ชนะโชติ รัตนรุจิกร: ผู้ก่อตั้ง MBAThinkTank ที่ปรึกษาในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

“โอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard อยู่ที่ 7% แต่ถ้าน้องไม่สมัครเลยโอกาสคือ ศูนย์”

วันนี้ #CareerTalk จะมาพูดคุยกับ ‘พี่บิ๊ก’ ชนะโชติ รัตนรุจิกร ผู้ก่อตั้ง MBAThinkTank และที่ปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิเช่น Harvard, Stanford, MIT, Wharton, Columbia, Cambridge และ Oxford เป็นต้น 

ชวนทุกคนมาฟังกันว่า อะไรคือความน่าสนใจของการเรียนต่อปริญญาโทในต่างประเทศที่ทำให้เขากล้าพูดว่า 2 ปีที่เรียน MBA เป็น 2 ปีที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา

เส้นทางของพี่บิ๊ก

พี่บิ๊กเรียนจบปริญญาตรีจาก BBA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลังเรียนจบก็ทำงานด้านวิจัยการตลาดและการสร้างแบรนด์ที่ ACNielsen 3 ปี ก่อนจะบินไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา MBA ที่มหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา และเพิ่มพูนประสบการณ์ MBA ของเขาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ London Business School ประเทศอังกฤษ และเขายังเคยทำงานที่ eBay บริษัทยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley ที่อเมริกาอีกด้วย

เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือกผู้สมัครคัดเลือกและสัมภาษณ์นักเรียนจากประเทศไทยที่ต้องการไปเรียนต่อ ทำให้เขามีประสบการณ์ตรงส่วนนี้มาก และการต้องเจอปัญหาในการเตรียมตัวสอบเรียนต่อต่างประเทศ ทั้งการสอบ GMAT, TOEFL, IELTS รวมถึงเขียน Essay ของน้องๆ ที่ดูแล จึงเป็นแรงบันดาลใจว่า ยังมีเด็กไทยอีกหลายคนที่ต้องเจอปัญหาในการ Admission เพื่อเรียนต่อ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตั้งบริษัท MBAThinkTank ขึ้นมา

รู้จักกับMBAThinkTank

“จริงๆ เด็กไทยเก่งและมีศักยภาพมากๆ”

พี่บิ๊กเล่าให้ฟังว่าการต้องใช้ภาษาอังกฤษในการยื่นใบสมัคร รวมถึงช่องว่างของวัฒนธรรม เช่น คนไทยมีความเกรงใจ และระมัดระวังในการใช้คำมากเกินไปเพราะกลัวชมตัวเอง หรือไม่รู้จะเล่าเรื่องยังไง ก็เป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กไทยที่ยื่นใบสมัครไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาจึงร่วมกันกับเพื่อนอีกคนก่อตั้ง MBAThinkTank เพื่อให้คำปรึกษาในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และยังก่อตั้ง Manhattan Test โรงเรียนติวสอบ GMAT, GRE, SAT, TOEFL, และ IELTS ด้วย

เขาเสริมว่าปัญหาใหญ่ที่สุดที่พบคือเรื่องการดึงจุดเด่นตัวเองออกมาและโน้มน้าวใจให้มหาวิทยาลัยเรียกไปสัมภาษณ์ แม้เด็กบางคนเก่งมาก ทำพอร์ตดีมาก หากคิดเป็นคะแนนก็เต็มร้อย แต่มักจะตกม้าตายเมื่อต้องอธิบายหรือเล่าขายตัวเอง ขณะที่บางคนทำพอร์ตมาดี แล้วก็เล่าเรื่องตัวเองได้ดีด้วย ก็ทำให้ได้เปรียบกว่าคนแรก

ดังนั้น MBAThinkTank จึงเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ พร้อมกับทีมที่ปรึกษาที่เป็นชาวต่างชาติที่จบสายตรงมา เช่น MBA หรือ ทำงานเป็นที่ปรึกษามาก่อน รวมถึงทีมที่ปรึกษาด้าน Analytics บางคนที่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่ IBM ที่อเมริกา หรือจบ Finance โดยตรง ซึ่งเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ประสบการณ์การไปเรียนต่อของพี่บิ๊ก

“2 ปีที่เรียน MBA พี่พูดได้เลยว่าเป็น 2 ปีที่ดีที่สุดในชีวิตพี่ ได้อัพเกรดตัวเองและเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ”

พี่บิ๊กเล่าว่าประสบการณ์ที่ประทับใจระหว่างเรียนต่อปริญญาโทคือ การไปเที่ยว การเปิดโลกทัศน์ ที่บางวิชาบินไปต่างประเทศ เป็นการเที่ยวที่ไม่ใช่เที่ยวอย่างเดียว เพราะได้ไป Company Visit หรือเยี่ยมชมกิจการหลายแห่ง  เช่น ธุรกิจน้ำมันที่บราซิล อเมริกาใต้ หรือ ซิมบับเวในแอฟริกา ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีที่หายากมาก

รวมถึงแลกเปลี่ยนที่ London Business School ประเทศอังกฤษ ก็เปิดประสบการณ์ครั้งสำคัญ ทั้งดูบอลพรีเมียร์ลีกถึงสนาม ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ การได้ทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งไฮไลท์ที่สุดคือเขาได้เจอแฟนที่ปัจจุบันได้แต่งงานกันด้วย (พี่บิ๊กแอบกระซิบว่าน้องๆ ที่ติวให้ก็ได้ไปเจอแฟนที่มหาวิทยาลัยที่นั่นกันหลายคู่เลยด้วยนะ)

ความรู้ที่ต่อยอดได้

เมื่อถามว่าอะไรคือความสำคัญของการเรียนต่อโท พี่บิ๊กบอกกับเราว่าเป็น “ความรู้ที่ต่อยอดได้” และเสริมว่าสิ่งสำคัญสุดก็คือประสบการณ์ในการเรียนต่อต่างประเทศ และได้ใช้ชีวิตคนเดียว และการได้เจอคนใหม่ๆ ที่แบ็คกราวน์ชีวิตต่างกัน บางคนเริ่มทำงาน 2-3 ปี การเรียนปริญญาโทก็จะช่วยเพิ่มความคมในการทำงานมากขึ้น และช่วยอัพเกรดโปรไฟล์การศึกษาของตัวเอง รวมถึงโอกาสในการทำงานต่างประเทศ และเงินเดือนที่มากขึ้น

“ความรู้เปิดหนังสือหรือค้นคว้าได้ แต่ประสบการณ์ชีวิต ทำความรู้จักเพื่อนต่างชาติที่มีวัฒนธรรมต่างกันและได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมันสำคัญมาก” พี่บิ๊กกล่าว

และปัจจุบันก็ยังมีโปรแกรมที่ชื่อ STEM-OPT คือโปรแกรมที่ทำให้สามารถทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ขยายจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ในหลายๆ สาขา เช่น Science, Technology, Engineering หรือ  Math  ก็ยิ่งเป็นโอกาสอัพเลเวลในการทำงานเพื่อเก็บเงินได้มากขึ้น ซึ่งพี่บิ๊กเสริมว่าโดยเฉลี่ยรายได้หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหรือ Top U สูงถึง 150,000 เหรียญดอลลาร์ต่อปี หรือราว 5 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

สู่เส้นทาง Top University

“การไปเรียนต่างประเทศ ไม่ว่าจะ Top U หรือไม่ใช่ Top U ก็ช่วยน้องๆ ได้ทั้งนั้น” พี่บิ๊กกล่าว

ทว่าความต่างของมหาวิทยาลัยทั่วไปในต่างประเทศกับ Top U ที่เขาอยากเสริมคือ Top U สามารถเพิ่มโปรไฟล์และเรซูเม่ของเราให้โดดเด่นมากขึ้น การมีเพื่อนร่วมชั้นที่มีประสบการณ์เข้มข้นจากหลายที่ และอาจารย์ระดับศาสตราจารย์รางวัลโนเบล รวมถึงการมี Career Management Center ที่คอยช่วยเหลือและสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องการทำงานต่อในต่างประเทศด้วย

โอกาสเรียนต่อกับมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งแต่ Harvard, Stanford, MIT รวมถึง Wharton, Kellogg, Columbia หรือ Berkeley จนถึงจากมหาวิทยาลัยจาก Ivy League ที่เก่าแก่และก่อตั้งมานาน พี่บิ๊กบอกว่าสิ่งสำคัญคือกลยุทธ์การเลือกมหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำจากพี่บิ๊กการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) Long shot คือ กลุ่มที่ยากระดับ Top 5-10 ที่คะแนนสอบ GPA GMAT GRE ของเราน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของมหาวิทยาลัย 2) Reach คือ กลุ่ม Top 11-20 ที่คะแนนของเราพอๆ กับค่าเฉลี่ย และ 3) Safety คือ กลุ่มที่คะแนนเราดีกว่าค่าเฉลี่ย โอกาสเข้าได้ค่อนข้างสูง

พี่บิ๊กบอกว่าสมมติเราจัดไว้ 10 มหาวิทยาลัย ถ้าบู๊หน่อย คะแนนดี ก็อาจจะจัดเป็น Long shot = 5, Reach = 3, Safety = 2 แต่ถ้าไม่บู๊มากก็อาจจะปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม

“อย่ากลัวว่าตัวเองไม่เก่งที่สุดในคลาส แต่พี่กังวลมากกว่าถ้าน้องเก่งที่สุดในคลาส เพราะหมายถึงว่าเราเลือกมหาลัยที่ดีไม่พอ สิ่งสำคัญคือเราไปเพื่อเรียนรู้จากคนเก่งๆ” เขากล่าว

ความแตกต่างของ MBA กับ MS

เล่ามาถึงตรงนี้เราเลยอยากให้พี่บิ๊กอธิบายถึงความแตกต่างของสาขาสุดฮิตและฮอตอย่าง MBA และ MS (Master of Science) ซึ่งเขาสรุปฟังว่า สาขา MBA เหมาะกับคนที่มีประสบการณ์ทำงานขั้นต่ำ 2 ปี ส่วน MS  ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ก็สามารถสมัครเรียนต่อได้ ซึ่งหากยื่นตั้งแต่ตอนเรียนชั้นปี 4 ก็สามารถทำได้

และสิ่งที่เรียนก็มีความต่างกัน โดย MBA เป็นการเรียนรู้แนวกว้าง เหมือนเป็ดที่ว่ายน้ำได้นิด บินได้หน่อย และยังวิ่งได้ด้วย เพราะมุ่งเน้นเรื่อง Soft Skills ทักษะความเป็นผู้นำและความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ในการบริหาร เพื่อเติบโตในองค์กรหรือเป็นผู้ประกอบการ ส่วน MS จะศึกษาแนวลึก เจาะลึกในเรื่องเฉพาะด้าน เช่น Business Analytics หรือ Machine Learning เป็นต้น 

พี่บิ๊กบอกว่า MS Business Analytics เป็นสาขาฮอตฮิต และยังขาดบุคลากรอีกมาก นอกจากนี้ก็มีสาขาย่อยในด้านต่างๆด้วย อาทิ Finance, Marketing, Management รวมถึง Entrepreneurship

เริ่มให้เร็วดีกว่าเริ่มช้า

สำหรับน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวหรือตั้งใจว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศกับ Top U พี่บิ๊กแนะนำว่าสิ่งที่ต้องมีคือ คะแนน GMAT และ GRE ซึ่งเก็บคะแนนไว้ใช้ได้ถึง 5 ปี โดยช่วง ปี 4 เทอม 2 ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีงานวิจัยศึกษามาว่าหากสอบหลังจากทำงานแล้วพักใหญ่ ทักษะการทำข้อสอบจะหายไป

ส่วนคะแนน TOEFL IELTS เก็บได้ 2 ปี ซึ่งอาจจะสอบทีหลังได้โดยไม่ต้องรีบ และทักษะการใช้ภาษาก็ไม่หายไปง่ายๆ ด้วย หากได้ทำงานที่ใช้ภาษาอยู่ ขณะที่ GPA หรือเกรดเฉลี่ยสะสม สำหรับคนที่ GPA น้อย ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะสุดท้ายสิ่งที่ตัดสินอีกอย่างคือ Portfolio ที่ไม่ใช่แค่เรื่องทำงานอย่างเดียว แต่เป็นกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นผู้นำ หรือกิจกรรมที่ช่วยเหลือสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องมีจดหมายรับรองจากอาจารย์หรือหัวหน้างาน และการเตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์ให้ดีด้วย

Checklist ความพร้อมและเตรียมตัว

พี่บิ๊กบอกว่าคนที่อยากเรียนต่อปริญญาโท MBA มี 2 แบบ คือ คนที่ทำงานอิ่มตัว อยากเปลี่ยนสายงาน เช่น ทำบัญชีมาก่อนแต่อยากเปลี่ยนสายงาน ก็จะเหมาะกับการใช้ MBA เพื่อเรียนรู้ในด้านใหม่ที่สนใจ ขณะที่อีกกลุ่มคือคนที่ทำงานมาสักพัก อยากอัพเกรดเงินเดือนและตำแหน่ง ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องหมั่นเช็คตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าการทำงานตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตแล้วหรือยัง หรือว่าอยากเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ

ส่วนการเตรียมตัว พี่บิ๊กแนะนำว่าเตรียมตัวล่วงหน้าตั้งแต่ปี 4 เก็บคะแนน GMAT GRE และ TOEFL หรือ IELTS ไว้ ซึ่งที่ MBAThinkTank ก็ยังช่วยพัฒนาโปรไฟล์ก่อนยื่นใบสมัคร ช่วยดูแลว่าเหมาะสมกับสายอาชีพใด รวมถึง Coaching เรื่องเขียน Essay จากที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ รวมถึงเรื่องหาทุนไปเรียนต่อด้วย

พี่บิ๊กแชร์ว่าอยากให้มองเป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงและเร็ว และได้มีโอกาสทำงานต่างประเทศหลังเรียนจบ

ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปมีแต่คำว่าสายเกินไป

“น้องๆ หลายคนมีความคิดว่าเกรดไม่ดี ไม่มีทางไป Top U ได้หรอก ซึ่งไม่จริงเสมอไป” พี่บิ๊กกล่าว และเน้นย้ำว่า Portfolio มีความสำคัญอย่างมากว่าเราทำอะไรมาบ้าง และสามารถเล่าเรื่องตัวเองให้น่าสนใจได้อย่างไร รวมถึงเข้ากับสิ่งมหาวิทยาลัยกำลังมองหาอยู่หรือไม่ เพราะในปีล่าสุดน้องที่ MBAThinkTank โค้ช มี GPA เพียง 3 ต้นๆ และคะแนน GMAT น้อยกว่าค่าเฉลี่ยก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัย Top อย่าง Harvard ได้

สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มสร้าง Portfolio เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม เพราะน้องหลายคนเก่ง แต่อาจไม่ใช่นักทำข้อสอบที่เก่ง พลาดแบบง่ายๆ ก็แนะนำว่าเน้นเรื่องสร้างพอร์ตช่วยได้มาก และปกติระยะเวลาที่กำลังดีคือ 3-4 ปีล่วงหน้า

พี่บิ๊กกล่าวว่า “ช่วงที่หนักคือ 8 เดือนถึง 1 ปี ก่อนที่จะยื่นใบสมัคร แต่พี่อยากให้น้องๆ ทุ่มเทให้เต็มที่ ยอมเหนื่อยขึ้นนิดหน่อย แต่การได้ท็อปยูมันจะอยู่กับโปรไฟล์การทำงานของเราไปอีก 30-40 ปีเลย”

เคล็ดลับสู่ฝัน Top U

“จากประสบการณ์เคล็ดลับคือการมีความฝัน เพราะความฝันเป็นสิ่งแรกที่นำมาซึ่งการลงมือทำสิ่งต่างๆ”

พี่บิ๊กเล่าว่าน้องๆ หลายคนเป็นมวยรอง คะแนน GPA GMAT และ GRE ไม่สูง แต่มีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นที่จะไปถึงเป้าหมายว่าจะไปท็อปยูให้ได้ ซึ่งกุญแจสำคัญคือเรื่องของความมุ่งมั่น เหมือนประโยคที่เขาย้ำมาเสมอและกล่าวย้ำอีกครั้งกับเราว่า “โอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard อยู่ที่ 7% แต่ถ้าน้องไม่สมัครเลยโอกาสคือศูนย์  น้องต้องมีฝันครับ”

สิ่งที่พี่บิ๊กฝากทิ้งท้าย

แม้หลายคนอยู่ในจุดเริ่มต้นของวัยทำงาน รวมถึงหลายคนที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ หรือยังหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไร พี่บิ๊กบอกว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็เริ่มต้นจากการงานด้านการสร้างแบรนด์ แล้วเปลี่ยนไปทำสายเทคฯ และการเงิน จนมาเป็นเจ้าของธุรกิจด้านที่ปรึกษาการเรียนต่อในปัจจุบัน หากคิดดูแล้วก็ไม่ใช่ทางที่ตรงหรือถนนที่ออกแบบมาชัดเจนสักเท่าไร

“ถ้าถามพี่ ก็คือมันไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ต่อให้บางคนตั้งเป้าหมายไว้แล้ว แต่พอทำงานไปถึงจุดหนึ่ง ชีวิตพาให้ต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งที่เหมาะกว่า ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้ แต่เราต้องทำตัวเราเองให้พร้อมเสมอกับสิ่งใหม่ๆ” เขากล่าวทิ้งท้าย

📌 ตามเพื่อนๆ ของเราที่ไป Top U ได้ที่ www.mbathinktank.com/testimonial

📞 สอบถามข้อมูลโทร 0858179688, 0813020992

Line: http://bit.ly/2AIFEoq

MBAThinkTank

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights