พิริยะ ตันตราธิวุฒิ: ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพร้านขายแว่นออนไลน์อย่าง Glazziq

ประสบการณ์ด้านการตลาดและความชื่นชอบในการออกแบบ เมื่อเห็นช่องทางแห่งโอกาสที่จะนำทั้งสองสิ่งมาสร้างธุรกิจสตาร์ตอัปขายแว่นตาออนไลน์ที่ยังไม่มีใครคิดจะทำ

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราว ‘พี่ตั้ม’ พิริยะ ตันตราธิวุฒิ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CMO สตาร์ตอัปขายแว่นตา Glazziq ที่ใช้ความรู้และความชอบในการพัฒนาร้านขายแว่นออนไลน์ให้เกิดขึ้นจริง จะน่าสนใจแค่ไหน ติดตามได้ที่นี่

ชีวิตและการทำงานในช่วงแรก

พี่ตั้มเติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อและคุณแม่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัว เขาเองก็มีเส้นทางที่ไม่ต่างกันมากนัก แม้จะชื่นชอบการวาดรูปและสนใจเรื่องการออกแบบมาตั้งแต่ตอนเด็กแต่ก็จัดวางให้เป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น เพราะเส้นทางสายการเรียนนั้นเขาเลือกที่จะเรียนต่อปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Harvard University และเรียนต่อปริญญาโทในสาขา MBA ที่ London Business School และด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานเป็นพนักงานบริษัท อีกทั้งความชื่นชอบในด้านออกแบบ เมื่อเขาเห็นว่ามีช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจ เขาจึงไม่รีรอที่จะเดินสู่เส้นทางสายสตาร์ทอัพ

จุดเริ่มต้นเส้นทางสายสตาร์ตอัป

ช่วงที่เรียนอยู่นั้นพี่ตั้มเล่าว่าเขามีความสนใจในเรื่องของแอปพลิเคชันสติ๊กเกอร์แต่งรูป และมีโอกาสทดลองทำสตาร์ตอัปขึ้นมาโดยมีเพื่อนๆ รอบข้างคอยสนับสนุนและช่วยเหลือให้คำแนะนำตลอดจนเรื่องโมเดลธุรกิจ พี่ตั้มบอกว่านับเป็นช่วงที่ให้บทเรียนกับชีวิตในการทดลองทำในสิ่งใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ ได้ลองถูกลองผิดมากขึ้น

และเส้นทางนั้นก็พาให้เขามาถึงจุดเริ่มต้นของ Glazziq (กลาซซิค) ที่เริ่มจากเพื่อนของพี่ตั้ม (พี่ดา ปริณดา ประจักษ์ธรรม) ที่ต้องการสานต่อธุรกิจร้านแว่นตาของครอบครัว จึงชักชวนให้พี่ตั้มเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ซึ่งพี่ตั้มเห็นว่าการที่ลูกค้าต้องเลือกแว่นตาที่หน้าร้านมีปัญหาและไม่สะดวก และส่วนตัวก็ไม่ค่อยชอบเวลาเลือกแว่นตาที่หน้าร้าน เขาจึงตอบตกลงร่วมทีมก่อตั้งแบรนด์ Glazziq ขึ้นมาโดยหวังว่าจะสามารถสร้างรูปแบบเว็บไซต์ที่น่าสนใจให้ลูกค้าเข้ามาเลือกชม และหวังว่าคอนเทนต์ที่นำเสนอข้อมูลแว่นตาจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลูกค้าตัดสินใจได้

นอกจากการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Glazziq แล้ว พี่ตั้มก็ยังดูแลในส่วนของการตลาดและยังดูแลด้านที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์และสื่อต่าง ๆ ทั้งหมดของแบรนด์อีกด้วย

อุปสรรคที่ทดสอบระหว่างทาง

จากความคิดเริ่มแรกที่พยายามจะสร้าง Glazziq แบบไม่มีหน้าร้านและส่งแว่นตาให้ลูกค้าไปทดลองใช้เพียงอย่างเดียวนั้น โดยมีโมเดลธุรกิจที่ได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยเห็นในต่างประเทศจะเป็นจุดขายหลักของแบรนด์ แต่แล้วก็พบว่าลูกค้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังต้องการเลือกสินค้าจากหน้าร้านอยู่

กลายเป็นว่าปัญหาและอุปสรรคดูเหมือนจะมีเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เพราะจากที่คิดว่าลูกค้าจะเลือกแว่นผ่านออนไลน์ได้ง่ายขึ้น แต่พอมาลองทำจริงคนก็ยังมองว่ามันยากกว่าไปเลือกที่หน้าร้านอยู่ดี จึงแก้ปัญหาโดยการชูจุดเด่นของแบรนด์ คือการสร้างประสบการณ์ที่สดใหม่ให้กับลูกค้าทุกคนที่เข้าชมเว็บไซต์และสนใจรายละเอียดของแว่นตา และพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบและผสมผสานการทำงานทั้งหน้าร้านและออนไลน์ให้เหมาะสมอยู่ตลอด เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งแบรนด์ Glazziq เป็นแว่นตาคุณภาพดีที่สั่งทำจากประเทศเกาหลี การควบคุมค่าใช้จ่ายให้แว่นตามีราคาที่ต่ำและเหมาะสมโดยใช้วิธีการที่ทำเองทั้งหมด ทั้งส่วนของการออกแบบและนำเข้าแบบนี้ ช่วยตัดปัญหาการมีคนกลางเข้ามาทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก

ผลตอบรับและภาพอนาคต

พี่ตั้มคิดว่าได้รับผลตอบรับกับการทำสตาร์ตอัปแว่นตาที่ผ่านค่อนข้างดี สำหรับในกรุงเทพฯ ก็ใช้รูปแบบหน้าร้านเป็นหลักในการเข้าถึง ขณะที่ต่างจังหวัดยังใช้โมเดลธุรกิจแบบที่ส่งให้ทดลองใช้ถึงบ้านจะได้ผลตอบรับที่ดีกว่า ทั้งหมดก็เพื่อความสะดวกของลูกค้าผ่านรูปแบบ Omnichannel ทุกวันนี้ลูกค้าสามารถทดลองผ่านหน้าเว็บไซต์และสั่งซื้อได้ในทันที แต่ต่อไปทางแบรนด์ก็แพลนว่าในที่สุดก็ต้องผสมผสานทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ที่ไม่ใช่แค่ร้านแว่นออนไลน์ที่มีหน้าร้านแต่ต้องใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำให้หน้าร้านมีความน่าสนใจและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า

‘หน้าร้านที่มีความดิจิทัล’ คือคำนิยามในรูปแบบของ Glazziq ในอนาคตที่พี่ตั้มบอกกับเรา ซึ่งเขามองเห็นโอกาสว่าการผสมผสานหน้าร้านซึ่งเป็นออฟไลน์ให้มีความเป็นดิจิทัลนั้นจะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้มากขึ้น และสร้างความสนุกมากขึ้นในเวลาที่ลูกค้าได้ลองมาเลือกแว่นตา

ช่วงโควิดสร้างประสบการณ์ใหม่

จากที่เคยแพลนไว้ว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่ช่วงที่ผ่านมาพี่ตั้มบอกว่า COVID-19 เป็นตัวสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเขาเองแทน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่สามารถไปเดินดูสินค้าที่หน้าร้านได้ ทำให้การลงทุนบางส่วนไม่ได้ใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในส่วนที่เป็นออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญ ก็ช่วยให้เขากลับมามุ่งพัฒนาในส่วนนี้มากขึ้น เช่น ให้ลูกค้าทดลองใส่แว่นของแบรนด์ผ่านฟิลเตอร์ในอินสตาแกรม หรืออีกหนึ่งฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วงโควิด ก็คือการที่ลูกค้าทุกคนสามารถทดลองแว่นตาผ่านเว็บไซต์ในรูปแบบ Virtual Try-On หรือการทดลองแว่นตาเสมือนจริง เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจแทนที่จะต้องเดินไปถึงหน้าร้านแต่กลับอยู่ใกล้แค่เพียงปลายนิ้ว

จุดแข็งที่มี

พี่ตั้มบอกว่าการใช้ฟังก์ชันในรูปแบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้ามาผสมผสานไว้ด้วยกันจะช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์แบบใหม่ที่ดีที่สุดในการซื้อแว่นและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยที่เขาและแบรนด์ใส่ใจเรื่องประสบการณ์ของลูกค้าในการเลือก การตัดสินใจและทดลอง ไปจนถึงข้อมูลความรู้ที่ครบครัน เพื่อให้แว่นตาที่ลูกค้าเลือกนั้นเหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงและคุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ลูกค้าทุกคนซื้อแว่นได้ง่ายและแทรกด้วยความสนุกระหว่างการเลือกซื้อไปในตัว

การแข่งขันในตลาดแว่นตา

แน่นอนว่าธุรกิจแว่นตามีการแข่งขันที่สูง พี่ตั้มมองว่าแต่ก่อนแว่นมีราคาแพง แต่ตอนนี้ร้านใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก คุณภาพก็ดี แถมยังมีหน้าร้านสวยงาม การแข่งขันก็ต้องตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าคู่แข่งให้ได้ เพราะทุกคนในธุรกิจนี้เห็นถึงปัญหาหมด ไม่ใช่แค่เขาที่เห็นคนเดียว แบรนด์ต่างประเทศที่ขยายเข้ามาแข่งในเมืองไทย ก็ทำให้ต้องเขาพัฒนาตัวเองและหาโอกาสในช่องว่างที่ยังมีของธุรกิจนี้ต่อไป

เป้าหมายสองระยะ

เคล็ดลับที่พี่ตั้มใช้เป็นแนวทางสร้างสรรค์ธุรกิจและชีวิตของตัวเองคือการที่เขามีเป้าหมายระยะยาวและต้องมีเป้าหมายระยะสั้นที่ต้องไปให้ถึงอยู่เสมอ เพราะว่าบางทีหลายคนอาจจะมีความคิดว่าอยากระดมทุนให้ได้ในระยะยาว แต่พี่ตั้มแนะนำว่าในระยะสั้นเราก็ควรมีเป้าหมายที่ทำให้สำเร็จไปเรื่อยๆ และท้าทายอยู่เสมอ และเป้าหมายทั้งสองระยะก็ต้องสอดคล้องกันด้วย
.
อีกสิ่งที่ช่วยเขาได้เยอะคือความชอบ การที่พี่ตั้มชอบศิลปะมาตลอดตั้งแต่เด็ก ทำให้เมื่อมีโอกาสทำการตลาดให้ Glazziq เขาสามารถตัดสินใจได้ในทันทีและสานต่องานที่ทำทั้งการตัดต่อ ทำแอนิเมชันเอง “เป็นอะไรที่ชอบและสนุกมาก” พี่ตั้มกล่าว

อย่ามองแค่ความสำเร็จของคนอื่น

สิ่งแรกที่พี่ตั้มคิดว่าอยากจะแนะนำคนรุ่นใหม่หลายๆ คน คือต้องทำความเข้าใจในธุรกิจตัวเอง เขาบอกว่าในภาพที่สวยงามอยู่นั้นมันมีความยากลำบากที่หลายครั้งเราไม่สามารถพบเห็นได้ในสื่อ จะเห็นแค่แง่มุมของความสำเร็จเพียงด้านเดียว ในสื่ออาจไม่ค่อยมีเนื้อหาของคนที่ไม่สำเร็จหรือล้มมากเท่าที่ควร

เวลาคนรุ่นใหม่ๆ เห็นเรื่องราวที่สำเร็จมากๆ ก็จะคิดว่ามันไม่ยาก มันง่าย แล้วก็ขาดการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะมาทำงานของตัวเอง

บางทีต้องลองศึกษาในทุกด้านก่อนที่จะทำงานของตัวเองว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง หลายคนลืมคิดเรื่องเวลาได้เงินลงทุนมาแล้วใช้ไปหมด อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งในแง่ของธุรกิจมันมีทั้งสองด้านทั้งคนสำเร็จและไม่สำเร็จ พี่ตั้มแนะนำว่าควรมองด้วยความเข้าใจในสถานการณ์ให้ครบ และต้องมองภาพให้ครบ ก่อนที่จะตัดสินใจทำงานของตัวเอง

ไม่เหมาะกับทุกคนแต่เป็นไปได้

ถ้าไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้วคิดว่าไอเดียเราสามารถสร้างได้ให้เกิดขึ้นจริง หาทีมได้ดี หรือมีนักลงทุนสนับสนุน ก็ยังน่าสนใจอยู่

พี่ตั้มคิดว่าที่สุดแล้วในโลกธุรกิจมีคนที่เหมาะกับทำธุรกิจของตัวเองและไม่เหมาะ หลายคนก็คิดอยากจะรวยเร็วๆ ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องเห็นถึงความลำบาก ต้องมีการดูแลพนักงาน ใส่ใจเรื่องผลการตอบแทนของนักลงทุนที่คาดหวัง ธุรกิจที่ทำต้องมีความยั่งยืน มองภาพระยะยาวให้มากขึ้น และก็ควรใช้ความชอบเป็นตัวขับเคลื่อนไปพร้อมกับการมีทีมที่ดี

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights