เรืองริน อักษรานุเคราะห์: นักจิตบำบัดผู้มีเป้าหมายทำให้สุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

Home » Career Fact » Interview » เรืองริน อักษรานุเคราะห์: นักจิตบำบัดผู้มีเป้าหมายทำให้สุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

‘นักจิตบำบัด’ หรือ ‘Therapist’ เป็นชื่ออาชีพที่อาจจะไม่คุ้นหูคนไทยสักเท่าไหร่นัก เพราะต้องยอมรับว่าสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างมากเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิต วันนี้ Career Fact จึงขอนำเรื่องราวของ ‘คุณมะเฟือง’ นักจิตบำบัดชาวไทย มาเล่าให้ฟัง ว่าเส้นทางของอาชีพนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

ความเป็นมะเฟือ

คุณมะเฟืองเริ่มเล่าก่อนว่า ภาพลักษณ์วัยเด็กของเธอในวันนั้น ช่างแตกต่างจากผู้ใหญ่คนนี้เสียเหลือเกิน สมัยเด็กคุณมะเฟืองเป็นเด็กที่กล้าแสดงออกมาก รักการเป็นจุดสนใจของผู้คน เช่น เล่นละครเวที เต้นเชียร์ลีดเดอร์ และมักจะนึกถึงตัวเองก่อนเสมอ ขณะเดียวกันก็เขินอายที่จะอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ จนต้องปัดมันทิ้งหลายครั้ง

ปัจจุบัน เธอพร้อมแล้วที่จะโอบรับทุกความรู้สึกของตนเอง ไม่ว่ามันจะสุขหรือเศร้า ดีใจหรือท้อใจก็ตาม ซึ่งคนรอบข้างเคยบอกว่ามัน “เยอะเกินไป” เพราะมันอาจจะเป็นดาบสองคมที่มาทำร้ายเธอในภายหลัง คุณมะเฟืองเคยจมอยู่กับความรู้สึกผิดที่เป็นคนแบบนี้ ก่อนจะมาค้นพบว่า จริงๆ แล้วมันคือตัวตนที่ช่วยให้เธอได้เข้าใจตนเองต่างหาก

เมื่อคุณไม่ได้อยากจะปัดความรู้สึกไหนออกไป เมื่อนั้นคุณไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว

มะเฟือง เรืองริน

เมื่อหลายสิบปีก่อน คุณมะเฟืองเป็นเด็กที่มองโลกด้วยเฉดสีเดียวคือขาวและดำมาโดยตลอด เป็นภาพของการตัดสินที่ชัดเจนระหว่างสิ่งถูกและสิ่งผิดสำหรับเธอ จนเมื่อเธอได้มาทำงานเป็นนักเขียนของนิตยสาร CLEO เธอได้สัมภาษณ์คนมากมายเพื่อพบว่าคนอื่นๆ ไม่ได้ยึดถือคุณค่าของสีขาวดำแบบที่เธอทำ หลังจากนั้นคุณมะเฟืองก็เริ่มมองโลกหรือสังคมในแบบที่โปร่งใสมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับบุคคลต่างๆ ที่เธอคุยด้วยอย่างจริงจัง

ไม่เป็นตัวเอง

สมัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน คุณมะเฟืองรู้สึกว่าสังคมในตอนนั้นบังคับให้เธอทำตามมาตรฐานความเป็น “ผู้หญิงที่ดี” ที่คนอื่นๆ ต้องการจะเห็นจากตัวเธอ รวมถึงคุณแม่ที่อยากจะให้เธอมีภาพลักษณ์ภายนอกที่เพอร์เฟ็กต์ ซึ่งก็ถือว่าเธอทำได้ดีพอสมควร เธอรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวยังไงถึงจะได้รับการยอมรับจากสังคมนั้น แม้ว่าบางอย่างอาจไม่ใช่ตัวของเธอเลย แต่มันก็เป็นเรื่องใหญ่มากๆ สำหรับเด็กวัยนั้น

โชคดีที่คุณมะเฟืองได้มีโอกาสไปเปิดหูเปิดในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา มันทำให้เธอเห็นถึง “ความหลากลาย” อันแท้จริงของความสวยงามหรือรูปร่างหน้าตา ที่ไม่จำเป็นต้องผอมหรือขาวเสมอไป แต่มันคือการมองเห็นถึงภายในซึ่งเป็นคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ และยอมรับความงดงามของตัวเอง

แพชชั่นนิยม

ตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน คุณมะเฟืองเลือกเรียนในหลายๆ วิชาที่เธอสนใจและพบว่าเธอชื่นชอบวิชาสายนิเทศฯ เช่น การพูดสุนทรพนจ์ หรือการแสดงละครเวที จึงเป็นจุดพลิกผันในการเลือกคณะ จากรัฐศาสตร์เป็นนิเทศศาสตร์แทน

คุณมะเฟืองจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการจัดการสื่อสาร จุฬาฯ ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติ ทำให้เธอได้เรียนนิเทศฯ ในหลายๆ สาขา จนมาถึงปีสุดท้ายที่เรียนเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์และนิตยสาร คุณมะเฟืองจึงค้นพบความชอบของตัวเอง ที่จะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องราวบนหน้ากระดาษ และเลือกไปทำงานกับนิตยสาร CLEO ซึ่งเป็นเพียงหัวเดียวที่เธอประทับใจในตอนนั้น สวนทางกับเพื่อนๆ คนอื่นๆ ที่มักจะไปในสายธุรกิจกันมากกว่า

เราเป็นคนที่ชัดเจนมากว่าเราต้องการอะไร เพราะเราให้ค่ากับแพชชั่นตัวเองมาตลอด

มะเฟือง เรืองริน

เรียนต่อด้านจิตวิทยา

หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ผู้คนมาอย่างมากมายจากตำแหน่งนักเขียนของนิตยสาร CLEO กอปรกับความพยายามที่อยากจะเข้าใจคนอื่น คุณมะเฟืองค้นพบว่ามนุษย์ทุกคนมีเรื่องราวหรือปัญหาในจิตใจที่ไม่กล้าบอกใคร แม้ว่าจะประสบความสำเร็จขนาดไหนก็ตาม

อาจจะด้วยบรรยากาศของความสบายใจรอบตัวคุณมะเฟือง จึงมีเพื่อนหรือกระทั่งแขกรับเชิญที่เธอเคยสัมภาษณ์หลายคนโทรมาเล่าหรือระบายเรื่องต่างๆ ให้ฟัง กลายเป็นแสงสว่างที่จุดประกายให้เธออยากทำมากกว่าแค่รับฟังเรื่องราวเฉยๆ ตอนนั้นเองที่ทำให้เธอตัดสินใจไปเรียนต่อด้านจิตวิทยาที่สหรัฐฯ

คุณมะเฟืองเลือกเรียนที่ Pepperdine University ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะเป็นสถาบันที่ไม่บังคับว่าจะต้องเรียนจบจากสาขาจิตวิทยามาก่อน รวมถึงชีวิตแบบสาวแคลิฟอร์เนียก็เป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝันด้วย ตอนแรกเธอเลือกเรียนในสาขาจิตวิทยาทั่วไป ก่อนจะเบนสายมาเป็นการบำบัดคู่สมรสและครอบครัว (Marriage and Family Therapy) แทน ซึ่งเป็นสาขาที่เรียนจบแล้วสามารถเป็นนักจิตบำบัดได้เลยโดยไม่ต้องเรียนต่อปริญญาเอกอีก

โอกาสของนักจิตบำบัดในอเมริกา

อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในสหรัฐฯ มีเยอะมาก ไม่ใช่แค่นักจิตบำบัด คุณมะเฟืองออกปากเองเลยว่า การเป็นเอเชียนหรือคนผิวสีในเมืองใหญ่ๆ อย่าง LA นั้นเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือเพศสภาพมาอยู่รวมกัน แล้วหลายคนรู้สึกสบายใจที่จะคุยกับคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนกันเองมากกว่าคนขาว เพราะจะช่วยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา

เป้าหมายในไทย

แม้ว่าการทำงานเป็นนักจิตบำบัดในสหรัฐฯ จะเป็นประสบการณ์ที่ดีไม่น้อยสำหรับคุณมะเฟือง เธอก็ยังมีความตั้งใจที่จะเดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิด เพราะเธอมีเป้าหมายว่าอยากจะทำให้สุขภาพจิตกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย เธออยากให้คนไทยรู้สึกว่าการเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติจนต้องอับอาย และอยากทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ผ่านทางสื่อต่างๆ ด้วยความรู้ด้านนิเทศศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนมา

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจิตบำบัดในไทย

คนส่วนใหญ่มักคิดว่านักจิตบำบัดคือผู้วิเศษที่สามารถเสกให้คนไข้หายจากอาการป่วยทางจิตได้เลยเมื่อมาขอเข้าพบ ซึ่งแตกต่างจากนิยามการทำจิตบำบัดของคุณมะเฟืองพอสมควร ในความเป็นจริงแล้ว นักจิตบำบัดและคนไข้ควรจะเดินทางไปค้นพบความรู้สึกที่หลบซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจพร้อมกัน โดยเฉพาะเมื่อคุณมะเฟืองเป็นนักจิตบำบัดสาย Narrative (การบรรยาย) ที่เน้นการรับฟังและแกะรอยปัญหา เธอเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็นปัจเจกที่ไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันแก้ไขปัญหาของคนร้อยคนได้

อีกปัญหาที่คุณมะเฟืองมักเจอคือ พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักหวังพึ่งให้นักจิตบำบัดเป็นสื่อกลางระหว่างตนเองกับบุตรหลาน เช่น บอกนักจิตบำบัดให้เกลี้ยกล่อมลูกให้เป็นในสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เป็น หรือการมาสอบถามว่าลูกเป็นอย่างไรบ้างระหว่างการทำจิตบำบัด ซึ่งถือว่าผิดหลักการพอสมควร เพราะนักจิตบำบัดไม่มีสิทธิ์นำเรื่องราวในช่วงการรักษาไปบอกกับบุคคลอื่น ทั้งหมดควรอยู่แค่ในพื้นที่ปลอดภัยระหว่างนักจิตบำบัดและคนไข้เท่านั้น

นอกจากนั้น นักจิตบำบัดยังต้องห้ามไม่ให้ตัวเองชักจูงคนไข้หรือสร้างอิทธิพลต่อคนไข้ระหว่างการรักษา เช่น เลิกกับแฟนคนนี้ดีไหม เลือกเรียนคณะไหนดี ผู้ชายคนไหนเหมาะสมที่สุด เพราะมันอาจส่งผลเสียในอนาคตหากคนไข้ทำตามคำแนะนำของนักจิตบำบัดไม่สำเร็จ

ยุคของนักจิตบำบัด

นักจิตบำบัดสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 ยุคใหญ่ๆ ได้แก่ ยุค Pre-Modern ที่เชื่อว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ทุกๆ คนสามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาเดียวกันได้หากประสบปัญหาที่ใกล้เคียงกัน เช่น การให้อภัย ยุคที่สองคือยุค Modern ที่ยึดมั่นในความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์อย่างพวกงานวิจัยหรือสถิติต่างๆ และยุคที่สาม หรือยุคของคุณมะเฟือง เรียกว่ายุค Post-Modern ที่ไม่เชื่อว่า จะมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว ที่สามารถนำมาใช้กับทุกคนได้ในรูปแบบเหมือนกันทั้งหมด เน้นการรักษาคนไข้แบบปัจเจกบุคคลและความเข้าใจในตัวคนไข้

จงให้ค่ากับความรู้สึกของตนเอง

จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด คุณมะเฟืองบอกว่าหนึ่งในหลักการสำคัญของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันคือ การเห็นค่าความรู้สึกของตัวเอง แม้ว่าสังคมแบบทุนนิยมจะบังคับให้เราต้องประสบความสำเร็จตลอดเวลาจนละเลยอารมณ์ที่มาขัดขวางความสำเร็จนั้น บางคนถึงกับรู้สึกผิดที่จมอยู่กับความเศร้าตอนอกหักเพียงเพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องงานหรือดูไม่เจ๋งในสายตาคนภายนอก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกๆ ความรู้สึกมีความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ จึงไม่ควรมีความรู้สึกไหนถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งไม่ดีจนต้องรีบปัดทิ้งไป เพราะการรีบด่วนตัดสินความรู้สึกเหล่านั้น อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสที่จะทำความเข้าใจตัวเองไปก็ได้

อย่ากลัวที่จะรู้สึกกลัว และไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าจะรู้สึกแย่

ถ้าใครกำลังรู้สึกแย่เพราะสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศที่ไม่ได้ดีขึ้นเลย คุณมะเฟืองแนะนำให้เริ่มปรับสุขภาพจิตจากการเข้าใจและยอมรับอารมณ์ด้านลบ พยายามคุยกับตัวเองเยอะๆ ยกตัวอย่างเช่น ที่ทุกอย่างมันแย่ ไม่ใช่เพราะตัวเราแย่ แต่เป็นเพราะสังคมมันแย่หรือเปล่า แล้วมันมีหนทางไหนไหมที่จะช่วยรดน้ำลงจิดใจที่เหี่ยวเฉาให้กลับมาสดใสได้อีกครั้ง แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน