Career Fact พามารู้จัก บังเกอร์ รอย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่เชื่อมั่นในการสร้างองค์ความรู้สู่คนมากกว่าการได้รับใบปริญญา
จุดเปลี่ยนความคิดของรอย
รอย เกิดวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.1945 เรียนโรงเรียนชายล้วน “ดูน” ระหว่างปี 1956-1962 จากนั้นไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเซนต์สตีเฟ่น กรุงเดลี รอยเป็นนักกีฬาสควอช และคว้าแชมป์ของประเทศอินเดียติดกันถึง 3 ปี ทว่าจุดเปลี่ยนเกิดในปี 1965 ปีที่รอยตัดสินใจไปเรียนรู้ชีวิตแคว้นพิหาร พื้นที่ข้าวยากหมากแพงของอินเดีย ภาพความตายจากความหิวโหยเปลี่ยนความคิดเขาอย่างมาก
รอยบอกแม่ว่า “อยากใช้ชีวิตในชนบทเพื่อขุดบ่อน้ำบาดาลสัก 5 ปี” หลังจากได้ไปเรียนรู้ในหมู่บ้าน เขาพบทักษะของผู้คนซึ่งไม่เคยรู้จากการศึกษามาก่อน จึงได้ก่อตั้ง Barefoot College หรือ “วิทยาลัยเท้าเปล่า” ขึ้นที่รัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย
ทำไมต้องเป็นวิทยาลัยเท้าเปล่า?
วิทยาลัยเท้าเปล่าเกิดขึ้นเพื่อสอนคนชนบทให้มีทักษะที่นำไปเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้านของพวกเขา เพราะรอยเชื่อว่า “แม้แต่กับคนจนที่ไม่ได้รับการศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชีวิตและทักษะของพวกเขาเอง”
“ผมมองว่าเราต้องไม่เหมารวมหรือตีความว่า ‘คนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้’ คือ ‘คนไม่มี
ความสามารถ’ เพราะคนในชนบทหลายคนที่ไม่มีโอกาสไปโรงเรียนมีทักษะและความรู้หลายอย่างที่คนมีการศึกษานึกไม่ถึง”
หัวใจของวิทยาลัยเท้าเปล่า
หัวใจของวิทยาลัยแห่งนี้คือการให้คุณค่ากับคนและงานทุกงานเท่ากัน ครูมีสถานะเทียบเท่ากับนักเรียน คนที่ไม่รู้หนังสือก็มีสถานะเท่ากับคนที่รู้หนังสือ และวิทยาลัยนี้ยังใช้แนวคิดแบบคานธีที่เชื่อว่าความรู้ ทักษะ และสติปัญญาเป็นสิ่งที่พบได้ในชุมชน เราจึงควรนำความรู้เหล่านั้นมาเรียนรู้พัฒนาก่อนเรียนรู้ทักษะจากข้างนอก
วิทยาลัยเท้าเปล่าเลยนำความรู้และทักษะดั้งเดิมของคนในชนบทมาใช้สร้างบ้านเรือนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้คนไร้บ้าน ใช้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝนในโรงเรียนชนบทและชุมชนที่ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และยังใช้กิจกรรมการชักหุ่นกระบอกมาสอดแทรกเนื้อหาด้านเศรษฐกิจเชิงสังคม
สร้างไฟฟ้าให้ชุมชน
ประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ของบ้านในชนบทของอินเดียไม่มีไฟฟ้าใช้ พวกเขาต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งวิศวกรของรอยได้เข้ามาแก้ไขปัญหา และสามารถประหยัดน้ำมันก๊าด (kerosene) ที่ใช้เพื่อจุดเตาไฟและตะเกียงได้อย่างน้อย 1.5 ล้านลิตรต่อปี
นอกจากนี้ วิทยาลัยเท้าเปล่ายังใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด และได้เปิดคอร์สอบรมโซลาร์เซลล์ตั้งแต่ปี 2005
วิทยาลัยไร้ชนชั้น
ซานโตส เดวี (Santosh Devi) หญิงวัย 19 ปี จากรัฐราชสถานอันห่างไกล ก้าวข้ามอุปสรรคด้านวรรณะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดกลายเป็นหญิงดาลิต หรือวรรณะจัณฑาลคนแรกของอินเดียที่เป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์ เธอได้รับการสอนให้เป็นวิศวกรโซลาร์เซลล์ที่วิทยาลัยเท้าเปล่าในหมู่บ้านทิโลเนีย ที่นี่ไม่มีการแบ่งแยกด้านเพศ วรรณะ เชื้อชาติ อายุ หรือการศึกษา และได้อบรมผู้หญิงจำนวนถึง 15,000 คนให้มีทักษะด้านต่าง ๆ อย่างการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ความรู้ทางการแพทย์ และการสร้างเครื่องวัดคุณภาพน้ำ
ไม่ทอดทิ้งผู้สูงวัย
วิทยาลัยเท้าเปล่าไม่ได้จำกัดคนเข้าเรียนแค่เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่ในชนบท แต่เห็นความสำคัญของคนสูงวัยที่สามารถพัฒนาทักษะได้เช่นกัน เหล่าคุณยายในชนบทได้เรียนรู้การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จากวิทยาลัยเท้าเปล่าจนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ได้ และได้เดินทางไปส่งต่อทักษะเหล่านี้ให้คนสูงวัยในชนบทของบังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และอีกกว่า 80 ประเทศ เพื่อให้หลายชุมชนมีไฟฟ้า
“การพัฒนาชุมชนคือการแก้ปัญหาระยะยาว เพราะหากเราพัฒนาพื้นที่ชนบทด้วยการพัฒนาทักษะคนในพื้นที่ พวกเขาจะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งจะทำให้พวกเขาหวงแหนชุมชนของตัวเอง”
อ้างอิง
https://bit.ly/3thiDmr
Personal Branding คืออะไร? สื่อสารอย่างไร? ในวันที่ตัวตนสำคัญกว่าตัวแบรนด์

FacebookFacebookXXLINELine‘แบรนด์’ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจ แต่หากเราพูดถึงการสร้างแบรนด์ในปัจจุบัน Personal Branding จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนให้ความสนใจ และให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เมื่อพูดถึง Personal…