แจ็ค ชวิน ศุภวงศ์: Co-Founder และ COO แห่ง FoodStory

พบกับ ‘พี่แจ็ค’ ชวิน ศุภวงศ์ Co-Founder และ COO แห่ง FoodStory สตาร์ทอัปที่คว้าเงินล้านจากรายการ SME ตีแตก ชายผู้ลาออกจากงานประจำที่ทั้งมั่นคงและอนาคตไกลเพื่อมาเสี่ยงเอาดาบหน้ากับสตาร์ทอัปที่เพิ่งได้รับเงินลงทุนรอบ Series B เรื่องราวของเขาจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

เด็กสายกิจกรรม

พี่แจ็คในวัยเรียนค่อนข้างทำกิจกรรมเยอะเพราะพอเข้าสู่วัยมัธยมก็อยากใช้เวลาอยู่กับเพื่อนนานๆ และผลพลอยได้ที่พี่แจ็คได้รับมาโดยไม่รู้ตัวคือ Soft Skills อย่างความเป็นผู้นำติดตัวมาด้วย ส่วนเรื่องเส้นทางเรียน พี่แจ็คบอกว่าช่วงวัยเด็กของตัวเองก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ยังไม่ได้รู้จักโลกมากนัก เมื่อถึงเวลาต้องเลือกเส้นทางชีวิตตัวเองก็เลยได้รับอิทธิพลจากผู้ใหญ่รอบข้างมากกว่ามาจากการตัดสินใจของตัวเอง โดยในตอนนั้นทางเลือกหลักๆ ก็ถูกตีกรอบแค่สองทางคือไม่หมอก็วิศวะ ซึ่งพี่แจ็คเองมองว่าเขาถนัดด้านคำนวณมากกว่าและไม่คิดว่าอาชีพหมอจะเหมาะกับตัวเอง จึงมาจบที่วิศวะ
เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยพี่แจ็คก็ตั้งใจไว้ว่าจะไม่เน้นเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากรู้ตัวว่าไม่ใช่คนเรียนเก่งขนาดนั้น เขาเลยสมัครเป็นประธานนิสิตชั้นปีที่ 1 บ้าง สมัครเข้าชมรมฟุตบอลบ้าง แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ อยู่ช่วงปี 3 ที่พี่แจ็คเข้าชมรมโรบอท ทำให้พี่แจ็คได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ จนต่อยอดเป็นรถยนตร์ไร้คนขับที่พี่แจ็คทำเป็นโปรเจกต์จบที่ร่วมกับเพื่อน โดยโปรเจกต์นี้สามารถคว้าอันดับ 1 ของประเทศไทยในการแข่งขัน การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย 2551 Thailand Intelligent Vehicle Challenge 2008 มาได้อีกด้วย

โรงเรียนสอนทำมาหากิน

พี่แจ็คเริ่มงานแรกที่บริษัท P&G ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาเคยฝึกงานด้วยในช่วงปิดเทอมใหญ่ตอนปี 3 สาเหตุที่เขาเลือกที่นี่แม้จะได้ออฟเฟอร์จากบริษัทอื่นที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่านั้นเป็นเพราะวัฒนธรรมการทำงานและระบบการเทรนพนักงานของ P&G นั้นดีจนทำให้พี่แจ็ครู้สึกว่า “คุณค่าของเรามันเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เราไปทำงาน” เขาเลยมองว่าการอยู่ที่นี่จะทำให้เขาได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่มากกว่า
สำหรับพี่แจ็ค P&G เปรียบเสมือนโรงเรียนที่สอนให้เขา “ทำมาหากินเป็น” เพราะสองสิ่งที่พี่แจ็คได้เรียนรู้จากที่ P&G คือ 1. Supply Chain Management 2. ทักษะการสื่อสาร ซึ่งสำหรับพี่แจ็คถือว่าเป็นสองอย่างที่ได้ใช้ตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งยังได้เรียนรู้ว่าทำไมบริษัทถึงต้องมี Vision ของตัวเอง ได้เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ จนสามารถนำมาปรับใช้เมื่อถึงคราวที่พี่แจ็คเปิดบริษัทเป็นของตัวเองบ้าง

เลือกเรียนต่อในเมืองไทย

ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่ P&G พี่แจ็คก็ยังคงค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ บวกกับค่านิยมเรื่องปริญญาในสังคมไทย ทำให้พี่แจ็คตัดสินใจเรียนปริญญาโทต่อ เมื่อตัดสินใจเช่นนี้คนส่วนใหญ่ก็มักจะเชียร์ให้เรียนต่อเมืองนอกมากกว่า แต่ส่วนตัวพี่แจ็คลองชั่งน้ำหนักดูแล้วก็ยังเลือกเรียนต่อในไทยเพราะยังรู้สึกว่าที่ทำงานก็ยังให้ประสบการณ์และมีสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบอยู่ โดยพี่แจ็คเลือกเรียนสาขา International Marketing ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะอาจารย์ที่มาสอนนั้นส่งตรงจากต่างประเทศที่ผ่านการคัดเลือกจากทางมหาวิทยาลัยมาแล้วและสังคมในห้องเรียนก็เป็นสังคมที่พี่แจ็คอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนที่เลือกเรียนเป็นหลักสูตรนานาชาติก็เพราะพี่แจ็คมองว่าตัวเองยังสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ดีเท่าไรจึงพยายามหาโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการพูดในชีวิตประจำวันมากขึ้น

จุดเริ่มต้นเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง

อีกข้อดีของ P&G สำหรับพี่แจ็คคือทางบริษัทจะให้พนักงานเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ทุกๆ 2-3 ปีเพื่อให้ได้เรียนรู้การทำงานในหลากหลายภาคส่วน หลังจากเรียนปริญญาโทมาแล้ว พี่แจ็คจึงเขียนลงใน Career Interest ว่าอยากลองทำงานในต่างประเทศบ้าง ซึ่งในท้ายที่สุดพี่แจ็คก็ได้รับโอกาสในการทำงานที่สิงคโปร์ในฐานะ Regional Program Manager
ความจริงแล้วพี่แจ็คมีความทะเยอทะยานลึกๆ ว่าอยากเป็นผู้ประกอบการมาตลอด ระหว่างทำงานประจำจึงคอยมองหาโอกาสอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งหลังจากทำงานที่สิงคโปร์ได้สักพัก โอกาสก็เข้ามาหาพี่แจ็คเอง โดยมีเพื่อนสิงคโปร์คนหนึ่งกำลังตามหาคนเขียนโปรแกรม พี่แจ็คจึงแนะนำเพื่อนคนไทยที่เปิดบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ที่ชื่อ Living Mobile ให้ ระหว่างประสานให้ทั้งสองฝั่งพี่แจ็คก็ได้ศึกษาว่า Living Mobile ทำโปรดักต์อะไรบ้างแล้วรู้สึกสนใจโปรเจกต์ FoodStory ที่กำลังทำอยู่ พี่แจ็คจึงใช้เวลาหลังเลิกงานช่วยเพื่อนวางกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจ บางครั้งก็ถึงขั้นบินกลับมาที่ไทยเพื่อมาร่วมพูดคุยกับเพื่อนหรือเพื่อเจรจาทำธุรกิจให้
พี่แจ็คบินกลับไทย-สิงคโปร์อยู่แบบนี้ประมาณหนึ่งปีจนเริ่มอินกับมันและเห็นศักยภาพที่โปรดักต์นี้จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธุรกิจร้านอาหารได้ ประกอบกับอยากเห็นว่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่เขาช่วยวางไว้ให้จะสามารถทำได้จริงหรือเปล่า พี่แจ็คจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Living Mobile และ FoodStory โดยยอมไม่รับเงินเดือนในช่วงที่บริษัทยังไม่มีรายได้เพื่อแลกกับตำแหน่ง Co-Founder ฝ่าย Business Development

โหมดเอาชีวิตรอด

บทบาทของพี่แจ็คหลังจากเข้ามาในช่วงปีแรกคือการเดินสายระดมทุนจากนักลงทุน แต่ผ่านไป 1 ปี นักลงทุนก็ยังไม่ให้ความสนใจ พี่แจ็คกลับมาทบทวนตัวเองว่าปัญหาอยู่ที่อะไร ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือนักลงทุนต้องการคือผลตอบแทนจากการลงทุน เขาจึงตัดสินใจกลับมาโฟกัสที่การสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเป็นหลักเพื่อพิสูจน์ให้เหล่านักลงทุนเห็นว่าธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้ได้จริง เพราะไอเดียเป็นสิ่งที่ใครก็คิดได้ การลงมือทำให้เกิดผลต่างหากคือของจริง
ช่วง 2-3 ปีแรกนั้นเรียกได้ว่าเป็นโหมดเอาชีวิตรอดอย่างแท้จริง เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ก็เอาไปขยายทีมหมด แต่สุดท้ายก็ผ่านช่วงนี้ไปจนสามารถจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองได้บ้าง และถึงแม้จะระดมทุนไม่ได้ แต่ก็สามารถคว้าเงินล้านจากรายการ SME ตีแตก The Final 2016 ทำให้ตัวบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจนเริ่มมีลูกค้ารายใหญ่ระดับ Corporate เข้ามา
กว่า FoodStory จะได้รับเงินจากนักลงทุนอย่าง Wongnai ก็เข้าปีที่ 6 แต่เงินที่ได้มาก็ทำให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้สามารถดึงตัวคนเก่งๆ มาแบ่งเบาภาระงานได้ ส่วนพี่แจ็คก็ผันตัวไปเป็น Chief Operating Officer (COO) เพื่อบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น สร้างทีม Customer Service สร้างระบบการขาย รวมถึงฝั่งที่ไม่ได้มีประสบการณ์มาก่อนอย่างบัญชีและการเงิน
“จากช่วงแรกที่เราออกไปบู๊เอง ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นการสร้างกองทัพออกไปบู๊พร้อมกับเรา” พี่แจ็คกล่าว

ผู้ประกอบการVSพนักงานบริษัท

ความแตกต่างของการเป็นผู้ประกอบการและพนักงานบริษัทใหญ่คือทรัพยากร เวลาทำงานอยู่บริษัทแล้วมีข้อสงสัยอะไรก็สามารถถามจากแผนกที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ ได้ทันที แต่พอเป็นบริษัทของตัวเองก็ต้องอาศัยการถามเพื่อนถามคนรู้จักเอาเอง ทว่า พี่แจ็คมองว่ามันก็เป็นข้อดีที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และเติบโตอยู่ตลอดเวลา
เรียกได้ว่าพี่แจ็คเรียนรู้มาทั้งชีวิตเลยใช่ไหม
“พี่เรียนรู้อยู่ตลอด” คือคำตอบของพี่แจ็ค เขายังเสริมด้วยว่ายุคปัจจุบันเป็นยุคของการเรียนรู้ตลอดชีวิตแล้วเพราะความรู้เดี๋ยวนี้พัฒนาเร็วมาก มีงานวิจัยและการค้นพบต่างๆ สามารถถูกตีพิมพ์บนอินเทอร์เน็ตให้คนอ่านได้ตลอดเวลา การเรียนรู้จึงกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี เพราะถ้าใครหยุดตอนนี้ก็เท่ากับถอยหลัง เพราะฉะนั้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจึงกลายเป็นส่วนสำคัญในเกณฑ์คัดเลือกคนเข้ามาร่วมทีมของพี่แจ็ค

ก้าวต่อไป

พอสามารถทำเป้าหมายแรกคือการพิสูจน์ว่าสามารถสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองได้สำเร็จ ปัญหาที่พี่แจ็คเจอคือเรื่องหมดแพสชัน เหมือนกับการปีนขึ้นไปถึงยอดเขาแล้วเกิดคำถามกับตัวเองว่า “แล้วจะเอาไงต่อ?”
แต่สิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงให้พี่แจ็คยังลุกขึ้นมาทำงานต่อคือการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จนได้ไปเจอยอดเขาลูกใหม่คือเรื่องของ ‘คน’ เพราะพี่แจ็คมองว่าทรัพยากรเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนและเป็นสิ่งที่เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับบริษัท
เมื่อพี่แจ็คมองย้อนกลับมาที่บริษัทตัวเองก็พบว่าสิ่งที่ทำให้บริษัทผ่านช่วงเวลาหนักหน่วงมาได้คือนวัตกรรม แต่ข้อเสียคือนวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน พอทำได้ก็มีคนทำตาม คู่แข่งที่มีกำลังเงินและทรัพยากรเยอะกว่าก็จะเริ่มลงมาเล่นด้วยจนบริษัทเล็กๆ ต้องปรับตัวหานวัตกรรมใหม่หรือตลาดใหม่ ซึ่งการที่บริษัทจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องเริ่มจากมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพก่อน พี่แจ็คจึงค้นพบแพสชันใหม่ในเรื่องของการดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน แต่การจะดึงคนเก่งๆ มาได้ก็ต้องมี Career Path ที่ดีให้กับคนเหล่านี้ สุดท้ายเป้าหมายต่อไปของพี่แจ็คก็มาจบที่การทำบริษัทให้โตเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป

บริษัทคือโรงเรียน

พี่แจ็คอยากให้องค์กรที่ตัวเองสร้างขึ้นเป็น Practical School ที่สอนทักษะที่ใช้ได้จริงในการทำงาน เพราะตัวพี่แจ็คเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่ทำให้พี่แจ็คมีวันนี้ได้จาก P&G เขาอยากทำอะไรเพื่อคืนกำไรสู่สังคมบ้างจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต Digital Work Force ออกมา
“อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ามี #LivingMobileAlumni บ้างก็คงเท่ดี”

ทิ้งท้าย

เราถามพี่แจ็คว่ามีบทเรียนอะไรที่อยากฝากไหม พี่แจ็คจึงให้คำตอบมาว่าอย่างแรกคืออยากให้ทุกคนรู้จักตัวเอง อยากให้คุยกับตัวเองให้เยอะๆ ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร (นอกเหนือจากเงิน เพราะเงินเป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว) อยากให้ถามลึกลงไปอีกว่าต้องการออกแบบชีวิตให้ออกมาเป็นแบบไหน ทั้งในแง่การทำงาน ครอบครัว ไลฟ์สไตล์ หรือแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย และแน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องการย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เราจึงควรถามคำถามนี้กับตัวเองเรื่อยๆ
อย่างที่สองคือความมั่นคงในยุคนี้อาจจะไม่มีอยู่จริงเหมือนสมัยก่อน ที่ความมั่นคงอาจจะอยู่ที่ปัจจัยภายนอกอย่างบริษัท ทุกวันนี้ความมั่นคงที่แท้จริงอยู่ที่ตัวเราเอง อยู่ที่ความรู้และประสบการณ์ที่ไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้และมีแต่จะมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราหมั่นสั่งสมและพัฒนา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสมาชิกร่วมทีมที่พี่แจ็คตามหาคือคนที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลา
“ถ้าเรามีคุณค่า บริษัทก็จะอยากได้เรา”

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights