ไผท ผดุงถิ่น: ชายผู้ผ่านความยากลำบากมานับครั้งไม่ถ้วนเพื่อพิสูจน์เส้นทางที่ต้อง “เหยียบขี้ไก่ให้ฝ่อ”

วันนี้ Career Fact จะมาพูดคุยกับ ‘คุณโบ๊ท’ ไผท ผดุงถิ่น CEO แห่ง Builk One Group ที่มีความฝันในวัยเด็กว่าอยากเป็นวิศวะและเรียนสายตรงมา แต่อีกฝันหนึ่งของเขาคือการเปิดบริษัทของตัวเอง  ชายผู้ผ่านด่านทดสอบที่ยากลำบากมานับครั้งไม่ถ้วนเพื่อพิสูจน์เส้นทางที่ต้อง “เหยียบขี้ไก่ให้ฝ่อ”

ปัจจุบันเขาคือหนึ่งในคนที่มีชื่อเสียงของวงการธุรกิจสตาร์ทอัพที่ครอบครองรางวัลการันตีมากมาย และเคยไปเยือนถิ่นสตาร์ทอัพระดับโลกอย่างซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) แต่ทำไมเขาถึงปฏิเสธข้อเสนอลงทุนจาก 500 Startup? 

ติดตามเรื่องราวและเส้นทางสายสตาร์ทอัพที่คุณโบ๊ทอยากส่งต่อให้ทุกคนได้ที่นี่

เลือกเรียนวิศวะโยธา

คุณโบ๊ทเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัว เป็นลูกหลงซึ่งอายุห่างจากพี่มาก และเห็นพี่ๆ โตเป็นผู้ใหญ่กันหมด หลายครั้งจึงคิดและอยากเป็นตามอย่างพี่ๆ บ้าง เขาเล่าว่าแม้คุณพ่อทำงานรัฐวิสาหกิจและไม่ได้ส่งเสริมให้ทำธุรกิจ แต่เห็นพี่สาวแต่งงานออกไป และมีโอกาสทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในช่วงมัธยมความฝันแบบเด็กๆ จึงเกิดขึ้นว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจบ้างก็น่าจะดี

แม้จะอยากทำธุรกิจส่วนตัวและสนใจด้านออกแบบ แต่ที่บ้านสนับสนุนให้เรียนวิศวะมากกว่า คุณโบ๊ทจึงตัดสินใจเรียนต่อสาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเห็นภาพวงการนี้จากบริษัทของพี่สาวมาแล้ว เขาเล่าเสริมว่ายังสนใจงานดีไซน์และออกแบบอยู่ ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยจึงเป็นเด็กกิจกรรมที่ทำงานสายออกแบบให้กับคณะมาเรื่อยๆ 

เหยียบขี้ไก่ให้ฝ่อ

ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน อาจเป็นวลีคุ้นหู และพี่โบ๊ทก็เคยผ่านช่วงเวลานั้นเช่นกัน เพราะช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเขาอยู่ในรุ่นที่เรียนท่ามกลางวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี เมื่อเรียนจบจึงหางานทำทันทีในบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเล็กๆ คุณโบ๊ทเล่าว่าตอนนั้นอุตส่าห์เรียนมา จึงอยากทำงานให้ได้เร็วๆ และแบกความกดดันที่ติดอยู่ในใจจากคำพูดรุ่นพี่ว่า วิศวะจุฬาเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ แต่เมื่อลองแล้วไม่ใช่ทาง เขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงาน Management Trainee ที่บริษัทเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างคอนกรีตผสมเสร็จ จากต่างประเทศ แทน

เป็นประสบการณ์ที่ดีในการทำงานบริษัทขนาดใหญ่ จากคนที่เรียนจบวิศวะ แต่วันหนึ่งมีโอกาสได้เรียนรู้งานขาย งานที่เคยมองว่าไม่คูล ทำให้เขาได้รู้ว่า “ฝืนทำสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำไม่ได้ ไม่อยากทำ แล้วทำมันจนสำเร็จ คือการเติบโต เลยคิดว่าตัวเองยังทำอะไรได้หลายอย่างถ้าไม่ปิดโอกาส และตั้งใจกับเรื่องนั้นจริงๆ” หลังจากนั้นเลยขออาสาออกไปทำงานเดินสายต่างจังหวัด เพราะอยากแกร่งขึ้น จนได้รับโปรโมทตำแหน่งเป็น Business Development Manager ทำให้เขาสนุกกับการทำงานมากขึ้น 

ออกมาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างด้วยตัวเอง

ตอนแรกเขาเตรียมไปเรียนต่อหลังจากเก็บประสบการณ์ทำงานมาสักระยะ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ไปเพราะอยากลงมือพิสูจน์ตัวเองกับไอเดียธุรกิจที่ค้างคงมาจากบริษัทเก่า จึงลาออกมาทำบริษัทนำเข้าวัสดุก่อสร้าง/ตกแต่งของตัวเอง คุณโบ๊ทเล่าว่าช่วงนั้นปัญหารุมเร้ากับธุรกิจแรกและไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะความมั่นใจในตัวเองแต่ไม่เข้าใจการทำธุรกิจจริงๆ

คุณโบ๊ทบอกว่าเขาเชื่อคำแนะนำของพี่ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ผ่านวิกฤตมาก่อนที่สอนให้เขาใจเย็นๆ ค่อยๆ แก้ปัญหาทีละเรื่องจนผ่านมาได้ เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนั้นเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้างที่ก้าวหน้าที่อาชีพ จนทำให้กดดันตัวเองในการทำงาน เมื่อคลายปมปัญหาทุกอย่างได้จึงคิดเริ่มต้นใหม่

ขายซอฟแวร์

เมื่อธุรกิจแรกไปไม่รอด หลังจากนั้นไม่นานคุณโบ๊ทก็ตั้งบริษัทซอฟแวร์สำหรับผู้รับเหมากับเพื่อนๆ โดยเป็นซอฟท์แวร์สำหรับการวางแผนการจัดการธุรกิจก่อสร้าง (Enterprise Resource Planning หรือ ERP) ในชื่อ ‘พจมาน’ แต่ก็ยังมีความท้าทายแบบธุรกิจซอฟท์แวร์ขนาดเล็ก เมื่อปัจจัยภายนอกสภาวะเศรษฐกิจผันผวน คู่แข่งรายใหม่เกิดขึ้น การตัดราคา ธุรกิจก็เลยยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

จุดเริ่มต้นของBuilk

การที่ธุรกิจจะไปได้ดีต้องมีโมเดลธุรกิจ คุณโบ๊ทจึงได้ร่วมประกวดแผนธุรกิจที่บัญชีจุฬาซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Builk.com (บิลค์ดอทคอม)’ แพลตฟอร์มเว็บแอปพลิเคชั่นคุมค่าใช้จ่ายสำหรับผู้รับเหมา SME ที่ให้บริการฟรีรายแรกในเอเชีย

คุณโบ๊ทในวัย 29 เป็นที่ปรึกษาของบริษัท Builk ระหว่างทำที่พจมาน โดยมีรุ่นน้องที่รู้จักเป็นซีอีโอทำงานร่วมกับโปรแกรมเมอร์ จนในปี 2553 พี่โบ๊ทเข้ามาเป็นซีอีโอของ Builk เต็มตัว โดยช่วงแรกธุรกิจเริ่มต้นจากการให้ใช้ฟรีและเก็บแค่ค่าโฆษณา แต่ทำไปสักพักก็ยังไม่มีคนใช้ ไม่มีคนมาลงโฆษณา แต่ก็พยายามหาทางสร้างความน่าเชื่อถือให้แพลตฟอร์ม Builk เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงไปลงประกวดแผนธุรกิจอีกครั้ง จนได้ Asia Pacific ICT award มาเป็นรางวัล

หลังจากนั้นในปี 2555 เขาตัดสินใจเดินทางไปประกวดสตาร์ทอัพรอบคัดเลือกที่เวียดนามคุณโบ้ทบอกว่าวันที่ได้ประกวดเป็นวันที่ได้เริ่มนับหนึ่งทำความรู้จักกับวงการสตาร์ทอัพจริงๆ ครั้งแรกในชีวิต พอมีโอกาสครั้งนั้นก็ได้เป็นตัวแทนจากเวียดนามไปประกวดที่สิงคโปร์ต่อ ทำให้เขาได้ประสบการณ์และได้เรียนรู้จากเมนเทอร์ที่งานประกวดหลายเรื่อง เช่น การพิทช์งานอย่างไรให้น่าสนใจ โดนใจกรรมการ และเข้าใจข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจสตาร์ทอัพ

เรียนรู้จากซิลิคอนวัลเลย์

ปีถัดมาคุณโบ๊ทเดินทางไปอยู่ที่ Silicon Valley ผ่านโครงการของ 500 Startups Accelerator ในฐานะที่ได้รางวัล Most Promising Startups ในเอเชีย โดยคุณโบ๊ทเล่าว่านอกจากเรียนรู้การทำธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ทักษะสำคัญที่เขาได้รับจากประสบการณ์ในครั้งนั้นคือ ทักษะคัดกรองความรู้จากเมนเทอร์และการลงมือทำ หมายถึงไม่ได้เชื่อทุกคนและทุกคำพูด แต่หาทางปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจที่เติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้จะได้รับโอกาสให้อยู่ทำสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเลย์โดยมีข้อเสนอให้จดทะเบียนอยู่ที่สหรัฐฯ แต่คุณโบ้ทเล่าว่าโอกาสสตาร์ทอัพสายก่อสร้างในตลาดอเมริกายังไม่เปิดกว้างสำหรับเขาและบริษัทจากประเทศไทย รวมถึงระยะทางที่ไกลจากครอบครัวก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาบอกปัดโอกาสครั้งนั้นไป ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเมืองไทยโดยตั้งใจระดมทุนกับบริษัทในไทยเป็นหลัก

Builk ในวันนี้และวันหน้า

คุณโบ๊ทนิยามธุรกิจของตัวเองว่าเป็น Construction Ecosystem Builder ที่มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาวงการธุรกิจนี้ได้ด้วยประสบการณ์ เงินทุน เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ BUILK ONE GROUP เป็นส่วนหนึ่งของสตาร์ทอัพสายก่อสร้างใหม่ๆ ในกลุ่มที่ดูแลในฐานะคล้ายๆ Venture Builder ด้วย

เราเคยอยากเป็นสตาร์ทอัพ และรู้ว่าเส้นทางเป็นยังไง วันนี้เราก็พยายามทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่เชื่อแบบเราทำแบบนี้ได้เหมือนกัน

‘โบ๊ท’ ไผท ผดุงถิ่น

เป้าหมายของคุณโบ๊ทในวันนี้คือ การทำให้ Builk ในฐานะธุรกิจสตาร์ทอัพให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นหุ้นที่มีคุณภาพในตลาดหุ้นไทยให้ได้ เขาเชื่อว่าวิถีทางของ Builk ยังไม่ใช่การ Exit (การควบรวมหรือถูกซื้อกิจการ) แต่ต้องลองก้าวไปให้สุดด้วยตัวเองก่อน และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา BUILK ONE GROUP ก็ได้รับระดุมทุนจากร่วมลงทุนจาก Beacon VC ใน ระดับ Series B เพื่อตั้งเป้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ mai ในปี 2023

อนาคตสตาร์ทอัพกับการ Exit

เมื่อถามคุณโบ๊ทว่ามีความคิดเห็นยังไงกับการ Exit ของสตาร์ทอัพในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อาจจะไม่ได้มีตัวอย่างให้เห็นเยอะนัก เขาก็ให้คำตอบว่าเป็นสิ่งที่กำลังพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต เพราะตอนนี้การสร้างระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน เจ้าของสตาร์ทอัพ หรือบริษัทต่างชาติ ให้เห็นศักยภาพของสตาร์ทอัพในไทยคือสิ่งสำคัญที่สุด

แต่ไม่ใช่ว่าทุกสตาร์ทอัพจะมีการ Exit เป็นคำตอบ เพราะทุกบริษัทแตกต่างกันในตลาดที่แข่งขันอยู่ รวมถึงบางบริษัทก็อาจจะเหมาะกับตลาดทุนเช่นกัน

ดีลกับความรู้สึกที่อยากยอมแพ้

คุณโบ๊ทเป็นชายคนหนึ่งที่ผ่านความล้มเหลวและผิดพลาดมาหลายช่วง เขาเล่าว่าในวัย 25 ที่บริษัทแรกเกือบเจ๊ง ถึงแม้อายุยังไม่มาก ภาระยังไม่เยอะ แต่เหมือนโลกทั้งใบหนักมาก

แต่บทเรียนที่เขาเห็นจากผู้ประกอบการที่ผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลในให้ไม่ยอมแพ้กับความผิดพลาดและความล้มเหลวเพื่อที่จะกลับมาสู้อีกครั้งเสมอ รวมถึงคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ได้รับมาตลอดเส้นทางการทำธุรกิจก็เป็นภูมิคุ้มกันให้กับเขามาตลอด

พี่ผ่านช่วงเลวร้ายมากๆ ของชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นมาเลยรู้ว่าไม่มีอะไรยากเท่าวันนั้น แล้ววันนี้ต่อให้มีสะดุดบ้าง แต่มันยังมีด้านอื่นให้เรามอง

‘โบ๊ท’ ไผท ผดุงถิ่น

สิ่งที่ฝากถึงสตาร์ทอัพ

คนที่กำลังเริ่มต้นสตาร์ทอัพและคนรุ่นใหม่ๆ หลายคนก็คงมีช่วงเวลาที่เผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือกำลัง Burnout สิ่งที่คุณโบ๊ทอยากแนะนำคนเหล่านี้คือทุกคนมีตัวชี้วัดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น “การเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด” และเมื่อผ่านช่วงเวลานั้นได้ก็พบว่าไม่ต้องวิ่งแข่งกับใครเพราะตลอดเส้นทางคือการแข่งกับตัวเองและทุกคนมีเส้นทางของตัวเอง

“อดทนเพียงพอ ไม่หวังเห็นความสำเร็จในเวลาสั้นๆ” คือสิ่งที่คุณโบ๊ทเชื่อว่าถ้าเราทำเต็มที่แล้วความสำเร็จจะมาเอง 

บางคนโชคดีเดินได้เร็ว คนส่วนใหญ่อาจเดินได้ช้า พี่ก็เป็นคนนึงที่ใช้ความพยายามเดินต่อไปเรื่อยๆ และคิดว่ามันจะไปถึงสักวัน

คุณโบ๊ทกล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights