“หมอ” อาชีพในฝันของเด็กไทย กับเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

Home » Career Fact » Interview » “หมอ” อาชีพในฝันของเด็กไทย กับเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“หมอ” คืออาชีพที่หลายคนเคยใฝ่ฝันว่าอยากเป็นในวัยเด็ก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากค่านิยมทางสังคมว่าคนที่เรียนเก่งต้องเป็นหมอ แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิต บางคนอาจจะเข้าไปเรียนด้วยความคาดหวังจากที่บ้าน โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหลังจากเรียนจบไปแล้วชีวิตจะเป็นยังไง แน่นอนว่าชีวิตคงจะไม่ได้สบายและสวยหรูเหมือนที่คนนอกมองภาพ 

วันนี้ Career Fact จะมาเล่าถึงเส้นทางอาชีพของการเป็นหมอและปัญหาต่างๆ ที่ต้องพบเจอ จากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์ใช้ทุน(อินเทิร์น) และแพทย์ที่มีประสบการณ์โดยตรง ซึ่งบางเรื่องราวต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ไม่ใช่แพทย์ทุกคนที่จะพบเจอปัญหาในกรณีดังกล่าว

 

เริ่มต้นจากค่ายอยากเป็นหมอ

“ค่ายอยากเป็นหมอ” คือค่ายที่เปิดโอกาสให้นักเรียนม.ปลายได้เรียนรู้เส้นทางอาชีพหมอ ได้รู้ลักษณะอาชีพเบื้องต้น รู้ว่ามีการอยู่เวร รู้ว่ามีการเรียนกับอาจารย์ใหญ่ รู้ว่าหมอต้องใส่เสื้อกาวน์ แต่ในแง่ของแรงกดดันและความเครียดในตัวงานจริงๆ นั้นคงไม่สามารถถ่ายทอดผ่านค่ายไปได้

หลายคนเริ่มสนใจอยากเรียนหมอเพราะการมาเข้าค่ายนี้อินเทิร์นที่ให้สัมภาษณ์กับเราก็เริ่มต้นเส้นทางอาชีพจากการมาค่ายนี้เช่นกัน แต่ค่ายนี้มักจะจัดขึ้นโดยนศพ.ปี 1 เพราะเป็นปีที่มีเวลามากที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์จากพี่ๆ ที่เรียนอยู่เป็นหลัก จึงอาจทำให้น้องๆ ได้เห็นแค่มุมมองช่วงชีวิตการเรียน 6 ปี แต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรียนจบไปแล้วจะต้องเจอกับอะไรบ้าง 

 

ชีวิตการเรียน

โลกในวัยเรียนของนศพ.ค่อนข้างแคบ ส่วนมากจะเป็นการท่องหนังสือ จะรู้ข่าวแค่ในวงนศพ.ด้วยกัน เรื่องเครียดที่รับรู้ก็จะมีแต่เรื่องเรียน เวลาไปเจอเพื่อนคณะอื่นๆ ที่พวกเขาคุยเรื่องนอกตำรากัน อย่างเรื่องชีวิต สถานการณ์เศรษฐกิจ บางครั้งก็รู้สึกว่าห่างไกล เหมือนชีวิตปกติหายไปอยู่ช่วงหนึ่งตอนที่เป็นนศพ.

ที่กล่าวมาอาจเป็นภาพจำของคนภายนอกหรือความรู้สึกของหมอรุ่นก่อน แต่หมอรุ่นใหม่หลายๆ คนอยากออกไปหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่เช่นเดียวกับคนที่ทำอาชีพอื่นๆ บางคนอาจอยากออกไปในโลกกว้างเพราะรู้สึกว่าโลกที่ตนเรียนอยู่มันแคบ เป็นโลกที่ลึกแต่ไม่กว้าง เข้ากับบริบทสังคมได้ยาก 

ยังเป็นเรื่องดีที่หมอรุ่นใหม่ๆ มีความรู้ด้านต่างๆ เยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ด้วยอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตการจะเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จึงเป็นเรื่องง่าย ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นหมอรุ่นใหม่ทั้งเรียนและนั่งเทรดหุ้นหรือทำกิจกรรมอื่นไปพร้อมๆ กัน

 

ระบบการใช้ทุนที่ไม่ตอบโจทย์

การใช้ทุนจะเกิดขึ้นในสถาบันแพทย์ในสังกัดรัฐบาล เมื่อเรียนจบแพทย์ส่วนมากจะต้องไปใช้ทุนซึ่งรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องค่าเทอมที่ผ่านมา โดยจะต้องไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ 3 ปี ซึ่ง 3 ปีนี้มีมูลค่า 400,000 บาท ถ้าลาออกระหว่างนั้นก็คำนวณหามูลค่าที่เหลือที่ต้องจ่ายชดเชยแทนการใช้ทุน

การใช้ทุนในแต่ละที่จะเป็นการจับฉลาก ไม่ได้ใช้คะแนนหรือใช้เกรดเลย แล้วแต่ว่าที่ๆ แต่ละคนอยากไปรับกี่ตำแหน่ง แล้วจึงไปเสี่ยงดวงเอา ใครจับได้เลขเยอะกว่าก็ได้ไป ใครจับได้เลขน้อยก็โดนตัดทิ้งและต้องไปจับฉลากต่อในรอบต่อไป 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากไปอยู่ลำปางซึ่งรับ 1 คนจากทั้งประเทศ แน่นอนว่าคนที่บ้านอยู่ลำปางก็ต้องมาแย่งกัน บางคนมาเรียนหมอที่กรุงเทพฯถึง 6 ปีจึงอยากกลับไปอยู่บ้านที่ภาคใต้ แต่สุดท้ายจับฉลากไม่ได้ ต้องไปอยู่ที่อื่นที่ยิ่งไกลบ้านออกไปอีก และความไกลบ้านนี้ก็จะสืบเนื่องถึงปัญหาการเรียนต่อเฉพาะทาง ต้องเลือกอีกว่าไปเรียนที่ไหนดี โรงพยาบาลไหนที่จะอยากกลับไปทำงาน

แน่นอนว่าทางเลือกในการใช้ทุนก็มี แต่ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างเช่นกัน สมมติว่าคนที่มีเป้าหมายตั้งแต่แรกว่าจะไปอยู่ในพื้นที่ไหน ก็สามารถสมัครเข้าไปใช้ทุนในบางพื้นที่ได้เลย แต่ก็เปิดรับเป็นจำนวนน้อย และสิ่งที่ต้องแลกมาก็คือการที่ต้องอยู่ที่นั่นไปอีกนาน และต้องเลือกสาขาในการเรียนต่อตั้งแต่ตอนนั้น

ในขณะเดียวกันถ้าเราเลือกที่จะไปใช้ทุนในจังหวัด A แต่มายื่นเรื่องเรียนต่อเฉพาะทางในโรงพยาบาลในจังหวัด B โอกาสที่โรงพยาบาลจะเลือกรับเราก็คงน้อยกว่าคนที่เคยใช้ทุนในจังหวัด B มาก่อน ซึ่งเป็นคนที่อาจารย์ในโรงพยาบาลนั้นรู้จักมาก่อนแล้ว ดังนั้นการจะเลือกไปใช้ทุนหลายคนจึงมองไปถึงอนาคตระยะยาวว่าจะไปอยู่จังหวัดนั้นได้ไหม เพราะโอกาสในการเปลี่ยนจังหวัดเพื่อมาเรียนต่อเฉพาะทางจะน้อยกว่าการเรียนต่อในจังหวัดที่เราใช้ทุนตั้งแต่ต้น 

ทางเลือกนอกจากนั้น สามารถเลือกใช้ทุนในรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง เช่นใช้ทุนในโรงพยาบาลทหาร ซึ่งรับจำนวนไม่มากและค่อนข้างมีภาระผูกพันในระยะยาว

การเรียนต่อแต่ละรอบของแพทย์ไม่เหมือนการเรียนปริญญาโทที่ใครจะมาสมัครก็ได้ แต่ทุกครั้งที่สมัครต้องมีเจ้าของทุนเสมอจึงจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เมื่อมีชื่อว่าใครหรือโรงพยาบาลใดให้ทุนเรา เราจะมีโอกาสไปเรียนต่อสูงกว่าการไปขอเรียนต่อด้วยตัวเปล่า ดังนั้นในวงการแพทย์การเลือกโรงพยาบาลจึงส่งผลโดยตรงต่ออนาคตในระยะยาวของแพทย์สูงมาก

 

ประสบการณ์ใช้ทุน

การใช้ทุนจะเริ่มต้นจากการทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งเป็นที่ๆ หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าเหนื่อยมาก มีคนไข้มาตลอดเวลา และวันไหนที่ต้องอยู่เวรจะทำให้หมอคนนั้นไม่ได้นอนเลย 

ถ้าทำงาน 8.00-16.00 น. การอยู่เวรคือการทำงานต่อจาก 16.00 น.ไปจนถึง 8 โมงเช้าของอีกวัน เวลาที่มีปัญหาอะไรระหว่างที่อยู่เวรก็ต้องคอยดูแลตลอด และพอถึง 8 โมงเช้าก็ต้องทำงานต่อ ซึ่งใน 1 เดือนหมอแต่ละคนส่วนมากจะมีเวรมากกว่า 10 เวร ดังนั้นจะมีคืนที่ไม่ได้นอนแน่ๆ ประมาณ 10 คืน 

ข้อดีของการอยู่โรงพยาบาลขนาดใหญ่คือมีหมอเยอะ มีรุ่นพี่ที่เรียนเฉพาะทางอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์คอยช่วยเหลือกัน ซึ่งต่างกับประสบการณ์ที่เจอมาตลอดการเรียน 6 ปีมากตรงที่เจอคนไข้ที่อาการหนักค่อนข้างบ่อย ช่วงแรกหลายคนคงตกใจ แต่เมื่อเจอเคสเยอะขึ้น ได้ประสบการณ์มากขึ้นก็ปรับตัวได้ และสร้างความมั่นใจในการทำงานที่มากขึ้นไปด้วย 

บางคนโชคดีได้ไปอยู่ในโรงพยาบาลที่หมอทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก อาจารย์จะบอกเสมอว่าจะไม่มีการโทษกันถ้าใครทำอะไรผิดพลาด จะมีแค่การติเพื่อก่อ แต่บางคนอาจเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก เพราะเมื่อหมอบางคนเรียนเฉพาะทางสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ออกไปเปิดคลินิกของตัวเองทั้งที่ยังมีเวรประจำอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ก็เลือกออกไปทำงานคลินิกของตัวเองและไม่ได้มาช่วยเหลือน้องอินเทิร์นที่ต้องขึ้นเวรตอนนั้น ทำให้อินเทิร์นต้องรับผิดชอบคนไข้เองคนเดียว ทำให้เกิดผลเสียต่อทั้งคนไข้และตัวอินเทิร์นด้วยเช่นกันที่จะต้องแบกรับความเครียดมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นด้านมืดของวงการแพทย์ก็ว่าได้ 

ช่วงอินเทิร์นปี 1 ของอินเทิร์นที่เราพูดคุยด้วยมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่ง อาจนับว่าเป็นวัฒนธรรมของหมออาวุโสว่าการที่หมอจบใหม่ได้ทำอะไรต่างๆ ด้วยตัวเองคือการเรียนรู้ หลายคนมีความคิดว่าเมื่อก่อนเขาเจอมาแบบนี้ที่ต้องพยายามคิดหาทางออกเองโดยไม่มีใครให้ปรึกษาก็ยังผ่านไปได้จึงเลือกที่จะใช้วิธีการเดียวกันในการสอน กลายเป็นว่าเขาคาดหวังว่าถ้าเขาเคยผ่านมาได้น้องหมอรุ่นใหม่ทุกคนก็จะผ่านไปได้เช่นกัน 

อินเทิร์นที่ให้สัมภาษณ์เชื่อว่ามีวิธีการสอนที่ดีกว่าการให้เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะบางทีหมอจบใหม่ทำสุดความสามารถแล้วแต่ก็ยังไม่พอและไม่ได้รับความช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าหมอที่มีประสบการณ์มากกว่าเขาไม่เห็นความสำคัญตรงนั้นหรือว่าเขาเชื่อในตัวหมอจบใหม่มากเกินไป แต่ผลสุดท้ายของการสอนแบบนั้นคือหมอจบใหม่รู้สึกถูกทอดทิ้งในบางเวลา 

 

หมอกับชุมชน

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่าเส้นทางการเป็นหมอไม่ได้จบที่การเรียน 6 ปี แต่ยาวนานกว่านั้นมาก 

การเป็นหมอนั้นมีอะไรมากกว่าการเรียนจบและทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั้งรัฐและเอกชน แม้ว่าหลายคนจะมองไม่เห็นแต่ยังมีหมออีกจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในชุมชนนอกตัวเมือง ซึ่งการปรับตัวสำหรับหมอคนหนึ่งที่ไม่ใช่คนจากชุมชนนั้นเป็นอะไรที่ผ่านไปได้ยากสำหรับหมอหลายๆ คน บางครั้งมีปัญหาเชิงโครงสร้างหรือระบบที่ใหญ่ระดับตำบล แต่หมอรายบุคคลก็ไม่ใช่คนที่จะแก้อะไรได้ มีแต่ต้องทนอยู่ในสภาวะนั้น 

 

ปัญหาในวงการแพทย์

วงการแพทย์เป็นวงการที่มีระบบอาวุโสและระบบอุปถัมภ์ค่อนข้างมาก รุ่นน้องต้องเชื่อฟังรุ่นพี่ ต้องเชื่อฟังอาจารย์อย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังมีช่องทางแสดงออกที่ทำได้คือการประเมินคุณภาพของแพทยสภา 

แพทยสภาจะส่งคนมาตรวจสอบโรงพยาบาลและเรียกอินเทิร์นเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาโดยเฉพาะ ตอนนั้นทุกคนจะได้พูดว่ามีปัญหาอะไร แต่แพทยสภาก็ไม่ได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงมากขนาดนั้น บทลงโทษเดียวที่ทำได้คือการปรับไม่ให้โรงพยาบาลนั้นมีสิทธิ์ในการรับแพทย์จบใหม่มาฝึกอีก ซึ่งจะส่งผลให้โรงพยาบาลนั้นขาดคนทำงานในทันที 

ถ้าชุดตรวจสอบที่แพทยสภาส่งมาเข้าใจอินเทิร์นได้ดี และผู้บริหารมองเห็นถึงความสำคัญนี้ การเรียกร้องในเรื่องต่างๆ ของอินเทิร์นก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าทั้งชุดตรวจสอบและผู้บริหารไม่เห็นถึงความสำคัญ เรียกร้องไปก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นไปแล้วแต่กรณีของโรงพยาบาล หรือถ้าเป็นกรณีที่คนไม่พอจริงๆ เช่น อาจารย์ทำไม่ถูกต้องและโดนร้องเรียน แต่ถ้าอาจารย์คนนั้นเป็นแพทย์เฉพาะทางเพียงคนเดียวในโรงพยาบาลก็จะต้องอะลุ่มอล่วยกันไป 

ความเครียดและปัญหาอีกอย่างที่มักเกิดขึ้นคือต้องแบกรับความคาดหวังของคนไข้ บางทีคนไข้ไม่ได้คาดหวังแค่รักษาชีวิตเขาให้รอด เขาอาจคาดหวังเรื่องอื่น เช่น เขาต้องการผลประโยชน์จากการรักษาอาจจะในแง่ของประกันที่คนไข้ต้องการให้หมอเขียนอย่างนึง แต่หมอเขียนอีกอย่างนึง คนไข้อาจไม่พอใจถึงขั้นมาฟ้องร้องโรงพยาบาล ผลคือเคยมีหมอออกจากระบบการใช้ทุนไปเลยเพราะความฝังใจในเรื่องนี้และความรู้สึกว่าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ได้ดีพอ

หลายครั้งที่หมอจบใหม่ตั้งความหวังว่าถ้ามีกรณีที่คนไข้ฟ้องร้องทั้งตัวหมอเองและทั้งโรงพยาบาล พวกเขาคาดหวังว่าโรงพยาบาลจะออกหน้าปกป้องเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงโรงพยาบาลก็ทำแบบนั้นไม่ได้ทุกครั้งด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้บางครั้งคนที่อยู่ในระบบนี้อาจรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมหรือเปล่า ทำไมถึงปกป้องคนไข้ทั้งที่บางทีคนไข้ก็เป็นฝ่ายผิดได้เช่นกัน 

 

ปัญหาวงราวน์

การราวน์วอร์ดคือการที่หมอจะต้องเดินตรวจเยี่ยมผู้ป่วยใน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ขึ้นไปทุกคนจะต้องราวน์วอร์ด ซึ่งเป็นสวนหนึ่งของการเรียนการสอน โดยจะมีอาจารย์ในแต่ละวอร์ดเป็นผู้สอน และพี่ปีที่โตกว่าก็จะต้องมาสอนน้องๆ ต่อเป็นทอดๆ อีกที

การเรียนเป็นทอดทำให้ระบบอาวุโสในวงการแพทย์ยังมีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องเรียนผ่านประสบการณ์คนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าหาในตำราแล้วจะเจอ สิ่งนี้อาจนับได้ว่าเป็นอำนาจอย่างหนึ่งที่เรียกว่าอำนาจทางความรู้และประสบการณ์ ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าเขาจะใช้อำนาจนี้ในทางไหน ระบบก็พยายามช่วยเหลือในด้านการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้น รวมถึงการประเมินผู้สอนได้ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าตอนนี้เพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มแรกในระดับของโรงเรียนแพทย์ ส่วนในระดับของอินเทิร์นและหลังจากนั้นยังคงต้องใช้เวลามากกว่านี้

 

การแก้ปัญหาจากเสียงของผู้อยู่ในระบบ

อินเทิร์นที่เราสัมภาษณ์เปรียบเทียบระบบการแพทย์กับตาชั่ง ถ้าฝั่งหนึ่งคือระบบสุขภาพ อีกฝั่งหนึ่งก็คงเป็นการใช้ทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์ การจะทำให้สองสิ่งนี้สมดุลกันเป็นเรื่องยาก ถ้าเราพยายามทำให้ระบบสุขภาพดีขึ้นก็ต้องใช้ทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มขีดจำกัดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องทรัพยากรที่มาสนับสนุนอาจจะยังไม่มากพอ หรือระบบการจัดการที่ยังไม่ดีพอ จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะแก้ปัญหาเชิงระบบได้ 

แต่ถ้าจะให้เริ่มแก้ไข ก็ต้องเริ่มจากการนั่งจับเข่าคุยกัน ให้แต่ละจังหวัดมาคุยถึงปัญหาที่พบว่าจะจัดการไปในแนวทางไหน คงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะบอกได้ว่าต้องทำยังไงถึงจะดี อย่างปัญหาที่หมอคนนึงจะตัดสินใจออกจากระบบในช่วงใช้ทุนเกิดจากหลายสาเหตุมาก บางคนมีปัญหาส่วนตัว บางคนรู้สึกว่าโดนระบบกดขี่จนอยู่ไม่ได้ แน่นอนว่าเราแก้ปัญหาส่วนตัวของใครไม่ได้ แต่ในเรื่องระบบการคุยกันถึงปัญหาและพยายามปรับน่าจะพอช่วยได้ 

ความยากอยู่ที่คนที่อยากจะเปลี่ยนจริงๆ ไม่น่าจะมีเยอะ อย่างประเด็นที่หมอลาออกเพราะทำงานหนักเกินไป แน่นอนว่าพวกเขาเคยบอกเล่าให้คนอื่นฟัง แต่ด้วยความที่อาจจะมีหมออาวุโสหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ‘เมื่อก่อนพี่ก็ผ่านมาได้’ ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมาก และเชื่อว่าหมอหลายคนหรืออาจจะทุกคนเคยได้ยินมาก่อน สุดท้ายคำถามหรือปัญหาจริงๆ ก็จะถูกปัดตกไป 

ส่วนสุดท้ายคือสังคมที่ควรได้รับการพัฒนาไปควบคู่กับอาชีพแพทย์ เห็นได้ชัดที่สุดจากสถานการณ์โควิดที่บุคลากรทางการแพทย์ทุ่มเททำงานกันสายตัวแทบขาด แต่สุดท้ายก็ยังมีคนบางกลุ่มบอกว่าพวกเขาทำได้ไม่ดีพอ แรงสนับสนุนจากภาครัฐก็น้อยกว่าที่ควรเป็น 

การช่วยเหลือในเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในด้านกายภาพและด้านจิตใจ เมื่อเร็วๆ นี้มีกรณีที่หมอโดนคนไข้ทำร้ายร่างกาย ในอนาคตก็อาจจะเกิดเหตุการณ์นี้อีก ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าหมอคนนั้นได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง หรือโรงพยาบาลจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำได้อย่างไร 

 

ถึงเวลาต้องเปลี่ยน

ในยุคที่คนเปลี่ยนไปและทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นตลอดเวลา ทำไมบริษัทอื่นๆ ยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างปรับเปลี่ยนแผนงานกันตลอดเวลา แต่ทำไมในวงการแพทย์จึงไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนแผนงานตามความคิดและความก้าวหน้าของคนบ้าง

เมื่อสืบหาสาเหตุก็พบว่าปัญหานั้นคล้ายเดิมมาตลอด ทุกคนรู้ถึงปัญหากันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ากระบวนการแก้นั้นทำได้ยาก อินเทิร์นที่ให้สัมภาษณ์มองว่าส่วนที่สำคัญที่สุดคือทำให้ “คน” ตระหนักถึงปัญหา หลายคนอาจอยู่กับปัญหามานานจนเริ่มชิน เริ่มรู้สึกว่าแก้ไม่ได้ 

แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเลย ถ้ามีพื้นที่สาธารณะที่สามารถเปิดมาเพื่อให้แพทย์ได้พูดคุยได้รับฟัง และเป็นพื้นที่สำหรับเสียงที่หลากหลายให้แพทย์จากหลายที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็อาจพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องรอแพทยสภามาประเมิน ไม่ต้องรอขั้นตอนที่ต้องเป็นไปตามระบบ แต่ในท้ายที่สุดแล้วการปลุกให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงต้องหาหนทางขอความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้นในวงการแพทย์ไทยกันต่อไป 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน