โอลิเวอร์ แซมเวอร์: ชายผู้เลียนแบบธุรกิจอื่น จนกลายเป็นธุรกิจแสนล้าน

โอลิเวอร์ แซมเวอร์ (Oliver Samwer) คือใคร? หากคุณไม่เคยได้ยินชื่อเขามาก่อนนั่นคงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขาเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ถูกมองข้ามและดูแคลนมากที่สุดคนหนึ่ง

โอลิเวอร์เป็น CEO ของบริษัทร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ต (Rocket Internet AG) บริษัทที่ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพมากมายบนอินเทอร์เน็ตโดยมีฐานบริษัทอยู่ที่ประเทศเยอรมนี โอลิเวอร์เรียกบริษัทของเขาว่าเป็นแพลตฟอร์มเพื่อก่อตั้งและสร้างบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโลก 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น บริษัทร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตเป็นบริษัทผู้ให้กำเนิดฟู้ดแพนด้า (Food Panda) แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าดัง ลาซาด้า (Lazada) แอปช็อปปิ้งอันดับต้นๆ ของไทย และ Zalando สตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวแรกของเยอรมนีหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Zalora

 

พี่น้องแซมเวอร์

โอลิเวอร์ แซมเวอร์ เกิดในเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมัน เขามีพี่น้อง 3 คน ซึ่งทั้ง 3 คนพี่น้องมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเด็ก จุดแรกที่ดึงดูดพี่น้องแซมเวอร์เข้าสู่วงการธุรกิจก็คือการเติบโตของสายการบิน Low-cost ในช่วงนั้น โดยมีริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) แห่งสายการบิน Virgin และ ไมเคิล โอเลียรี (Michael O’Leary) CEO ของสายการบิน Ryanair เป็นไอดอล แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขายังไม่มีก็คือประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบิน

โอลิเวอร์จึงเข้าเรียนด้านการบริหารธุรกิจที่ WHU Otto Beisheim School of Management หลังจากนั้นเขาได้ฝึกงานที่ธนาคารเพื่อการลงทุน Sal Oppenheim ในขณะที่เรียนอยู่โอลิเวอร์ได้เปิดตัวสตาร์ทอัพแรกของเขากับเพื่อนร่วมชั้นซึ่งก็คือ Ego International Trading Company เป็นบริษัทนำเข้ารองเท้าแตะขนอัลปะก้าจากประเทศโบลิเวีย

 

เรียนรู้แบบครูพักลักจำ

ในปี 1998 ในขณะที่ 3 พี่น้องย้ายมาอาศัพอยู่มี่ซานฟรานซิสโก พวกเขาก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับบริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ด้วยแรงบันดาลใจนั้นโอลิเวอร์ได้ทำการศึกษาเรื่อง ‘สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสหรัฐอเมริกา’ เขาเริ่มสังเกตเห็นว่าชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มซื้อขายของผ่านตลาดออนไลน์ ซึ่งเว็บไซต์ที่โด่งดังในตอนนั้นก็คือ ‘eBay’

ในปีต่อมาโอลิเวอร์และพี่น้องของเขาย้ายกลับมาอยู่เยอรมนีและพยายามจำลองรูปแบบธุรกิจของ eBay ออกมาในรูปแบบเว็บไซต์ประมูลที่ชื่อว่า “Alando” และเพียง 100 วันต่อมาโอลิเวอร์ก็ได้ขายบริษัทให้กับ eBay ในราคา 43 ล้านดอลลาร์หลังจาก eBay ติดต่อมา ทำใหเเขาได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ eBay ในเยอรมนี

ถึงแม้ว่าหลายคนจะบอกว่าการที่โอลิเวอร์ตัดสินใจขายบริษัทอย่างรวดเร็วเป็นความผิดพลาดที่สุดของเขา แต่นั่นกลับกลายเป็นพิมพ์เขียวสำหรับความสำเร็จครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ในปี 2000 พี่น้องแซมเวอร์ได้ก่อตั้ง Jamba! เป็นบริษัทขายเกมและเสียงเรียกเข้าสำหรับโทรศัพท์มือถือ เมื่อ Jamba! เริ่มเป็นที่รู้จัก พวกเขาก็ขายบริษัทออกไปในราคามากถึง 273 ล้านดอลลาร์ในปี 2004

จากนั้น 3 พี่น้องแซมเวอร์ได้ก่อตั้งบริษัท VC (Venture Capital) เพื่อช่วยเหลือสตาร์ทอัพในชื่อ Global Founders Capital (GFC) ซึ่งได้ให้เงินทุนสนับสนุน StudiVZ ซึ่งเป็นเฟซบุ๊คเวอร์ชันภาษาเยอรมัน

 

RocketInternet #ผู้มอบโอกาสให้กับสตาร์ทอัพหน้าใหม่

ในปี 2007 ในที่สุดร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือของพี่น้องแซมเวอร์โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการ ‘สร้าง’ บริษัทต่างๆ มากกว่าที่จะให้เพียงแค่เงินลงทุน โดยร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตจะศึกษาโมเดลธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตดี โดยเฉพาะบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ จากนั้นก็จะนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาสตาร์ทอัพที่ให้บริการในรูปแบบที่คล้ายๆ กัน แล้วจึงเจาะตลาดในภูมิภาคอื่นที่ยังไม่ค่อยมีผู้ให้บริการ

ร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบริษัทที่ชอบช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ลอกเลียนกิจการที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว แต่โอลิเวอร์กลับมองว่าร็อกเก็ตเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

ตั้งแต่ปึ 2014 ที่เสนอขายหุ้น IPO ด้วยมูลค่ากว่า 8,200 ล้านบาทเป็นต้นมา ร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตก็มุ่งพัฒนาสตาร์ทอัพที่ตัวเองเป็นผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง โดยสตาร์ทอัพเหล่านั้นมักจะเปิดตัวภายในไม่ถึง 100 วันหลังจากที่เริ่มก่อตั้ง และส่วนมากมักจะเป็นกิจการที่มีความมุ่งมั่นแต่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทเจ้าใหญ่ที่ทำธุรกิจในทำนองเดียวกัน

ตอนที่โอลิเวอร์เริ่มเข้าวงการสตาร์ทอัพในช่วงแรกเขาจะต้องทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ และเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากจุดเริ่มต้นด้วยตัวเองเสมอ เมื่อเขามีร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตเป็นของตัวเองเขาจึงสามารถช่วยเหลือสตาร์ทอัพได้อย่างตรงจุด ทั้งข้อมูลความรู้ เงินทุน และคอนเน็กชันผู้คนที่เคยลองผิดลองถูกมาก่อน ทำให้สตาร์ทอัพที่เขาสนับสนุนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีความโดดเด่นกว่าสตาร์ทอัพอื่นๆ

อาเซียนและแอฟริกาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ต เช่น การลงทุนในฟู้ดแพนด้า (Food Panda) ในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และการลงทุน 150 ล้านดอลลาร์ใน Jumia เพื่อขยายตลาดในแอฟริกา จะเห็นได้ว่าความตั้งใจที่จะขยายเครือข่ายไปในระดะโลกของร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตนั้นค่อนข้างจะเจาะตลาดที่ชัดเจน

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนเลยคือผู้ประกอบการคนได้ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในบริษัทร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตแห่งนี้จะได้ประสบการณ์ล้ำค่าที่นำไปใช้ได้ตลอดชีวิต แบรนด์ที่โอลิเวอร์ได้สร้างผ่านร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตทั่วโลกไม่เพียงแต่จะเป็นที่รู้จัก แต่ยังสร้างความหวั่นเกรงให้กับคู่แข่งในตลาดทั่วโลก

แม้ว่าร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตจะให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพกว่า 70 แห่งทั่วโลก แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้โอลิเวอร์พอใจ เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อตอนอายุ 42 ปีว่าเขาจะยังคงดูแลร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตไปอีกอย่างน้อย 25 ปี

 

สิ่งสำคัญ

โอลิเวอร์เชื่อว่า 3F มีส่วนสนับสนุนชีวิตเขาเป็นอย่างมากนั่นก็คือ Family (ครอบครัว) Few friends (เพื่อนจำนวนไม่มาก) และ Founders (ผู้ก่อตั้งบริษัทที่เขาสนับสนุน) ด้วยคนทั้ง 3 กลุ่มนี้เองที่ทำให้โอลิเวอร์ประสบความสำเร็จในการสร้างโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

แม้ว่าโอลิเวอร์และบริษัทร็อกเก็ตอินเทอร์เน็ตของเขาจะไม่ใช่เจ้าแรกในวงการนี้ และโดนพูดถึงในแง่ลบอยู่หลายต่อหลายครั้งเรื่องการเลียนแบบไอเดียของกิจการอื่น แต่การจะสร้างกิจการที่มีลักษณะคล้ายกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะอยู่รอดได้ในตลาดที่มีการแข่งขันและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โอลิเวอร์พิสูจน์ในโลกได้เห็นว่าความคิดของเขานั้นถูกต้องและมีดีมากกว่าแค่การนำเอาไอเดียของคนอื่นมาปรับใช้ผ่านธุรกิจบนโลกอินเทอร์เน็ตที่เขาให้การสนับสนุนทั่วทุกภูมิภาคของโลก

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3fiaJn1 

https://bit.ly/2WLM4Rn 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights