อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์: Software Engineer ในต่างแดนที่กลับมาเป็นอาจารย์สายดาต้าที่เมืองไทย

อาชีพสาย Data ก็ยังคงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงที่สุดในปีนี้อยู่ แต่มีใครเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่า หน้าที่ของพวกเขาคืออะไรและทำไมถึงเป็นที่ต้องการของตลาดขนาดนี้?

คราวนี้ Career Fact จะพามาเจาะลึกว่าชาวเทคสายข้อมูลเขาทำอะไรกันบ้างผ่านเรื่องราวของ ‘พี่เต้’ อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์

ทำไมเป็น Software Engineer ในต่างแดนอยู่แล้วถึงกลับมาเป็นอาจารย์ที่เมืองไทย? Data มีประโยชน์อย่างไร? อยากทำงานสาย Data ต้องเริ่มจากตรงไหน? ติดตามได้ที่นี่

จากเด็กศิลป์เพียวๆสู่การผสานของวิทย์และศิลป์

พี่เต้รู้ตัวว่าชอบด้านภาษาและทำมันได้ดีมาตั้งแต่เด็กเลยเลือกเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส อาชีพที่อยากทำตอนนั้นจึงเป็นแนวที่เด็กศิลป์ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันกันนั่นคือนักการทูต

แต่เนื่องจากได้ทุนไปเรียนที่ Stanford University ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะให้เลือกสาขาที่เรียนตอนขึ้นปี 2 พี่เต้จึงได้โอกาสลองสำรวจความชอบตัวเองอีกครั้งตอนปี 1 และช่วงเวลานี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ความสนใจของพี่เต้เปลี่ยนมาทางด้านการเขียนโปรแกรม

พี่เต้ได้ไปเจอกับวิชาหนึ่งที่ชื่อว่า Intro to Programming โดยตอนนั้นก็ยังไม่ได้สนใจด้านการเขียนโปรแกรม แต่เนื่องจากได้ยินกิตติศัพท์มาว่าเป็นวิชาที่ฮ็อตฮิตของมหาวิทยาลัย อาจารย์สอนดีมาก แถมไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานก็เรียนได้ ก็เลยลงเรียนตามคนอื่น พอได้ลองเรียนแล้วก็ติดใจ เพราะเป็นวิชาที่ได้เรียนภาคปฏิบัติเยอะ ต่างจากการเรียนการสอนของวิชาส่วนใหญ่ที่เน้นทฤษฎี นอกจากนี้ยังมีวิชาอื่นๆ ที่พี่เต้เรียนแล้วชอบ คือจิตวิทยาและภาษาศาสตร์

เมื่อถึงเวลาต้องเลือกสาขา พี่เต้ก็เลือกสาขา Symbolic Systems ที่รวมความสนใจของพี่เต้ทั้งหมดไว้ด้วยกันตั้งแต่ วิทยาศาสตร์ข้อมูล ภาษาศาสตร์ จิตวิทยา ไปจนถึงปรัชญา

เคยสงสัยความสามารถตัวเองบ้างไหม

พอต้องข้ามมาเรียนสิ่งที่ตัวเองไม่มีพื้นฐาน การที่สงสัยในความสามารถตัวเองว่าจะเรียนไหวไหมย่อมเป็นเรื่องธรรมดา แต่พี่เต้เชื่อว่าถ้าเราพยายามอย่างจริงจัง เราจะสามารถทำได้ (เกือบ) ทุกอย่าง และในเมื่อตัววิชาเคลมว่าไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ พี่เต้จึงคิดว่าลองดูก็ไม่เสียหายอะไร ถึงจะมีปัญหาเรื่องเกรดบ้างเพราะมีคนที่เก่งอยู่แล้วมาเรียนจนฉุดคะแนนขึ้นไป แต่พี่เต้ก็ไม่ปล่อยให้มันมาขัดขวางการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะเขาตั้งใจมาเก็บเกี่ยวความรู้ ไม่ได้กะว่าจะมาเก็บเกรดอย่างเดียว

Symbolic Systems เรียนเกี่ยวกับอะไรกันแน่

ถ้าใช้ชื่อสาขาว่า Symbolic Systems จะมีแค่ที่ Stanford ที่เดียว ส่วนที่อื่นส่วนใหญ่มักเรียกว่า Cognitive Science คือการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการคิดของมนุษย์ ตั้งแต่การตั้งคำถามว่าความคิดคืออะไร? คนเราคิดได้อย่างไร? ต้องทำอย่างไรเราถึงจะเข้าใจความคิดของคน?

สำหรับในแง่ภาษาศาสตร์นั้น หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนว่าความจริงแล้ว ‘ภาษา’ (Language) เป็นสิ่งที่มีแค่ในมนุษย์เท่านั้น ส่วนสัตว์นั้นสื่อสารกันผ่าน ‘สัญญาณ’ (Signal) การเข้าใจหลักการทำงานของภาษาจึงทำให้เราเข้าใจความคิดของมนุษย์มากขึ้น ส่วนด้านปรัชญาก็จะเป็นศาสตร์ที่ตั้งคำถามกว้างๆ เช่น เราจะมีเกณฑ์อะไรมาวัดว่าคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีนั้น ‘ฉลาด’ แล้ว

ถ้าหากอ่านแล้วมีข้อสงสัยว่า วิทยาศาสตร์ข้อมูลเกี่ยวข้องกับสาขานี้ยังไง ก็อาจจะเริ่มจากบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลก่อน โดยบทบาทของอาชีพนี้ก็คือการนำ ‘ข้อมูล’ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ 2 แบบ แบบแรกคือออกมาเป็นโปรดักต์ เช่น Google Translate หรือ Siri ที่รับคำสั่งจากเสียง แบบที่สองคือการทำข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่เราสามารถนำไปใช้ตอนต้องตัดสินใจเวลาทำธุรกิจ เช่น จะทำอย่างไรไม่ให้ลูกค้าหนีไปใช้เจ้าอื่น ก็ต้องตอบคำถามก่อนว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาหนีไป ซึ่งข้อมูลที่เราได้จากการเรียนรู้ศาสตร์อื่นๆ ก็จะสามารถให้คำตอบตรงนี้ได้

Software Engineer ที่ Yelp

งานประจำงานแรกของพี่เต้หลังเรียนจบคือ Software Engineer ที่ Yelp ซึ่งก็คือเว็บไซต์รีวิวอาหารเหมือน Wongnai บ้านเรานั่นเอง โดยหน้าที่ของ Software Engineer จะเกี่ยวข้องกับการทำโปรดักต์ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากทำโมเดลขึ้นมาไปจนถึงคอยแก้ไขเวลาโปรดักต์ที่ทำออกมามีปัญหา ส่วนเรื่อง Insight ต่างๆ จะไปตกอยู่กับทีม Data Scientist

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากงานแรกนอกเหนือจากการขัดเกลาทักษะทางเทคนิคคือการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารกันเองภายในทีมว่าต้องเขียนโค้ดอย่างไรให้อ่านง่าย และการสื่อสารกับผู้บริหาร เพราะเวลาจะเสนอโปรดักต์ที่ทำขึ้นมาก็ต้องชี้ให้อีกฝ่ายเห็นว่าคุณค่าของมันคืออะไร โปรเจกต์นี้จะทำเงินได้เท่าไรในระยะยาว

ข้อมูลที่เจฟฟ์เบโซส์ยังออกปากว่าอยากได้

ช่วงที่พี่เต้เข้าไปเป็น Software Engineer ให้กับ LinkedIn เป็นช่วงที่บริษัททำ Talent Insights คือเป็นข้อมูลว่าทุกคนที่ใช้บริการ LinkedIn มาจากประเทศอะไร การศึกษาเป็นอย่างไร มีทักษะอะไรบ้าง ตอนนี้ทำงานที่ไหน และย้ายงานมากี่ครั้งแล้ว โดยดึงข้อมูลจากเรซูเม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของนายจ้างมาก ไม่เว้นแม้แต่ เจฟฟ์ เบโซส์ แห่ง Amazon ที่ถึงกับอีเมลมาถามว่า “Where can I get this?” (ผมต้องไปเอาข้อมูลนี้จากที่ไหน)

ถ้าถามว่าข้อมูลนี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราอยากรู้ว่าบริษัทคู่แข่งของเรากำลังพัฒนาไปในทิศทางไหน ก็ใช้ข้อมูลจากพนักงานบริษัทนั้นหรือคนที่เพิ่งย้ายเข้าไปว่าแต่ละคนมีทักษะอะไรติดตัวอยู่บ้าง จุดร่วมของพนักงานเหล่านั้นคืออะไร พอมีข้อมูลตรงนี้มันก็ทำให้เรารู้ไต๋คู่แข่งว่าจะเดินเกมอย่างไรต่อไป

กลับไทยมาเป็นอาจารย์

ตอนแรกพี่เต้ตั้งใจว่าจะทำงานที่อเมริกาต่อยาวๆ เพราะทั้งคุณภาพชีวิตและรายได้ตอนอยู่ที่นั่นก็ค่อนข้างดี แต่พอมาทบทวนดูแล้วก็ยังคิดถึงบ้าน ครอบครัว และเพื่อนฝูงที่ไทย ก็เลยว่าจะลองกลับมาอยู่สัก 5-6 ปี ประกอบกับทางคณะอักษรศาสตร์ของจุฬา ติดต่อมาว่ากำลังจะเปิดสาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ (Language Technology) พอดี จึงติดต่อมหาพี่เต้ให้มาเป็นอาจารย์เพราะเห็นว่าพื้นเพการศึกษาตรงกับที่มองหา

เมื่อสอนที่จุฬาฯ ได้เกือบปี ทาง True Digital Academy ก็ติดต่อพี่เต้ให้มาเป็นอาจารย์สอนด้าน Data Science ด้วยเช่นกัน

สอนอะไรที่TDA

ที่ True Digital Academy พี่เต้จะสอนทั้งพื้นฐานการเขียนโค้ด พื้นฐาน Data Analytics และพื้นฐาน Machine Learning แน่นอนว่าถ้าเรียนแล้วก็จะได้ Hard Skills ติดตัวกลับไป แต่สิ่งที่พี่เต้อยากให้โฟกัสด้วยคือเรื่อง Mindset คือต้องมีแนวคิดว่า ถ้ามีคำถามหรือข้อสงสัยอะไร ขอให้ลองตอบคำถามด้วยข้อมูลที่มี เพราะจุดประสงค์หลักของการเรียนคือการรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูล

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีคำถามว่า คนที่เป็นลูกค้าค่ายมือถือเดิมมานานนั้นเป็นเพราะค่ายนั้นสัญญาณดีหรือเปล่า ก็อาจจะเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละเขต เช่น เขตนี้สัญญาณค่าย A ดีกว่าค่าย B แล้วคนย้ายมาใช้ค่าย A เยอะไหม

เรียน Data แล้วดีอย่างไร

ถึงจะได้ยินคำว่า Data Analyst และ Data Scientist กันมาซักพักแล้วและหลายคนก็น่ารู้ดีว่าสายงานนี้เป็นที่ต้องการแค่ไหน เงินเดือนสูงกว่าปกติเท่าไร แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าเป็นอาชีพที่เกินเอื้อม น่าจะมีแต่คนที่เรียนจบสายตรงเท่านั้นที่ทำอาชีพนี้ได้

ทว่า อันที่จริงแล้วปัจจุบันอาชีพนี้กำลังขาดแคลนเพราะคนที่จบสายตรงมาน้อยกว่าความต้องการของตลาดมาก คนที่ไม่ได้จบสายตรงแต่พอมีพื้นฐานจากการเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อเสริมทักษะเฉพาะทางด้านนี้ให้กับตัวเองจึงสามารถเบนมาทางสายงานนี้ได้เช่นกัน

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคนเริ่มสนใจใน Data Science เยอะขึ้นแล้ว แต่คนที่ทำอาชีพนี้จริงๆ ก็ยังน้อยอยู่ คำตอบง่ายๆ ก็คือเพราะมันยาก จะให้เป็นกันได้ภายในไม่กี่สิบชั่วโมงก็คงเป็นไปไม่ได้

โดยพี่เต้บอกว่าทาง True Digital Academy จะมีเป็นคอร์ส Data Science Immersive ที่ทำร่วมกับ General Assembly บู๊ทแคมป์ที่ช่วย Upskill และ Reskill แห่งอนาคตส่งตรงจากอเมริกา เป็นคอร์สเรียนเต็มเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกวันนาน 3-4 เดือน นับเป็นจำนวนชั่วโมงได้ทั้งหมด 480 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีครบทุกอย่างที่ Data Scientist ควรจะมี

แต่พี่เต้ก็ยอมรับว่ามันเป็นหลักสูตรที่ยากและทรหดพอสมควร ผู้เรียนจึงต้องมีความตั้งใจและความพยายามเพื่อให้เรียนจนจบคอร์ส

Data สำคัญกับบริษัทแค่ไหน

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นทำได้หลายด้านมากๆ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับยอดขายก็จะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะติดต่อใคร (Lead Generation) ลูกค้าแบบไหนที่เราจะมีโอกาสปิดยอดได้มากที่สุด ถ้าเป็นด้านมาร์เก็ตติ้งก็จะใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์โปรโมชั่นและแคมเปญต่างๆ ว่าอันไหนเวิร์กอันไหนไม่เวิร์ก หรือถ้าเป็นในส่วนของ HR ข้อมูลก็จะทำให้รู้ว่าสิทธิประโยชน์อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานแต่ละกลุ่มมากที่สุด เป็นต้น

เป้าหมายต่อไปของพี่เต้

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องทำวิจัย พี่เต้ก็มีเป้าหมายจะทำ Open Source Software ด้านการวิเคราะห์ภาษาไทยให้ทัดเทียมกับฝั่งภาษาอังกฤษ เพราะตอนที่พี่เต้กลับมาไทยใหม่ๆ นั้นพบว่าแทบไม่มี Resource ภาษาไทยเลย

ส่วนในแง่ของงานสอน พี่เต้ก็บอกกับเราว่าเขาเองก็ทำ Data Analytics เพื่อวัดผลตัวเองเช่นกัน เขาจะคอยดูว่าปีนี้มีคนลงทะเบียนเรียนเยอะขึ้นมั้ย คนในห้องให้ความร่วมมือระหว่างเรียนแค่ไหน เพราะพี่เต้ก็มีความตั้งใจว่าอยากทำให้คนไทยมีทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลกันมากขึ้น ทั้งในมุมของบุคคลที่เอาไปใช้ทำงานและในมุมของผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาองค์กร

สิ่งที่อยากฝาก

พี่เต้ไม่อยากให้สบประมาทตัวเอง ว่าคงทำไม่ได้แน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยลอง เขาอยากให้ทุกคนมี Can-Do Attitude หรือความเชื่อมั่นใจตนเองว่าจะเอาชนะอุปสรรคและผ่านมันไปได้ เพราะถ้าไม่ลองเราก็คงไม่มีทางรู้ว่าศักยภาพที่แท้จริงของเราอยู่ระดับไหน

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights