พิมพิม กิตติกัญญา: Associate consultant ที่ Bain&Company ผู้ไขว่คว้าโอกาสในการทำสิ่งที่ชอบ

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘พิมพิม’ กิตติกัญญา ดำรงศิริ Associate Consultant ที่ Bain & Company ประเทศไทย ผู้ไขว่คว้าโอกาสที่ตอบโจทย์ชีวิตและเลือกทำทุกสิ่งที่ตัวเองชอบ
 
เปิดชีวิตและประสบการณ์แข่งขันเคสธุรกิจดีกรีระดับนานาชาติ และความมุ่งมั่นเพื่อได้ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับท็อป 3 ของโลก ติดตามได้ที่นี่
 
 

ชีวิตวัยเรียน

 
พิมพิมเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบและการผลิตยานยนต์ (ADME) ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจเลือกเรียนต่อสายวิศวะเพราะชอบเรียนฟิสิกส์ เธอบอกว่าการเรียนสาขา ADME ทำให้เธอที่ชอบฟิสิกส์อยู่แล้วสนุกกับการเก็บเกี่ยวความรู้อยู่ตลอด นอกจากนี้เธอเป็นหนึ่งในผู้นำเชียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์และทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ
 
ช่วงที่เรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยปีแรกๆ เธอตั้งใจว่าจะเดินเส้นทางสายวิศวะทั่วไปและทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต แต่เธอคิดว่าการต้องย้ายที่ทำงานและเดินทางอยู่ตลอดเวลาอาจไม่ตอบโจทย์เท่าไรเพราะเธอต้องการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด นั่นเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เธอมองหาทางเปลี่ยนเส้นทางจากโลกวิศวะสู่งานที่ตอบโจทย์ชีวิตกว่านี้แทนตอนเรียนปี 3 จึงเป็นที่มาของความสนใจงานด้านคอนซัลต์หรือที่ปรึกษาด้านธุรกิจ
 
 

จุดพลิกผันอาชีพในฝัน

 
นอกจากจะเป็นงานที่ตอบโจทย์กับชีวิต ไม่ต้องเดินทางบ่อยๆ และได้อยู่กับครอบครัวแล้ว พิมพิมเล่าว่าเธอยังชอบลักษณะงานของคอนซัลต์ด้วย เพราะเป็นงานที่ได้แก้ปัญหาให้ลูกค้าและทำงานเกี่ยวกับกลยุทธ์ระดับสูงขององค์กร “เราชอบแก้ปัญหาและหาคำตอบให้ได้ คอลซัลต์ก็เป็นอาชีพที่ได้แก้ปัญหาให้ลูกค้า และได้ทำงานกับคนเก่งๆ จากหลายๆ บริษัท เลยทำให้ตัดสินใจเลือก” เธอกล่าว
 
เมื่อเธอเห็นโอกาสในการปรับสายงาน เธอจึงใช้เวลากับการหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต สอบถามรุ่นพี่ รวมทั้งฟังโรดโชว์เกี่ยวกับตำแหน่งงานนี้อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจจริงๆ ว่าเป็นงานที่ตรงใจและตอบตัวเธอเองได้ว่าชอบงานนี้จริงๆ เธอยังเก็บประสบการณ์ด้านคอนซัลต์ด้วยการทำงานแบบพาร์ทไทม์ ทดลองทำพรีเซนต์ เปิดมุมมองทางธุรกิจ และฝึกงานกับ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ เธอบอกว่าสิ่งที่เธอได้จากการฝึกงานกับ Accenture คือ ทักษะของการเป็นคอนซัลต์ที่ดีและ Soft Skills ทั้งการวิเคราะห์เคสและการคุยพบปะกับลูกค้า ทำให้เธอมีประสบการณ์และเข้าใจการทำงานในด้านนี้มากขึ้น
 
 

แข่งขันเคสธุรกิจ HultPrizeGlobalRound

 
พิมพิมเล่าว่าช่วงปี 4 หลังฝึกงานเสร็จแล้วเธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการแข่งขันเคสธุรกิจอยู่เรื่อยๆ จนมีโอกาสเข้าแข่งขันรายการ ‘Hult Prize’ ซึ่งเป็นรายการใหญ่ที่ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วโลกแข่งกันแก้ไขปัญหาทางธุรกิจด้วยแนวความคิดใหม่ๆ เธอรวมทีมกับเพื่อนๆ ที่เรียน BBA จุฬาฯ มาเข้าแข่งขันด้วย เธอบอกว่าเหมือนเป็นวิธี “ครูพักลักจำ” ที่ทำให้เธอต่อยอดมุมมองธุรกิจและเรียนรู้วิธีต่างๆ จากเพื่อนในทีม
 
ไม่ใช่แค่โอกาสในการเข้าแข่งขันเท่านั้น แต่ทีม “Gluta Iceberg” ของเธอและเพื่อนๆ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งรอบ Final Pitch ในประเทศและระดับภูมิภาค ทั้งยังผ่านเข้าไปถึงรอบ Global Round ด้วยไอเดียผ้าอนามัยย่อยสลายได้ในชื่อ “Pura Pads”
 
“รอบ Global จะเน้นไปที่การทำให้เกิดการใช้งานได้จริงมากกว่า จะมีเมนเทอร์มาแนะนำให้ธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ” เธอกล่าว
 
สำหรับเธอแล้วสิ่งที่เธอได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้คือการสร้างวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจให้คิดเรื่องที่เป็นไปได้และจะเกิดขึ้นจริงมากกว่าแค่การแข่งขันทั่วไป เธอเล่าให้ฟังต่อว่า “เป้าหมายที่สำคัญของการแข่งขันระดับสูง เขาต้องการให้คิดเสมอว่าเราจะสร้างธุรกิจยังไงมากกว่าแค่ตอบคำถามใช่หรือไม่ใช่ เลยเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่าการแข่งขันเคสธุรกิจทั่วไป”

 

แพชชันสร้างประสบการณ์

 
พิมพิมบอกว่าคอนเซปต์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็น ‘แพชชัน’ ที่เธอและเพื่อนๆ ในทีมอินกับหัวข้อนี้ ทำให้เวลาที่ต้องพัฒนาเคสและหาทางออกให้กับหัวข้อนี้ พวกเธอจึงใส่ใจเป็นพิเศษและไม่ได้คิดแค่ว่าทำเพื่อให้ชนะการแข่งขันเท่านั้น ดังนั้นทีมของเธอจึงทำเรื่องเกี่ยวกับผ้าอนามัยซึ่งเป็นปัญหาขยะที่ไม่มีใครเลี่ยงได้ และเป็นจุดสำคัญที่กรรมการเห็นถึงความเป็นไปได้ของเคสธุรกิจนี้ เธอบอกว่าเคล็ดลับในการพัฒนาหัวข้อธุรกิจจากประสบการณ์ของเธอคือ ต้องเป็นคำตอบที่มีอิมแพคต่อทุกคนและมีประโยชน์สูงสุดจริงๆ ไม่ใช่แค่คำตอบสวยๆ เท่านั้น
 
การแข่งขัน Hult Prize สำหรับพิมพิมแล้ว นับว่าเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่พาเธอก้าวเข้าไปในโลกธุรกิจอย่างเต็มตัว และไม่ใช่แค่โลกธุรกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้เธอเชี่ยวชาญงานด้านคอนซัลต์มากขึ้นด้วย
 

ชีวิตงานคอนซัลต์

 
เธอเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะได้ทำงานกับ Bain & Company เธอต้องเตรียมตัวอย่างหนัก ตั้งแต่ทำเรซูเม่ เขียน Cover letter เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ Case Interview ด้วยการฝึกฝน พูดกับเพื่อน และดูยูทูบ ซึ่งเคล็ดลับที่เธอใช้ในการเตรียมตัวคือการหาความรู้และข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต “ทุกอย่างสามารถเสิร์ชหาข้อมูลได้ ทุกคนสามารถค้นหาได้ มันช่วยให้เราเตรียมตัวได้ดีขึ้นและฝึกฝนให้เพียงพอกับสิ่งที่ต้องใช้” เธอแนะนำ
 
พิมพิมมองว่าการทำงานคอนซัลต์เป็นเรื่องของ ‘การทำงานกับลูกค้าให้ได้คำตอบร่วมกัน’ ไม่ใช่สั่งหรือบอกให้ลูกค้าทำตามเท่านั้น เธอจึงรู้สึกว่างานคอนซัล สิ่งที่เธอชอบในงานด้านคอนซัลต์คือลักษณะของงานที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่น่าเบื่อ ทั้งยังได้ใช้ทักษะที่หลากหลายทำให้เธอต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แต่เวลาการทำงานที่หนักหน่วงก็อาจจะเป็นสิ่งท้าทายสำหรับสายงานนี้สำหรับหลายๆ คน
 
เมื่อถามถึงสิ่งที่เธออยากแนะนำสำหรับคนที่ฝึกงานสายคอนซัลต์ เธอให้คำตอบว่า “ถ้าฝึกงานแล้วรู้สึกโอเคกับ Work-Life Balance ได้ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะไปในด้านนั้น แต่หากรู้สึกไม่ชอบกับเวลาหรือลักษณะงานจริงๆ ก็อย่าฝืนตัวเอง ต้องหาตัวเองด้วยการลองทำไปเรื่อยๆ” เธอย้ำว่าอยากให้ลองไปทำงานจริงๆ ก่อนไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด เพื่อให้รู้ว่าตัวเรารับลักษณะการทำงานแบบนั้นได้หรือไม่ เพราะเนื้องานและสกิลที่ใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละสาย
 
“ไม่มีงานไหนที่เราชอบร้อยเปอร์เซนต์ มันต้องมีทั้งส่วนที่ชอบและไม่ชอบ การจะเรียนรู้เยอะก็ต้องใช้เวลากับมันเยอะ มันเป็นสิ่งที่ต้องแลกกัน” เธอกล่าว
 

รอบตัวแวดล้อมด้วยคนเก่ง

 
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ทำงานกับบริษัทท็อป 3 ของวงการที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก พิมพิมบอกว่าการทำงานจริงก็ยังท้าทายอยู่เสมอเพราะต้องเจอสังคมที่แวดล้อมไปด้วยคนเก่ง ทั้งที่เป็นหัวหน้า หรือลูกค้าระดับซีอีโอ แม้ว่าจะเกิดความเครียดในช่วงแรกของการทำงาน แต่เธอมองว่านั่นคือมาตรฐานที่เธอต้องปรับตัวมากขึ้นเพราะทุกงานมีความคาดหวังที่สูง
 
“เวลาจะจัดการกับความเครียด คือต้องเครียดในสิ่งที่เราคอนโทรลมันได้ สิ่งที่ควรโฟกัสคือสิ่งที่เราทำได้และทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ส่วนที่นอกเหนือจากนั้นให้เป็นโอกาสเรียนรู้การทำงานมากกว่าจะเครียด” เธอกล่าว
 
เธอบอกว่าอีกหนึ่งความโชคดีของการทำงานกับบริษัทชั้นนำคือ ความใส่ใจการทำงานและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี การให้คุณค่ากับการทำงานที่ยั่งยืน และการมีเพื่อนร่วมงานและเจ้านายที่ดี แม้ความคาดหวังจะสูงแต่ไม่ได้แปลว่าว่าต้องโหมงานหนัก ถ้าเกิดปัญหาบริษัทก็เคารพความต้องการของทุกคน
 

คำแนะนำสำหรับFirstJobber

 
สิ่งแรกที่เธออยากแนะนำ First Jobber และคนทำงานรุ่นใหม่ๆ คือ การที่ทุกคนอยากโปรดักทีฟ และต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเร็วๆ และชอบเอาตัวเองไปเทียบกับคนรุ่นเดียวกันว่าใครสำเร็จมากกว่า จนทำให้คนรุ่นใหม่ค่อนข้างกดดันตัวเอง แต่เธอแนะนำว่า “อย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเยอะ พยายามคิดว่าตัวเองอยู่จุดไหน จะไปที่ไหน แล้วพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นไปในแบบที่ตัวเองทำได้” เธอกล่าว
 
พิมพิมบอกว่าระหว่างทางไม่ควรมีเพียงเป้าหมายแล้วพุ่งไปเท่านั้น แต่ต้องแบ่งเวลาให้กับแง่มุมอื่นของชีวิตด้วย เหมือนที่เธอให้เวลากับทั้งกิจกรรมช่วงมหาวิทยาลัย การแข่งเคสธุรกิจ การอยู่กับเพื่อน การเลี้ยงสุนัข หรือแม้กระทั่งการเล่นเกม ทุกอย่างต้อง “Collect the flowers along the way.” เธอบอกว่าควรจะสนุกไปกับช่วงเวลาต่างๆ ที่อยู่ระหว่างทางด้วย ต้องอย่าลืมว่าเราอยู่จุดไหนและให้คุณค่ากับสิ่งใด ถ้าค้นหาคุณค่าของตัวเองไม่เจอหรือมัวเดินตามเป้าหมายที่คนอื่นทำ สุดท้ายแล้วเมื่อถึงเป้าหมายเราอาจจะไม่มั่นใจว่าจะมีความสุขก็ได้
 
“ต้องบาลานซ์สิ่งที่เจอในชีวิตและทำตามสิ่งที่ชอบเสมอ เราจะได้เป้าหมายที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด”
 
ถ้าเป็นไปได้อย่าลืมมองรอบๆ ตัวว่าเราอยากทำอะไร ค่อยๆ ค้นหาตัวเอง รู้จักยืดหยุ่น จะทำให้พบกับเป้าหมายที่เหมาะสมกับเราที่สุด

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights