ดร.สาคร สุขศรีวงศ์: ผู้ก่อตั้ง King’s College โรงเรียนนานาชาติแห่งปี 2020

King’s College International School Bangkok โรงเรียนนานาชาติแห่งปี 2020! ติดตามบทสัมภาษณ์จากผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ได้ที่นี่

เกริ่น

“หากรู้ว่า Passion ของตัวเองคืออะไร และเริ่มจากจุดนั้น ก็มีโอกาสที่จะย่นระยะทางของความสำเร็จหรือสิ่งที่เราต้องการ ตอนนี้อาจยังไม่รู้ แต่หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ชีวิตก็จะพาเราไปถึงจุดนั้นเอง”

คือคำพูดของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ หรือที่ลูกศิษย์มักเรียกกันว่า “อาจารย์หมี” ประธาบริหารโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ที่เพิ่งเป็นกระแสไวรัลในโลกอินเทอร์เน็ตไปเมื่อไม่นานมานี้ จุดเริ่มต้นของโรงเรียนที่ใครเห็นก็อยากเรียนคืออะไร? Passion มีส่วนเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน? อะไรคือข้อแตกต่างที่ทำให้ King’s College พิเศษกว่าโรงเรียนอื่นๆ ในประเทศไทย?

รู้จักกับอาจารย์หมี

วัยเด็กของ อาจารย์หมี ไม่ได้ต่างจากเด็กทั่วไปในชนชั้นกลางซักเท่าไหร่ อาจารย์จบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการกลับประเทศไทยเพื่อทำงานในแวดวงธุรกิจของโลกทุนนิยม อย่างไรก็ตามเป้าหมายจำต้องเปลี่ยน เมื่ออาจารย์ที่เคยร่วมงานด้วยสมัยเรียนปริญญาตรีชักชวนให้ไปช่วยสอนหนังสือที่จุฬาฯ อยู่หลายครั้ง ทำให้อาจารย์เริ่มคิดทบทวนเป้าหมายของตัวเองใหม่ สุดท้ายตัดสินใจกลับมาสมัครสอนหนังสือที่จุฬาฯ หลังเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา

ขณะเป็นอาจารย์อยู่ที่จุฬาฯ มีบริษัทโทรคมนาคมแห่งหนึ่งชักชวนให้ไปเป็นที่ปรึกษา ภายหลังเสนอตำแหน่งงานประจำให้ ซึ่งอาจารย์เองก็ตอบตกลงกับโอกาสครั้งนี้ ขณะเดียวกันยังคงมีแพชชั่นในการสอนหนังสือ สำหรับอาจารย์ การได้สอนเป็นความสุขและความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันดีภายในบริษัทว่าทุกๆ บ่ายวันพฤหัสฯ อาจารย์หมีจะหายตัวรีบไปสอนที่มหาวิทยาลัย โดยเปลี่ยนสถานะจากอาจารย์ประจำกลายเป็นอาจารย์พิเศษ และแม้จะไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอาจารย์ประจำ อาจารย์ก็ยังคงทำงานกับนิสิตอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะงานบริหารกิจการนิสิต อย่าง โครงการบริษัทจำลองจุฬาฯ

ปัจจุบันอาจารย์หมียังคงทำหน้าที่กรรมการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาของจุฬาฯ กรรมการที่ปรึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงมีประสบการณ์ในบริษัทหลักทรัพย์ สถาบันการเงิน บริษัทคอมพิวเตอร์ ทั้งยังร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าและอีกหลายโครงการ นอกเหนือจากนี้ยังมีงานอาสาสมัครเพื่อสังคม อาทิ งานราชการ งานรัฐวิสาหกิจ เช่น เป็นหนึ่งในกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ถึง 6 ปี

ทว่าสำหรับอาจารย์แล้ว งานสอนยังคงเป็นอันดับหนึ่งในใจเสมอ

จุดเริ่มต้น  KingsCollege

จุดเริ่มต้นของโรงเรียน King’s College ประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อลูกชายคนโตวัยสิบขวบของอาจารย์ เดินมาบอกว่าอยากให้ส่งไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อได้ฟังเช่นนั้นแล้ว อาจารย์ขอให้เด็กหนุ่มเขียนเหตุผลมา ซึ่งหนึ่งในแปดเหตุผลที่น้องเขียนมาคือเรื่องระบบการศึกษาที่อังกฤษดีกว่าที่ไทย ในตอนนั้นอาจารย์เองยังไม่เข้าใจนัก เพราะคิดว่าระบบโรงเรียนนานาชาติในไทยกับในอังกฤษน่าจะคล้ายคลึงกัน แต่สุดท้ายก็คล้อยตามเหตุผลและส่งลูกชายไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ

หลังจากที่ลูกชายวัย 10 ขวบได้ไปเรียนที่นั่น พบว่าพัฒนาการของลูกชายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดคำถามในใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คิดต่อไปถึงว่าจะสามารถทำอย่างไร ให้เด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะมีโอกาสได้เรียนในระบบการศึกษาแบบนั้นบ้าง อาจารย์หมีคิดเปรียบเทียบระหว่างระบบโรงเรียนนานาชาติในไทยกับในอังกฤษอยู่นาน จนตกตะกอนได้ 2 เรื่องคือ

  1. โรงเรียนนานาชาติในไทยมีระบบแตกต่างกับในต่างประเทศ แต่ไม่มีการปรับให้ตามกับบริบท เช่น หลักสูตรโรงเรียนประจำในต่างประเทศ ถูกนำมาปรับใช้เป็นโรงเรียนแบบไปเช้า-เย็นกลับ ทั้งยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรการเรียนการสอน บางครั้งก็นำมาแต่ชื่อโรงเรียนแม่แต่ไม่ได้นำคุณภาพมาด้วย
  2. คุณภาพบุคลากรที่แตกต่าง โดยที่ในอังกฤษ บุคลากรที่ทำหน้าที่สอนนั้นจะเป็นบุคคลากรชั้นนำของวงการการศึกษาจริงๆ ด้วยเหตุนี้อาจารย์จึงอยากอุดช่องโหว่และสร้างโรงเรียนนานาชาติที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย

และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของโรงเรียนนานาชาติ King’s College ประเทศไทย

ความแตกต่างที่สร้างความโดดเด่นให้แก่โรงเรียน

อาจารย์หมี สรุปให้ฟังถึงข้อแตกต่างของ King’s College และโรงเรียนนานาชาติอื่นๆ ให้ Career Fact ฟัง 3 ข้อ

  1. เป้าหมาย: เป้าหมายการมีอยู่ของ King’s College คือการเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด ครูใหญ่ของโรงเรียน King’s College Wimbledon ซึ่งเป็นโรงเรียนแม่เองก็อยากให้ King’s College ที่กรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย หากต้องการจะยกระดับการศึกษาไทย เป้าหมายที่ตั้งไว้ก็ย่อมต้องสูงกว่าปกติเป็นธรรมดา
  2. ระบบการศึกษา: โรงเรียนสาขาที่วิมเบิลดันนั้นมีชื่อด้าน Academic Excellence เป็นอย่างมาก กล่าวคือราว 1 ใน 4  ของนักเรียนที่นี่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษอย่าง Oxford และ Cambridge และมีนักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ตัวเองเลือกไว้เป็นอันดับแรกได้ด้วยอัตราที่สูงถึงกว่า 90% แน่นอนว่าสถิติเหล่านี้มีที่มาที่ไป นั่นก็คือหลักสูตรแบบ Co-Curricular Program หมายถึงการนำการเรียนในห้องและกิจกรรมนอกห้อง มารวมไว้ด้วยกันแบบผสมผสาน การจัดตารางเรียนจึงเป็นไปในลักษณะที่เน้นทั้งสองเรื่องประกอบเป็นเนื้อเดียวกัน นอกจากนี้โรงเรียนยังมี Pastoral Care หรือการดูแลนักเรียนแบบครบถ้วนรอบด้านทั้งด้านสุขภาวะร่างกายจิตใจและการเรียน เพราะเชื่อว่าเด็กจะสามารถพัฒนาตัวเองได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขามีความสุข
  3. คุณค่า: นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรของ King’s College จะต้องมี 3 คุณค่าเหล่านี้

1) Good Manners หรือความมีมารยาท นอบน้อม เปรียบเหมือนเปลือกนอกของต้นไม้ที่มองดูแล้วสะอาดตา ทำให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่

2) Kindness หากไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประโยชน์ก็จะเกิดแค่กับตัวเองแต่ไม่เกิดต่อสังคม

3) Wisdom ที่ไม่ใช่เพียงความรู้ผิวเผินแต่คือปัญญาที่แท้จริง

“A great heart takes you further หัวใจที่ยิ่งใหญ่จะพาไปได้ไกลกว่า” คือสโลแกนของ King’s College

อาจารย์หมี กล่าวว่า “สถานศึกษาหลายที่มักโปรโมตว่าจะฝึกให้นักเรียนนักศึกษาเป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็น พวกเขาก็ทำเพื่อตัวเอง โลกไม่ได้อะไรจากความเป็นผู้นำตรงนั้น แต่หากมีสามข้อที่ว่า รวมกันจะกลายเป็น A Great Heart ซึ่งทำให้ไปได้ไกลกว่าคนอื่น แม้เส้นทางอาจจะไม่ตรงตามความคาดหมายของใครๆ แต่เป็นการเดินทางตามศักยภาพและความมุ่งมั่นของตัวเอง เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม”

ทุกรายละเอียดบนเนื้อที่22ไร่ครึ่ง

22 ไร่ครึ่งในใจกลางเมืองถือว่าใหญ่ แต่ถ้าเทียบกับโรงเรียนในชานเมืองก็ไม่ได้กว้างเท่าไหร่นัก จึงมีการตั้งโจทย์ว่าควรทำอย่างไรถึงจะมีพื้นที่ใช้สอยอย่างเหมาะสมและเพียงพอกับนักเรียนและหลักสูตร อย่างแรก อาจารย์มองว่าการสร้างในแนวราบน่าจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าแนวสูง เพราะการสร้างในแนวสูงจะช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากกว่า

อย่างที่สองคือเรื่องการจราจรที่ชุมชนมักจะไม่พอใจเมื่อมีโรงเรียนมาสร้างใกล้ๆ จึงมีการออกแบบให้โรงเรียนสร้างผลกระทบด้านการจราจรน้อยที่สุด และส่งผลให้โรงเรียนมีอาคารจอดรถ 250 คันเตรียมไว้ให้ผู้ปกครอง

อย่างที่สาม โรงเรียนในไทยตอนออกแบบไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เช่น ออกแบบจุดรับ-ส่งนักเรียนแบบไม่มีหลังคา เพราะทุกคนคิดแค่ว่าใช้เวลานิดเดียว แต่หากฝนตกและนักเรียนเปียกฝนพอมาเจอแอร์เย็นก็จะไม่สบายได้ เพราะฉะนั้นการออกแบบการเชื่อมต่อด้านสถาปัตยกรรมที่ดี นับเป็นสิ่งสำคัญให้ชีวิตทุกคนมีคุณภาพขึ้น

เรียกได้ว่า King’s College ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบกับสังคม ตั้งแต่วันแรกที่เปิดการศึกษา

เทียบมูลค่าโรงเรียนกับโรงงานไฟฟ้า แม้มูลค่าในการสร้างโรงเรียนนั้นอาจนับว่ามีเพียงเสี้ยวเดียวของโรงงานไฟฟ้า แต่อาจารย์บอกว่าใช้พลัง ใช้เวลาและความมุ่งมั่นทุ่มเทกับโรงเรียนมากกว่ากันเยอะ แน่นอนว่าเหนื่อย ทว่าเป็นความเหนื่อยที่มีความสุข ทุกๆ วันตื่นขึ้นมาแล้วก็อยากทำงานนี้ให้สำเร็จอย่างดีที่สุด

มองย้อนกลับไป

เมื่อมองย้อนกลับไป อาจารย์หมีคิดว่าโครงการนี้ไม่เพียงนำความสุขมาให้ตัวเอง แต่ยังนำความสุขมาให้ผู้ปกครองจำนวนมากที่อยากให้มีโรงเรียนแบบนี้ในประเทศไทย ฟีดแบคจากผู้ปกครองหลายคนคือ ลูกอยู่ที่โรงเรียนแล้วมีความสุข อยากตื่นไปเรียน อาจารย์จึงรู้สึกดีใจที่วันนั้นตัดสินใจเริ่มทำ จากวันแรกที่แทบไม่รู้เลยว่าการสร้างโรงเรียนใหญ่ขนาดนี้ต้องทำอะไรบ้าง อาจารย์คิดต่อยอดจากคำถามที่ว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดต้องมีอะไร และได้คำตอบว่าต้องมีทำเลที่ดีที่สุดและความร่วมมือจากโรงเรียนที่ดีที่สุด จนถึงวันที่โรงเรียนค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง

คิดทบทวนแล้วก็เป็นไปตามหลักอิทธิบาทสี่ที่นำพาซึ่งความสำเร็จ เริ่มจากมีฉันทะคือความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ จากนั้นวิริยะหรือความเพียรก็จะตามมาเพรารู้สึกสนุกกับการทำตลอดเวลา จิตตะคือความมุ่งมั่นตั้งใจ ในระยะสามถึงสี่ปีที่ผ่านมาอาจารย์ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นหลักมาตลอด เมื่อตั้งใจดูแลตรวจสอบรายละเอียดทุกจุดก็จะได้ผลงานที่ดีออกมา ข้อสุดท้ายคือวิมังสาหรือการไตร่ตรองคิดค้นวิธีแก้ไขไปเรื่อยๆ จนกว่าจะผ่านปัญหาไปได้

มีหลายคนถามอาจารย์หมีว่าทำอย่างไรถึงทำโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ให้สำเร็จได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง อาจารย์ให้คำตอบว่าโรงเรียนนี้คือผลของการกระทำ ซึ่งก็คือการหมั่นทำบุญ ช่วยเหลือคนอื่น เพราะเมื่อก่อนเองอาจารย์ก็ให้ความช่วยเหลือคนอื่นไว้มาก เมื่อถึงเวลาอาจารย์ต้องการความช่วยเหลือบ้างจึงมีคนยื่นมือมาช่วยมากมาย

ก้าวต่อไปของ  KingsCollege

ในปีแรกโรงเรียนจะเปิดรับนักเรียนในช่วง Pre-Nursery หรือ 2 ขวบจนถึง Year 6 ส่วนในปีที่สองมีแพลนว่าจะเปิด Year 7-10 หรือก็คือขยายเป็น Senior School ซึ่งมีรายละเอียดและวิชาเรียนที่แตกต่างจากระดับชั้นแรก ถือเป็นก้าวที่สองที่เป็นความท้าทายสำหรับอาจารย์ แต่เนื่องจากมั่นใจใน Resource และบุคลากรที่มีอยู่ โดยปัจจุบันได้อาจารย์มือดีอีกกลุ่มนึงจาก King’s College ที่วิมเบิลดันมาสอนที่กรุงเทพฯ อาจารย์จึงมั่นใจในคุณภาพและเชื่อว่าทุกอย่างจะออกมาดีอย่างแน่นอน

ก้าวต่อไปที่ไกลกว่าคือ เมื่อทำตัวเองให้ดีแล้ว จะทำอย่างไรให้สังคมไทยโดยรวมได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของ King’s College อาจารย์ตั้งใจให้โรงเรียนนี้เป็นแบบอย่างในเรื่องการศึกษาแก่โรงเรียนอื่นๆ หากมีใครมาขอคำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนธรรมดาหรือนานาชาติ อาจารย์ก็พร้อมอธิบายรายละเอียดให้ฟังทั้งหมด ถ้าขยายขอบเขตให้คนภายนอกรู้ว่าทำอย่างไรโรงเรียนถึงออกมาดี เราก็จะได้สังคมที่ดีขึ้นในภาพรวม

“คนเราไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหน ถ้าเริ่มจากทำตัวเราให้ดีก่อน ระบบก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน” อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights