เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง

อย่างเรื่องเรียนเขาก็เชื่อว่าเกรดไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน ตั้งแต่ปี 1 เขาจึงเริ่มออกมาหาเงินเองด้วยการสอนพิเศษโดยไม่พึ่งพาที่บ้าน หรือเรื่องเรียนต่อ
คุณแดนนี่ก็เลือกที่จะขัดกับคำแนะนำของหลายๆ คนและเชื่อในความคิดของตัวเอง เลือกไปเรียนภาษาต่อที่จีนด้วยเงินเก็บของตนเอง เพราะมองว่าจีนกำลังจะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกในอีกไม่ช้า

ตอนที่ไปศึกษาที่จีน คุณแดนนี่จะเข้าเรียนในช่วงเช้า และช่วงบ่ายมักจะอยู่ตามย่านค้าส่ง ตลาดส่งออกต่างประเทศ หรือตามงานแฟร์ที่แต่ละบริษัทนำสินค้ามาจัดแสดง เพราะเขาเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดแค่ในห้องเรียน และใบปริญญาไม่สามารถการันตีความสำเร็จในอนาคตได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้และลงมือทำด้วยตนเอง เขาจึงพยายามไขว่คว้าหาประสบการณ์เพิ่มเติมจากนอกห้องเรียนให้มากที่สุด

ความนอกกรอบนั้นไม่ได้หยุดแค่เรื่องเรียน แต่ยังรวมถึงเรื่องการทำธุรกิจด้วย

ไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป

ในขณะที่หลายคนมองว่าเราควรหาประสบการณ์การทำงานในฐานะพนักงานก่อนจะเริ่มเป็นเจ้าของกิจการ แต่ตัวคุณแดนนี่กลับรู้สึกอยากทำธุรกิจตั้งแต่ก่อนเรียนจบ ประกอบกับเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูงพร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อเขาค้นพบโอกาสในการทำธุรกิจที่ประเทศจีน เขาจึงคว้าเอาไว้อย่างไม่ลังเล

ระหว่างศึกษาต่อที่ประเทศจีน เขาได้ลองทำธุรกิจถึง 5 อย่าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง จนกระทั่งเขาได้ลองชิมหม่าล่าซึ่งเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของประเทศจีน และคุณแดนนี่ก็รู้สึกชื่นชอบรสชาติของมัน เขาจึงนำกลับมาที่ไทยด้วยแต่ก็พบว่าหม่าล่าที่ไทยนั้นไม่ใช่รสชาติต้นตำรับ เขาจึงลองหาวิธีนำเสนอที่จะทำให้คนไทยชอบรสชาติของหม่าล่า แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรสชาติต้นตำรับ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘พริกก้าพิก’ ขนมพริกทอดกรอบ โดยร่วมทำกับ Co-Founder อีก 2 คนด้วยทุนของตัวเอง

เมื่อได้ลองลงมือทำธุรกิจด้วยตัวเองแล้ว เขาก็ได้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของการมีธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย

จุดอ่อนและจุดแข็งของผู้ประกอบการอายุน้อย

ปัญหาหลักของการเริ่มเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่อายุน้อยเลย คือประสบการณ์การทำงานที่ยังน้อย ทำให้พอต้องลงมาจัดการหลายเรื่องด้วยตัวเองก็อาจจะยังมองภาพไม่ค่อยออกว่าการบริหารต้องทำอย่างไร ทำให้ต้องขวนขวายหาความรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ตอนนั้นเขาก็เลยทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การผลิต การแพ็ก การเสนอขายที่ตอนแรกลองไปเสนอขายหลายสิบเจ้าแต่ก็ถูกปฏิเสธมาทุกเจ้าเนื่องจากมองว่าน่าจะขายไม่ได้บ้างหรือตัวแบรนด์ยังไม่มีชื่อเสียงบ้าง แต่เขาก็ยังไม่ยอมเเพ้เเละลองพยายามต่อ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องทุน เพราะเริ่มทำธุรกิจจากวงเงินที่จำกัด จึงต้องใช้วิธีการนำกำไรที่ได้มาต่อเป็นทุนเรื่อยๆ อยู่ราว 8 เดือนจนมั่นใจว่าสินค้าขายได้และตัดสินใจกู้เงินลง 7-11 และห้างค้าปลีกอื่นๆ

แต่ในขณะเดียวกันการเป็นผู้เล่นใหม่ในสนามก็ทำให้มีมุมมองที่แตกต่าง อย่างเช่นการเริ่มทำธุรกิจในช่วงโควิด ที่ใครๆ ต่างก็แนะนำให้เก็บเงินไว้ก่อน แต่เขากลับเล็งเห็นโอกาสและตัดสินใจที่จะลงทุนและเดินเกมให้เร็วเพราะเป็นช่วงที่คู่แข่งกำลังชะลอการแข่งขัน เป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างแท้จริง

แต่แน่นอนว่าเส้นทางธุรกิจของเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

อุปสรรคครั้งใหญ่สุด

ไม่มีนักธุรกิจคนไหนไม่เคยเจออุปสรรคครั้งใหญ่ ‘พริกก้าพิก’ เองก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการนำสินค้าไปวางขายใน 7-Eleven

อุปสรรคที่ยากที่สุดคือการเอาสินค้าเข้าขายใน 7-Eleven อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า 7-Eleven เป็น บริษัทที่ใหญ่และมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มร้านค้าปลีกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่ 7-Eleven จะเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบการหลายเจ้า ผลที่ตามมาคือ 7-Eleven ต้องตั้งมาตรฐานการคัดคุณภาพสินค้าไว้สูงมาก สินค้าที่จะเข้าไปวางขายได้ต้องผ่านการคัดเลือกหลายด้านตั้งแต่ในเรื่องของรสชาติ การตรวจสอบสถานที่ที่ผลิตและมาตรฐานของโรงงาน คุณค่าทางโภชนาการและฉลากต่างๆ ก็ต้องได้มาตรฐานตามกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงความเป็นไปได้ว่าสินค้าจะขายได้ไหม

เนื่องจากพริกก้าพิกเริ่มต้นด้วยการเป็น SME ขนาดเล็ก และขาดประสบการณ์ในวงการนี้ คุณแดนนี่ก็เลยต้องเริ่มศึกษาทุกอย่างตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ทั้งเรื่องของ Food Science กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ รวมถึงต้องปรับปรุงคุณภาพสถานที่ผลิตและคุณภาพของสินค้าให้ผ่านมาตรฐาน เช่น ต้องมีกระบวนการทำงานที่ปลอดภัย สะอาด ปราศจากยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และเชื้อที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว เรื่องของธุรกิจก็ต้องทำแผนธุรกิจและการตลาดที่ดีเสนอ 7-Eleven เพื่อพิจารณาว่าตัวสินค้าจะขายได้ไหม

ปัญหายังไม่หมดแค่นั้นเพราะการจะนำสินค้าเข้าไปวางขายใน 7-Eleven นั้นเป็นก้าวที่ใหญ่มาก เงินทุนที่ต้องใช้และความเสี่ยงก็ต้องเยอะขึ้นตาม เนื่องจากการขยับแบบก้าวกระโดดจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่เยอะมาก และต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นได้ ในส่วนนี้ต้องมีการวางแผนการบริหารเงินทุนอย่างรอบคอบมาก โดยต้องวางแผนล่วงหน้า 4-5 เดือน เพิ่มแหล่งรายได้ให้มากที่สุด ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้มีเงินทุนสำรอง

เนื่องจากการทำธุรกิจรูปแบบนี้เป็นเงินเครดิต เรื่องของสภาพคล่องทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ โดยเขาตัดสินใจประชุมกับ Co-Founder อีก 2 คน และตกลงว่าพวกเราจะไม่รับเงินเดือนกันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เพื่อนำเงินส่วนนั้นไปเป็นทุนไว้ใช้ในช่วงนั้น นั่นหมายความว่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนของพริกก้าพิก ยอมทำงานฟรีๆ อยู่ 1 ปีเต็มเพราะเชื่อมั่นในสินค้าตัวนี้

หลังจากเข้ามาวางขายได้ก็ยังจำเป็นต้องมีการแข่งขันเพื่อแย่งพื้นที่เชลฟ์ทำให้เรายิ่งต้องทำการตลาดที่ดีประกอบกับการพัฒนาคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง

สุดท้ายความพยายามของเขาก็ออกดอกออกผล และถึงแม้เขาจะตัดสินใจเดินสวนทางกับทุกคำแนะนำ แต่เขาก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้วว่าอย่างน้อยเขาก็ทำเป้าหมายแรกได้สำเร็จ จนทุกวันนี้พริกก้าพิกขายได้มากกว่า 65,000 ซอง และสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านบาท/เดือน ภายในระยะเวลาเเค่ปีเดียวเท่านั้น

บทเรียนจากความล้มเหลวและอุปสรรค

คุณแดนนี่เคยล้มเหลวจากการคาดการณ์ตลาดผิด 5 รอบที่ทำธุรกิจ นั่นทำให้เขาคิดรอบคอบมากขึ้นโดยการศึกษาสภาวะปัจจุบันของตลาดและมีการคำนวนต้นทุนและกำไรละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้ความล้มเหลวยังสอนให้เขาประเมินธุรกิจตัวเองที่ Worst Case Scenario หรือกรณีที่เลวร้ายที่สุดเสมอ แต่หากประเมินที่ Worst Case แล้วยังเจออุปสรรคที่เหนือการคาดการณ์ของเราก็อย่าเพิ่งท้อ เราแค่ต้องพยายามแก้ปัญหาอย่างมีสติ ล้มได้แต่ก็ลุกขึ้นใหม่ได้ ขอแค่เชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ

พริกก้าพิก

ปัจจุบันพริกก้าพิกมี 3 รสชาติ โดยหม่าล่าเป็นรสชาติแรกที่ออกมาเพราะตรงกับความตั้งใจที่ต้องการจะเผยแพร่รสชาติต้นตำหรับของหม่าล่า ตามด้วยรสงาขาวที่กลมกล่อมและเหมาะกับทุกคน และสุดท้ายรสต้มยำ ที่เป็นการปรับเข้าสู่รสชาติที่เป็นรสดั้งเดิมของวัฒนธรรมอาหารไทย หาซื้อได้ตาม 7-Eleven, CJ Express, Golden place, ห้างภูธร, และตามร้านสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น Minical, นับKcal, Boxbox และช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางของ ‘พริกก้าพิก

เป้าหมายต่อไป

เป้าหมายต่อไปของพริกก้าพิกคือการเติบโต 300% และทำยอดขาย 1.2 ล้านซองในปีนี้ เนื่องจากตอนนี้พริกก้าพิกเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ ประกอบกับกำลังการผลิตมากขึ้น และตั้งใจว่าจะเข้า Modern Trade หรือร้านค้าปลีกชั้นนำของไทยทั่วประเทศ พร้อมทำให้พริกก้าพิกเป็นแบรนด์พริกทอดอันดับ 1 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีแผนว่าจะส่งออกไปต่างประเทศโดยมีรสชาติต้มยำที่แสดงถึงต้นตำหรับอาหารไทยเป็นตัวชูโรง

ความพยายามและความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

ทุกอย่างบนโลกใบนี้ล้วนมีอุปสรรค แต่มันอยู่ที่ว่าล้มแล้วเรามีความพยายามและความอดทนจนกลับมาลุกขึ้นเดินต่อได้ไหม และที่สำคัญคือได้เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวนั้น

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights