Norman Foster: สถาปนิกมือทองผู้ออกแบบ Apple Store

วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จัก นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) หนึ่งในสถาปนิกผู้รังสรรค์สถาปัตยกรรมสุดล้ำยุค กับเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสู่สถาปนิกที่ร่ำรวยที่สุดตลอดกาล 

ในยุคปัจจุบัน เราคงเห็นตึกระฟ้าที่มีดีไซน์สุดล้ำมากมายในโลกและตะลึงกับความงดงามของมันจนอยากลองเข้าไปด้านในดูสักครั้ง โดยผลงานที่เขาฝากไว้กับประเทศไทยล่าสุดคือ Apple Store สาขา Central World

จุดเริ่มต้นที่แสนลำบาก

นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) เกิดเมื่อปี 1935 ที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน คุณพ่อของเขาทำงานเป็นช่างทาสีเครื่องจักรส่วนคุณแม่ทำงานในเบเกอรี่เล็กๆ แถวบ้าน ทั้งคู่ทำงานอย่างขยันขันแข็งและอดทนเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูลูกชายคนเดียวของพวกเขา 

นอร์แมนเป็นเด็กที่ค่อนข้างเรียนเก่งโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ และยังเป็นคนที่สนใจในศิลปะและสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามชีวิตในช่วงมัธยมของเขาก็ไม่ได้ราบรื่นนักเพราะเขาถูกเพื่อนรังแกอยู่บ่อยครั้ง นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เขาเป็นเด็กที่ค่อนข้างเก็บตัวและมักจะอ่านหนังสือเงียบๆ อยู่คนเดียว

เมื่ออายุได้ 16 ปี นอร์แมนก็ลาออกจากโรงเรียนเมื่อเขาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานเป็นเสมียนในเทศบาลเมืองแมนเชสเตอร์ จริงๆ แล้วเขาไม่ได้สนใจอะไรเกี่ยวกับการทำงานเป็นเสมียนเลยแต่การฝึกงานครั้งนี้เปิดโอกาสให้เขาได้ศึกษาผลงานสถาปัตยกรรมอันเลอค่าตลอดเวลาซึ่งก็คือตัวอาคารเทศบาลนั่นเองแต่พอฝึกงานได้ 2 ปี นอร์แมนที่มีอายุครบ 18 ปีก็ถูกเกณฑ์ไปรับราชการทหารกับกองทัพอากาศ 

หลงรักในสถาปัตยกรรม

หลังจากรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี ถึงแม้นอร์แมนยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี แต่สมองของเขายืนยันว่าสิ่งที่เขาจะทำต้องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ เขาตัดสินใจสมัครงานเป็นผู้ช่วยในออฟฟิศสถาปนิกท้องถิ่นแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ที่เขาอยู่ในโลกของการออกแบบตั้งแต่เช้ายันมืดและสร้างงานออกแบบของตัวเอง

ด้วยฝีมือการวาดภาพที่เก่งกาจทั้งภาพลายเส้นและภาพภูมิทัศน์ หนึ่งปีต่อมา นอร์แมนจึงสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ได้สำเร็จ แต่เขาก็ยังคงต้องทำงานพาร์ทไทม์ทั้งวันทั้งคืนเพื่อหาค่าเทอมมาส่งเสียตัวเองเรียน จนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรี เขาก็ได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโทที่ Yale School of Architecture

เริ่มงานแรกกับ Team 4

หลังจบจาก Yale นอร์แมนก็ได้พบกับเวนดี้ ชีสแมน (Wendy Cheeseman) ผู้ที่จะมาเป็นภรรยาของเขาในเวลาต่อมาโดยนอร์แมนและเวนดี้รวมทีมกับเพื่อนอีกสองคนก่อตั้งบริษัทสถาปนิกชื่อว่า ‘Team 4’ ที่อังกฤษซึ่งผลงานของพวกเขาอย่างเช่นการออกแบบโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองสวินดอนได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมของนิตยสาร Financial Times ด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความเห็นที่ไม่ลงรอยกันทำให้สุดท้าย Team 4 ก็ต้องแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง ไม่นานหลังจากนั้นนอร์แมนและเวนดี้ก็ร่วมกันก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า Foster Associates ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Foster + Partners ในภายหลัง 

Foster + Partners กับจุดเด่นของตัวเอง

ในช่วงแรก Foster + Partners เน้นในด้านการออกแบบอาคารออฟฟิศเป็นพิเศษ จนกระทั่งนอร์แมนได้รังสรรค์โปรเจกต์อาคารของ Fred. Olsen Lines ใน London Docklands ที่รวมพื้นที่ในการทำงานของพนักงานและผู้จัดการไว้ภายในพื้นที่เดียวกันซึ่งโปรเจกต์นี้มีอิทธิพลต่องานออกแบบอาคารของเขาอีกหลายแห่งซึ่งล้วนมุ่งปรับรูปแบบการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ผลงานต่อมาที่ทำให้นอร์แมนยกระดับสถาปัตยกรรมอาคารออฟฟิศไปอีกขั้นคือโปรเจ็กต์อาคาร Willis Faber & Dumas HQ ซึ่งนอกจากตัวออฟฟิศจะถูกออกแบบในลักษณะพื้นที่แบบเปิดโล่งแล้ว ยังมีสวนดาดฟ้า สระว่ายน้ำและโรงยิม รวมทั้งตัวอาคารที่ใช้กระจกสีดำสูงตลอดแนวผนังซึ่งช่วยควบคุมแสงจ้าและดูดซับความร้อนในเวลากลางวัน

อาคาร Willis Faber & Dumas HQ
ภาพ: archdaily.com

หลังจากนั้น เขาก็เริ่มทำงานอาคารสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังคงจุดเด่นของตัวเองเอาไว้นั่นก็คืออาคารที่ดูไฮเทค ล้ำสมัย อย่างเช่น London’s Stansted Airport ซึ่งเป็นอาคารผู้โดยสารที่ได้รับรางวัล European Union Prize for Contemporary Architecture / Mies van der Rohe Award เมื่อปี 1990

สถาปนิกชื่อก้องโลก

อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมที่ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลกก็คือการออกแบบอาคารธนาคาร HSBC Main Building ในฮ่องกงซึ่งถือว่าเป็นตึกที่แพงที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาในเวลานั้น โดยในตัวอาคารนั้นมีความโปร่งแสงสูงและมีวิวทิวทัศน์ที่ยอดเยี่ยมสำหรับพนักงาน ที่สำคัญคือนอร์แมนเคยออกมายอมรับว่าหากไม่ได้รับงานนี้ บริษัทของเขาอาจถึงขั้นล้มละลายก็เป็นได้

HSBC Building in Hong Kong by Norman Foster
ภาพ: https://www.dezeen.com/2019/11/27/norman-foster-hsbc-building-hong-kong-bank/

ชีวิตของนอร์แมนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เขาได้รับรางวัล Stirling Prize ของ RIBA ในปี 1983 และรางวัลอันทรงเกียรติแด่สถาปนิกอย่าง Pritzker Prize ในปี 1999 นอกจากนั้น เขายังได้รับยศอัศวินกลายเป็น “เซอร์ นอร์แมน ฟอสเตอร์ แห่งแม่น้ำเทมส์” อีกด้วย

ผลงานที่เป็นที่ที่ประจักษ์ของนอร์แมนยังมีให้รับชมอีกมากมาย อาทิเช่น สนามบินนานาชาติฮ่องกง, อาคารสำนักงาน Bloomberg ในกรุงลอนดอน สภาเมืองลอนดอน สะพานมิลเลนเนียม หรือแม้กระทั่ง Apple Park อาคารสำนักงานใหญ่ของ Apple เขาก็ล้วนมีส่วนรวมกับสถาปัตยกรรมล้ำสมัยนี้

Apple Central World opens Friday in Thailand - Apple (TH)
ภาพ: Apple

สถาปนิกที่รวยที่สุดในโลก

ในปัจจุบัน Foster + Partners กลายเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีพนักงานมากกว่า 1,500 คนพร้อมกับสตูดิโออีก 13 แห่งทั่วโลก และยังคงรับออกแบบสถาปัตยกรรมสุดอลังการอยู่จนถึงวันนี้ ส่วนนอร์แมนยังคงมีชีวิตอยู่ด้วยวัย 86 ปี และมีทรัพย์สินส่วนตัวราวๆ 240 ล้านเหรียญหรือราวๆ 8 พันล้านบาท ยังรักษาตำแหน่งสถาปนิกที่รวยที่สุดไว้ได้

ตลอดชีวิตการทำงานของนอร์แมน เขานิยามผลงานตัวเองไว้ว่า

งานของผมมันก็ไม่ได้ล้ำยุคอะไรขนาดนั้นหรอก จริงๆ ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเดินออกจากถ้ำมาสร้างบ้าน นั่นก็คือสถาปัตยกรรมที่ล้ำยุคแล้ว เพราะมันคือการออกจากข้อจำกัดแบบเดิมๆ เหมือนกับงานสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นแหละ

อ้างอิง https://bit.ly/3FWXBiZ https://bit.ly/3DSWi2p https://bit.ly/3lWg0EC

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights