ชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้คร่ำหวอดในวงการบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 30 ปี

วันนี้ Career Fact จะพาทุกคนมารู้จักกับผู้คร่ำหวอดในวงการบริหารทรัพยากรบุคคล (HR) ที่จะมาตอบทุกคำถามที่เด็กจบใหม่สงสัย ติดตามได้ที่นี่!

รู้จักกับพี่ชุ

พี่ชุ ชุติมา สีบำรุงสาสน์ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการบริหารทรัพยากรบุคคล เธอทำงานสายนี้มาเกือบ 30 ปี เคยสัมภาษณ์ผู้สมัครมาแล้วกว่า 10,000 คน ผ่านมาแล้ว 11 บริษัท ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Chief Human Resources Officer ที่บริษัท Gulf Energy Development Public Company Limited เธอจะมาเล่าประสบการณ์เส้นทางสาย HR พร้อมให้คำแนะนำและเคล็ดลับที่จะช่วยให้เด็กจบใหม่พบงานที่เหมาะกับตัวเอง

จุดเริ่มต้นสายงาน HR

พี่ชุเรียนจบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ หลังเรียนจบเธอมีโอกาสได้ทำงานในเอเจนซี่ท่องเที่ยวสองแห่งและพบว่าธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ใช่ทางของเธอ เธอจึงเริ่มหางานใหม่ผ่านบริษัทจัดหางานชื่อว่า Ecco (หรือ Adecco ในปัจจุบัน) ทว่าขณะที่เธอไปสัมภาษณ์กับ Recruiter คนกลาง เขาได้เห็นอะไรบางอย่างในตัวเธอและรับเข้าทำงานเป็น Recruiter กับทางบริษัทโดยตรง ในตอนนั้นงานที่พี่ชุให้ความสนใจเป็นพิเศษคืองานที่ได้พบปะกับผู้คนและช่วยซัพพอร์ตให้คนอื่นเติบโต เธอคิดว่าตำแหน่งนี้ตอบโจทย์ที่สุดจึงตกปากรับคำ

เมื่อพบงานที่ใช่ พี่ชุก็เริ่มสนใจสายงาน HR ในมิติอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากการรีครูท และตัดสินใจเข้าทำงานด้านทรัพยากรบุุคคลที่ให้โอกาสในการทำงาน Corporate HR แต่เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มากพอ จึงเริ่มด้วยตำแหน่งเลขานุการ Executive Secretary to HR Director ที่บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรีไปก่อน แม้คุณสมบัติและประสบการณ์ของเธอจะสามารถสมัครตำแหน่งที่สูงกว่านี้ได้ แต่เพราะเธอเห็นว่ามีโอกาสเรียนรู้สายงาน HR จากตำแหน่งนี้ เธอจึงสมัครไป

“บางทีในการเลือกเข้าทำงานในบริษัท แต่ละแห่งเราไม่ได้มองว่าตำแหน่งมันคืออะไร แต่ดูว่าเนื้องานคืออะไร และเราจะจะได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไร” พี่ชุกล่าว

หลังจากทำงานอยู่พักหนึ่ง พี่ชุก็ตระหนักได้ว่า หากต้องการเติบโตในสายงาน HR องค์ความรู้พื้นฐานก็ย่อมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี เธอจึงสมัครเรียนปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ (SASIN) ในสาขา Human Resource Management ที่มุ่งเน้นไปการบริหารงานบุคคลโดยมีบริบททางด้านธุรกิจค่อนข้างมาก ถือเป็นจุดเปลี่ยนมุมมองของเธอที่มีต่อสายงาน HR ให้มีความ Business Centric มากขึ้น 

Transformation

“กลายเป็น Branding ของพี่ไปแล้วว่า ไปที่ไหนคือเขาต้องการความช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลง”

จากประสบการณ์การทำงานทั้งหมด11 บริษัท ในทุกๆ บริษัทที่พี่ชุมีโอกาสเข้าไปร่วมงาน เธอจะต้องไป “เปลี่ยน” อะไรบางอย่าง เธอมีเรื่องเล่ามากมาย แต่เราจะขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังสักหนึ่งตัวอย่างในครั้งที่เธอทำงานกับบริษัท Novartis ประเทศไทย จำกัด

บริษัท Novartis เป็นบริษัทผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาต้นแบบจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เธอเข้าทำงานในตำแหน่ง Corporate Head of Human Resources ผลงานของเธอในขณะนั้นคือการได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของทีม HR จากเดิมที่ค่อนข้างทำงานสายซัพพอร์ตคล้ายงานแอดมินเป็นหลัก ให้กลายเป็น Business Partner ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างคน สร้างองค์กร และปรับเปลี่ยน Culture การทำงานจริงๆ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่วงการธุรกิจยามีการออกกฎควบคุมให้มีการใช้ยาอย่างถูกต้องมากขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานและจรรยาบรรณในการดำเนินกิจการในอุตสาหกรรมยา พี่ชุจึงมีโอกาสได้จัดหาและคัดสรรบุคลากรในวงการแพทย์ให้มาทำตำแหน่ง Chief Medical Director ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาดให้กับผู้ใช้ยา คือบรรดาแพทย์ ถือเป็นตำแหน่งผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญประจำองค์กรที่มีความสำคัญมาก 

ในตอนนั้น  สำหรับเธอแล้วการสัมภาษณ์ผู้สมัครในตำแหน่งนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมากเพราะเธอแทบไม่มีความรู้เรื่องยา แต่กลับต้องมาสัมภาษณ์คัดเลือกบุคคลที่จะเข้าไปทำตำแหน่งที่สำคัญอย่างมากต่อองค์กรแถมส่วนใหญ่ยังเป็นคุณหมอหรืออาจารย์หมอ ซึ่งเป็นบุคลากรวิชาชีพพิเศษในสังคมบ้านเรา สิ่งสำคัญที่ทำให้พี่ชุสามารถคัดเลือกคนที่ใช่ให้กับองค์กรได้ คือการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้  เธอถามคุณหมอซึ่งเป็นผู้สมัครในตำแหน่งที่มาสัมภาษณ์ไปตรงๆ ว่า “หมอช่วยพูดภาษาคนให้พี่รู้เรื่องได้มั้ย เพราะถ้าพี่ยังไม่เข้าใจว่าคุณหมอทำอะไรมาบ้าง เชี่ยวชาญด้านไหน  พี่จะไม่สามารถบอกได้ว่า คุณหมอจะเป็นคนที่ใช่สำหรับเราหรือไม่ ” ซึ่งการถามคำถามอย่างตรงไปตรงมา ก็เพื่อให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้องและช่วยให้เธอเลือกบุคลากรที่เหมาะสมมากที่สุด

เคล็ดลับสมัครงาน

6 คำถามยอดฮิตของเด็กจบใหม่ที่ Career Fact รวบรวมถามพี่ชุมาฝากเพื่อนๆ ตามนี้

1) มองหาอะไรในตัวเด็กจบใหม่เป็นหลัก?

พี่ชุ: พี่มองหา 1. ความเป็นตัวตน  (Identity) ต้องมี 2. มี Team Player DNA ไหม สำหรับสังคมการทำงานในบริษัทฯ  เราไม่สามารถทำงานให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวคนเดียว เราต้องการให้เด็กรู้จัก Connect กับคนอื่นเพราะในสังคมยุคนี้น้อง ๆ รุ่นใหม่ คุณเป็น Me Society ขณะที่การทำงานเป็น We Society การรู้จักสร้างความสัมพันธ์ เรียนรู้จากผู้อื่น ต่อยอดการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ ในสภาวะการทำงานที่อยู่ภายใต้ความ New Normal ทำให้บางครั้งเรามีความจำเป็นต้องติดต่อกันผ่านรูปแบบการสื่อสารที่เปลี่ยนไป ทักษะการสื่อสารจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้คนที่มี Learning Agility และคนที่เปิดรับความท้าทายล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่องค์กรมองหา ส่วน Commitment พี่คิดว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่ต้องสร้างร่วมกันกับพนักงาน อย่าไปคาดหวังว่าเด็กจะเข้ามาบอกว่า “โหย หนูจะอยู่กับพี่ 10 ปี” อันนั้นน่ะ พูดให้คนสัมภาษณ์ดีใจ แต่ในมุมของบริษัท เราต้องคิดว่าถ้าเด็กมาทำ 3 ปีแล้วไปเรียนต่อ จะทำยังไงให้เขาอยากกลับมาทำกับบริษัทเรา

2) จะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนมีคุณสมบัติแบบที่ต้องการ สัมภาษณ์ครั้งเดียวรู้เลยหรือ?

พี่ชุ: มีหลายวิธีนะคะ ถ้าเรารีครูทพร้อมๆ กันหลายคน เราสามารถดู Team Dynamic จากกระบวนการคัดเลือกหลายๆ รูปแบบ เช่น  Group Assessment หรือ Simulation Workshop ได้ เวลาคุณอยู่ด้วยกัน ความเป็นตัวตนจะออกมา เช่น เวลาพรีเซนท์งาน ก็จะมีคนที่ฉันต้องเด่นที่สุด ฉันต้องได้งาน คนอื่นเป็นยังไงไม่สน เราก็จะดูได้ว่าคุณมี Team Spirit ไหม อีกแบบหนึ่งคือจะดูจากกิจกรรมที่คุณระบุไว้ใน CV แต่เด็กเดี๋ยวนี้ก็ปั้นโปรไฟล์กันเก่ง เราก็จะให้คุณเล่าว่าไปทำอะไรมา หรือถามคำถามแปลกๆ คนอื่นถามว่าเคยประสบความสำเร็จอะไรมาบ้าง แต่พี่จะถามว่าเคยประสบความล้มเหลวอะไรมาบ้าง คนเราต้องรู้จักเรียนรู้ คุณเคยเรียนรู้จากความล้มเหลวไหม

3) กลับกัน ถ้าเด็กจบใหม่หางานแรก เขาควรมองอะไรเป็นหลัก?

พี่ชุ: อย่ามองเงินเป็นประเด็นหลัก อยากให้เริ่มต้นจากเรากำลังมองหาอะไรอยู่ หลายๆ องค์กรอาจจะไม่ได้มี Affordability จ่ายเงินเดือนแพงๆ แต่เขาอาจจะมีอย่างอื่นที่มอบให้ได้ เช่น บริษัทใหญ่ เขาก็จะมีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน แต่การได้เข้าไปร่วมงานก็จะทำให้เห็นภาพการทำงานที่กว้างขึ้นและมีความเป็นระบบ ส่วนสตาร์ทอัพก็จะมีสภาพแวดล้อมอีกแบบหนึ่ง อาจจะไม่ได้มีความเป็นระบบระเบียบแบบองค์กรใหญ่แต่คุณก็จะมีอิสระมากขึ้น คุณก็ต้องหาตัวเองให้เจอว่าคุณชอบแบบไหน มองหาว่าเขามีพื้นที่ให้เราแสดงศักยภาพไหม มองหาว่าเรามีโอกาสในการเรียนรู้ไหม มองหาว่าอะไรจากงานนี้ที่สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้

4) หลายคนมองว่าเด็กสมัยนี้ใจร้อน อยู่ได้เดี๋ยวเดียวก็ย้ายงาน อยากทราบว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?

พี่ชุ: ส่วนตัวพี่ไม่ถือเรื่องการย้ายงานเพราะพี่เองก็ย้ายงานบ่อย แต่คุณต้องมีเหตุผลของการย้ายงาน คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณเข้าไปคุณให้อะไรกับองค์กรหรือยัง คุณเรียนรู้ครบ Cycle of Business หรือยัง อย่างน้อยควรอยู่สัก 1 ปี จะได้เห็นวงจรการทำงาน อย่างเช่นการตั้งงบประมาณตอนต้นปี จากนั้นก็เป็นการ Perform แล้วปิดงบตอนท้ายปี พี่เองย้ายไปหลายบริษัทแต่ทุกๆ บริษัทที่พี่เข้าไปคือไป Change องค์กร และเมื่อองค์กรเริ่มมั่นคงแล้วพี่ถึงออก ดังนั้น ถ้าจะให้ตอบคำถามก็คือ ย้ายได้ แต่ก็ต้องตอบให้ได้ด้วยว่าย้ายเพราะอะไร

5) ข้อแนะนำสำหรับเด็กจบใหม่ที่ยังไม่มีเป้าหมายในองค์กรที่ชัดเจน

พี่ชุ: เดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราไม่รู้ว่าในอีกสามปีข้างหน้าหน้าตาบริษัทจะเป็นยังไงด้วยซ้ำ พี่ว่าเปลี่ยนจากการตั้งเป้าหมายเป็นตั้งว่าเราต้องการอะไรจากการเข้าไปทำงานที่นั่นดีกว่า แล้วทุกๆ ปีเมื่อเรากลับมาทบทวนว่าได้อะไรบ้าง เป้าหมายของเราก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตัวพี่จะทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้อยู่เสมอ อาจจะเป็นทุกๆ 6 เดือน ว่าที่ผ่านมาเรามีการพัฒนาอะไรกับตัวเองและกับงานไปบ้าง  เราต้องเสริมอะไรเพิ่ม หรือ อยากทำอะไรใหม่บ้าง หรือมีอะไรที่เราคิดไว้แล้วยังไม่ได้ทำบ้าง เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงและวางแผนสำหรับอนาคตต่อไป ส่วนการวางแผนระยะยาวคงต้องใช้เวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของเราก่อน  อย่างตัวพี่เองหลังจากทำงานจนมีประสบการณ์ไประยะหนึ่ง ถึงเริ่มทบทวนสิ่งที่ตัวเองชอบและอยากทำเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาซึ่งใช้ทักษะความรู้และประสบการณ์จากบริษัทต่างๆ ที่เคยทำมาในหลายอุตสาหกรรม และตั้งเป้าหมายว่า ในอนาคตหากมีโอกาสก็อยากจะเป็น Consultant สำหรับเด็กจบใหม่อาจจะต้องเริ่มคิดว่าเราอยากได้อะไรจากงานแรก เช่น การทำงานกับคนที่มีความรู้ที่จะให้คำแนะนำเราได้ การเรียนรู้ธุรกิจที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

6) มีความเห็นอย่างไรกับการทำตาม Passion?

พี่ชุ: การทำตาม Passion ไม่ผิด แต่คุณต้องเลือกให้ Passion คุณแมทช์กับองค์กร ถึงบอกว่าคุณต้องศึกษามาก่อนว่าคุณต้องการอะไร อย่างพี่จบศิลปศาสตร์ เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คนอื่นอาจจะคิดว่าต้องไปเป็นครู แต่พี่ไปทำบริษัททัวร์เพราะชอบงานบริการชอบติดต่อ พบปะผู้คน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของพี่ น้องต้องพยายามลิ้งค์ Passion ให้เข้ากับเนื้องาน และตั้งคำถามว่าบริษัทนั้นให้โอกาสเราทำตาม Passion นั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเวลาเขาเปิดให้ถามคำถาม กรุณาถาม เพราะบริษัทก็อยากรู้ว่าคุณสมัครมาคุณสนใจมาทำงานกับเราจริงๆ หรือแค่มาด้วยเงิน อาจจะถามคำถามที่แสดง Passion เช่น การเตรียมตัวก่อนเข้าทำงานหรือทำการบ้านเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์มาก่อน

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่

เมื่อ Career Fact ให้พี่ชุฝากอะไรกับคนรุ่นใหม่ เธอกล่าวไว้ว่า เราต้องมี Mindset ของการเรียนรู้ตลอดเวลาในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่าคิดว่าตัวเองยังเด็ก ยังมีเวลา แต่ควรมองว่าทุกๆ วันของการทำงานคือ Investment of Time and Afford of Learning “ในโลกปัจจุบัน คุณหยุดเรียนคือคุณตาย คุณหยุดเรียนคือคุณถอยหลัง”

เธอยังแนะนำให้ใช้เวลาทบทวนตัวเองในทุกๆ วันว่าวันนี้เรา Contribute อะไรให้กับองค์กร วันนี้ได้เรียนรู้อะไรที่แตกต่างจากเมื่อวาน วันนี้เรายังขาดอะไรและได้เตรียมพร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้หรือยัง ในยุคของการเปลี่ยนแปลง เราต้อง Learn Fast, Fail Fast ถ้าคุณไม่ได้ล้มเหลวแสดงว่าคุณไม่ได้ลงมือทำ แต่หากล้มเหลวแล้วก็ต้องรู้จักปรับปรุงแก้ไข

“ทุกโอกาสที่เข้ามาคือการเรียนรู้ มันอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่มันคือบทเรียนที่จะทำให้เราเติบโต” พี่ชุเอ่ยทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights