จบวิศวะแต่มาเป็น Content Creator?
วันนี้ Career Fact จะมาบอกต่อเรื่องราวของ ‘อู๋ spin9‘ ยูทูปเบอร์ที่ทุกคนนึกถึงเมื่ออยากดูรีวิว Gadget ออกใหม่ ผู้มองการทำคอนเทนท์เหมือนกับการทำการบ้าน เพราะเขาเชื่อว่าคนเล่าต้องรู้มากกว่าคนฟัง
ทำไมจบวิศวะแล้วไม่เป็นวิศวะ? ชีวิตเบนมาสายคอนเทนท์ได้อย่างไร? อะไรทำให้คนเชื่อใจรีวิวของ Spin9? ติดตามได้ที่นี่
หลงใหลในเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก
พี่อู๋บอกว่า ตอนเด็กๆ เขาไม่ได้ฝันว่าอยากโตไปทำอาชีพอะไรชัดเจน แต่อย่างหนึ่งที่รู้คือชอบเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีในยุคนั้นก็คือคอมพิวเตอร์ เขาใช้เวลาอยู่กับมันได้ทั้งวัน เพราะรู้สึกว่าในคอมพิวเตอร์ก็มีโลกของมัน ซึ่งเป็นคนละโลกกับที่เราใช้ชีวิตอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์กับชีวิตจริงนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เลยรู้สึกว่ามีหลายอย่างในนั้นให้เรียนรู้ ตอนเรียนที่โรงเรียนก็สนใจวิชาคอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ พอจะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย เห็นชื่อวิศวะคอมพิวเตอร์ก็เลือกไว้ก่อน ไม่ได้วางแผนอนาคตอะไรไว้จริงจังว่าจบมาจะทำงานอะไร
เป็นอย่างที่คิดไหม
“ไม่เป็นอย่างที่คิดเลย” พี่อู๋กล่าว โดยสิ่งที่เรียนนั้นจะเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม เรียนว่าจะใช้ทักษะทางคอมพิวเตอร์ไปช่วยทุ่นแรงคนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตอนเรียนก็รู้สึกสนุกดี ถึงแม้สุดท้ายจบมาก็ไม่ได้นำวิชายากๆ มาใช้ในชีวิตหลังเรียนจบเท่าไร แต่ก็ยังขอบคุณการตัดสินใจของตัวเองที่เลือกเรียนวิศวะ เพราะช่วยสอนพื้นฐานที่เอามาใช้ในการทำงานหรือในชีวิตประจำวันได้ หลักๆ ก็คือเรื่องการมีตรรกะที่ดี มองที่มาและผลลัพธ์ออก ทำให้รู้ว่าต้องทำแบบไหนถึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร
เริ่มเบนสาย
หลังเรียนจบปริญญาตรี พี่อู๋รู้ตัวว่าไม่ได้ชอบเรียนวิศวะมากพอจะไปต่อยอดสายเดิมอย่างลึกซึ้ง เลยตัดสินใจเบนไปสายธุรกิจเพราะมองว่าความรู้ทางธุรกิจเป็นพื้นฐานที่ดีของการทำงาน โดยพี่อู๋เรียนต่อปริญญาโทด้าน Global Business ที่ University of Westminster และด้าน International Entrepreneurship ที่ Hochschule Bremen แต่พอไปเรียนก็เจออุปสรรคเหมือนกัน เพราะไม่ได้มีพื้นฐานเท่าคนที่จบสายตรงมา ไม่ว่าจะด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล การบริหารจัดการ ยังไม่นับเรื่องรูปแบบการเรียนในต่างประเทศที่ค่อนข้างแตกต่างจากในไทย แถมมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนก็ไม่มีคนไทยเลย ทำให้ต้องปรับตัวเยอะพอสมควร การเอาตัวรอดก็ไม่ได้มีทางลัดอะไรเป็นพิเศษนอกเสียจาก
“ต้องยอมรับให้ได้ว่าเราไม่เก่งศาสตร์ด้านนี้เท่าคนอื่น และหากพื้นฐานไม่เท่าคนอื่น เราก็ต้องขยันกว่าคนอื่น”
จุดเริ่มต้น Digilife
เรียนจบปริญญาโทมา พี่อู๋ก็ลองสมัครบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงตามความชอบของตัวเองที่มีมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ลึกๆ อยู่หลายที่ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังจากได้พบปะพูดคุยกับคนในองค์กรคือ บางครั้งเราก็ชอบแบรนด์ๆ หนึ่งในฐานะผู้บริโภค แต่อาจจะไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งขั้นตอนการสัมภาษณ์งานนี้เองที่ทำให้พี่อู๋คิดว่าตัวเองอาจจะยังไม่อยากทำงานเป็นพนักงานบริษัท จึงตัดสินใจหยุดส่งใบสมัครงานเพื่อไปช่วยงานที่บ้านก่อน
ในเวลาเดียวกัน พี่อู๋ก็มีงานอดิเรกเป็นการทำเว็บไซต์รีวิว Gadget ต่างๆ ซึ่งเขาเคยทำมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พอได้กลับมาทำงานกับที่บ้านก็เลยมีโอกาสเขียนต่อ ทำให้มีคนมาติดต่อชวนไปทำรายการทีวี จึงได้ทำรายการทีวีเป็นรายการแรกภายใต้ชื่อ Digilife ถือเป็นจุดริเริ่มการรีวิวแบบ “เห็นหน้า” ของพี่อู๋
Content Creator
ระหว่างทำรายการทีวีพี่อู๋ก็ทำคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไปด้วย โดยแบ่งชัดเจนว่า ถ้าเป็นคอนเทนท์เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็จะอยู่ในรายการทีวี นอกเหนือจากนั้นก็อยู่ในยูทูบหรือช่องทางส่วนตัวอื่นๆ แต่เมื่อทำรายการไปได้ราว 5 ปี ทีวีก็เริ่มอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งแน่นอนว่าพอมีอะไรลงมา ก็ต้องมีบางอย่างขึ้นไป นั่นคือคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ต พักหลังคอนเทนท์ออนไลน์ของพี่อู๋ก็เลยเริ่มกลับมามีเรื่องเทคโนโลยีด้วย จนสุดท้ายพี่อู๋ก็ไม่ได้ทำรายการทีวีต่อและออกมาเป็น Online Content Creator เต็มตัว
อะไรทำให้ทั้งแบรนด์และคนดูเชื่อใจ
“เวลาที่เราจะเชื่อใจเพื่อนเราซักเรื่อง แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน เช่น ถ้าเป็นเรื่องอาหารต้องถามเพื่อนคนนี้ ถ้าเป็นเรื่องรถเราจะเชื่ออีกคน”
พี่อู๋อยู่วงการรีวิว Gadget มานาน อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าเริ่มเขียนรีวิวตั้งแต่ตอนเรียนมหาลัย จึงทำให้เป็นที่รู้จักในแวดวงนี้ อีกสาเหตุที่แบรนด์ไว้ใจให้พี่อู๋เป็นคนเล่านั้นเพราะพี่อู๋รีวิวทั้งมุมที่เป็นจุดเด่นและจุดด้อย พูดง่ายๆ คือ ในมุมมองคนดู พี่อู๋ก็จะมีความจริงใจกว่าและดูน่าเชื่อถือกว่าแบรนด์เล่าเอง
จุดเปลี่ยนที่มารีวิวสายการบิน
แน่นอนว่าในชีวิตเราไม่จำเป็นต้องชอบแค่อย่างเดียว นอกจากเทคโนโลยีพี่อู๋ก็ชอบเรื่อง Transportation ชอบยานพาหนะ สำหรับเครื่องบิน พี่อู๋มองว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเวลาอยู่บนเครื่องบินก็จะมีกฏเกณฑ์เยอะไปหมด บางอย่างแม้จะดูเล็กน้อยก็เกิดจากการคำนวณความเสี่ยงมาหมดแล้ว เช่น เวลาเทคออฟเครื่องบินก็จะประกาศให้เปิดหน้าต่างเพื่อต้องการให้ผู้โดยสารดูตามปีกบ้างว่ามีส่วนไหนเสียหรือเปล่าเพราะนักบินที่อยู่หัวเครื่องบินจะมองไม่เห็น พอยิ่งได้เรียนรู้เยอะก็ยิ่งสนุก และการทำงานสายเทคโนโลยีก็ได้เปิดโอกาสให้พี่อู๋ได้เดินทางเยอะ เช่น เวลามีงานเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ๆ ก็ต้องเดินทางตามประเทศต่างๆ พี่อู๋เลยใช้โอกาสนี้ในการทำคอนเทนท์ที่เกิดระหว่างการเดินทาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนทั่วไปมองว่าน่าเบื่อ แต่สำหรับคนชอบเครื่องบินอย่างพี่อู๋ นี่กลับเป็นช่วงเวลาที่สนุกไม่แพ้ตอนหลังเครื่องแลนดิ้ง
ความแตกต่างของการรีวิวสายการบินและ Gadget คือคราวนี้ต้องเป็นฝ่ายล่าคอนเทนท์เองบ้าง ปกติเวลาเราพิจารณาไฟลท์บิน ก็มักจะพิจารณาจากราคาตั๋วและเวลา แต่พี่อู๋จะเลือกจากสายการบินที่ไม่เคยบิน เครื่องบินรุ่นที่ไม่คุ้น หรือคลาสที่ไม่เคยนั่ง เพื่อให้ได้คอนเทนท์ที่แปลกใหม่แตกต่างจากเดิม ซึ่งบางทีก็ต้องยอมบินอ้อมหรือซื้อตั๋วแพงกว่าปกติ
การรีวิวและความรับผิดชอบ
“เราจะรู้สึกผิดกับตัวเอง ถ้าเราเล่าในเรื่องที่เราไม่รู้”
สำหรับพี่อู๋การรีวิวก็เหมือนทำหนังเรื่องหนึ่ง ที่ต้องมีเส้นเรื่อง ต้องมีอินโทรเกริ่นว่าสิ่งที่คนดูสงสัยคืออะไร แล้วพอดูไปเรื่อยๆ ก็จะตอบข้อสงสัยนั้นเอง ได้ของชิ้นหนึ่งมาก็ต้องศึกษาและจำลองหลายๆ สถานการณ์ว่าคนกลุ่มไหนน่าจะซื้อของชิ้นนี้ ซื้อไปแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้าง
หลายครั้งของที่รีวิวก็ไม่ได้ราคาถูกๆ ถ้าคนๆ หนึ่งจะซื้อโทรศัพท์ราคาสามหมื่น สิ่งที่เขาจะทำก็คือหารีวิวดู ซึ่งหลายๆ คนก็เข้ามาบอกพี่อู๋ว่า เขาซื้อเครื่องนี้เพราะรีวิวพี่อู๋ ถึงพี่อู๋จะชอบแซวว่า เขาเป็นคนพาทุกคนเสียเงิน แต่ในขณะเดียวกัน พี่อู๋ก็มองว่าถ้ามีคนที่เชื่อใจเขามากขนาดนี้ เขาก็ยิ่งต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูด ถ้าพูดในสิ่งที่ไม่ได้รู้จริง หรือลองใช้แล้วเอามาเล่าไม่ครบทุกมุม คนดูก็คงเสียความรู้สึก และยิ่งเป็นของที่ชิ้นใหญ่ขึ้นอย่างรถราคาหลักแสนหลักล้าน ความรับผิดชอบก็ยิ่งมากขึ้น ทุกวันนี้เลยรู้สึกว่าที่ลงทุนทำการบ้านมาเยอะแยะนั้นคุ้มค่าและเป็นสิ่งที่ควรทำ
เป้าหมายและความท้าทายในอนาคต
พี่อู๋บอกว่า ด้วยนิสัยส่วนตัวก็คงพาตัวเองไปเจอความท้าทายใหม่ๆ ตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีเป้าหมายอะไรชัดเจน ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วถ้าถามว่าเห็นตัวเองมาอยู่จุดนี้ไหม ก็คงไม่ ถ้าถามว่าเป้าหมายในอนาคตคืออะไร คำตอบก็คล้ายๆ กัน คือไม่ได้มีเป้าหมายระยะยาวชัดเจน อาจจะมีเป้าหมายระยะสั้นบ้างแต่ไม่ได้เครียดกับมันเกินไปว่าต้องทำให้ได้ เน้นยืดหยุ่นให้ตัวเองทำสิ่งที่อยากลองทำหรือควรทำในช่วงเวลานั้นๆ มากกว่า เช่น ปีนี้ไม่สามารถทำคอนเทนท์ที่ต้องไปต่างประเทศได้ ก็ใช้เวลาช่วงนี้วางแผนว่าคนดูหรือตัวพี่อู๋เองอยากได้คอนเทนท์อะไรมาทดแทน และถ้ากลับมาทำได้จะทำยังไงให้มันดีขึ้น
คิดอย่างไรกับการจบมาทำงานไม่ตรงสาย
“ไม่เป็นไรเลย!”
พี่อู๋มองว่าด้วยระบบการศึกษาไทยที่บังคับให้เราเลือกเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ยังมองไม่เห็นว่าตัวเองต้องการอะไร การจะจบมาแล้วทำงานไม่ตรงสายที่เรียนก็ไม่ใช่เรื่องผิด ประเด็นอยู่ที่ว่าทำแล้วมีความสุขไหม มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำไหม บางครั้งความชอบกับสิ่งที่ตัวเองเรียนมันไม่ตรงกันก็ค้นหาไปก่อน ต่อให้เริ่มทำงานแล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าไม่ทันแล้ว
อยู่ในค่าเฉลี่ยก็ถือว่ามีชีวิตที่ดีแล้ว
“โลกอินเทอร์เน็ตทำให้เราเห็นชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จเต็มไปหมดจนรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแย่ แต่ความเป็นจริงแค่คุณอยู่ในค่าเฉลี่ย ก็ถือว่าคุณมีชีวิตที่ดีแล้ว”
สมัยก่อนตอนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต อย่างมากก็เปรียบเทียบกับคนรอบตัวที่มองเห็นได้อย่างเพื่อนที่โรงเรียน แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เราเจอมันกว้างมาก บางคนเคยคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่อินเทอร์เน็ตและ Social Media กลับทำให้เห็นว่ามีคนเก่งกว่าเราอีกมาก ทำให้มีแนวโน้มว่าจะไม่พอใจในตัวเองได้ง่าย แล้วพอคนเราไม่เชื่อในความสามารถตัวเอง ก็จะไม่กล้าลงมือทำอะไรต่อ พี่อู๋จึงอยากให้หันมาโฟกัสกับการอยู่ในค่าเฉลี่ยมากกว่าการจะต้องเป็น “ที่สุด” ในทุกๆ ด้าน เพราะบางครั้งการอยู่ในค่าเฉลี่ยได้ก็แปลว่าคุณ “ดีพอ” แล้ว
Personal Branding คืออะไร? สื่อสารอย่างไร? ในวันที่ตัวตนสำคัญกว่าตัวแบรนด์

FacebookFacebookXXLINELine‘แบรนด์’ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำธุรกิจ แต่หากเราพูดถึงการสร้างแบรนด์ในปัจจุบัน Personal Branding จะเป็นหนึ่งในหัวข้อที่หลายคนให้ความสนใจ และให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆแต่เมื่อพูดถึง Personal Branding…