กระทิง เรืองโรจน์: จากเด็กฐานะทางบ้านไม่ดี สู่ผู้วางรากฐานให้วงการสตาร์ทอัพไทย

วันนี้ Career Fact จะพาทุกคนมาสำรวจเส้นทางล้มลุกคลุกคลานก่อนจะขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อสตาร์ทอัพเมืองไทยของ ‘พี่กระทิง’ เรืองโรจน์ พูนผล ชายผู้เชื่อในพลังของวินัยและความมุ่งมั่น

รู้จักกับพี่กระทิง

พี่กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล เล่าให้ฟังว่าเขาได้ชื่อเล่นนี้มาเพราะตอนเด็กๆ ร่างกายไม่แข็งแรง คุณแม่จึงอยากให้โตมาแข็งแกร่ง ใจสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเหมือนกับกระทิง เขาผ่านการทำงานในบริษัทชื่อดังมามากมายตั้งแต่ P&G, Google, Dtac รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนสอนสตาร์ทอัพและเป็นผู้จัดการกองทุน 500 Tuktuks ปัจจุบันพี่กระทิงดำรงตำแหน่งประธานบริษัท KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) บริษัทหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของกสิกร มีผลงานเด่นคือแอปพลิเคชั่น K-PLUS, KhungThong, Eatable, MAKE by KBank และ CU Nex เป็นต้น

อุปสรรคมีมาตั้งแต่เกิด

เขาเกิดมาก็ต้องสู้เพื่อเอาชีวิตให้รอด เพราะคลอดผิดท่า และคลอดก่อนกำหนดด้วย ทำให้ตอนเด็กๆ ตัวเล็ก เลยโดนแกล้งจนต้องย้ายโรงเรียนอยู่บ่อยๆ

พี่กระทิงไม่เคยมีเพื่อนเลยจนกระทั่งขึ้นป.3 เพื่อนคนแรกของเขาคือคุณครูท่านหนึ่ง ที่เห็นว่าพี่กระทิงไม่มีเพื่อนจึงออกเงินซื้อข้าวกลางวันให้มาทานด้วยกัน คุณครูท่านนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขามีความมั่นใจขึ้นมาก เพราะคุณครูสังเกตเห็นข้อดีของเขา นั่นคือเป็นคนอ่านออกเสียงควบกล้ำชัด คุณครูจึงช่วยฝึกพี่กระทิงอ่านออกเสียงและพาไปประกวดอ่านร้อยแก้วจนได้ที่ 2 ของจังหวัด

“ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจ แม้กระทั่งคนที่ดูไม่มีจุดแข็งอะไรเลยก็ประสบความสำเร็จได้ หน้าที่ของเราคือหาจุดขาวบนผ้าสีดำแล้วค่อยๆ ขยายมันขึ้นมา สร้างความมั่นใจแล้วไม่ท้อถอย”

คุณพ่อให้อุดมการณ์ คุณแม่ให้ความใจสู้

พี่กระทิงเริ่มสนใจในวิทยาศาสตร์เพราะมีนิสัยชอบอ่านหนังสือเหมือนคุณพ่อ หนังสือเล่มหนึ่งที่พี่กระทิงชอบมากในวัยเด็กคือ ‘สารานุกรมคนสำคัญของโลก’ เขาอ่านประวัติและเห็นภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แล้วมีความฝันอยากเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่อย่างนั้นบ้าง และนั่นยังทำให้เขาอยากเก่งฟิสิกส์เหมือนนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกคนนี้อีกด้วย

พี่กระทิงตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องเป็นคนกำแพงเพชรคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกฟิสิกส์ระดับประเทศให้ได้ แน่นอนว่าเป้าหมายนี้ไม่ง่าย สิ่งแรกที่เขาต้องเอาชนะคือความรู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะคนส่วนใหญ่ปรามาสเขาไว้แบบนั้น โชคดีที่คนใกล้ชิดให้การสนับสนุนว่าเขาทำได้ ทำให้เขาตั้งใจทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำ

พี่กระทิงตื่นตีสี่มาอ่านหนังสือทุกวัน ต่อให้ไฟดับเขาก็จะควานหาเทียนมาจุด ที่ต้องทำขนาดนี้เพราะเขารู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนหัวดี ตอนเด็กๆ เขาเคยสอบได้ที่ 6 นับจากลำดับสุดท้ายเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ฉลาดก็ต้องใช้ความมุ่งมั่นและความพยายามเข้าสู้ พี่กระทิงบอกว่าทิศทางที่เขาเลือกมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ต่อให้ทำไม่สำเร็จก็ไม่มีอะไรเสียหาย

สุดท้ายผ่านไป 6 ปี พี่กระทิงก็คว้าเหรียญทองโอลิมปิกฟิสิกส์ระดับประเทศมาได้สำเร็จ ทั้งยังพ่วงเหรียญทองแดงโอลิมปิกส์คณิตศาสตร์มาด้วย

พี่กระทิงยกความดีความชอบให้กับคุณแม่ที่ทำให้เขาเป็นคนมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคขนาดนี้ เพราะครั้งหนึ่งคุณแม่เคยป่วยหนัก แต่บอกกับหมอว่ายังตายไม่ได้ เพราะเธอยังมีลูกเล็กต้องเลี้ยง

เหตุการณ์นี้เป็นจึงเป็นข้อเตือนใจของพี่กระทิงว่า ขนาดคุณแม่ยังสู้กับความตายได้ ถ้าอุปสรรคมันไม่หนักหนาสาหัสขนาดนั้นก็ต้องสู้กับมันให้ได้

เรียนจบแล้วก็ยังไม่ราบรื่น

ตอนอยู่ม.5 พี่กระทิงสอบเทียบได้เข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ แต่สุดท้ายก็ลาออกเพราะไม่ชอบวิชาสายชีววิทยา เขากลับมาเรียนม.6 อีกครั้งแล้วเลือกเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาเรียนจบมาทำงานที่แรกที่ P&G งานแรกที่เขาได้รับมอบหมายคือทำแชมพู ตอนนั้นเขายอมรับว่าตัวเองเริ่มมีความหยิ่งยโส ว่าตนจบถึงวิศวะ จุฬา เกียรตินิยมอันดับสอง เป็นถึงเด็กฟิสิกส์โอลิมปิก งานแค่นี้เขาทำได้อยู่แล้ว แต่สุดท้ายกลับทำไม่สำเร็จ โดยความผิดพลาดครั้งนั้นตีเป็นมูลค่าความเสียหายราว 3 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้รับบทเรียนว่า ควรถ่อมตนอยู่เสมอ และอย่าประมาท โชคยังเข้าข้างที่เขาไม่โดนไล่ออกตั้งแต่ตอนนั้น ทำให้ได้มีโอกาสทำแผนกอื่นต่อ

แม้จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ มีหน้าที่การงานที่ดี แต่ชีวิตเขาก็ยังต้องเจอกับอุปสรรคเมื่อเขาตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโททางการตลาดหลักสูตรนานาชาติ (MIM) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อุปสรรคแรกคือการเดินทาง เพราะที่ทำงานและที่เรียนอยู่ห่างกันมาก เขาจึงต้องนั่งรถเมล์ ต่อด้วยเรือ และวิ่งเพื่อเข้าห้องเรียนให้ทันเวลาทุกวันที่มีเรียน เพราะมีข้อบังคับว่าสายแม้นาทีเดียวก็นับว่าขาดเรียน อุปสรรคที่สองคือพี่กระทิงไม่เก่งภาษาอังกฤษเลยแม้แต่น้อย แต่ต้องฟังอาจารย์ชาวต่างชาติสอนเป็นภาษาอังกฤษ พรีเซนท์งานก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ แต่สุดท้ายเขาก็บังคับตัวเองให้ทำสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้จนได้

จงพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ทำให้เก่งขึ้น

“วันไหนที่คุณรู้สึกชิล วันนั้นคือ Bad Day เพราะคุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง”

หลังจากเรียนจบปริญญาโท พี่กระทิงก็มาทำงานในฝ่ายขายและการตลาดของ P&G เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาก เงินเดือนดี ได้โบนัส และทำยอดขายจนได้เป็น 1 ใน 2 ทีมในเอเชียที่ได้รับรางวัล CEO Stock Recognition Award จากสำนักงานใหญ่ แต่แทนที่เขาจะพอใจกับจุดที่ตัวเองอยู่ เขากลับรู้สึกอิ่มตัวและรู้สึกว่าไม่ได้พัฒนาตัวเอง ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเป็นยุคที่ Internet เริ่มเข้ามา เขารับรู้เรื่องราวของ เจอร์รี่ หยาง และ เดวิด ไฟโล ผู้ก่อตั้ง Yahoo! กันสองคนในหอพักมหาวิทยาลัย Stanford แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ทำให้เขารู้สึกมีแรงบันดาลใจอยากไปเรียนที่นั่นบ้าง

ขึ้นชื่อว่าเป็นพี่กระทิงแล้ว ก็คงไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ภาษาอังกฤษเมื่อไม่ได้ใช้นานๆ ก็เลือนหายไปตามกาลเวลา เขาจึงต้องเริ่มกลับมาฝึกฝนตัวเองใหม่ด้วยการอ่าน Student Weekly ตั้งแต่หน้าปกยันปกหลัง จดจำศัพท์และสำนวนสละสลวยจาก Bangkok Post และฝึกสำเนียงการพูดด้วยการฟังข่าว BBC แล้วพูดตาม จนสามารถสอบ GMAT ได้ตามเป้าด้วยคะแนนสูงราว 730-750 จากคะแนนเต็ม 800 และสอบเข้า Stanford University ได้ตามที่หวัง

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ต่อให้คุณไม่ได้ยิ่งใหญ่มาจากไหน การที่คุณไม่ท้อถอยและมีวินัย นั่นคือพลังมหัศจรรย์ที่สุดที่คุณมี นั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณมาไกลถึงขนาดนี้ได้ แต่คุณต้องใจเย็น มีความอดทน และให้อภัยตัวเองอยู่เสมอ วันนี้ทำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่พรุ่งนี้ต้องทำได้ดีกว่าเดิม”

หากวันใดรู้สึกหลงทางให้ย้อนกลับไปวันแรก

เมื่อเรียนจบปริญญาโท สิ่งที่พี่กระทิงต้องเจอคือความกดดันจากเพื่อนร่วมรุ่นที่มีแนวคิดว่าคนเก่งๆ ที่จบจาก MBA ต้องไปทำงานสายการเงินอย่าง Hedge Fund หรือ Consulting ทำให้เขาเกิดความลังเล เพราะงานก็มีความสนุกท้าทาย แถมรายได้ยังดีอีก

พี่กระทิงตัดสินใจโทรไปปรึกษาคุณแม่ ส่วนคุณแม่ถามกลับมาข้อหนึ่งว่า “เขาให้เขียนเหตุผลที่มาเรียนต่อไม่ใช่หรือ?” ทำให้พี่กระทิงนึกเป้าหมายเดิมของตัวเองขึ้นได้ ว่าสิ่งที่เขาต้องการคือสร้างการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับคติประจำมหาวิทยาลัย Stanford ที่ว่า “Change lives. Change organizations. Change the world.”

ส่วนหนึ่งของ Statement of Purpose ของพี่กระทิงเขียนไว้ว่า

“I was born in poverty and inequality but I want to use technology and innovation to change that”

(ผมเกิดมาอยู่ท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ผมจึงอยากใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนมัน)

ชีวิตในSiliconValley

มีคำกล่าวว่า เมื่อคุณมาเหยียบที่ Silicon Valley คุณจะได้ใบอนุญาต 2 ใบ ใบแรกคือใบอนุญาตให้คุณล้มเหลวกี่ครั้งก็ได้ ใบที่สองคือใบอนุญาตให้คุณเปลี่ยนโลก

พี่กระทิงจึงตั้งมั่นว่าจะใช้ใบอนุญาตสองใบนั้นให้คุ้ม แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จาก Silicon Valley กลับไปเปลี่ยนแปลงเมืองไทย เขาปฏิเสธทุกข้อเสนอ แม้กระทั่งจากบริษัทที่ให้เงินมากกว่า Google ถึง 40% เพื่อรอจดหมายตอบรับเข้างานจาก Google

อาจจะฟังดูเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยากมาก เพราะ Google ก็เป็นบริษัทชื่อดังที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ตอนนั้นเขายังมีหนี้จากการกู้เงินเรียนอยู่ เพราะทุนจากมหาวิทยาลัยออกค่าเรียนให้แค่ครึ่งเดียว และกว่า Google จะตอบรับก็ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ทำให้เมื่อมีจดหมายตอบรับส่งมา พี่กระทิงถึงกับกระโดดจนตัวลอย

โปรเจกต์หนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตพี่กระทิงคือ การสร้างดวงจันทร์จำลองสามมิติร่วมกับ NASA เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปีที่มนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยพี่กระทิงได้รับมอบหมายให้เป็น Project Leader ของโปรเจกต์นี้ ความยากคือไม่สามารถเลื่อนเดดไลน์ได้ ต้องเปิดตัวในวันที่ฉลองครบรอบเท่านั้น ระหว่างทำโปรเจกต์นี้ก็เจอเหตุการณ์ที่ทำให้สะดุดมากมาย แต่ที่หนักสุดคือดวงจันทร์หายไปบางส่วนก่อนวันเปิดตัวเพียง 1 วัน ทำให้พี่กระทิงมีความคิดอยากยอมแพ้เป็นครั้งแรก แต่ก็เรียกสติกลับมาได้และเตือนตัวเองว่ายังมีเวลาอยู่ สุดท้าย พี่กระทิงทำทุกวิถีทางจนสุดท้ายก็ซ่อมดวงจันทร์จำลองสำเร็จ

เรียกได้ว่า Google พาพี่กระทิงไปอยู่ Stretch Zone ซึ่งเป็นจุดที่ต้องดึงศักยภาพทุกอย่างที่มีในตัวจริงๆ แม้กระทั่งตัวคุณในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของเมื่อวานก็ยังไม่พอ

อะไรไม่มีก็สร้างมันขึ้นมา

หลังจากทำงานอยู่ใน Silicon Valley ราว 6-7 ปีพี่กระทิงก็กลับมาเมืองไทย โดยนอกจากจะเข้าทำงานที่ Dtac เขายังก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนสอนคนให้เป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพขึ้นในปี 2555 เพราะต้องการให้เมืองไทยมีพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพเหมือนกับ Silicon Valley พี่กระทิงยืนสอนตั้งแต่เช้าถึงเย็นเป็นเวลานานหลายปีจนเมื่อปีที่แล้วโดนหมอสั่งห้ามไม่ให้ยืนนานๆ อีก

“ทุกความฝันที่ยิ่งใหญ่มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ยิ่งใกล้ความฝันเท่าไหร่ โลกของคุณจะเปลี่ยน คุณจะดีใจที่ไม่ล้มเลิกไปก่อน”

ผ่านไป 1 ปีวงการสตาร์ทอัพไทยโตขึ้นมาอีกนิด แต่สิ่งที่พี่กระทิงสังเกตเห็นคือสตาร์ทอัพไทยขาดเงินทุนและแรง สนับสนุน แนวคิดหนึ่งของพี่กระทิงคือ “อะไรที่มันไม่มีก็สร้างมันขึ้นมา” พี่กระทิงจึงก่อตั้ง Dtac Accelerate โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการ และกองทุน 500 TukTuks ที่ลงทุนกับสตาร์ทอัพไปถึง 71 ตัว

การศึกษาคือPassion

พี่กระทิงให้ความสำคัญกับการศึกษามากเพราะเขาประสบความเหลื่อมล้ำนั้นมาด้วยตัวเอง ตอนเรียนมัธยมห้องเรียนของเขาดัดแปลงมาจากเล้าหมูเล้าไก่ เพราะอย่างนั้น เขาจึงอยากให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในไทยกว่า 4 ล้านคนเหมือนกับเขาในอดีตได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ พี่กระทิงจึงจับมือร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางด้านการศึกษาในการทำ Social Impact Venture ซึ่งจะลงทุนกับสตาร์ทอัพที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับสังคมจริงๆ

KBTG

ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยติด 1 ใน 20 ธนาคารที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งสาเหตุที่ติดอันดับก็เป็นเพราะกสิกรไทยสร้างความแตกต่างให้ตัวเองผ่านการมีอยู่ของ KBTG เป้าหมายหลักของ KBTG ในตอนนี้จึงเป็นการ Transform กสิกรไทยให้เป็นอันดับ 1 ระดับภูมิภาคให้ได้

แต่พี่กระทิงยังไม่อยากหยุดแค่นั้นเมื่อเห็นว่าธนาคารดิจิทัลอันดับ 1 ของโลกคือธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ จากประสบการณ์การทำงานทั้งใน Silicon Valley และ KBTG ทำให้เขามีโอกาสเจอคนไทยเก่งๆ และมีศักยภาพมากมาย สิ่งที่ขาดมีเพียงเวทีที่ได้แสดงความสามารถให้คนอื่นเห็น สำหรับพี่กระทิง เขาเชื่อว่าถ้าสิงคโปร์ทำได้ คนไทยก็ต้องทำได้

ไม่เคยหมดหวังกับประเทศไทย

คนไทยผ่านวิฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งและแฮมเบอร์เกอร์ แต่ก็กลับมาอย่างแข็งแกร่งได้ทุกครั้ง เพราะหลังวิกฤติจะมีโอกาสที่ใหญ่กว่าอยู่เสมอ และคนจะเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ได้ก็ต้องเจอกับวิกฤตที่บังคับให้เขาดึงศักยภาพตัวเองออกมา

พี่กระทิงเชื่อว่าบางครั้งเราก็ต้องหัดมองโลกในแง่ดี และวาดฝันที่สวยงามเอาไว้บ้าง เพราะแม้สิบปีที่ผ่านมาของประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็นทศวรรษที่สูญหาย แต่อนาคตนั้นสร้างขี้นใหม่ได้เสมอ เขาเชื่อและหวังว่าอีกสิบปีข้างหน้าจะสามารถทำให้ประเทศไทยกลายเป็นทศวรรษแห่งความหวัง แห่งการเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจได้

“ฝันให้สูง สู้ให้สุด อย่ายอมแพ้ และจงมีวินัยในทุกๆ วันของชีวิต” พี่กระทิงกล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights