ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์: เจ้าของเพจ พอดแคสต์ Nopadol’s Story

รู้จักกับศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจ พอดแคสต์ Nopadol’s Story และ เจ้าของหนังสือ Best Seller ชื่อดังอย่าง ‘จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของความสำเร็จ’ ‘พัฒนาองค์กรและชีวิตด้วยแนวคิด OKRs’ ฯลฯ และ หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเจ้าของหนังสือชื่อดังเหล่านี้ไม่ได้เดินบนเส้นทางสายนักเขียนมาตั้งแต่แรก แต่กลับเคยเป็นทั้งวิศวกรและในปัจจุบันก็เป็นอาจารย์ และในวันนี้ Career Fact จะมาสรุปเส้นทางชีวิตของศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ ให้ทุกคนได้อ่านกัน
 
 

ชีวิตในวัยเด็ก

อ.นภดลในตอนเด็ก นับว่าเป็นเด็กเรียนคนหนึ่ง เขาตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนที่ดี แต่อาจารย์ก็ไม่ได้เอาแต่เรียนอย่างเดียว อ.นภดลยังชอบทำกิจกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่ชอบมากในสมัยมัธยมก็คือการเตะฟุตบอล ตอนนั้นอาจารย์เคยมีความฝันว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ในยุคนั้นทุกคนก็รู้ว่ามันหากินไม่ได้ เพราะในไทยยังไม่มีอาชีพนี้ อาจารย์ถึงกับเคยคิดเล่น ๆ ว่าถ้าเราเกิดเป็นคนอังกฤษ ป่านนี้ก็คงได้เป็นนักบอลอาชีพแล้ว แต่พอโตขึ้นมาก็รู้ความจริงว่าการเตะฟุตบอลเป็นได้แค่งานอดิเรก
.
พอเข้ามหาวิทยาลัย อ.นภดลเลือกเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยนั้นถ้าเด็กเรียนดีก็มีทางเลือกแค่ 2 ทางคือถ้าไม่เรียนหมอก็เรียนวิศวะ ซึ่งอ.นภดลคิดว่าตัวเองไม่น่าชอบการเรียนหมอ เพราะกลัวเลือดและกลัวเข็ม สุดท้ายจึงมาจบที่การเรียนวิศวะ และเลือกเรียนภาควิชาวิศวกรรมเคมี โดยเริ่มตัดช้อยส์ว่าไม่ชอบเรียนอะไร แล้วจึงเลือกตามเกรด และรายได้ พอเข้าไปเรียนในภาคนี้ก็ทำได้ดีมาก รู้สึกว่ามาถูกทาง จนเรียนจบอ.นภดลได้เกียรตินิยมอันดับ 2 เพราะการเข้าเรียนในภาคนี้คือการค้นพบสิ่งที่ชอบทำให้ได้เกรดที่ดีเป็นผลตามมา
 
 

ชีวิตพลิกผัน

หลังจากเรียนจบ เป็นจุดหนึ่งที่ชีวิตของอ.นภดลพลิกผัน ตอนแรกที่เรียนจบอาจารย์ตั้งใจจะไปเรียนปริญญาโทต่อที่อเมริกา แต่เพื่อนหลาย ๆ คนไปสมัครงานกัน อาจารย์จึงลองไปสมัครด้วยเผื่อว่าบริษัทจะให้ทุนไปเรียนต่อ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีบริษัทให้ทุนกับเด็กปริญญาตรี แต่บังเอิญว่าช่วงนั้นบริษัท ปตท.สผ.(บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) ส่งจดหมายมาให้ อาจารย์เลยได้ลองไปสอบดู แต่สุดท้ายอาจารย์ก็เลือกที่จะทำงานหาประสบการณ์ก่อน 1 ปีแล้วจึงค่อยไปเรียนต่อ
 
การได้เข้ามาลองทำงานจริงไม่เหมือนกับตอนที่เรียนเลยสักนิดในความคิดของอ.นภดล และปีแรกที่เข้ามาทำงานเขาไม่มีความมั่นใจเลยแม้แต่น้อย เขาคิดอยู่ตลอดว่าจะทำได้อย่างไร เพราะถึงอาจารย์จะแม่นทฤษฎี แต่ที่เรียนมา 4 ปีนั้นแทบไม่ได้ใช้เลย ทั้งสมการ การออกแบบ อะไรก็ตามที่ร่ำเรียนมาล้วนเป็นสิ่งที่บริษัทมีอยู่แล้ว อาจารย์ไม่ได้ลงมือออกแบบอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ที่ได้ทำคือไปเป็นลูกมือคอยเดินตามเท่านั้น ส่วนงานหลัก ๆ คือไปคุมงานก่อสร้างท่อส่งก๊าซและส่งน้ำมัน
 
หลังจากนั้นอ.นภดลได้ไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมเคมีที่มหาวิทยาลัย Oregon State ตอนนั้นอาจารย์คิดว่าคงเติบโตไปในสายงานวิศวกรแน่ ๆ จึงเรียนปริญญาโทเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ไปเรียนด้วยทุนของตัวเอง และพักตำแหน่งงานที่ไทยไว้ แต่โชคดีที่เมื่อขึ้นปี 2 อาจารย์เริ่มทำงานวิจัย จึงได้ทุนการทำวิจัยจนเรียนจบ
 
จุดพลิกผันอีกจุดคือตอนที่อาจารย์ที่ปรึกษาที่อเมริกาย้ายที่ทำงานจากมหาวิทยาลัย Oregon State ไปมหาวิทยาลัย Georgia Tech และชักชวนอ.นภดลให้ไปเรียนปริญญาเอกต่อที่นั่น จริง ๆ ตอนนั้นอาจารย์บอกว่าก็ไม่ได้ติดขัดอะไรเลย เพราะถ้าเรียนต่อก็คงได้ทุนแน่ ๆ แต่เริ่มลังเลว่าเส้นทางนี้อาจจะไม่ใช่ชีวิตที่ชอบ อาจารย์เริ่มตั้งคำถามกับชีวิตว่าเราจะเป็นวิศวกรไปทั้งชีวิตเลยเหรอ และเมื่อตัดสินใจได้ก็เลยบินกลับไทยเมื่อเรียนจบปริญญาโท
 
 

ชีวิตการทำงาน

เมื่อกลับมาทำงานที่ไทย ปตท.สผ.จะส่งอาจารย์ไปทำงานที่พม่า ให้ไปอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจารย์เคยมีประสบการณ์ทำงานตอนเรียนจบปีแรกที่ได้ไปอยู่บนเรือที่สร้างแท่นแล้วรู้สึกว่าเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่เอาเสียเลย พอได้รับงานนี้อาจารย์จึงรู้สึกว่าควรปฏิเสธไปดีกว่า อาจารย์เลือกลาออกและสมัครงานใหม่ ซึ่งงานใหม่ที่ ปตท.(บริษัทแม่ของปตท.สผ.) ก็ยังคงเป็นในสายวิศวะเคมีเช่นเดิม แต่คราวนี้ได้ทำงานในฝ่ายแผนธุรกิจ อาจารย์จึงเริ่มได้แตะงานด้านธุรกิจและด้านการเงินมากขึ้น
 
สำหรับอ.นภดลจุดเปลี่ยนจริง ๆ อีกจุดหนึ่งคือการไปเรียน MBA ปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นอาจารย์บอกว่าสนุกมาก ๆ ที่ได้รู้จักกับการทำธุรกิจมากขึ้น และรับรู้ในใจแล้วว่าตัวตนของอาจารย์ไม่ใช่วิศวกร และตั้งใจว่าจะไม่เป็นวิศวกรจนเกษียณแน่นอน แต่เนื่องจากยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะเป็นอะไรดี เลยเลือกที่จะลาออกจากปตท. แล้วไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่ง อ.นภดลมีความฝันอยากจบปริญญาเอกอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นที่ได้ทุนเรียนวิศวะต่อรู้สึกว่าไม่ใช่เส้นทางที่ใช่เลยยังไม่เรียนต่อ ซึ่งก่อนหน้านั้นอ.นภดลได้แต่งงาน จึงชวนภรรยาไปเรียนต่อที่สก็อตแลนด์ด้วยกันที่มหาวิทยาลัย Glasgow ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีอาชีพในหัว แต่แค่อยากเรียนในสายนี้จึงตัดสินใจไป
 
 

บทบาทในฐานะอาจารย์

ย้อนกลับไปก่อนที่จะเรียนปริญญาเอก อาชีพที่ อ.นภดลสนใจคืองานแนวที่ปรึกษาเพราะเงินเดือนค่อนข้างเยอะและตัวงานก็มีความท้าทาย แต่สุดท้ายเมื่อเรียนจบปริญญาเอกมา ก็ได้มาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเคยได้รับการทาบทามมาก่อนหน้านี้
 
ปีแรก ๆ อ.นภดลมีสิ่งที่ต้องปรับตัวเยอะมากเรื่องการสอน ช่วงแรก ๆ เขายังเตรียมตัวเตรียมสไลด์สอนไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่พอปรับตัวได้ถึงเริ่มรู้สึกว่าการเป็นอาจารย์นั้นสนุกมาก อาจเพราะโชคดีด้วยที่เจอลูกศิษย์ที่ค่อนข้างตั้งใจเรียนกับอาจารย์หน้าใหม่แบบเขา ก็เลยมีกำลังใจในการสอน ปัจจุบันอ.นภดลสอนมา 18 ปีแล้ว ตอนแรกที่เริ่มสอนอาจารย์มองถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ ถึงแม้จะเป็นเป้าหมายระยะยาวที่ทั้งใช้เวลาและต้องตั้งใจทำวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่ง แต่อาจารย์ก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะชอบทำวิจัยอยู่แล้ว
 

 

การแบ่งเวลาให้กับการสอนและการวิจัย

อ.นภดลกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการโฟกัส เราทำทุกเรื่องทุกอย่างให้ดีพร้อม ๆ กันทีเดียวไม่ได้ แต่เราทำบางเรื่องให้ดีที่สุดในเวลาใดเวลาหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นงานที่ทำสามารถมีจำนวนมากได้แต่ต้องทำคนละช่วงเวลา เช่น บางเทอมสอนเยอะก็อาจจะสอน 5 วันไปเลย แต่จะทำให้ไม่มีเวลาทำวิจัย อีกเทอมหนึ่งจะสอนน้อย แต่ก็จะทำวิจัยได้เต็มที่ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการพยายามทำให้งานเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น การทำวิจัยและสอนในเรื่องคล้าย ๆ กัน ทำวิจัยเสร็จก็นำผลวิจัยไปใช้สอนต่อ หรือบางทีตอนสอนได้มุมมองดี ๆ ก็ไปทำวิจัย ซึ่งการเชื่อมโยงเรื่องที่ทำเข้าด้วยกันนั้นทำให้ต่อยอดได้ง่าย
 

เข้ามาสู่โลกนักเขียน

อ.นภดลเริ่มจากการเขียนตำรา การเป็นศาสตราจารย์ไม่ใช่แค่ทำวิจัยอย่างเดียว แต่ต้องเขียนหนังสือถ่ายทอดความรู้ด้วยเช่นกัน และการเขียนตำรามีข้อจำกัดคือคนอ่านก็คือคนที่ต้องเรียนเท่านั้น น้อยคนมากที่จะซื้อมาอ่านถ้าไม่ได้เรียน เพราะตำรามีความเป็นวิชาการสูงมาก ทีนี้อาจารย์จึงเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนนอกได้ความรู้พวกนี้ด้วย เลยลองแปลงตำราให้กลายเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ซึ่งเป็นความรู้ชุดเดียวกัน แต่วิธีการคิดและถ่ายทอดไม่เหมือนกัน
 
อาจารย์ได้ไปเรียนการเขียนและอะไรหลาย ๆ อย่างเยอะมากกว่าจะเขียนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกออกมาได้ ซึ่งในตอนแรกอาจารย์ไม่กล้าจ้างสำนักพิมพ์ เพราะกลัวเขาตัดเนื้อหาทิ้ง เนื่องจากหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่หนามาก แล้วถ้าโดนตัดเนื้อหาทิ้งไปก็จะไม่ตอบโจทย์การเขียนตำราในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊ค อ.นภดลจึงตัดสินใจพิมพ์หนังสือเอง ติดต่อโรงพิมพ์ ติดต่อร้านหนังสือเองทั้งหมด และเมื่อวางขาย หนังสือเล่มนั้นก็ติด Best Seller อาจารย์เลยมีกำลังใจเขียนเล่มอื่นออกมาเรื่อย ๆ
 
 

เริ่มทำเพจบนเฟซบุ๊ก

เริ่มแรกอ.นภดลสร้างเพจ Performance Measurement เป็นเพจเกี่ยวกับการวัดผล จนเกิดเป็นหนังสือ “ความลับของการวัดผล” แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจารย์อยากแชร์เรื่องราวตัวเอง แชร์หนังสือที่อ่านหรือเรื่องอื่น ๆ แต่จะเอาไปไว้ในเพจนั้นก็เป็นคนละเรื่องกัน อาจารย์จึงตัดสินใจตั้งเพจใหม่ในชื่อ “Nopadol’s Story” และเริ่มแชร์ประสบการณ์ต่าง ๆ บนเพจนี้
 
พอเริ่มทำเพจได้สักพักอ.นภดลได้ไปติดตามคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ที่รู้จักตั้งแต่คอร์สการเขียนที่อาจารย์เคยเรียน และได้เห็นว่าเขาทำพอดแคสต์ และเห็นว่าคุณบอย วิสูตรก็ทำพอดแคสต์เช่นกัน เลยลองไปศึกษาวิธีการทำพอดแคสต์ดู อาจารย์เริ่มลองทำพอดแคสต์แล้วไปแชร์ในเพจ Nopadol’s Story ช่วงแรก ๆ มีคนฟังหลักแค่หลักสิบ แต่ช่วงนั้นปิดเทอมอาจารย์ค่อนข้างว่างจึงได้ลงพอดแคสต์ทุกวัน เวลาอ่านอะไรมาอาจารย์ก็มาเล่าให้ฟังผ่านพอดแคสต์เป็นประจำ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มกลายเป็นนิสัยว่าจะต้องทำทุกวัน ซึ่งตอนนี้อาจารย์ก็ได้ทำพอดแคสต์มา 3 ปีกว่าแล้ว มีพอดแคสต์ในเพจพันกว่าตอน กลายเป็นงานอดิเรกที่ชอบที่สุดอย่างหนึ่งของอาจารย์
 
ช่วงหลังฟีดแบคของพอดแคสต์ดีมาก เคยมีคนทักมาขอบคุณอาจารย์ว่าสิ่งนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้เลย ซึ่งอาจารย์ก็ดีใจมากที่มีคนฟังแล้วได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นจริง ๆ แต่อาจารย์ก็ไม่ลืมที่จะเตือนว่าถ้าใครจะทำพอดแคสต์แบบหวังรายได้หลักหรือลาออกเพื่อมาทำต้องคิดดี ๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การทำแล้วหวังให้มีคนฟังเยอะ ๆ นั้นจะทำให้ตัวเราท้อมาก แต่ถ้าทำเพราะอยากทำให้ทำไปเลย ไม่มีอะไรเสียหาย
 
 

เทคนิคการอ่านหนังสือของอ.นภดล

“เทคนิคคือไม่มีเลยครับ อาจจะฟังดูเหมือนหวงวิชา แต่จริง ๆ มันเป็นเหมือนงานอดิเรก” อ.นภดลกล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าการที่อาจารย์อ่านหนังสือได้เยอะ ๆ ก็เพราะใจรัก เหมือนบางคนอาจจะชอบดูบอล รอดูดึก ๆ ก็รอได้ หรือบางคนชอบดูซีรี่ส์ก็นั่งดูได้ทั้งวัน เหมือนกันกับที่อาจารย์ชอบอ่านหนังสือ พออ่านแล้วอาจารย์จะอยากอ่านต่อไปทั้งวัน
 
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มอ่านหนังสือแต่ตอนแรกไม่อินเลย อาจารย์เสนอให้ลองเริ่มจากการกำหนดเวลาที่เราจะอ่าน เช่น ตอนเช้าหลังตื่น หรือตอนกลางคืนก่อนนอน อย่างตัวอาจารย์เองตื่นเช้ามาอย่างแรกที่ทำคือหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านต่อจากเมื่อคืน จนถึงเวลาที่ต้องไปทานข้าวหรือไปสอนหนังสือจึงเลิกอ่าน แล้วกลางคืนก่อนนอนค่อยกลับมาอ่านต่อ
 
 

Personal OKRs ชีวิตจะสำเร็จตามเป้าหมาย ถ้าวัดผลได้เป็นระบบ

หนังสือเล่มหนึ่งของอ.นภดลกล่าวถึงแนวคิดของ OKRs (Objective Key Result) ซึ่งก็คือวิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จและการจัดลำดับความสำคัญ เป้าหมายส่วนมากที่เรามักจะทำไม่สำเร็จนั้นเป็นเพราะเราตั้งเป้าหมายไว้เยอะเกินไป เช่น การตั้ง New Year’s Resolution 50 ข้อ ซึ่งในท้ายที่สุดเรามักทำไม่ได้สักข้อเพราะมันเยอะเกินไป และพอมันเยอะไปเราก็ไม่รู้จะโฟกัสตรงไหน สุดท้ายแล้วก็ล้มเลิกทั้งหมด เพราะฉะนั้น OKRs จึงสอนให้เราโฟกัสและจัดการเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน การตั้งเป้าหมายแบบนี้จะช่วยให้เรื่องที่สำคัญเสร็จ ไม่งั้นถ้าเราไม่จัดลำดับความสำคัญเราจะเหนื่อยเกินไป หรือบางทีทำเรื่องเล็ก ๆ เสร็จหมดแต่เรื่องใหญ่ ๆ กลับยังไม่ได้ทำ
 
ถ้าเรามีสิ่งที่ต้องทำเยอะ วิธีที่ง่ายที่สุดคือมองหาสิ่งที่เราอยากทำมากที่สุดก่อน อาจจะตั้งไว้สัก 3 ข้อ แล้วอย่างอื่นถ้าเวลาเหลือค่อยทำในภายหลัง การที่เราอยากทำอะไรหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่การที่เรามีเป้าหมายเยอะเกินไปอาจทำให้หาจุดโฟกัสในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นไปได้ยาก บางคนทำงานบางอย่างพักเดียวแล้วสองสามวันก็เลิกไป แปลว่าตัวเราไม่ได้รักในสิ่งที่ทำอยู่มากพอ แก้ไขได้โดยการเอาตัววัดผลไปไว้ตรงที่เราอยากทำและให้ความสำคัญ แต่ถ้าทำไปแล้วไม่อยากทำต่อก็แค่เปลี่ยน OKRs
 
นอกจากนี้อ.นภดลได้เสริมเรื่องการพัฒนาตนเองว่ากราฟของการพัฒนาตนเองนั้นไม่ใช่เส้นตรง แต่เป็น Hockey Stick Curve หรือกราฟรูปไม้ฮอกกี้ ซึ่งในช่วงแรก ๆ คนจะสิ้นหวัง แต่ถ้าเรายังคงทำต่อไปและผ่านหุบเหวแห่งความสิ้นหวังนั้นไปได้เราจะพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด
 
 

บทบาทในการสอนและมุมมองต่อการสอนออนไลน์

ช่วงปีที่ผ่านมาการสอนออนไลน์นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากของทั้งโลก จริง ๆ การสอนออนไลน์มีมานานแล้ว แต่หลายคนก็ไม่กล้าทำ หรือถ้ามีอาจารย์คนไหนอยากลองทำทางมหาวิทยาลัยกับนักศึกษาคงจะไม่ยอม แต่พอมีโควิดเกิดขึ้น สถานการณ์บังคับให้ทุกคนและทุกที่ต้องสอนออนไลน์ และพอผ่านไปเทอมหนึ่งเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติและนักศึกษากลับมาเรียนที่คณะ แต่อ.นภดลยังคงขอสอนออนไลน์ต่อ ซึ่งทางคณะก็อนุญาต เพราะอาจารย์มองว่าการสอนออนไลน์ (ในบางคณะอย่างเช่น คณะบริหาร) ถ้าตั้งใจสอนดี ๆ การสอนออนไลน์ก็ดีได้ไม่แพ้ในห้องเรียนเลย อาจารย์มองว่าการสอนออนไลน์เป็นเครื่องมือชั้นเลิศ แต่การที่มันจะเป็นโอกาสหรืออุปสรรคก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปใช้อย่างไรมากกว่า
 
อาจารย์มองว่าต่อไปนี้ที่ไหนก็สอนออนไลน์ได้ นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ทำให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลดลงมาก ไม่ต้องสร้างตึก ไม่ต้องมีห้องเรียนหรืออุปกรณ์อะไรมากมาย และการสอนแค่สอนครั้งเดียวก็สามารถถ่ายทอดให้คนทั้งโลกได้เลย
 
เพื่อให้เข้าใจง่ายว่าการสอนออนไลน์จะเป็นโอกาสได้อย่างไร อ.นภดลจึงได้ยกตัวอย่างว่า “สมมติว่ามหาวิทยาลัย Harvard ค่าเทอมเท่ากับมหาวิทยาลัยในเมืองไทยแม้จะเป็นออนไลน์ ถ้าเลือกได้คุณจะไม่เรียนเหรอ ผมว่าถ้าเป็นผม ผมก็คงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยท็อป ๆ ในอเมริกา”
 
อ.นภดลเคยทดลองสอนครึ่งเทอมแรกสอนในห้องเรียนและครึ่งเทอมหลังสอนออนไลน์ ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่ชอบเรียนออนไลน์มากกว่า ทั้ง ๆ ที่คนสอนคือคนเดียวกัน และในเทอมนั้นอ.นภดลยังได้เป็นอาจารย์ดีเด่นของคณะ ทั้งที่จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ผลการประเมินกลับออกมาดีมาก ๆ ทำให้อาจารย์ค่อนข้างมั่นใจว่าการสอนออนไลน์นั้นทำให้คนมีส่วนร่วมได้ดีไม่แพ้ในห้องเรียนเลย
 
การสอบและการวัดผลออนไลน์เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายมาก สิ่งที่อ.พยายามจะทำคือการออกข้อสอบโดยที่นักศึกษาจะลอกคนอื่นไม่ได้แม้ไม่ได้มีคนมาคอยคุม เทอมล่าสุดอาจารย์ได้ใช้ Simulation Game เป็นตัวทดสอบ คือให้ทุกคนเล่นเกมกัน ซึ่งเกมนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจมาก
 
“คุณอาจจะถามเพื่อนก็ได้ แต่ถ้าเพื่อนบอก เพื่อนก็แพ้ เหมือนคุณทำธุรกิจแข่งกับเพื่อนคุณก็คงไม่ถามเพื่อน”
 
 

เป้าหมายในอนาคต

ในด้านการงานอ.นภดลยังมีแพลนที่จะเป็นอาจารย์ต่อไป นอกจากนี้อาจารย์ทำวิจัยให้ดีขึ้น พยายามให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียง แล้วเอาสิ่งที่ตีพิมพ์มาปรับใช้กับองค์กรในไทยให้ได้มากที่สุด อาจารย์อยากให้สิ่งที่วิจัยมาเกิดประโยชน์ได้จริง แม้ว่าปัจจุบันจะได้เป็นศาสตราจารย์ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรมาจูงใจให้ทำไปมากกว่านี้ แต่ก็ยังอยากทำต่อ เพราะรักในสิ่งนี้จริง ๆ ส่วนในด้านของการใช้ชีวิต อาจารย์อยากใช้ชีวิตแบบปกติ คงไม่มีอะไรดีกว่านี้การมีเวลาให้ครอบครัว และแบ่งเวลาให้ได้
 
 

บทเรียนที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่

อ.นภดลอยากให้ทุกคนลอง ‘Explore’ หรือสำรวจตัวเองก่อน บางทีเราไม่ต้องกดดันตัวเองมากขนาดนั้น เราไม่ต้องไปกังวลว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเหมือนคนอื่น ๆ เด็กรุ่นหลังพอจบไปแล้วเห็นเพื่อนได้เงินเดือนสูงกว่าจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองล้าหลัง แต่ อ.นภดลกลับมองว่าช่วงเวลาตรงนี้คือช่วงเวลาที่เราต้อง Explore ให้มาก ๆ หรือลองอะไรใหม่ ๆ ล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ได้เรียนรู้
 
 

ผลงานที่อยากฝาก

สุดท้ายนี้อ.นภดลแอบกระซิบว่าจะมีหนังสือเล่มใหม่ออกมาประมาณเดือนตุลาคมนี้ แต่ยังไม่มีชื่อ ถ้าใครสนใจก็รอติดตามกันได้ และฝากพอดแคสต์ในเพจ Nopadol’s Story อยากให้ทุกคนได้ลองไปฟังเผื่อจะได้ข้อคิดอะไรดี ๆ กลับไป

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights