นัท นิติพงศ์: นักเรียนแพทย์สอบตก สู่อาจารย์แพทย์ Johns Hopkins

จากนักเรียนแพทย์ที่ทำคะแนนภาษาอังกฤษรั้งท้าย สอบพูดครั้งแรกไม่ผ่าน จนต้องตัดชอยส์โรงพยาบาลชั้นนำในอเมริกาออกจากตัวเลือกเรียนต่อเพราะรู้ว่าไม่มีทางเป็นผู้ถูกเลือก การสอบตกครั้งนั้นทำให้เขาเล็งเห็นข้อบกพร่องของตัวเองและกลายเป็นแรงผลักดันจนได้รับการตอบกลับจากมหาวิทยาลัยแพทย์ระดับท็อปของโลก

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของ ‘หมอนัท’ นิติพงศ์ เพิ่มพลัง ที่ Career Fact กำลังจะเล่าให้ทุกคนฟัง

ความฝันและความเป็นจริง

ความฝันในวัยเด็กของหมอนัทคือการเป็นนักบินอวกาศของ NASA แต่ยิ่งโตเขาก็ยิ่งรับรู้ว่าความฝันของเขานั้น ถ้าอยากจะทำให้เป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ความฝันนี้จึงกลายเป็นเพียงความหวังเล็กๆ ที่ตัวหมอนัทเองก็ไม่ได้จริงจังกับมันเท่าไรนัก สุดท้ายเขาก็เลยเลือกเส้นทางหมออย่างในปัจจุบันตามประสาเด็กเรียนดีที่เดินตามค่านิยมที่ถูกปลูกฝังจากทั้งในครอบครัวและสังคมภายนอก แต่โชคดีที่พอเข้าไปเรียนแล้วเขาค่อนข้างชอบในตัวอาชีพหมอพอสมควร เขามีความสุขกับการอ่านหนังสือ มีความสุขกับการทำวิจัย

เรียนต่อแพทย์ที่อเมริกา

หมอนัทตั้งเป้าไว้ว่าจะเรียนต่ออเมริกามาตั้งแต่สอบติดแพทย์ เพราะอยากลองออกมาใช้ชีวิตนอกรั้วประเทศไทย อยากรู้ว่าภาพอเมริกาในหนังกับของจริงจะเหมือนกันไหม อีกอย่างคือความรู้ด้านการแพทย์ส่วนใหญ่มักจะมีที่มาจากอเมริกา เขาเลยอยากพาตัวเองไปศึกษาถึงแหล่งกำเนิดความรู้ และศึกษาว่าคนที่นั่นมีแนวคิดอย่างไรทำไมถึงสามารถผลิตความรู้ใหม่ๆ ออกมาได้ตลอด

หมอนัทบอกว่าเส้นทางการเรียนต่อสายแพทย์ที่อเมริกาที่คนไทยนิยมทำกันที่สุดคือเรียนจบ 6 ปีในเมืองไทยเพื่อให้ได้วุฒิแพทยศาสตร์บัณฑิตก่อน จากนั้นใช้ทุนต่อตามแต่ระยะเวลาที่แต่ละคนสะดวก แล้วมาเรียนต่อแพทย์ประจำบ้าน (หรือที่เรียกว่า Residency หมายถึง แพทย์ประจำบ้านทำหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์เฉพาะทางภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์) เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวต่างชาติมีโอกาสได้ไปเรียนต่อมากที่สุด

ภาษาอังกฤษคือยาขม

อุปสรรคหนึ่งของการเตรียมตัวไปเรียนต่อของหมอนัทคือภาษาอังกฤษ สมัยเรียนภาษาอังกฤษตอนปี 1 จะมีการแบ่งเป็นเซคชั่นตามคะแนนสอบเข้ามากไปน้อยตั้งแต่เซคชั่น 1-8 ตัวหมอนัทเองก็ได้ไปอยู่ที่เซคชั่น 8 นอกจากนี้ทักษะการพูดและการฟังของเขานั้นก็เรียกได้ว่าแทบจะไม่กระดิก ภาษาอังกฤษจึงจัดว่าเป็นยาขมของเขา

การไปเรียนต่อที่อเมริกาต้องผ่านการสอบข้อเขียน 2 ครั้งและสอบปฏิบัติอีก 1 ครั้ง หมอนัทจึงพยายามสอบข้อเขียนให้จบก่อนตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุนก็ใช้วิธีฝึกภาษาอังกฤษด้วยการดูหนังฟังเพลงบ้าง จ้างครูชาวต่างชาติให้มาสอนตัวต่อตัวบ้าง และหลังจากกลับมาที่กรุงเทพฯ พอทำงานเสร็จก็รีบบึ่งไป Wallstreet และขลุกอยู่ในนั้นจนกว่าจะปิด

 

แรงกดดันจากการสอบตก

เมื่อถึงเวลาต้องสอบปฏิบัติที่ลอสแอนเจลิส ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังเท่าไร เพราะการสอบพูดต้องอาศัยความมั่นใจเป็นอย่างมาก แต่ก่อนสอบ 1 วันหมอนัทกลับถูกคนรู้จักทักว่าภาษาอังกฤษของเขาแย่มาก วันสอบจริงเขาจึงเกิดความกังวลเรื่องภาษาของตัวเองจนพูดไม่ออก ผลสุดท้ายเขาก็เลยสอบตกไปตามระเบียบ

การสอบตกครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะถึงแม้จะสอบใหม่กี่ครั้งก็ได้ แต่ก็จะมีการขึ้นในผลสอบว่าเจ้าตัวต้องสอบกี่ครั้งถึงจะผ่าน ทีนี้เนื่องจากโรงพยาบาลชั้นนำที่อเมริกาก็ไม่ได้อยากรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่แล้วเพราะไม่รู้ว่าแต่ละประเทศมีมาตรฐานอย่างไร พอเป็นชาวต่างชาติที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร การสอบไม่ผ่านตั้งแต่ครั้งแรกก็เหมือนถูกหักคะแนนเพิ่มอีก ทั้งยังมีความกดดันเรื่องเวลาที่ต้องยื่นผลให้ทันภายใน 4 เดือน หมอนัทจึงต้องคอยเปิดเว็บเพื่อมาเช็กว่ามีสล็อตวันไหนว่างให้เขาสอบอีกครั้งบ้าง

จนเมื่อเวลาผ่านไป 2 อาทิตย์หลังสอบตกครั้งแรกเขาก็หาสล็อตว่างเจอแล้วสอบใหม่จนผ่าน พอถึงคราวต้องยื่นผล เขาก็หว่านแหยื่นไป 200 กว่าโรงพยาบาลโดยมีเพียงไม่ถึง 10 ที่ที่เรียกเขาไปสัมภาษณ์ต่อ เรียกได้ว่าช่วงนั้นเขาได้รับจดหมายปฏิเสธจนชินชา เมื่อมีการเรียกตัวไปสัมภาษณ์เกิดขึ้น ขั้นตอนต่อไปก็คือการจัดอันดับโรงพยาบาลว่าเราอยากทำที่โรงพยาบาลไหนมากที่สุด ระบบก็จะทำการ Matching โดยพิจารณาจากความต้องการของนักเรียนแพทย์และโรงพยาบาล ปกติแล้วขั้นตอนนี้จะเริ่มขึ้นตอนเดือนตุลาคม ทางนักเรียนแพทย์ก็ต้องตะลุยสัมภาษณ์ไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้ผลอีกทีเดือนมีนาคม แต่โชคดีที่เมื่อหมอนัทไปสัมภาษณ์ที่โรงพยาบาล Bassett Medical Center แถวอัพสเตท นิวยอร์ก แล้วทางโรงพยาบาลเกิดถูกใจจนยื่นสัญญามาให้เลย ทำให้หมอนัทข้ามขั้นตอน Matching ไปได้ และสามารถกลับมาเมืองไทยเพื่อมาเตรียมตัวเพิ่มเติมระหว่างรอไปเรียนต่อ

อุปสรรคช่วงแรก

อุปสรรคช่วงแรกของการไปเรียนต่อที่อเมริกาของหมอนัทก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องการสื่อสาร เพราะไม่ว่าจะเตรียมตัวจากที่ไทยไปมากแค่ไหน การอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงๆ ที่เจ้าของภาษาพูดด้วยความเร็วปกติก็ยังเป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติอย่างเขาต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่โชคดีที่โรงพยาบาลที่เขาไปเรียนนั้นเคยรับนักเรียนแพทย์ชาวไทยมาก่อน เวลารายงานเคสคนไข้ให้อาจารย์ที่นั่นฟังอาจารย์ก็จะค่อนข้างใจเย็นและพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อ ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการกดดันตัวเองมากกว่า เพราะเขาก็รู้ตัวว่าตัวเองยังสื่อสารได้ไม่ดี หมอนัทเล่าให้ฟังว่าช่วง 3 เดือนแรกเขาต้องทานยาแก้ปวดหัวแทบทุกวัน ตอนอยู่เวรกลางคืนเวลาโดนเพจตามหมอนัทจะเดินไปหาคนที่เพจตามทุกครั้งเพราะกลัวคุยทางโทรศัพท์ไม่รู้เรื่อง แต่พออยู่ไปนานๆ และได้ใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยกับคนรอบข้างบ่อยๆ ภาษาของเขาก็ค่อยๆ ดีขึ้นเองโดยธรรมชาติ

       

ความผิดพลาดยังตามมาหลอกหลอน

หมอนัทเรียนแพทย์อายุรกรรมที่ Bassett Medical Center ได้ราว 2 ปีก็เรียนต่อแพทย์ประจำบ้านต่อยอดหรือ Fellowship ด้านโรคติดเชื้อที่ Beth Israel Deaconess Medical Center ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของ Harvard Medical School แต่ก่อนจะได้เรียนต่อถึงฮาร์วาร์ดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผลคะแนนสอบที่เขาเคยสอบตกก็ยังต้องใช้สมัครเรียนต่อเรื่อยๆ แถมเขาก็เรียนแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลเล็กๆ ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร การจะได้เข้าเรียนต่อในที่ดีๆ ก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่านักเรียนที่มาจากโรงพยาบาลชื่อดัง เขาจึงต้องตีพิมพ์ผลงานวิชาการให้เพิ่มมาเยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะแบบนี้เขาเลยกำชับรุ่นน้องและลูกศิษย์เสมอว่าเวลาจะสอบอะไรให้สอบตอนที่พร้อมแล้วดีกว่า ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องมามีประสบการณ์ยากลำบากเหมือนเขา

ความเหงามาเยือน

ความตั้งใจของหมอนัทคือการเป็นแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ตอนนั้นความรู้ที่เขายังขาดคือการเห็นเคสคนไข้เปลี่ยนปอด ซึ่งที่ Duke University นั้นมีเคสเปลี่ยนปอดเยอะทั้งยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เก่งๆ มากมาย เขาจึงเลือกเรียนต่อที่นั่นเพราะต้องการเติมเต็มสิ่งที่ตัวเองยังขาดเพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวเองดูแลคนไข้ได้ดีที่สุด ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเรียนที่ Duke 1 ปีจะต้องทำให้เขาเผชิญกับความเหงาแน่นอนเพราะรอบข้างไม่ได้มีลักษณะของความเป็น “เมือง” ที่มีสถานที่ให้ได้พักผ่อนหย่อนใจหรือมีร้านอาหารอร่อยๆ ให้ได้เติมพลังเหมือนตอนอยู่ฮาร์วาร์ด ช่วงที่เตรียมสอบก็ต้องอ่านหนังสือหนักจนขลุกตัวอยู่แต่ในห้องมืดๆ และอากาศหนาวๆ พอสอบเสร็จเขาจึงรู้สึกดิ่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจนถึงกับโทรไปบอกที่บ้านว่าไม่อยากเรียนต่อแล้วทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็ผ่านมาครึ่งทางแล้ว แต่ทางบ้านก็ให้เชียร์ให้เรียนต่อจนจบ หมอนัทจึงลองขอไปทานข้าวที่บ้านรุ่นน้องคนไทยที่รู้จักกันทุกเย็นหลังเรียนเสร็จเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากอารมณ์ดิ่งที่เกิดขึ้นจนผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้

ปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์ที่Johns Hopkins

ความตั้งใจเดิมของหมอนัทคือจะกลับมาเมืองไทยทันทีหลังเรียนจบ แต่หมอนัทบังเอิญเห็นว่ามีโรงพยาบาลชื่อดังหลายแห่งประกาศจ้างงานช่วง 3 เดือนก่อนเรียนจบพอดี เขาจึงอยากลองดูสักตั้งดูก่อน ตอนสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins เป็นที่แรกเขาก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก และมองว่าเป็นเหมือนการซ้อมสัมภาษณ์ด้วยซ้ำเพราะไม่คิดว่าจะถูกเลือก แต่หลังสัมภาษณ์เสร็จไม่กี่วัน ทางนั้นก็โทรมาหาพร้อมเสนอตำแหน่งให้หมอนัท หมอนัทที่ตอนนั้นเพิ่งลงจากเครื่องบินกำลังเตรียมไปสัมภาษณ์ที่อื่นถึงกลับร้องไห้กลางสนามบิน เพราะหากมองย้อนกลับไปแล้ว เส้นทางของเขาก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้นั้นไม่มีคำว่าง่ายเลย

คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกไหมที่มาอเมริกา

เวลาไปเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาฯ หมอนัทจะสนับสนุนให้ลูกศิษย์มาเรียนต่อที่อเมริกาเสมอ เพราะการมาที่นี่ก็เหมือนกับการได้ออกจากคอมฟอร์ทโซน อย่างหมอนัทเองพอมาอยู่ที่ Johns Hopkins ก็ต้องคอยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการที่มีอิมแพคในสเกลใหญ่อยู่เสมอ ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงแบบนี้ทำให้หมอนัทรู้สึกว่าตัวเองต้องผลักดันตัวเองมากกว่าตอนอยู่ที่ไทย อีกอย่างคือการมาเรียนต่อที่อเมริกาเป็นการเพิ่มทางเลือกชีวิตให้ตัวเองวิธีหนึ่ง เพราะถ้าเกิดวันไหนอยากย้ายไปทำงานที่ประเทศอื่น การมีประสบการณ์การเทรนที่อเมริกาก็จะเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ประเทศอื่นอยากรับเราเข้าไปทำงานในประเทศเขามากกว่า

การสอบตกมีข้อดีหรือเปล่า

“การสอบตกทำให้ผมเป็นคนที่ดีขึ้น”

ก่อนหน้านี้หมอนัทเป็นคนที่เรียกได้ว่าสามารถทำตามแผนด้านการศึกษาที่วางไว้ได้สำเร็จโดยไม่มีข้อผิดพลาดมาตลอด จนกระทั่งถึงคราวที่เขาสอบพูดภาษาอังกฤษไม่ผ่านเป็นครั้งแรก การสอบตกครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นคนเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เขาเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และความผิดพลาดนั้นไม่ใช่ตัวตัดสินคุณค่าของคนคนนั้น เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าการที่มีคนทำพลาดตอนนั้นเบื้องหลังเขาเผชิญกับความเครียดอะไรอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่คนคนนั้นสามารถเอาชนะความผิดพลาดหรือก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ต่างหากที่ทำให้คนแข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้การสอบตกยังทำให้เขาเป็นคนที่มีความพยายามมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าตัวเองอาจจะไม่ใช่ Candidate เบอร์ต้นๆ เสมอไป เขาจึงต้องพยายามทำอะไรนอกเหนือจากในหลักสูตร เช่น การตีพิมพ์ผลงานวิจัย

“การสอบตกทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้” หมอนัทกล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights