David Jou: ผู้ร่วมก่อตั้ง Pomelo Fashion สู่การพัฒนาการวงการแฟชั่นไทย

เป้าหมายของเขาคือการพาวงการแฟชั่นไทยก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง

และวันนี้ Pomelo มีแผนจะ IPO หรือ ​เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีนี้

โดยมีมูลค่าการเสนอขายรวมกว่า 300 – 400  ล้านเหรียญสหรัฐ

 

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของ ‘เดวิด จู’ CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Pomelo Fashion ชายผู้มองเห็นทุกช่องว่างทางธุรกิจที่คนอื่นมองข้าม

 

ชีวิตคือการเดินทาง

ชีวิตวัยเรียนของ เดวิด จู ประกอบไปด้วยการเดินทางราว 50% เริ่มจากเกิดที่เยอรมัน แล้วย้ายไปอยู่ที่ชิคาโก้ตอน 8 ขวบ อยู่ได้ประมาณ 3 ปี ก็กลับไปอยู่บ้านเกิดของคุณพ่อคุณแม่ที่เกาหลี แล้วกลับไปเรียนม.ปลายและมหาวิทยาลัยที่อเมริกาต่อ การต้องเดินทางบ่อยๆ แบบนี้ทำให้เขาได้ฝึกทักษะการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยอยู่ตลอด และกลายเป็นผลพลอยได้ที่ช่วยให้เขารับมือกับความไม่แน่นอนของการทำธุรกิจได้ดี

 

ไอเดียสร้างเงินล้าน

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยมีอยู่เทอมหนึ่งที่เขาลงเรียนวิชาภาษาจีน แต่พบว่าตัวเองไม่มีแรงจูงใจในการคัดตัวอักษรหรือท่องศัพท์แม้แต่น้อย จนพักหลังเขาแทบไม่เข้าเรียนในชั้นเรียนเลยด้วยซ้ำ และเนื่องจากเขาต้องฝึกงานที่บริษัท Consulting ซึ่งไม่รับนักศึกษาที่เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.9 เขาจึงไม่มีทางเลือกนอกจากดร็อปเรียนทั้งเทอม เพราะไม่สามารถเลือกดร็อปเฉพาะรายวิชาได้

หลังจากดร็อปเรียนเขาก็กลับไปอยู่บ้านที่ชิคาโก้ ระหว่างนั้นเขาใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน จนคุณแม่ดุให้ลุกขึ้นมาทำอะไรบ้าง เขาจึงรู้สึกว่าไม่ควรปล่อยเวลาผ่านไปเฉยๆ

วันหนึ่ง จู่ๆ ก็มีไอเดียเข้ามาในหัว เดวิดเล่าให้ฟังว่า นักศึกษาส่วนใหญ่จะอยู่หอเวลาเปิดเทอม พอปิดเทอมก็กลับบ้าน แต่เวลาอยู่หอก็จะซื้อของมาไว้ในห้องค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงจักรยาน ถ้าจะให้ขนไปขนมาระหว่างหอพักและบ้านก็คงไม่สะดวก เขาจึงเกิดปิ๊งไอเดียทำ The Boxing Co. บริการจัดเก็บและส่งของขึ้นมา อธิบายง่าย ๆ คือ เวลาปิดเทอมก็จะเก็บไว้ให้ในโกดัง พอเปิดเทอมก็จะเอาไปส่งให้ที่หอพัก ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เวิร์คมากในแง่ของการทำกำไรเพราะเด็กหอแต่ละคนก็มีข้าวของเยอะทำให้เรียกเก็บเงินได้หลายกล่อง แต่ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายก็น้อยเพราะต้องเสียแค่ค่าจ้างคนรับ-ส่งของเท่านั้นเอง เดวิดในวัย 19 ปี สามารถสร้างรายได้หลักล้าน (หากคิดเป็นเงินบาท) จากธุรกิจของตัวเอง นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่เขาเข้าใจถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกิจกา

 

เยือนตลาดSEA

น่าเสียดายที่ตอนนั้นเขายังไม่ได้คิดจะต่อยอดเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง เขามองมันเป็นโปรเจกต์มากกว่าเป็นบริษัทหรือ ‘อาชีพ’ เขาจึงส่งต่อให้กับรุ่นน้องและขอส่วนแบ่งกำไรอีก 3-4 ปีก่อนจะยกให้ไปทำต่อ และตัวเขาเองก็ยังมองว่าต้องหางานประจำทำอยู่ จึงยังคงเลือกเส้นทางพนักงาน

การทำงานที่ Bain & Company สอนทักษะทางธุรกิจให้กับเขาหลายอย่างตั้งแต่การวางกลยุทธ์ไปจนถึงการบริหารโปรเจกต์ ส่วนการทำงานที่ New Mountain Capital ก็ทำให้เขามีโอกาสช่วยวางแผนธุรกิจว่าจะทำยังไงให้บริษัทที่ได้รับเงินลงทุนเติบโต พอลองวางแผนให้หลายบริษัท เขาก็สังเกตเห็นแพทเทิร์นที่คล้ายกันในแต่ละแผนธุรกิจ นั่นคือการขยายไปตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) เพราะเป็นพื้นที่ที่ GDP เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นตลาดขนาดใหญ่ และแทบไม่มีคู่แข่ง พูดง่ายๆ คือสามารถนำผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คิดไว้ให้ตลาดฝั่งตะวันตกไปขายกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เลย

ลึกๆ แล้วเขายังอยากออกมาทำกิจการของตัวเอง เดวิดนึกย้อนกลับไปถึงช่วงที่ทำ The Boxing Co. อยู่ตลอด และรู้สึกว่าตัวเองมีทั้งความรู้ทั้งประสบการณ์มากกว่าตอนนั้นเยอะ เขาเชื่อว่าตัวเองจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา เมื่อเห็นโอกาสในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางมาเยือนเมืองไทย

 

เข้าสู่วงการECommerce

ประมาณ 7-8 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่ E-Commerce กำลังมาแรง แต่เขาไม่มีความรู้ในการทำธุรกิจนี้เลย พอ Lazada หยิบยื่นโอกาสมาให้ เขาจึงคว้ามันไว้ทันที สำหรับเขาการได้ทำงานที่ Lazada เหมือนการถูกจ้างให้ไปเรียน เพราะระหว่างอยู่ที่นั่นเขาได้เรียนรู้การสร้างธุรกิจ E-Commerce จากศูนย์ ทั้งยังได้ทำความเข้าใจตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเมืองไทยมากขึ้นอีกต่างหาก จะบอกว่า Lazada เป็นโรงเรียนที่สอนให้เขาปีกกล้าขาแข็งในโลก E-Commerce ก็ว่าได้

 

Pomelo

เดวิดทำตำแหน่ง Managing Director ให้กับ Lazada อยู่ราวปีครึ่งก็ลาออกมาทำตามความฝันสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยเขาต้องการทำธุรกิจที่ต่อยอดจากกระแส
E-Commerce แต่การจะไปสู้ตลาด E-Commerce เพียวๆ ที่มีผู้เล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada นั้นเป็นเรื่องยาก เขาจึงเริ่มมองหาช่องว่างอื่น

เขาเห็นช่องว่างนั้นในวงการแฟชั่นไทยที่ยังไม่ปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะทั้งในแง่การค้าปลีก ขั้นตอนการผลิต หรือการทำการตลาด เขายังมองว่ากรุงเทพเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เพราะนี่มีนักสร้างสรรค์และนักออกแบบในวงการแฟชั่นมากมาย ทั้งยังมีประวัติอุตสาหกรรมสิ่งทอมายาวนาน Pomelo Fashion จึงถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศไทย

 

ทำทุกอย่างในห้องเดียว

เดวิดบอกว่าช่วงแรกเจออุปสรรคเยอะแยะมากมายจนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนก่อน อย่างแรกเลยคือเขาเช่าห้องในคอนโดทำเป็นออฟฟิศ โดยใช้พื้นที่ข้างห้องครัวเป็นโกดังเก็บเสื้อผ้า ใช้ห้องนั่งเล่นเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ และใช้ห้องนอนเป็นออฟฟิศ และพอได้มาลงมือทำเองหลายอย่างก็ทำให้รู้ว่าภาพที่วาดไว้กับความเป็นจริงมักไม่ตรงกัน ระหว่างถ่ายโฟโต้ชูทรอบแรกก็คิดว่าไปได้สวย แต่พอเอารูปมาดูถึงเพิ่งรู้ว่าการถ่ายงานแฟชั่นให้ออกมาสวยนั้นไม่ง่ายเลย หรือการหาเสื้อผ้าสำหรับล็อตแรกก็ผ่านการรีเสิร์ชเทรนด์มาอย่างดี ทั้งยังนำเข้ามาจากเกาหลีที่น่าจะได้รับความนิยมในไทย แต่พอของมาถึงแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่น่าจะเวิร์ก ถึงได้ลองเปลี่ยนมาผลิตเอง แต่พวกเขาก็ทำได้แค่ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนเริ่มมีลูกค้าเข้ามาซื้อ

 

ถ้าธุรกิจดีพอนักลงทุนก็จะมาเอง

จากประสบการณ์ที่ Lazada ทำให้เขารับรู้มาตลอดว่า ธุรกิจ E-Commerce ต้องใช้เงินเยอะ แต่สิ่งสำคัญที่ควรโฟกัสคือต้องทำธุรกิจให้ออกมาดีเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเดวิดก็เชื่อมั่นอย่างมากว่า Pomelo เป็นธุรกิจที่จะไปได้ดี ทว่า ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ได้ไร้เดียงสาที่แค่ ‘คิดว่ามันดี’ ก็พอแล้ว การพิสูจน์ด้วยยอดขายและลูกค้าที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยหลังจากเจรจากับนักลงทุนครั้งแรกก็จะให้เวลาไปพิสูจน์ตัวเอง ซึ่ง Pomelo ก็สามารถเพิ่มยอดขายได้เป็นเท่าตัวเมื่อครบกำหนดหลังจากการเจรจาครั้งแรก

“ธุรกิจที่เวิร์คต้องมาก่อน แล้วการระดมทุนจะมาเอง” เดวิดกล่าวเอาไว้

 

ความเปลี่ยนแปลงของแบรนด์

ภาพที่เขาวาดไว้แรกๆ คือ การเป็น Online Local Zara แต่หลังจากทำมาเรื่อยๆ ก็มีสิ่งที่ค่อยๆ ต่างจากที่คิดออกไป

อย่างแรกคือเรื่อง Sustainability เขาพยายามลดผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมจากการผลิตเสื้อผ้า Fast Fashion

อย่างที่สองคือมาทาง Omni-Channel แทน จากเดิมตั้งใจจะให้เป็น E-Commerce อย่างเดียว แต่การขายออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการได้ลองสวมใส่ในร้านได้ เขาจึงคิดค้น Tap-Try-Buy บริการให้ลองชุดฟรีตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศขึ้นมา

สิ่งสุดท้ายคือ ตอนนี้ Pomelo ไม่ได้เป็นเพียงแบรนด์เสื้อผ้าแต่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับแบรนด์อื่นด้วย ปัจจุบันมีแบรนด์เสื้อผ้ากว่าร้อยแบรนด์ที่วางขายใน Pomelo ซึ่งทาง Pomelo ก็จะช่วยให้แบรนด์เหล่านี้ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ง่ายขึ้นผ่านคอนเทนท์และ Social Media รวมทั้งช่วยพัฒนาโปรดักต์ด้วย Data เขาทำสิ่งนี้กับแบรนด์ตัวเองมาแล้วจึงอยากช่วยให้วงการแฟชั่นไทยคงความแข็งแกร่งต่อไปด้วยการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล

 

ข้อได้เปรียบ

ข้อได้เปรียบอันดับหนึ่งตอนนี้คือความเป็นแบรนด์ Pomelo ที่เริ่มมีชื่อเสียงทำให้ได้ลองอะไรสนุกๆ อย่างการคอลแลบกับแบรนด์อื่นเช่น บาร์บี้ และ Milin (ดีไซน์เนอร์ชาวไทย) อย่างที่สองคือการมีช่องทางหลากหลาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ต่างจาก E-Commerce ที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก ส่วนค้าปลีกก็เน้นออฟไลน์เป็นหลัก ถึงแม้จะมีแบรนด์ที่พยายามมาจับช่องทางออนไลน์แต่ยังไม่มีเจ้าไหนที่ทำออกมาได้สมบูรณ์ อย่างสุดท้ายคือวัฒนธรรมองค์กร ด้วยความที่คนในทีมมีแต่คนรุ่นใหม่ก็จะมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแตกต่าง และไม่กลัวความล้มเหลว ทำให้บริษัทมีอะไรใหม่ๆ ออกมาอยู่ตลอด

 

บทเรียนที่อยากส่งต่อ

สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าของกิจการคือการมองโลกในแง่บวก เป็นคนที่ขวนขวายหาโอกาสในการเรียนรู้ และทุ่มเทกับสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ เพราะเส้นทางธุรกิจไม่มีทางลัด มีแต่การตั้งใจทำไปเรื่อยๆ ให้บริษัทไปได้ไกลที่สุด

 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights