กร เธียรนุกุล : ภารกิจของทายาทโรงพิมพ์รุ่น 3 กับการปลุกปั้น Wawa Group

จากกระป๋องเหล็ก 54 บาทเป็นยอดออเดอร์ก้อนแรก สู่ ยอดซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มที่เติบโตมากกว่า 1,500 ล้านบาท

คราวนี้ Career Fact มีโอกาสพูดคุยกับ ‘พี่กร’ กร เธียรนุกุล CEO แห่ง Wawa Group ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทกิจการการพิมพ์เก่าแก่ ‘นิวไวเต็ก’ กับ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตระกูลที่มีอายุกว่า 60 ปี ให้อยู่รอดพ้นการล่มสลาย และสร้างแพลตฟอร์ม E-Marketplace รูปแบบ B2B ที่หวังเติบโตในระดับสากล และตั้งใจว่าจะเป็น Alibaba แห่ง Southeast Asia ให้ได้

เส้นทางในการรับช่วงต่อธุรกิจต้องเจออะไรบ้าง? ความรู้สึกที่ต้องเป็นหัวหน้าคนที่เห็นเขาตั้งแต่ยังไม่เกิด? แล้วอะไรคือบทเรียนที่เขาค้นพบระหว่างทางและอยากส่งต่อให้คนที่ทำธุรกิจทุกคน? ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

#ธุรกิจคือความฝัน

พี่กรบอกว่าชีวิตวัยเด็กโดยรวมไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่สำหรับเขาแล้วความฝันที่ “อยากทำธุรกิจ” เป็นสิ่งที่โดดเด่นมาเสมอเนื่องจากมีคุณพ่อเป็นไอดอลและที่บ้านปลูกฝังเรื่องนี้มานาน โดยมีคำสอนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ รับช่วงมาที่คุณพ่อ และส่งต่อมาจนถึงพี่กร คือ “ต้องประกอบธุรกิจที่สุจริต”

หลังเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาคอินเตอร์ (BBA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่กรมีความฝันต่อมาว่าอยากเรียนต่อปริญญาโท ทว่าช่วงที่กลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านได้ 2-3 ปี เขาต้องพบเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเพราะว่าคุณน้าเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้ต้องมารับช่วงทำงานต่อทันที

เขาบอกว่าถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคุณน้าเสียชีวิตโดยไม่ได้ตรวจสุขภาพมานาน ก่อนจะพบว่าเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย และกลายเป็นว่าความฝันที่อยากไปเรียนต่อต้องหยุดชะงัก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พี่กรในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ต้องรับช่วงต่อในธุรกิจครอบครัวเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้

#เพิ่งเริ่มก็โดนรับน้อง

หากเล่าย้อนกลับไป “นิวไวเต็กการพิมพ์” เป็นกิจการการพิมพ์เก่าแก่ที่ก่อตั้งมายาวนานโดยมีคุณปู่ของพี่กรเป็นผู้บุกเบิกกิจการเมื่อ 65 ปีก่อน ดำเนินงานในรูปแบบกงสี และประกอบธุรกิจงานพิมพ์ Commercial Printing หรือสื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาเป็นหลัก 

พี่กรเล่าให้ฟังว่างานแรกที่ทำคือการเป็นเซลล์คุยกับลูกค้ารายใหญ่จากโรงงานต่าง ๆ แต่เพียงวันแรกที่แนะนำตัวกับลูกค้าก็เจอรับน้องทันที เมื่อลูกค้าแทบทุกรายบอกว่างบประมาณสื่อสิ่งพิมพ์ที่จะทำโฆษณาต้องลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะกระแส Digital Disruption ที่สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้คนหันไปนิยมการใช้สื่อออนไลน์

เขาตระหนักได้ว่า ถ้าลูกค้าทุกรายเป็นแบบนี้ หากอยู่แบบนี้ต่อไป ธุรกิจคงไม่รอดแน่

#จุดเปลี่ยนของธุรกิจ

เมื่อรู้ว่าทิศทางธุรกิจของตระกูลอาจจะไปต่อได้ยาก พี่กรก็คิด 3 ทางทางรอดใหม่ขึ้นมา ทางแรก คือ ทำบรรจุภัณฑ์ จากเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ทางเลือกต่อมา คือ Security Printing ทำนวัตกรรมป้องกันการปลอมแปลง เช่น พาสปอร์ต และทางเลือกสุดท้าย คือ ทรานส์ฟอร์มไปธุรกิจอื่นเลย ซึ่งเมื่อคิดอย่างถี่ถ้วนเขาก็เลือกเส้นทางสุดท้ายนี้เพื่อไปสู่ New S-Curve ใหม่ คือ การทำธุรกิจแพลตฟอร์ม

พี่กรใช้เวลา 2-3 ปี หลังจากรับช่วงทำงานต่อ และค้นหาตัวเอง จนได้พบว่าจะทรานส์ฟอร์มนิวไวเต็กไปเป็นอะไร จากการที่ได้เห็นความต้องการของตลาดและเทรนด์ออนไลน์  รวมถึงกลุ่มเพื่อน ๆ ที่เปิดคาเฟ่แล้วอยากหาบรรจุภัณฑ์แต่หาไม่เจอ เป็นที่มาของการสร้าง wawapack.com  แพลตฟอร์ม E-Marketplace ในรูปแบบธุรกิจ B2B ที่เน้นหมวดหมู่อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก

พี่กรเล่าให้ฟังว่า ในช่วงแรกนั้นยากมากในการทำให้คนที่บ้านยอมรับไอเดียในการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เมื่อต้องการเงินทุนที่บ้านก็ไม่อนุมัติ ทำให้เขาต้องแอบไปสมัครโครงการ Pitching ธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยบอกที่บ้านว่าออกไปหาลูกค้า หลังจากหายไป 3 วัน พี่กรกลับมาพร้อมกับถ้วยรางวัลอันดับ 2 ทางบ้านจึงยอมรับและเริ่มให้เงินลงทุน

#จากยอดขาย54บาทสู่1,500ล้านบาท

“ยอดออเดอร์ก้อนแรก คือ กระป๋องเหล็ก 54 บาท จำนวน 1 ชิ้น น้อยแต่ผมดีใจมาก” เขากล่าว

สำหรับการทำธุรกิจแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสนั้นเป็นธุรกิจที่พี่กรนิยามว่าเหมือนไก่กับไข่ หากไม่มีคนขาย ก็ไม่มีคนซื้อ ดังนั้นเขาจึงเริ่มตั้งต้นจากการหาคนขายก่อน และเมื่อแพลตฟอร์มฟอร์มเริ่มเติบโตขึ้น จึงเริ่มที่จะหาทีมพัฒนาหลังบ้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และได้ตัดสินใจที่จะขยายทีมให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งต้องการเงินทุนที่มหาศาลเข้ามาเกี่ยวข้องจึงตัดสินใจปรึกษากับครอบครัวเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทให้เป็น Holding Company ให้คนนอกเข้ามาถือหุ้นบริษัทได้ โดยที่บริษัทนิวไวเต็กจะถือหุ้นด้วยคนในตระกูลเท่านั้น และแม้ว่ากงสีของตระกูลจะรู้สึกแปลก ๆ ที่เริ่มมีคนนอกเข้ามาทำงาน แต่พี่กรยืนยันว่าเมื่อต้องการอยู่รอดก็จำเป็นต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็น Wawa Group แล้ว พี่กรตัดสินใจทิ้งแพลตฟอร์มตัวเก่าและสร้างแพลตฟอร์มใหม่ชื่อ Mywawa.me ขึ้นมา มีโมเดลหลักเป็น E-Marketplace รูปแบบ B2B เหมือนเดิมแต่ครอบคลุมครบ 45 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน Mywawa.me มียอดซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มเติบโตมากกว่า 1,500 ล้านบาทแล้ว

#ธุรกิจของWawaGroup

พี่กรสรุปนิยามง่าย ๆ ของ Wawa Group ว่าเป็น B2B Solution Provider ที่ตัวธุรกิจรองรับตั้งแต่ต้นน้ำและกลางน้ำผ่านรูปแบบ B2B คือ Business to Business โดยมี 3 เสาหลักธุรกิจ คือ

1) E-Commerce คือ แพลตฟอร์มซื้อขายผ่านเว็บไซต์ ให้ลูกค้าและคนขายเจอกัน

2) E-Finance คือ ระบบชำระเงินที่ปลอดภัยผ่าน Wawa Pay เพราะมียอดโอนซื้อขายหลักล้านบาทต่อการซื้อขายหนึ่งครั้ง

3) E-Logistic คือ ระบบขนส่งแบบเหมาคัน เพราะลูกค้าที่เป็นโรงงานสั่งของจำนวนเยอะ จึงต้องการขนส่งเป็นคันรถในราคาเหมาจ่ายที่ถูกกว่า

#ความรับผิดชอบของทายาทธุรกิจ

พี่กรบอกว่าพอเป็นลูกของเจ้าของธุรกิจที่เข้ามารับช่วงในการบริหาร การจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจในหลาย ๆ เรื่องก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ และมาพร้อมกับทักษะที่ต้องทำให้คนที่อยู่กับบริษัทมา 30-40 ปีให้การยอมรับในตัวเขา “พอเราต้องเป็นผู้บริหารที่ต้องคุมงานเขา ก็จะเกิดคำถามเยอะเป็นเรื่องปกติ ว่าเก่งจริงไหม เป็นใครมาจากไหน” เขาเสริม

บทเรียนสำคัญของพี่กรคือการทำให้พนักงานทุกคนต้องยอมรับก่อน ถึงจะเรียกหัวหน้าได้เต็มปาก และพยายามปรับลดอีโก้ลง แม้ช่วงแรกจะมีการหงุดหงิดบ้างแต่เขาเปลี่ยนวิธีในการเข้าหาพนักงานแบบขอความช่วยเหลือด้วยความอ่อนน้อมมากขึ้นแทน

“ดังนั้นการเป็นหัวหน้าคน ไม่ใช่ว่าได้เป็นหัวหน้า แล้วเขาจะยอมรับ แต่ต้องทำให้คนอื่นยอมรับคุณก่อน คุณถึงจะได้เป็นหัวหน้าคนได้”

#ความรู้นอกตำรา

พี่กรบอกว่าแม้ไม่ได้โอกาสเรียนต่อปริญญาโทอย่างที่ตั้งใจ แต่ก็ได้ความรู้จากการทำงานจริง ยิ่งการที่ธุรกิจของครอบครัวนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมมากว่า 60 ปี เขาก็ได้ใช้วิธี “ครูพักลักจำ” จากคนรอบข้าง ตั้งแต่เซลล์ที่ไปทำงานด้วยกัน จนถึงการเรียนรู้จากคุณพ่อและคุณอาที่มีประสบการณ์จากธุรกิจ

และเมื่ออยู่ในยุคของ VUCA ที่มีความไม่แน่นอน พี่กรเองก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการค้นคว้าจากหนังสือ เสิร์ชกูเกิลหาความรู้ในโลกอินเทอร์เน็ต หาความรู้นอกตำรา และประสบการณ์จากคนอื่น ซึ่งเขาบอกว่าแม้จะพลาดโอกาสเรียนในห้องเรียน แต่สิ่งที่ได้ทดแทนคือได้ลงมือทำจริง ๆ

#รุ่นที่3ไม่ล่มสลาย

“รุ่นที่ 1 สร้าง รุ่นที่ 2 สาน รุ่นที่ 3 ล่มสลาย” ประโยคคลาสสิคที่ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวต้องพบเจอ รวมถึงพี่กรก็เช่นกัน ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า ไม่ผิดจากความเป็นจริง เพราะหลายธุรกิจเป็นแบบนั้น และเห็นมากับตา เนื่องจากปัจจุบันเขาเป็นประธาน Young Printer Group ของสมาคมการพิมพ์ไทย ทำให้เห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงพิมพ์หลายแห่งที่ก่อตั้งมาพร้อม ๆ กับนิวไวเต็ก ส่งต่อมาถึงรุ่นลูกหลาน ก็ไม่ได้ไปต่อ

เขาฝากถึงคนทำธุรกิจรุ่นที่ 2 ว่า ถ้าอยู่ในรุ่นที่ 2 สิ่งที่ควรทำคือสร้างรัฐธรรมนูญครอบครัว เช่น การแบ่งทรัพย์สินและการจัดระเบียบครอบครัวภายในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะมิเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาจนทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้

แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้นิวไวเต็กก้าวผ่านการล่มสลายมาได้? คำตอบของพี่กรคือเรื่องการสื่อสาร ทั้งในเรื่องของธุรกิจ และเรื่องของการความชัดเจนในการแบ่งผลประโยชน์หลายครอบครัวไม่เปิดใจคุยเรื่องนี้เพราะคิดว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่พี่กรบอกว่าทุกบ้านควรคุยกัน แต่การคุยต้องเป็นในรูปแบบนิ่มนวล แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนในการทำงาน แสดงเหตุผลว่าทำไมต้องสร้างระบบขึ้นมาในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ

#คำแนะนำสำหรับคนที่รับช่วงต่อ

“ผู้ใหญ่มองเราเป็นเด็กเสมอ แม้แต่คนที่เห็นเรามาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้นถ้าวันหนึ่งเราต้องไปสั่งเขาให้ทำงาน ข้อแรกคือ ทำให้พวกเขายอมรับ” พี่กรกล่าว

พี่กรแนะนำ 3 เรื่องสำคัญสำหรับคนที่ต้องรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ได้แก่

  1. ‘Humble’ และพยายามสร้าง ‘Quick Win’ – สามารถปรับใช้กับคนที่ทำงานในบริษัทได้เช่นกัน เมื่อสร้างความสำเร็จเล็ก ๆ เก็บไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจมากขึ้น
  2. ต้องมี ‘Flexible Existence’ – คือยืดหยุ่นต่อความเป็นตัวตนของตัวเอง อย่ายึดติดสูตรสำเร็จและไม่ปรับเปลี่ยน
  3. ความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา – ควรอดทนและมีแบบแผนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะการทำงานกับคนที่อายุมากกว่าต้องเรียนรู้การนำประสบการณ์จากพวกเขามาใช้ แล้วแลกเปลี่ยนด้วยการสอนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เขาก้าวทันความเปลี่ยนแปลง

#เป้าหมายต่อไปของพี่กร

พี่กรบอกว่าสำหรับเป้าหมายของเขาในระยะยาวคือการช่วยเหลือ SME และส่งเสริมให้ SME สามารถทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจดั้งเดิมมาสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังรวมถึงทำให้ธุรกิจครอบครัวของตระกูลตัวเองให้ยั่งยืนต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้เขาอยากสร้าง Wawa Sandbox ขึ้นมาเพื่อเป็นกระบะทรายที่ให้เด็กรุ่นใหม่สร้างไอเดียธุรกิจ และต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในโลกธุรกิจ ให้เกิดเป็น Ecosystem ที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เติบโตได้

ขณะเดียวกันเขาให้คำตอบอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายของ Wawa Group คือการเป็น Alibaba แห่ง Southeast Asia ให้ได้ และภายใน 3-5 ปี MyWaWa ตั้งเป้าหมายเป็น Trade and Investment Gateway ของ Southeast Asia  เพราะตอนนี้ยังมีแค่มีธุรกิจแค่ในประเทศไทยเท่านั้น

#บทเรียนที่อยากส่งต่อถึงทุกคน

มีคำ 3 คำที่พี่กรเรียนรู้จากรุ่นพี่สตาร์ทอัพชาวต่างชาติคนหนึ่งและกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่เขาคิดว่าทุกคนสามารถไปปรับใช้ได้กับทุกเรื่อง ทุกสายงานอาชีพ ในยุคนี้ ได้แก่

‘Fail Fast’ – ล้มเร็ว เพราะยุคนี้เป็นยุคของ VUCA ที่มีความไม่แน่นอน จึงไม่มีทางที่ทำธุรกิจแล้วจะไม่ล้ม ดังนั้นพี่กรบอกว่า ถ้าจะล้มเราต้องล้มให้เร็ว

‘Fail Cheap’ – ล้มต้องมีก๊อก 2 ซึ่งคนในวงการสตาร์ทอัปจะใช้ศัพท์ว่า MVP ย่อมาจาก Minimum Viable Product คือ ล้มบ่อยแต่ต้องเสียหายน้อยสุด และจะต้องมีแผนสำรองไว้รองรับเสมอ

‘Fail Forward’ – ล้มไปข้างหน้า อย่าติดใจถ้าทำแล้วล้มเหลว แต่การล้มต้องล้มไปข้างหน้า และต้องบอกได้ว่าทำไมถึงผิดพลาด ไม่ทำผิดซ้ำ รวมถึงพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้พี่กรฝากถึงคนที่มีความฝันว่า อย่ารอให้พร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในยุคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หากเราพร้อมสัก 70 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถเริ่มได้แล้ว โดยใช้หลักการ 3 Fail ดังกล่าว แล้วลงมือทำเลย สิ่งสำคัญคือต้องมีระบบแบบแผน

“ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ล้ม มันล้มแน่ แต่ล้มแล้วจะไปข้างหน้าและไม่หมดตัวได้อย่างไร คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้ดังนั้นล้มให้เร็ว ล้มไม่หมดหน้าตัก เรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง”

กร เธียรนุกุล

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights