บี เกรียงศักดิ์ ผู้ก่อตั้ง Warwick Institute ที่ไม่มีเด็กอินเตอร์คนไหนไม่รู้จัก

วันนี้ Career Fact จะพาทุกคนมารู้จักกับ พี่บี เกรียงศักดิ์ ไชยวินิจ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนิสิต-นักศึกษาหลายพันคน ผู้ก่อตั้ง Warwick Institute โรงเรียนเตรียมอินเตอร์จุฬา-ธรรมศาสตร์ที่ไม่มีเด็กอินเตอร์คนไหนไม่รู้จัก เกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจะกลายเป็น Warwick ในทุกวันนี้? ติดตามได้ที่นี่

 

จากงานอดิเรกสู่อาชีพเลี้ยงตัวเอง

พี่บีในวัยมัธยมนั้นเป็นเพียงเด็กเนิร์ดทั่วไป ชีวิตวันๆ เดินทางวนไปวนมาอยู่แค่ 3 ที่ระหว่างบ้าน โรงเรียน และสถาบันกวดวิชา สิ่งที่พิเศษกว่าเด็กคนอื่นหน่อยก็คงจะเป็นความหลงใหลในวิชาคณิตศาสตร์ จนถึงขั้นมีงานอดิเรกเป็นการแก้โจทย์เลขในยามว่างกับเพื่อนสนิท ยิ่งโจทย์ยากมากแค่ไหน ใช้เวลาแก้นานมากเท่าไหร่ พี่บีก็ยิ่งชอบ เพราะรู้สึกว่าได้ท้าทายความสามารถของตัวเอง

 

นอกจากวิชาคณิตศาสตร์ อีกวิชาหนึ่งที่พี่บีเก่งกาจไม่แพ้กันคือภาษาอังกฤษ หลังจากมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนภายใต้โครงการ AFS ที่ประเทศเบลเยี่ยม พี่บีก็ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ และอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์ ประกอบกับความสนใจในเศรษฐศาสตร์ ทำให้ตัดสินใจเรียนคณะเศรษฐศาสตร์อินเตอร์ (BE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เมื่อสอบติดและเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา พี่บีก็เป็นที่รู้จักในคณะจากความเก่งคณิตศาสตร์อันโดดเด่น ส่งผลให้มีคนมาขอให้ช่วยติวมากมาย ในตอนนั้นพี่บีคิดว่าการติวเป็นเพียงวิธีหาค่าขนมเพิ่มเติม จะได้ช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านได้บ้าง แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นปี 3-4 เมื่อเห็นเม็ดเงินที่สร้างได้ จึงเริ่มหันมามองว่าติวเตอร์ก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ พี่บีจึงหยุดรับเงินค่าขนมจากคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่นั้นมา และเสนอให้พวกท่านนำเงินส่วนของตัวเองไปให้น้องๆ อีกสองคนเพราะตนสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว

 

เสียงคัดค้านจากทางบ้าน

แต่ใช่ว่าเมื่อค้นหาตัวเองเจอแล้วจะสามารถไปตามเส้นทางที่ต้องการได้ทันที พี่บีเล่าให้ Career Fact ฟังว่าพอจบจากคณะดีๆ มหาวิทยาลัยดีๆ มา ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ครอบครัวจะคาดหวังว่าจะได้เห็นภาพลูกชายทำงานออฟฟิศตามตึกหรู แต่งตัวใส่สูทดูภูมิฐาน และมีหน้าที่การงานมั่นคง ทว่าพี่บีกลับทำลายภาพอันสวยงามเหล่านั้นด้วยการออกไปเป็นติวเตอร์สอนตามร้านกาแฟ

 

“ถ้าถามว่าลูกจบมาทำงานที่ไหนแล้วต้องตอบว่าทำที่ร้านกาแฟ เค้าก็คงคุยกับใครไม่ได้”

 

สุดท้ายพี่บีก็รับแรงกดดันจากทางบ้านไม่ไหว จึงต้องออกไปหางานประจำอย่างอื่นทำตามเสียงเรียกร้อง แต่ดูเหมือนโชคชะตาเล่นตลก เมื่อการไปสัมภาษณ์กับธนาคารข้ามชาติแห่งหนึ่ง กลับกลายเป็นเครื่องตอกย้ำว่าความต้องการที่แท้จริงของพี่บีคืออะไร หนึ่งในคำถามที่ได้รับคือ “คุณจะทำกำไรให้บริษัทได้ยังไง” ระหว่างที่มีไอเดียในการตอบคำถามผุดขึ้นมามากมาย ก็มีความในใจแทรกซึมเข้ามา สำหรับตัวพี่บีเอง กำไรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันตั้งอยู่บนความสุขของผู้อื่น เมื่อไหร่ที่พี่บีทำให้คนอื่นยิ้มและหัวเราะได้ นั่นคือกำไรของพี่บี แต่สำหรับตำแหน่งที่กำลังสัมภาษณ์อยู่นั้น พี่บีเองก็ไม่แน่ใจนักว่านิยามคำว่ากำไรของบริษัทและของตนจะตรงกันหรือเปล่า พี่บีเก็บคำถามนี้ไปคิดต่อจนได้ข้อสรุปออกมากับตัวเองว่า

 

“อยากมีความสุขบนความสุขของคนอื่น ความสำเร็จของพี่ต้องเกิดจากการที่พี่ทำให้คนอื่นประสบความสำเร็จ”

 

และพี่บีก็ได้ค้นพบสิ่งที่ตอบโจทย์นี้แล้ว นั่นคือสิ่งที่ทำมาตลอด 7 ปีตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายจนถึงจบมหาวิทยาลัย คือการเป็นติวเตอร์นั่นเอง พี่บียังเชื่ออีกว่า คนเราสมควรได้ทำสิ่งที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข โดยที่สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องทำแล้วดูดี มีหน้ามีตา หรือเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ด้วยเหตุนี้ พี่บีจึงยอมไม่ทำตามคาดหวังของที่บ้านและกลับไปเป็นติวเตอร์สอนตามร้านกาแฟดังเดิม

 

จุดเริ่มต้นของ Warwick Institute

ก่อนจะมีการเปิดโรงเรียน พี่บีจะรับติวแค่วิชาคณิตเป็นหลักเพราะนั่นคือสิ่งที่ถนัด ทว่าหลังจากรับสอนนักเรียนมาหลายคน แต่ละคนก็มีคณะที่อยากเข้าไม่เหมือนกัน จึงทำให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าใช้วิธีรับติวแบบนี้ ไม่ว่าจะทุ่มเทกับการสอนมากแค่ไหน ก็จะช่วยเด็กได้แค่วิชาคณิตวิชาเดียว แต่ในความเป็นจริง วิชาอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเข้าวิศวะ (ISE) ก็ต้องมีวิชาฟิสิกส์ เคมี จะเข้าอักษร (BALAC) ก็ต้องมีการฝึกเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ พี่บีมองว่าเด็กทุกคนที่มาเรียน ไม่ใช่เด็กที่อยากเก่งเลขเพียงอย่างเดียว แต่คือเด็กที่อยากสอบเข้าคณะในฝันให้ได้ ซึ่งก็ต้องทำคะแนนวิชาอื่นๆ ให้ดีด้วย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุให้พี่บีเห็นสมควรว่าควรเปิดโรงเรียนเพื่อให้ครอบคลุมทุกรายวิชา และสามารถควบคุมคุณภาพของทั้งบุคลากรวิชาอื่นๆ ที่พี่คัดสรรมาด้วยตัวเอง รวมถึงติดตามพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคลได้ง่าย

 

นอกเหนือจากการเสริมทัพด้วยครูท่านอื่นแล้ว ที่ Warwick Institute ยังมีกิจกรรมต่างๆ นอกจากการติวสอบที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติม อย่างการมี Interview Workshop เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรอบสัมภาษณ์ ทั้งยังมีแม้กระทั่งวันปฐมนิเทศ (Orientation) เพื่อวางแผนการสอบ Admission ให้นักเรียนเป็นรายบุคคล วันปัจฉิมนิเทศ (Legacy Night) และงานพรอมฉลองความสำเร็จ นับเป็นการสร้างกลุ่มเครือข่ายให้ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษา ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าชีวิตมหาลัยจะน่าเบื่อ เรียกว่าได้ว่าเป็นสถาบันกวดวิชาที่สร้างสังคมให้เหมือนกับโรงเรียนธรรมดาเลยทีเดียว

 

เคล็ดลับความสำเร็จ

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ทำให้ Warwick Institue ประสบความสำเร็จ พี่บีให้คำตอบมาว่า Key Success  คือเป้าหมายที่แตกต่างจากสถาบันอื่น สถาบันกวดวิชาทั่วไปอาจวัดผลกันที่กำไร หรือความยิ่งใหญ่ของสถาบัน แต่ที่นี่วัดกันที่เปอร์เซ็นต์ที่นักเรียนสอบติดคณะและมหาวิทยาลัยที่หวัง

 

“พี่ไม่ได้ทำธุรกิจ พี่เปิดโรงเรียน พี่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ พี่เป็นครู”

 

ดังนั้น เป้าหมายหลักของ Warwick Institute จึงเป็นการหาคำตอบให้แก่คำถามที่ว่า เด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่จะบรรลุเป้าหมายตัวเองได้ยังไง? ทำยังไงเด็กถึงจะสอบติด? ไม่ว่าเด็กที่เข้ามาจะมีศักยภาพระดับไหน ไม่ว่าจะเก่งหรืออ่อน หน้าที่หลักของ Warwick Institute คือการผลักดันให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใกล้ความฝันมากที่สุด ที่อื่นอาจมีคอร์สฟรีให้เด็กเรียนเก่ง เด็ก Gifted แต่ที่นี่เชื่อว่าไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงมีกิจกรรมที่เรียกว่า No One Left Behind เป็นการติวฟรีกี่ครั้งก็ได้ภายใน 1 เดือนและเลือกได้มากที่สุดถึง 5 วิชา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีไว้ให้สำหรับกลุ่มคะแนนต่ำโดยเฉพาะ เพราะต้องการผลักดันให้นักเรียน Warwick Institute ทุกคนสอบติดคณะที่ตัวเองฝันไว้ให้ได้

 

อีกหนึ่งข้อแตกต่างของ Warwick Institute คือจะรับติวสอบเพื่อเข้าจุฬา-ธรรมศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากเป็นสองมหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์ที่คะแนนสูงเป็นอันดับต้นๆ และถ้ายิ่งตั้งเป้าไว้สูง ต่อให้ทำคะแนนไม่ได้ตามเป้า เด็กนักเรียนก็ยังมีที่ไป แต่ถ้าตั้งไว้เพียงคะแนนกลางๆ แล้วยังทำไม่ได้อีก ก็อาจจะสอบไม่ติดเลยก็ได้ พี่บียังบอกอีกว่าตนทุ่มเทกับการสอนตลอด ไม่เคยมีกั๊ก ไม่มีการแบ่งว่าคนนี้อยากได้คะแนนกลางๆ ก็สอนเท่านี้พอ และเพราะความเข้มข้นข้นระดับนี้เอง พี่บีจึงเรียก Warwick Institute ว่าเป็นโรงเรียนเตรียมสอบเข้าอินเตอร์จุฬา-ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แค่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์เฉยๆ

 

ออนไลน์ได้แต่จะไม่อัดเทป

ในช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวเพราะ COVID-19 แน่นอนว่า Warwick Institute เองก็ต้องมีการปรับตัวไปสอนออนไลน์ โดยมีการสร้างระบบซัพพอร์ทเพิ่มเติมเพื่อคอยดูว่าเด็กแต่ละคนโฟกัสกับเนื้อหามากน้อยแค่ไหน มีสต๊าฟคอยบอกว่าคนนี้เข้าเรียนสาย คนนี้ไม่ตั้งใจ

 

ถึงกระนั้น พี่บีก็ยังเชื่อในการสอนต่อหน้ามากกว่า เหตุผลเป็นเพราะว่า พี่บีจะสร้างสายสัมพันธ์กับเด็กที่เข้ามาเรียนตั้งแต่วันแรก ตอนที่เด็กคนนั้นยังเป็นแค่เด็กมัธยมธรรมดาคนนึง และยังไม่รู้ว่าควรจะเอายังไงกับชีวิต จนถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จจนกลายเป็น Someone ของสังคมและประเทศนี้ สิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าใช้วิธีการอัดเทป แน่นอนว่าการอัดเทปจะช่วยสร้างรายได้ให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณความเป็นครูของพี่บีได้ พี่บีจะจำเด็กที่สอนได้ทุกคน เพราะคงไม่สามารถช่วยให้เด็กเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่รู้ว่าเด็กคนนั้นชื่ออะไร เรียนที่ไหน เป้าหมายคืออะไร จุดอ่อนอยู่ตรงไหน

 

นอกจากนี้ การอัดเทปยังทำให้พี่บีไม่มีทางรู้เลยว่า ได้ผลักดันเด็กแต่ละคนจนสุดขีดความสามารถแล้วหรือยัง ไม่มีทางรู้ว่าเด็กทำการบ้านหรืออ่านหนังสือตามที่สั่งหรือเปล่า พี่บีเองก็เคยผ่านช่วงวัยมัธยมมาแล้ว ย่อมรู้ดีว่าเด็กวัยนั้นไม่มีใครชอบเรียนหนังสือ ต่อให้เรียนดีก็ยังมีวิชาที่ไม่ชอบบ้าง เพราะฉะนั้น การบังคับตัวเองให้ตั้งใจเรียนตลอดเวลาโดยไม่มีใครเฝ้าจึงเป็นเรื่องยาก ยิ่งสมัยนี้มีสิ่งรบกวนอย่างมือถือและ Social Media ที่ทำให้สมาธิหลุดอยู่บ่อยๆ ด้วยแล้ว พี่บีจึงขอยืนยันว่าจะไม่อัดเทปเช่นเดิม

 

สำหรับน้องๆ ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด พี่บีบอกว่าในปัจจุบันก็จะมีคนที่เดินทางมาเรียนถึงที่กรุงเทพ จำนวนไม่น้อย แต่พี่บีเองก็มีแผนจะไปสอนตามจังหวัดอื่นๆ โดยจะประสานงานร่วมกับทางโรงเรียนเพื่อไปสอนถึงที่ด้วยตัวเอง สามารถโทรเข้าไปรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-658-4880

 

เป้าหมายสุดท้าย

สิ่งหนึ่งที่พีบีมั่นใจมากคือไม่ต้องการ Go Mass เพราะถ้าโรงเรียนขยายไปวงกว้าง คุณภาพการดูแลเด็กรายคนก็จะน้อยลง เป้าหมายหลักจึงอยู่ที่ Success Rate โดยจะเพิ่มจากเดิมอยู่ที่ 94.6% ให้สูงถึง 99% เนื่องจากความฝันเดียวของพี่บีคือการเห็นคนรอบตัวประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุด

 

ในแง่ของเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกวงการ พี่บีบอกว่า Warwick Institute ก็ต้องปรับตัวด้วย โดยอาจจะมีการเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงเนื้อหาที่ตามไม่ทันจากตอนเรียนในห้องหรือการเรียนซ้ำ แต่จะยังไม่ถึงขั้นทำเป็นคอร์สเรียนออนไลน์

 

ความเห็นต่อการศึกษาไทย

ในยุคสมัยที่เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ต่างๆ ด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดาย หากไม่รู้จักปรับตัวก้าวตามเทคโนโลยีและเด็กๆ ได้ทัน บทบาทของโรงเรียนและครูก็อาจจะมีความสำคัญน้อยลงในสายตานักเรียน

 

ครูจึงต้อง Transform ตัวเองจากผู้ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว กลายเป็นคนคนหนึ่งที่เด็กเชื่อใจและนึกถึงเวลามีปัญหา ครูต้องทำตัวให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดระยะห่างระหว่างครูและนักเรียน แบบนี้ไม่ว่าสังคม เทคโนโลยี หรือตัวเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง ครูก็จะยังเป็นคนที่เด็กนักเรียนนึกถึง ถ้าเด็กมีภาพจำที่ไม่ดีต่อตัวครู เด็กก็จะรู้สึกไม่อยากเรียน การเรียนในห้องก็จะกลายเป็นเรื่องเสียเวลากับทั้งสองฝ่าย ดังนั้น หน้าที่ครูยุคใหม่ คือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำยังไงให้เด็กเรียนแล้วมีความสุข ทำยังไงให้ 1 คาบมีประโยชน์ที่สุดกับตัวเด็กและทำยังไงให้กลับบ้านไปแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นครูที่ดี

 

บทเรียนสำหรับคนรุ่นใหม่

พี่บีมองว่าการที่เด็กรุ่นใหม่มีตัวตน มีความสุขได้ด้วยตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุน้อยนั้นถือเป็นเรื่องดี แต่ในขณะเดียวกันการคิดถึงตัวเองมากไป ก็อาจทำให้ลดความสำคัญเรื่องอื่นลง ถ้าระวังตรงนี้ไว้ ช่องว่างระหว่างวัยก็จะน้อยลง ถึงจะบอกว่าครูและครอบครัวต้องปรับตัวเข้าหานักเรียน แต่ความจริงนักเรียนก็ควรปรับตัวเข้ากับคนรอบข้างเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวเข้าหากันทั้งสองฝ่าย

 

“คำว่าตัวเอง ตัวเอง และตัวเอง อาจทำให้คำว่าสังคม ครอบครัว คนรอบตัวแผ่วไป” พี่บีเอ่ยทิ้งท้าย

 

 

 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights