อยุทธ์ พจน์อนันต์: ผู้ร่วมก่อตั้ง Shinsen Fish Market กับการดิ้นรนในยุคโควิด

จากวันที่รู้ตัวว่าไม่อยากเป็นลูกจ้างสายอาชีพและไม่อยากไต่เต้าตำแหน่งในองค์กรเพราะอยากเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เด็กทำให้ทุกวันนี้เขามีธุรกิจที่ดูแลถึง 5 บริษัท

และปัญหาในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เขาพยายามพาธุรกิจและลูกน้องทุกคนอยู่รอดไปให้ได้จนถึงวันที่กลับมาปกติอีกครั้ง

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของ ‘พี่น็อต’ อยุทธ์ พจน์อนันต์ ที่ Career Fact กำลังจะเล่าให้ทุกคนฟัง

สภาพแวดล้อมในวัยเด็ก

พี่น็อตเป็นลูกเชื้อสายคนจีนที่ครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัวทำให้เขาซึมซับสภาพแวดล้อมเรื่องค้าขายมาตั้งแต่เด็ก หลังจบมัธยมที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เขาจึงเลือกเรียนต่อปริญญาตรีสาขาการตลาด ที่คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเข้าสู่เส้นทางการทำงานที่ SCG paper ในตำแหน่ง Sales & Marketing ดูแลในเรื่องของ B2C และหลังทำงานได้ 3 ปี พี่น็อตนำประสบการณ์มาเปิดบริษัทแรกของตัวเองเป็นธุรกิจแบบ Organizing-Agency ทำโร้ดโชว์และจัดทำสื่อต่างจังหวัด และต่อยอดมาเป็นธุรกิจสายการตลาดมืออาชีพในชื่อ ‘ADdict’

อยากเป็นเจ้าของกิจการ

แพลนของพี่น็อตคือเข้าไปเก็บประสบการณ์จากบริษัท 3-4 ปี แล้วค่อยไปต่อปริญญาโท MBA ที่ต่างประเทศ แต่ด้วยอุปสรรคของคะแนนภาษาอังกฤษทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์มหาวิทยาลัยระดับท็อปอย่างที่หวังไว้ เขาจึงตั้งใจอ่านหนังสือเพื่อเรียนต่ออย่างหนัก จนวันที่พี่น็อตไปขอคำปรึกษาจากเจ้านายที่เป็นนักเรียนทุนของ SCG และได้คำแนะนำว่า “ถ้ารู้ตัวว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อย่าไปเสียเวลา แค่ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ดีแล้วไปเอาประสบการณ์กลับมาก็พอ” 

พี่น็อตบอกว่าโชคดีที่คำแนะนำนั้นผลักให้เขาไม่เสียเวลาทิ้งไปหนึ่งปี และเข้าเรียนต่อสิ่งที่อยากเรียนจริงๆ จนในที่สุดเขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทหลักสูตร MBA Entrepreneurship ที่ Pepperdine University สหรัฐอเมริกา

จากความฝันสู่ความจริง

อาจเป็นทั้งจังหวะและโอกาส หรือหลายๆ อย่างรวมกันที่ทำให้พี่น็อตก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว เขาเล่าให้ฟังว่าตอนปี 3 ไปฝึกงานที่ GMM แกรมมี่ มีคำถามให้เขียนว่าอยากเป็นอะไร คำตอบของพี่น็อตในตอนนั้นคือ “อยากเป็น CEO ที่แกรมมี่” ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะเป็นอะไร แต่เขาคิดอยู่เสมอว่าเรียนจบมาแล้วต้องเป็นผู้บริหารให้ได้ พี่น็อตบอกว่าส่วนหนึ่งก็คือซึมซับมาจากญาติๆ ทางบ้าน ที่ทุกคนทำงานค้าขายและเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ไม่ใช่ลูกจ้างสายอาชีพ ทำให้ช่วงที่ทำงานใน SCG ก็ไม่อยากทำงานแบบไต่เต้าในองค์กร และช่วงระหว่างอ่านหนังสือสอบเรียนต่อปริญญาโท เขาก็เริ่มทำหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้พี่น็อตช่วยบริหารธุรกิจนำเข้าเคมียาจากจีนและอินเดียมาส่งต่อโรงงานในเมืองไทยของที่บ้านที่มีพนักงานไม่ถึง 10 คน ทำให้ฝั่งหนึ่งพี่น็อตก็ช่วยที่บ้านและทำ ADdict บริษัทของเขาให้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกัน

ช่วงที่พี่น็อตทำ ADdict นี้เองทำให้ต้องเจอลูกค้าที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจร้านอาหารที่จ้างทำทั้งส่วนการตลาดและจ้างให้เป็น Consult พอเจ้าของคนหนึ่งออกมาทำธุรกิจอาหารเอง ก็ชักชวนพี่น็อตให้ลงทุนเป็นหุ้นส่วนและดูการตลาดด้วย ทำให้เขาเข้าใกล้ความฝันในการบริหารธุรกิจอีกหนึ่งก้าว เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่า บริษัทมีปัญหา พี่น็อตเลยขยับขึ้นมาเป็น Managing Director (MD) ที่ Shinsen Fish Market ณ วันนั้นพี่น็อตทำงานเป็นฟูลไทม์เพราะมีปัญหาที่ต้องเข้าไปแก้ เขาจึงขอถอย ADdict ออกมาปีครึ่ง โดยไม่รับเงินเดือน และพอเข้าไปเซตอัพจนทีมนิ่งแล้วจึงกลับมาดูแล ADdict เต็มตัวอีกครั้ง

ปัญหาของธุรกิจอาหาร

ประสบการณ์ในการทำงานกับ ADdict ของพี่น็อตทำให้วิธีคิดทำงานต้องเป็นทั้งกระบวนการ ทั้งออกงานโร้ดโชว์ รวมถึงทำรีเสิร์ช Marketing Campaign ที่คิดตั้งแต่ต้นจนจบ “มันต้องคิดให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่คิดให้เสร็จ คิดเผื่อทุกคนในทุกๆส่วนที่เกี่ยวข้อง” เขากล่าว

ปกติแล้วธุรกิจ Food and Beverage Service ในช่วง 6 เดือนแรกถือเป็นช่วงฮันนีมูนที่มีทั้งพีคสุดและแย่สุด สิ่งที่พี่น็อตต้องเจอระหว่างเป็น MD คือทุกปัญหาวิ่งมาที่เขาหมดเลย จึงต้องเข้าไปปรับทุกอย่างให้ค่อยๆ ดี โดยปัญหาหลักจะเป็นเรื่องของการ Empower พนักงานได้ไม่ดีพอ และไม่มีประสบการณ์ทางด้านF&B มีทีมงานน้อยแต่โครงสร้างใหญ่ เมื่อผ่านไปหนึ่งปีก็กลับมาทำได้อย่างน่าพอใจ 

สิ่งที่พี่น็อตเรียนรู้จาก GM ที่เขายกให้เป็นเหมือนอาจารย์คนหนึ่งที่สอนว่าการทำธุรกิจร้านอาหารต้องให้อำนาจการตัดสินใจในงานกับเหล่าผู้จัดการร้านตลอด ไม่เช่นนั้นปัญหาจะวิ่งมาหาที่คนๆ เดียว ดังนั้นจึงต้องให้ทีมตัดสินใจเองเพื่อให้รู้ว่าเป็นความรับผิดชอบของพวกเขา อาจจะปล่อยให้พวกเค้าผิดพลาดได้บ้าง แต่ต้องให้พวกเค้ารู้ว่าคือการตัดสินใจต่างๆที่เกิดขึ้นคือความรับผิดชอบของเค้า บทเรียนนี้ทำให้พี่น็อตนำมาปรับใช้เพื่อบริหารธุรกิจให้ดีขึ้นอยู่ตลอด

อัพเดทโลกผ่านธุรกิจ

เมื่อเราถามว่าชีวิตในเส้นทางสายธุรกิจอาหารจะเป็นอย่างไรต่อ พี่น็อตให้คำตอบว่าสิ่งที่เขาพบคล้ายกับเรื่อง Connect the Dots เพราะเมื่อมายืนจุดนี้ได้เห็นตลาดและโอกาสมากขึ้น กลายเป็นอยู่กับเรื่องที่ชอบ จนทุกวันนี้มีหุ้นส่วนทางธุรกิจมากขึ้น ทั้งร้าน Seiryu Sushi ที่ซื้อมาบริหาร รวมถึงร้าน Tsuta Ramen ที่ชักชวนมาเปิดในไทย นอกจากนี้พี่น็อตมีหุ้นในร้าน In the Mood for Love โอมากาเสะแห่งแรกๆ ของไทย และล่าสุดร้าน Shiki ที่เป็น Kappou Omakase อีกหนึ่งร้าน

แม้จะมีธุรกิจที่ต้องดูแลในฝั่งอาหารจำนวนมาก แต่พี่น็อตยังใช้เวลาส่วนใหญ่กับการดูแล ADdict มากกว่า เพราะเป็นเอเจนซี่ที่ตั้งใจปลุกปั้นจนเติบโต เขาบอกว่าพอต้องดูแลเรื่องการตลาดก็เลยได้อัพเดตกับเทรนด์โลกและการตลาดอยู่ตลอดเวลา ข้อดีคือไปปรับใช้กับธุรกิจทั้งสองด้านได้

โควิดกับผลกระทบร้านอาหาร ทุกคนต้องกินอิ่มแต่น้อยลง

“ทุกคนต้องกินอิ่ม แต่น้อยลง เราบอกพวกเขาตั้งแต่แรกๆ ว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนอิ่มเท่าเดิมได้”

‘น็อต’ อยุทธ์ พจน์อนันต์

ร้านอาหารที่พี่น็อตดูแลทั้งหมดไม่ได้เลย์ออฟใครออกเลย เพราะวิกฤติครั้งนี้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่พี่น็อตพยายามคือสู้ในเกมแห่งโรคระบาดครั้งนี้ให้นานที่สุดเท่าที่ทำได้ แม้สถานการณ์ระบาดรอบนี้จะทำให้แวดวงธุรกิจอาหารมียอดเดลิเวรี่หายไปมากกว่าเกินครึ่ง

เขาเล่าว่าตั้งแต่การระบาดของโควิดทำให้เขาต้องปรับตัวธุรกิจสู่เดลิเวรี่อย่างเต็มรูปแบบ เป็นที่มาของทำการตลาดขายอูนิให้กับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศเพื่อลุยตลาดเดลิเวรี่ สิ่งที่ตั้งใจที่สุดคือต้องหาทางรอดเลี้ยงลูกน้องให้ได้ก่อน แม้กระแสตอบรับยอดขายอูนิถล่มทลายมากแต่ไม่ได้กำไรเยอะ เพราะสุดท้ายร้านของเขาต้องได้เงินมาเลี้ยงลูกน้องให้ได้เป็นลำดับแรก

KeyPoint ในโลกธุรกิจ

เรื่องการบริหารคนและจัดการโครงสร้างเป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เยอะขึ้นจากการที่ต้องดูแลธุรกิจทั้งสองฝั่ง พี่น็อตบอกว่าปัญหาและโอกาสที่เข้ามาทำให้เขาเรียนรู้การเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้น ที่ต้องใส่ใจเรื่อง Empowerment เยอะมาก เพราะการเริ่มทำบริษัทเล็กที่คนไม่เยอะแล้วมาทำบริษัทใหญ่ เรื่องแบ่งหน้าที่การบริหารให้ชัดเจนสำคัญมากในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้เรื่องกระแสเงินสด และการจัดการ Profit and Loss เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนมักขาดความเข้าใจ พี่น็อตเสริมว่าหลายๆ คนเห็นว่าเงินเข้ามาเยอะก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะขายได้เยอะแต่ยังขาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจอาหารที่รับเงินสดแต่ซื้อของใช้เครดิต เขาย้ำว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจให้มากที่สุด

ส่วนคำแนะนำที่พี่น็อตอยากฝากช่วงวิกฤติโควิดที่กระแสเงินสดเป็นสิ่งจำเป็น เขาบอกว่าควรคุยกับเจ้าหนี้ ตรงไปตรงมาและจริงใจ สุดท้ายจะทำให้เราอยู่รอดได้ และต้องมีแพลนให้เขามั่นใจและทำตามให้ได้ เพราะเรื่องเครดิตจะผ่อนหนักให้เป็นเบา Trust เป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ ที่สร้างให้ดียากมาก แต่ทำให้พังได้ง่ายมาก

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights