Ben Francis: เจ้าของ Gymshark สตาร์ทอัพยูนิคอร์นสายกีฬา

สายออกกำลังกายน่าจะคุ้นชื่อแบรนด์ Gymshark กันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าสตาร์ทอัพเสื้อผ้าออกกำลังนี้มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญไปแล้ว! และที่สำคัญผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้มีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น! เราจะพาไปดูกันว่าพ่อหนุ่มคนนี้เป็นใคร แล้วเขาทำได้อย่างไร

มุ่งมั่นตั้งแต่ยังเด็ก

เบ็น ฟรานซิส (Ben Francis) เกิดเมื่อปี 1992 ที่เวสต์มิดแลนด์ส ประเทศอังกฤษ ในวัยเด็กเบ็นหลงไหลในฟุตบอลมาก เขาชอบเล่นฟุตบอลและเป็นแฟนบอลตัวยงของทีมดังในบ้านเกิดอย่างแอสตัน วิลล่า อย่างไรก็ตามเบ็นก็ไม่ได้เก่งพอที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ  

เมื่อวัย 14 ปี เบ็นได้มีโอกาสช่วยงานในโกดังอิฐและเซรามิค เขาได้เห็นชีวิตที่เต็มไปด้วยเหงื่อและความวุ่นวาย นั่นทำให้เบ็นบอกกับตัวเองว่าเขาจะไม่ใช้เวลาชีวิตที่เหลือทำงานจนหลังหักอยู่ในโรงงานแบบนี้แน่ เขาจึงตั้งปณิธานไว้ว่าจะมีธุรกิจส่วนตัวของเขาเองให้ได้

ฟรานซิสเป็นคนที่ทำผลการเรียนได้ไม่ดีนักในช่วงม.ปลาย แต่เขาสนใจในวิชาคอมพิวเตอร์อย่างมากเพราะมันเปิดโอกาสให้เขาได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงแค่นั่งจดไปวันๆ ในขณะเดียวกัน อีกหนึ่งกิจวัตรที่ฟรานซิสหลงใหลก็คือการเข้ายิมซึ่งสอนให้เขามีความสม่ำเสมอและมีแบบแผนในการใช้ชีวิต 

หมกมุ่นในธุรกิจ

พอเข้าสู่ช่วงมหาลัย เบ็นเลือกเรียนต่อในคณะการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ช่วงหลังเลิกเรียน เขาทำงานเป็นเด็กส่งพิซซ่าจนถึง 4 ทุ่มโดยได้ค่าจ้าง 200 กว่าบาทต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขายังคิดถึงอยู่ตลอดทุกวันก็คือเรื่องธุรกิจส่วนตัว

ธุรกิจแรกของเบ็นคือการสร้างเว็บไซต์ขายป้ายทะเบียนรถออนไลน์ จากนั้นเขาก็สร้างแอปพลิเคชั่นฟิตเนสอีก 2 แอปฯ โดยหนึ่งในนั้นสร้างรายได้ถึง 350,000 บาท จริงๆ แล้วฟรานซิสคิดว่าแอพของเขาธรรมดามาก แต่มันก็ทำให้เขาได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์จากสองสิ่งที่เขาหลงใหลนั้นก็คือการออกกำลังกายและคอมพิวเตอร์ 

หลังเริ่มฉายแววนักธุรกิจ เบ็นก็ก่อตั้งธุรกิจใหม่เป็นเว็บขายอาหารเสริมที่ชื่อว่า Gymshark ในโรงรถกับเพื่อน อย่างไรก็ตามเบ็นก็ประสบปัญหาเรื่องการจัดส่งสต็อกกับซัพพลายเออร์ทันที กว่าเขาจะขายออเดอร์แรกได้ก็ล่อไป 6 เดือน นอกจากนั้น กำไรจากการขายอาหารเสริมก็น้อยนิดจึงทำให้เขาต้องเบนเข็มไปยังสินค้าอื่น

ปิ๊งไอเดีย

เบ็นพยายามหาแนวทางใหม่อยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งเกิดไอเดียทำชุดออกกำลังกาย จากการที่เขากำลังจะไปเข้ายิม แต่ดันหาชุดที่ดีไซน์ถูกใจและมีคุณภาพไม่ได้เลย เขาจัดการควักเงินเก็บจากการส่งพิซซ่าซื้อจักรเย็บผ้าและเครื่องพิมพ์แบบสกรีนมาที่โรงรถทันที 

เบ็นจัดการออกแบบและตัดเย็บเสื้อให้เหมาะกับสรีระของเขาและทดลองใส่เอง ก่อนจะพัฒนาชุดที่สมบูรณ์กว่าออกมา จากนั้นเขาก็เริ่มวางขายสินค้าของเขาภายใต้แบรนด์ Gymshark บนเว็บไซต์ ด้วยราคาตัวละราวๆ 900 บาท 

นอกจากนั้น เบ็นยังลองส่งสินค้าของเขาไปให้เหล่า Youtuber ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับฟิตเนสใส่อีกด้วย เขาบอกว่าไม่ได้ทำโดยหวังผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าพวกเขาชอบชุดที่ส่งไปมันก็คงทำให้เขารู้สึกดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาคือเหล่า Youtuber ชอบเสื้อผ้าของเบ็นสุดๆ แถมยังทำให้แฟนคลับของพวกเขาถามหากันอีกด้วยว่าซื้อชุดจากที่ไหน เบ็นจึงสร้างยอดขายมากขึ้นจากการส่งสินค้าให้คนมีชื่อเสียงใส่แบบฟรีๆ

ได้คุ้มเสี่ยง

ในปี 2013 เบ็นรู้สึกว่าธุรกิจของเขาต้องเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่านี้ จึงยอมทุ่มสุดตัวจ่ายเงินราวๆ หนึ่งแสนกว่าบาทเพื่อขอเช่าพื้นที่ให้กับ Gymshark ในงาน Body Power Expo ซึ่งเป็นอีเวนต์ใหญ่สำหรับนักออกกำลังกายโดยเฉพาะ ผลคือประสบความสำเร็จเกินคาด Gymshark สามารถขายสินค้าหมดเกลี้ยง และกวาดรายได้เกินหนึ่งล้านบาทภายในเวลาเพียง 30 นาทีหลังจากขึ้นโชว์แสดงสินค้าและกลายเป็นไวรัลใน Facebook 

ในวันต่อมาหลังจบอีเวนต์ รายได้ของ Gymshark ก็เพิ่มเป็น 13,000 บาทต่อวัน หลังจากนั้นก็พุ่งกระฉูดเป็น 1.3 ล้านบาทต่อวัน ในเมื่อธุรกิจเติบโตขนาดนี้ เบ็นจึงตัดสินใจพักการเรียนที่มหาลัยและลาออกจากการเป็นเด็กส่งพิซซ่าเพื่อมาทุ่มเทให้กับธุรกิจของเขาเต็มตัว 

ด้วยความที่เป็นสตาร์ทอัพ เบ็นจึงใช้วิธีทำการตลาดกับอินฟลูเอ็นเซอร์ชื่อดังในแต่ละวงการอย่างที่เคยทำก่อนร่วมอีเวนท์ นั่นจึงทำให้ Gymshark เป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing เพราะเบ็นเชื่อว่าเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เข้าถึงกลุ่มฐานลูกค้าที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพในการทำการตลาดสูง

ในปี 2015 เบ็นก็ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง CEO เพราะรู้สึกว่าเขาดีไม่พอที่จะรับตำแหน่ง เขาจึงแต่งตั้ง สตีฟ ฮววิทท์ (Steve Hewitt) อดีตผู้อำนวยการของ Reebok มารับหน้าที่แทน ส่วนเบ็นก็หมุนเวียนตำแหน่งในบริษัทไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาตัวเองให้มีทักษะทุกด้าน ทั้งในตำแหน่ง CMO, CPO และ CTO 

นั่นถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างมาก เพราะ Gymshark เติบโตขึ้นปีละหลายล้านเหรียญ จากที่เคยอยู่ในโรงรถ พวกเขาย้ายไปตั้งสำนักงานใหม่ที่มีราคาถึง 220 ล้านบาท และมีพนักงาน 215 ชีวิตในปี 2018 

สตาร์ทอัพยูนิคอร์น

เป้าหมายของเบ็นคือทำให้ Gymshark ก้าวไปเป็นแบรนด์อังกฤษระดับโลกเหมือนที่ไนกี้ของอเมริกา และอดิดาสของเยอรมันทำ ซึ่งในปี 2018 ตลาดเสื้อผ้ากีฬาทั่วโลกมีมูลค่ามากถึง 167.7 พันล้านเหรียญ และคาดว่าจะเติบโตถึง 248.1 พันล้านเหรียญในปี 2026

นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจขายหุ้นบริษัท 21% มูลค่าราวๆ 200 ล้านเหรียญให้กับ General Atlantic ในปี 2020 ทำให้การประเมินมูลค่าของ Gymshark มีค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพแบรนด์เสื้อผ้าระดับยูนิคอร์น อย่างไรก็ตาม เบ็นก็เป็นเจ้าของหุ้น Gymshark อยู่มากกว่า 70% ซึ่งมีมูลค่ากว่า 700 ล้านเหรียญ

ปัจจุบัน Gymshark สามารถขายสินค้าได้ทั้งหมด 20 ล้านชิ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2021 เฉลี่ยวันละ 5 หมื่นชิ้น ใน 175 ประเทศ โดยในปีที่แล้วพวกเขาทำรายได้ถึง 350 ล้านเหรียญ นอกจากสินค้าแล้ว Gymshark ยังมียิมภายใต้ชื่อแบรนด์ตัวเองและมี Innovation Hub อีกด้วย ในด้านสื่อออนไลน์ พวกเขามีผู้ติดตามใน Instagram ถึง 5.4 ล้านบัญชี และมีอินฟลูเอ็นเซอร์รวมไปถึงนักกีฬาชื่อดังเป็นทูตให้กับบริษัทมากกว่า 10 คน

ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่จากผู้ประกอบการที่มีอายุเพียง 29 ปี สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนในตัวของเขาก็คือความหลงใหลอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง คอมพิวเตอร์ การเข้ายิม หรือการทำธุรกิจ เบ็นไม่เคยหมดแพชชั่นในสิ่งที่เขาทำ นั่นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างที่เราเห็นในตอนนี้

อ้างอิง https://bit.ly/3Dh0B8i https://cnb.cx/2UTC7AN https://bit.ly/3zj9k7D

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights