เจมส์ วรายุทธ: CEO mu Space สตาร์ทอัพผลิตยานอวกาศและดาวเทียม

บางทีเราอาจจะได้เห็นคนไทยไปอวกาศเร็วกว่าที่เราคิด?

คุยเรื่องอวกาศและการทำธุรกิจใน Aerospace Industry ไปกับ ‘พี่เจมส์’ วรายุทธ เย็นบำรุง ผู้ก่อตั้ง และ CEO ของ mu Space สตาร์ทอัพผลิตยานอวกาศและผู้ให้บริการเครือข่ายดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ร่วมงานกับ Jeff Bezos

 

จุดเริ่มต้นความสนใจด้านอวกาศ

ตัวพี่เจมส์เองให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อที่ชื่นชอบยานพาหนะอย่างรถยนต์และเครื่องบิน คุณพ่อมักจะพาเขาไปชมการแสดงการบิน และพิพิธภัณฑ์ทหารอยู่เสมอ ทำให้พี่เจมส์ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่อายุยังน้อยว่าอยากสร้างอะไรที่มีความไฮเทคและน่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ซึ่งก็หนีไม่พ้นอะไรที่ลอยได้อย่างเครื่องบินและยานอวกาศ เขาจึงเลือกเรียน Aerospace Engineering ที่ UCLA (University of California, Los Angeles) 

คนรอบตัวอาจจะมองว่าการเรียนสาขานี้จะทำให้หางานที่ไทยยากหรือเปล่า แต่พี่เจมส์ไม่ได้มองว่าธุรกิจที่เขาทำจะจำกัดอยู่แค่ในเมืองไทยตั้งแต่แรก เพราะเชื่อว่าทั้งตัวเขาเอง ทีมงาน และธุรกิจมีศักยภาพมากพอที่จะขยายไปสู่ระดับโลกได้

 

ความเสี่ยงที่เลือกเอง

หลังเรียนจบ พี่เจมส์ได้งานประจำงานแรกที่ Northrop Grumman บริษัทผลิตยานอวกาศและอาวุธที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การทำงานที่นี่ทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะ Entrepreneurship หลายอย่างทั้งการเรียนรู้ระบบการทำงานจากบริษัทใหญ่ การสร้างทีม ไปจนถึงการปิดดีลมูลค่าหลักล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีพื้นฐานการทำธุรกิจและพร้อมรับความเสี่ยงแล้ว พี่เจมส์ก็ตัดสินใจออกไปทำธุรกิจของตัวเอง

เขารู้ว่าการออกมาทำธุรกิจเองมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูงอย่างธุรกิจ Aerospace แต่สิ่งที่พี่เจมส์มีเยอะไม่แพ้ความเสี่ยงของการทำธุรกิจนี้คือแพชชัน เขาจึงพร้อมจะทำงานหนักและแบกรับความผิดหวังที่อาจต้องเผชิญไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

 

mu Space

ไอเดียของ mu Space เริ่มมาจากแนวคิดที่ว่าทรัพยากรมีจำกัด แต่ประชากรกลับมีเพิ่มขึ้นทุกปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือมนุษยชาติต้องพยายามหาหนทางอื่นเพื่อเอาตัวรอด และหนึ่งในหนทางก็คือการหาทรัพยากรใหม่ๆ จากนอกโลก พี่เจมส์จึงเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สำคัญในอนาคต และกลายเป็นต้นกำเนิดของ mu Space สตาร์ทอัพผลิตยานอวกาศและผู้ให้บริการเครือข่ายดาวเทียมในที่สุด

 

ร่วมงานกับ Blue Origin

กลายเป็นข่าวดังในวงพอสมควรเมื่อ mu Space ได้ร่วมงานกับ Blue Origin บริษัทยานอวกาศของ Jeff Bezos โดยทาง mu Space ได้ส่งวัตถุ หรือชิ้นส่วนการทดลองที่ mu Space ผลิตขึ้นไปทดสอบในสภาวะเกือบไร้น้ำหนักที่มีแรงโน้มถ่วงเพียงเล็กน้อย (microgravity) ด้วยจรวด New Shepard ของ Blue Origin ถึง 4 ครั้ง

พี่เจมส์เล่าให้ฟังว่าการได้ร่วมงานกับ Blue Origin นับเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีสำหรับทีม เพราะ Blue Origin มีทั้งยานสำหรับทดลองชิ้นส่วนเล็กๆ และมีจรวดนำส่งดาวเทียม ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการตั้งแต่การประกอบชิ้นส่วน การตรวจเช็กคุณภาพ การเจรจากับ Regulator ไปจนถึงขั้นตอนการนำส่ง 

 

คนไทยไปอวกาศ

โอกาสที่คนไทยจะสร้างยานอวกาศที่ส่งคนไปนอกโลกหรือการที่คนไทยเองจะเป็นฝ่ายออกไปอวกาศนั้นพี่เจมส์ให้ตอบมาว่า “เป็นไปได้แน่นอน อยู่ที่ว่าเมื่อไหร่” เพราะถ้าส่งขึ้นไปจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น life support system นอกเหนือจากค่าส่งที่จะคำนวณต่อกิโลเมตร ทำให้ตอนนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงที่เป็นอุปสรรคอยู่ และจะมีคนจำนวนหยิบมือเดียวที่แบกภาระค่าใช้จ่ายไหว

ซึ่งกลุ่มนี้ก็อาจจะได้ไปอวกาศภาย 3-4 ปีข้างหน้า แต่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าราวปี 2040 ค่าใช้จ่ายการส่งมนุษย์ไปอวกาศจะใกล้เคียงกับการนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ การไปอวกาศจะกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเอื้อมถึงมากขึ้น

 

อวกาศเป็นเรื่องไกลตัว?

จากหนังสือ Brief Answers to the Big Questions ของ Stephen Hawking เขากล่าวไว้ว่า การลงทุนในการไปอวกาศเพื่อไปสำรวจทรัพยากรใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญมากในวันที่ทรัพยากรในโลกเราลดลงเรื่องๆ แล้วจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจถึงความสำคัญในสิ่งที่ดูไกลตัวแบบนี้?

พี่เจมส์มองว่าการจะทำให้คนเข้าใจถึงความจะเป็นอาจจะต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่จะเป็นตัวเร่งให้คนเข้าใจถึงความสำคัญของการไปอวกาศมากขึ้นคือต้องทำให้เห็นภาพ เขาตั้งใจไว้ว่าใน 5 ปีจะต้องสร้างดาวเทียมให้ได้ 1,000 ดวง จากนั้นเมื่อ mu Space สามารถส่งดาวเทียมได้แล้วก็อาจจะมีการสร้างท่าอากาศยานแล้วทำงานร่วมกับองค์กรระดับนานาชาติอย่าง NASA 

 

การสร้างอาณานิคมในอวกาศเป็นไปได้ขนาดไหน?

พี่เจมส์เชื่อว่าการที่มนุษย์จะไปสร้างอาณานิคมเป็นของตัวเองเพื่ออยู่อาศัยนอกโลกนั้นเป็นไปได้อย่างแน่นอน พร้อมยกตัวอย่างโปรเจกต์ Artemis ที่พยายามสร้างระบบผลิตพลังงานบนดวงจันทร์โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกแปดสิบกว่า mission ที่เตรียมการส่งมนุษย์ไปนอกโลก

 

โอกาสงานด้าน Space ในไทย

งานด้านนี้จะเหมาะสำหรับคนที่ชอบ ‘คิดค้น’ และลงมือสร้างอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสาย Engineer, Designer หรือ Technician และพี่เจมส์ก็เชื่อว่าโอกาสสำหรับงานด้านนี้ในอนาคตจะมีไม่น้อยเลยเพราะแค่ที่ mu Space ที่เดียวก็ตั้งใจจะขยายบริษัทให้มีบุคลากรถึง 300 คนภายในปีนี้ และราวพันคนภายใน 5 ปีข้างหน้า

 

บทเรียนที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่

ข้อได้เปรียบที่คนรุ่นใหม่มีคือเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรที่ตัวเองชอบหรือรักอยู่ก็อยากให้ลองฟังเสียงคนรอบข้างให้น้อยลง แล้วฟังเสียงตัวเองให้มากขึ้น อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถพัฒนาจนเก่งและเป็นผู้นำได้ แน่นอนว่ายิ่งเป้าหมายใหญ่ ความรับผิดชอบก็ยิ่งใหญ่ตาม แต่ถ้ามั่นใจในตัวเองแล้วก็ลงมือทำได้เลย จะได้ไม่เสียใจทีหลัง


สามารถติดตามเรื่องราวการเดินทางของ Mu Space ได้ที่
Website – https://www.muspacecorp.com/

Youtube –https://www.youtube.com/c/muspacecorp

Twitter – https://twitter.com/muspacetech

LinkedIn – https://www.linkedin.com/company/muspacetech

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights