สุนิษา ฤกษ์ชัย: เภสัชกรไทยในแคนาดา ผู้เชื่อว่า “โอกาสไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ประเทศไทย”

วันนี้ Career Fact พาทุกคนร่วมถอดบทเรียนการย้ายประเทศจาก ‘ใหม่’ สุนิษา ฤกษ์ชัย วิลคินซัน เจ้าของเพจ เภสัชกรไทยในแคนาดา ผู้เชื่อว่า “โอกาสไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ประเทศไทย”

ชีวิตวัยเรียน

เธอเติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง ทำอาชีพค้าขาย ด้วยความที่พ่อแม่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษา เธอจึงมีอิสระในการกำหนดเส้นทางการศึกษาของตัวเองมาตลอด จากเด็กที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้ เมื่อเริ่มเข้ามัธยมปลาย และเจอคุณครูชาวต่างชาติ ก็เป็นแรงผลักดันให้เธอพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเอง โดยฝึกเองจากการเสพสื่อภาษาอังกฤษต่างๆ

อยากเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ

เป้าหมายถัดมาที่ผลักให้เธอพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นไปอีกคือ เธออยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐเพื่อทำให้ที่บ้านภูมิใจ เธอตั้งต้นกำหนดตัวเลือกคณะจากความชอบ 2 อย่าง คือ เรื่องธุรกิจ และเรื่องการแพทย์ ด้วยความเชื่อที่ว่า

Shoot for the moon. Even if you miss it, you will land among the star – ตั้งเป้าหมายไว้ให้ไกลที่สุด เพราะถึงแม้เราจะไปไม่ถึง เราก็พัฒนาไปไกลมากจากจุดเริ่มต้นแล้ว

ทำให้เธอตัดสินใจยื่นเข้าภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนแรก เธอตัดสินใจเข้าเรียนที่ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร แต่เมื่อค้นพบว่าอาชีพที่ต้องใช้เวลาอยู่ในโรงงานไม่ใช่ทางที่ชอบ จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนคณะเภสัชศาสตร์ในปีถัดมา

ฝันอยากทำงานต่างประเทศ

ช่วงมหาวิทยาลัย เธอได้ร่วมโครงการ Work and Travel ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก การเจอคนที่มีความคิดหลากหลาย รวมถึงคนในวัยเดียวกันที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเปิดประสบการณ์ต่อด้วยการทำงานที่ต่างประเทศ ตอนนั้น เธอมุ่งเป้าไปที่ประเทศแคนาดา ประเทศแถบอเมริกาที่มีโครงการเปิดรับอาชีพเภสัชกรจากต่างประเทศ

เริ่มต้นที่ไทย

เธอเลือกทำงานเก็บประสบการณ์ที่ไทยเพื่อเพิ่มภาษีในการเข้าโครงการเป็นเภสัชกรที่แคนาดา โดยตัดสินใจทำงานพาร์ทไทม์ที่โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และร้านยา เพื่อทำตัวให้คุ้นเคยกับระบบการทำงานและคนไข้รูปแบบต่างๆ กัน โดยถ้าเป็นฝั่งโรงพยาบาลก็จะเจอเคสที่ค่อนข้างซับซ้อน ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขจะเป็นเคสที่คนไข้อาการค่อนข้างคงที่ และร้านยาก็จะเป็นการจ่ายยาจากอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และให้คำปรึกษากับคนไข้ที่มาซื้อยา 

How to ย้ายประเทศ

  1. หาข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการสอบใบประกอบวิชาชีพในเว็บไซต์ของรัฐบาลประเทศแคนาดา ในกรณีของเธอก็จะหาเป็นสายวิชาชีพเภสัชกร 
  2. เลือกและหาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองที่จะไปอยู่
  3. เก็บประสบการณ์การทำงานจากที่ไทย
  4. ฝึกภาษาอังกฤษ
  5. การเตรียมตัวด้านจิตใจสำคัญที่สุด อย่าลืมบอกพ่อแม่แต่เนิ่นๆ เพราะการย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลจากพวกเขาเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาระดับหนึ่งในการสร้างความเข้าใจ 

ความท้าทายของการย้ายไปทำงานต่างประเทศ

  1. การหาบ้านเช่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่นั่นจะเป็นระบบที่บ้านเลือกเรา เราไม่ได้มีอิสระในการเลือกที่อยู่เอง
  2. ต้องฝึกเขียนเรซูเม่ และสัมภาษณ์สมัครงานใหม่ โดยความยากของการสัมภาษณ์คือเรื่องภาษาและจังหวะการพูด ซึ่งทางภาครัฐของแคนาดามีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้

ความต่างระหว่างเภสัชกรไทยกับเภสัชกรแคนาดา

  1. เภสัชกรที่แคนาดาส่วนใหญ่ทำงานที่ร้านยา ส่วนในโรงพยาบาลจะเป็นเภสัชกรที่ทำงานกับแพทย์ 
  2. เภสัชกรมีทั้งหน้าที่ในการจ่ายยาตามอาการของคนไข้เหมือนที่ไทย และหน้าที่รับใบสั่งยาจากแพทย์ตามคลินิกและโรงพยาบาล เพื่อจ่ายยาให้คนไข้ตามใบสั่งยานั้นๆ 
  3. แคนาดาใช้ระบบ Family Doctor คนไข้เป็นอะไรก็จะไปหา Family Doctor ก่อน แล้วค่อยส่งต่อไปที่แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งอยู่ประจำคลินิกต่างๆ เพื่อให้คนไข้ไปตามนัดได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอ และไม่ไปกระจุกตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว
  4. แคนาดามีสภาวิชาชีพที่คอยมาตรวจสอบการทำงานของเภสัชกรอยู่ตลอด แล้วช่วยรีวิวการทำงาน เพื่อให้เภสัชกรสามารถปรับปรุงการทำงานให้ได้มาตรฐานมากขึ้น
  5. คนไข้ส่วนใหญ่ที่แคนาดาอยากรู้รายละเอียดการทำงานเชิงลึกของยา เช่น ยาตัวนี้สามารถลดความดันโลหิตได้เพราะอะไร มีผลข้างเคียงระยะสั้นและระยะยาวอย่างไรบ้าง โดยจะมาถามข้อมูลเหล่านี้จากเภสัชกร 
  6. ที่แคนาดา เภสัชกรจะสามารถคุยกับแพทย์ได้ง่ายกว่า เพราะแพทย์และเภสัชกรเคารพการทำงานของกันและกัน

หน้าที่(ไม่)ลับของเภสัชกรแคนาดา

จริงๆ แล้ว เภสัชกรไม่ได้มีหน้าที่จ่ายยาตามแพทย์สั่งอย่างเดียว แต่ต้องตรวจสอบยาให้เหมาะสม ไม่เกิดผลขัดแย้งกัน โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้ได้รับยาจากแพทย์หลายคน เภสัชกรจะต้องจ่ายยาให้ “ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกปริมาณ และจ่ายตามโรคที่เป็นอยู่” เและยังต้องให้ข้อมูลผลดีของยาตัวนั้น และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการทานยากับคนไข้ อีกทั้งยังทำหน้าที่เสนอทางเลือกยาที่มีราคาถูกกว่า แต่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยาที่แพทย์สั่ง สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาด้านการเงิน

หัวใจสำคัญของเภสัชกรคือ “การหาทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” โดยประสานการตัดสินใจทั้งของแพทย์ เภสัชกร และคนไข้ ภายใต้เงื่อนไขด้านเวลาที่จำกัด ยิ่งช่วงโควิดที่คลินิกแพทย์ปิด คนไข้จะยิ่งมาร้านขายยามากขึ้น เภสัชกรจะต้องมีหารือกันเพื่อให้คนไข้ทุกคนได้รับยาอย่างทั่วถึง รวมทั้งทำหน้าที่ฉีดวัคซีนให้กับคนไข้ นอกจากนี้ เภสัชกรยังเข้าไปมีบทบาทในบริการสุขภาพพิเศษต่างๆ เช่น การจ่ายยาให้ผู้สูงอายุโครงการ Longterm Care

2 สิ่งที่อยากฝาก

  1. อย่าลืมมองความพร้อมของตัวเองก่อนตัดสินใจย้ายประเทศ เพราะการย้ายประเทศเป็นการลงทุนทั้งแรงกาย แรงใจ และเวลา
  2. แต่ละประเทศมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจย้ายประเทศตรวจสอบสวัสดิการของประเทศนั้นๆ ด้วย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights