อลิสรา กุลชัยพานิช แห่ง Worthy กับโอกาสที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

ยื่นฝึกงานแล้วโดนปฏิเสธเป็นสิบๆ ที่ วีซ่าเหลือแค่เดือนเดียวแต่ยังหางานไม่ได้ บริษัทระดับโลกในยุคโควิดชวนหัวหมุน

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเส้นทางเอาตัวรอดของ ‘พี่เบลล์’ อลิสรา กุลชัยพานิช สาวไทยในต่างแดนที่ไม่เคยได้โอกาสมาเพียงเพราะโชคช่วย และไม่เคยลดเป้าหมายตัวเองเพียงเพราะต้องการเพลย์เซฟ เรื่องราวของเธอจะสนุกขนาดไหน ติดตามได้ที่นี่

ชีวิตวัยเรียน

พี่เบลล์ฝันอยากมีธุรกิจของตัวเองมาตั้งแต่เด็กเพราะเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะคุณแม่ที่เธอเห็นว่าขยันสรรหาโปรเจกต์ใหม่ๆ มาทำเพื่อไม่ให้ตัวเองอยู่ว่างๆ อยู่ตลอด เธอจึงได้รับอิทธิพลส่วนนี้มาด้วย แต่เมื่อเริ่มเข้ามัธยม ความฝันของเธอก็เบนไปทางเภสัชกรเพราะเธอรู้สึกสนุกกับการอ่านชื่อสารเคมี แต่เนื่องจากตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องใช้ทั้งวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งตัวเธอเองไม่ชอบและไม่เก่งฟิสิกส์เอาซะเลย เธอจึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางตอนย่างเข้าม.6 โดยกลับมาที่เส้นทางธุรกิจเช่นเดิมและเปลี่ยนไปสอบเข้าคณะ BBA มหาวิทยาลัยมหิดลแทน

ขวนขวายทุกวิถีทาง

หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป้าหมายต่อไปก็คือการฝึกงานในบริษัทใหญ่ๆ และมีชื่อเสียงด้านการตลาด ตัวเลือกจึงแคบลงเหลือเป็นธุรกิจ FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภค

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วขั้นต่อไปก็คือหาข้อมูลว่าจะไปถึงจุดนั้นอย่างไร โดยหลังจากเสิร์ชหาข้อมูลแล้วเธอก็ได้พบกับความจริงที่ว่าแทบไม่มีบริษัทไหนเปิดรับเด็กฝึกงานช่วงที่เธอปิดเทอมเลย เพราะบริษัทส่วนใหญ่จะยึดตามระยะเวลาปิดเทอมของภาคไทยเป็นหลัก ในขณะที่มหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์ของเธอยึดตามเวลาแบบอังกฤษ แต่พี่เบลล์ก็ยังไม่ยอมแพ้ เมื่อทางนี้ไม่ได้ก็ต้องลองหาทางอื่นดู

จนเมื่อเธอขึ้นชั้นปีที่ 3 เธอเห็นว่ามีการแข่งเคสธุรกิจที่บริษัทเครือ L’oréal จัดขึ้น เธอก็รีบสมัครโดยทันที และเนื่องจากปีนั้นเป็นปีที่น้ำท่วมพอดีการแข่งขันจึงกินเวลายาวจนเกือบขึ้นปี 4 แต่สุดท้ายความพยายามของเธอก็ให้ผลตอบแทนเพราะเธอได้เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้ายซึ่งจะมีสิทธิ์ถูกเลือกให้ไปฝึกงานด้วย และถึงแม้จะไม่สามารถคว้าที่ 1 มาได้ ทางกรรมการก็ยังเล็งเห็นความสามารถของเธอและเลือกให้เธอไปสัมภาษณ์ฝึกงาน และในที่สุดเธอก็ทำตามเป้าหมายแรกได้สำเร็จ

เสียเปรียบกว่าก็ต้องพยายามมากกว่า

หลังจากเรียนจบได้ไม่กี่วันเธอก็ต้องฝึกงานต่อทันที โดยเธอได้รู้จักกับโปรแกรม Management Trainee ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้งานในหลายภาคส่วนทั้งการตลาด โลจิสติกส์ ค้าปลีก ทำให้เธออยากเข้าร่วมด้วย แต่เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่มักจะรับแต่คนที่เรียนจบปริญญาโท เธอจึงต้องพยายามมากกว่าคนอื่น แต่โชคดีที่ตอนนั้นหัวหน้าทีมที่ดูแลเธอค่อนข้างเข้มงวดและปล่อยให้เธอทำอะไรด้วยตัวเองค่อนข้างเยอะทำให้เธอได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพได้อย่างเต็มที่จนทำให้เธอได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน Management Trainee แม้จะเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีก็ตาม

เรียนรู้ทุกอย่างจากศูนย์

โดยหนึ่งในงานหินที่หัวหน้าโยนมาให้เธอคลำหาทางด้วยตัวเองคือการทำ Digital Marketing เพราะเห็นว่าเธออายุน้อยที่สุดในทีม ต้องบอกก่อนว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเกือบ 10 ปีที่แล้วในยุคที่ Facebook เพิ่งเริ่มบูมและยังไม่มีการสอนทำการตลาดออนไลน์ในหลักสูตร แต่พี่เบลล์กลับต้องมาเริ่มสร้างช่องทางออนไลน์ใหม่ให้กับแบรนด์ Kiehl’s จากศูนย์ ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ L’oréal แบรนด์แรกที่มีช่องทางออนไลน์ เธอจึงต้องขวนขวายหาคอร์สออนไลน์มาเรียนหรือเข้าฝึกอบรมสัมนาจนเข้าใจว่า Digital Marketing คืออะไร ขั้นตอนการทำ E-Commerce เป็นอย่างไร เรียกได้ว่าการมาทำงานที่นี่ถือเป็นการเปิดประตูสู่ Digital Marketing ของเธอเลยก็ว่าได้

ตามหาคำตอบในสิ่งที่สงสัย

นอกจาก Digital Marketing แล้วเธอยังได้รับหน้าที่ให้ดูแลเรื่อง CRM ซึ่งเป็นส่วนที่เธอค่อนข้างสนุกกับมันเพราะเธอชอบที่ได้ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนทำการตลาด แต่พอถึงจุดหนึ่งเธอก็เริ่มสงสัยว่าเครื่องมือที่เธอใช้อยู่ในตอนนี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดจริงๆ หรือ เพราะขนาดประเทศไทยมีประชากร (ในตอนนั้น) ราว 60 ล้านคนเธอยังรู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลที่เยอะมากๆ แล้วประเทศใหญ่ๆ อย่าง อเมริกาหรือจีนที่มีประชากรเป็นหลักพันล้านคนเขาจะจัดการข้อมูลตรงนี้อย่างไร

เธอไม่คิดว่าประเทศเหล่านี้จะมานั่งใช้ Excel วิเคราะห์ข้อมูลแบบที่เธอทำ เธอจึงเริ่มอยากเรียนต่อปริญญาโทเพื่อจะได้ตามหาคำตอบของคำถามที่เธอสงสัย โดยเธอตัดสินใจเลือกไปเรียนด้าน Marketing Analytics ที่ New York University เพราะโอกาสในการหางานที่นั่นมีมากกว่า เนื่องจากที่อเมริกามีโปรแกรม Optional Practical Training ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มาเรียนต่อได้เข้าฝึกงานหรือทำงานหลังเรียนจบ และถ้าบริษัทประทับใจในผลงานก็สามารถยืดอายุวีซ่าได้

กว่าจะได้ฝึกงาน

เมื่อเข้าเทอมที่ 2 ทางมหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้เริ่มหาที่ฝึกงานได้ เธอจึงเริ่มหาจากบริษัทใหญ่ๆ เช่นเดิมแต่คราวนี้จะเน้นเกี่ยวกับบริษัทแฟชั่นหรือที่เกี่ยวกับความงามอย่าง Chanel หรือ Dior เนื่องจากมองว่าประสบการณ์ที่ L’oréal น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับเธอ ซึ่งหลังจากสมัครไปก็มีบริษัทติดต่อมาสัมภาษณ์ทางบริษัทเยอะมาก

แต่ผลลัพธ์คือเธอถูกปฏิเสธจากบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ทั้งหมด เพราะการสัมภาษณ์ที่นี่จะเป็นไปในลักษณะพูดคุยสบายๆ เพื่อทำความรู้จักกันมากกว่า แต่สิ่งที่เธอเตรียมมาคือการตอบคำถามสัมภาษณ์งานที่ค่อนข้างจริงจัง พอเจออะไรที่เหนือความคาดหมายเธอจึงทำได้ไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อพลาดจากบริษัทที่หมายปองไปแล้วเธอก็จำต้องสมัครแบบหว่านแห คราวนี้เธอไม่ได้ให้ความสำคัญกับชื่อบริษัทมาก แค่เห็นว่ามีตำแหน่ง Marketing Analytics เธอก็สมัครไป

เธอทำแบบนี้อยู่จนเกือบจบเทอมจนกระทั่ง Hearst Magazines ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารชื่อดังอย่าง Harper’s Bazaar, Esquire และ Seventeen ก็ตอบรับเธอเข้าฝึกงาน แต่โชคก็ไม่เข้าข้างเธอเท่าไรเพราะสุดท้ายเธอก็ไม่ได้ฝึกงานกับที่นี่เนื่องจากกว่าจะขอเอกสารจากทางบริษัทเสร็จก็หมดเขตยื่นเรื่องฝึกงานที่มหาวิทยาลัยไปแล้ว และถึงแม้จะช้าไปเพียงวันเดียว ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ผ่อนปรนให้ เท่ากับว่าที่เธอพยายามมาทั้งเทอม กว่า 50 บริษัทที่สมัครไปก็ศูนย์เปล่า แต่เธอก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่าอย่างน้อยก็มีบริษัทหนึ่งที่ตอบรับเธอ

จากประสบการณ์การโดนปฏิเสธกว่า 50 ที่ทำให้เธอเริ่มจับทางได้ว่าควรตอบสัมภาษณ์แบบไหน ระหว่างเรียนเธอจึงได้ฝึกงานอีก 2 ที่คือที่ Paul Stuart และสตาร์ทอัปแห่งหนึ่ง โดยถึงแม้เธอจะเข้ากับเจ้านายที่สตาร์ทอัปได้ดีมากจนเขาเสนอว่าจะต่อวีซ่าให้ แต่ด้วยเนื้องานที่ไม่ค่อยมีความท้าทาย เธอจึงไม่เลือกเส้นทางที่เพลย์เซฟและยอมเสี่ยงไปตายเอาดาบหน้า เพราะเธอให้ความสำคัญกับงานที่จะทำให้เธอพัฒนาตัวเองมากกว่า

เกือบต้องกลับบ้าน

คราวนี้พี่เบลล์ตั้งใจไว้ว่าจะหางานประจำตำแหน่งระดับ Manager เพราะมีประสบการณ์ฝึกงานมาพอประมาณแล้ว บวกกับตำแหน่งงานที่ไทยล่าสุดก่อนมาเรียนต่อก็อยู่ที่ Assistant Manager เธอจึงอยากทำตำแหน่งที่ท้าทายความสามารถตัวเองและทำให้เธอเติบโตในสายงานได้จริงๆ

แต่ถึงแม้จะมีประสบการณ์มากขึ้นก็ไม่ได้แปลว่าการหางานของเธอจะง่ายลงเลย เธอยังต้องใช้เวลาในการหาและต้องยื่นไปหลายสิบที่เหมือนเดิม สิ่งที่ต่างออกไปคือความเหนื่อยที่เพิ่มขึ้น เพราะเธอมักจะโดนปฏิเสธในรอบสุดท้าย ซึ่งถึงแม้คนสัมภาษณ์จะไม่ได้บอกสาเหตุมาตามตรง แต่เธอก็พอเดาได้ว่าอาจเป็นเพราะปัญหาเรื่องการต่อวีซ่า เพราะหากบริษัทรับเข้าโปรแกรม Optional Practical Training แล้วต้องการให้ทำงานต่อ ทางบริษัทต้องเป็นฝ่ายจัดการเดินเรื่องยื่นขอวีซ่า H-1B (วีซ่าทำงานสำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพเชี่ยวชาญพิเศษ) ให้ แต่ใช่ว่ายื่นแล้วจะได้ทุกคนเพราะวีซ่าประเภทนี้เป็นแบบล็อตเตอรี่ที่จำกัดโควต้าแค่ 65,000 คนเท่านั้น

ในขณะที่จำนวนผู้ยื่นมีหลักแสน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบางบริษัทถึงลังเลที่จะรับนักเรียนต่างชาติมาประจำในระยะยาว เธอจึงต้องเพิ่มทักษะการโน้มน้าวใจผู้สัมภาษณ์ให้มากขึ้นว่าเธอมีดีอะไรบ้างเพื่อทดแทนข้อเสียเปรียบตรงนี้ แถมเรซูเม่ก็มีเป็น 10 แบบเพราะเธอจะคอยปรับให้เหมาะกับแต่ละบริษัทที่สมัครมากที่สุดด้วย

ระหว่างสมัครงานเธอก็เตรียมแพ็กกระเป๋ากลับบ้านด้วยเพราะทั้งสัญญาเช่าและวีซ่าก็ใกล้จะหมดแล้ว จนเดือนสุดท้ายก่อนหมดสัญญาทาง New York Times ก็ติดต่อมาทาง LinkedIn (ตรงนี้เธอได้ฝากเคล็ดลับไว้ด้วยว่าให้หมั่นอัปเดตคีย์เวิร์ดที่ HR ค้นหาบ่อยๆ ลงในประวัติเพื่อให้มีคนมาเห็นมากขึ้น) เพราะต้องการคนที่มีพื้นฐานด้านการตลาดและเขียนโค้ดเป็น ซึ่งเธอก็บอกไปตามตรงว่าเธอมีเวลาเหลืออีกเดือนเดียว แต่โชคดีที่ทั้ง Hiring Manager และตัวเธอเองมีแนวคิดคล้ายกัน

อย่างตอนที่ต้องทดสอบเขียนโค้ด แทนที่จะให้ใช้คอมพิวเตอร์ ที่นี่กลับให้เขียนด้วยมือเพราะต้องการทดสอบความถูกต้องและทักษะการจัดการกับเวลา จุดนี้เองเป็นสิ่งที่พี่เบลล์คิดเหมือนคนออกแบบการทดสอบ เพราะเธอมองว่าการเขียนโค้ดนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เธอจึงให้ความสำคัญกับความถูกต้องมากกว่าความเร็ว ในขณะที่แคนดิเดตคนอื่นมองว่าควรทำให้เสร็จไว้ก่อน และให้เรื่องความถูกต้องเป็นรอง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงได้งานนี้อย่างฉิวเฉียดก่อนวีซ่าหมดอายุเพียง 1 อาทิตย์

โหยหาความบ้าระห่ำ

หลังจากทำที่ New York Times ได้ระยะหนึ่งเธอก็เริ่มโหยหาความบ้าระห่ำและความหัวหมุนของการทำงานในอุตสาหกรรม FMCG เพราะ New York Times ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่อยู่มานานและมีแบรนดิ้งที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถทำการตลาดที่พลิกแพลงได้ไม่เยอะเท่าไร พอถึงจุดหนึ่งสิ่งที่เธอได้ทำก็เริ่มวนลูปซ้ำเดิม ประกอบกับอยากรู้ว่าบริษัทคู่แข่ง L’oréal อย่าง Estee Lauder นั้นมีความต่างอย่างไร แล้วถ้าเป็นการทำงานในสาขาใหญ่อย่างอเมริกานั้นความบ้าระห่ำจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าหรือเปล่า เธอจึงตัดสินใจลองสมัครงานที่ Estee Lauder โดยได้รับหน้าที่ให้ดูแล E-Commerce แบรนด์ M.A.C Cosmetics ของฝั่งอเมริกาและแคนาดา

บ้าระห่ำสมใจ

สำหรับพี่เบลล์การเข้ามาทำงานที่นี่ก็เหมือนกับการที่เธอต้องวิ่ง 4×100 ตลอดเวลา เพราะมีโปรดักต์ออกใหม่ทุกๆ 2-3 อาทิตย์ นอกจากนี้ตลาดเครื่องสำอางอเมริกายังมีความหลากหลายทั้งในแง่ของสีผิว ชาติพันธุ์ และเพศอยู่มาก การวางแผนการตลาดที่นี่จึงยากกว่าที่ไทยหลายเท่า เพราะต้องปรับให้เข้ากับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ใช่แค่ทำโฆษณาชิ้นเดียวหรือถ่ายภาพแค่รูปเดียวแล้วจบ

แต่ความหัวหมุนยังไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อโควิดระบาดที่อเมริกา ฝั่งออนไลน์ก็ต้องรับบทหนัก ทีมของเธอต้องคิดให้ออกว่าทำอย่างไรคนถึงจะยอมซื้อเครื่องสำอางออนไลน์โดยที่ไม่สามารถไปลองที่ร้านได้ เนื่องจากถึงร้านจะค่อยๆ ทยอยเปิด ก็ไม่มีมาตรการให้ลองเทสเตอร์อยู่ดี

สุดท้ายก็มาจบที่การทำ Virtual Try-On หรือการลองเครื่องสำอางผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ ซึ่งประสบความสำเร็จมากเพราะมีจำนวนสมาชิกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยส่วนหนึ่งที่พี่เบลล์มองว่าประสบความสำเร็จขนาดนี้เพราะการปรับตัวที่เร็วโดยพยายามมองหากลยุทธ์ที่ลงมือทำง่ายและได้ผลลัพธ์เร็ว และลงทุนระยะยาวกับเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนกว่าแต่เป็นผลดีในระยะยาวกว่าไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญในการทำงานบริษัทคือต้องมีทั้งการแข่งขันกับตัวเองและทีมเวิร์กที่ดี เพราะถึงแม้การวิ่งคนเดียวอาจจะทำให้ไปได้เร็ว แต่การวิ่งไปพร้อมกับคนอื่นจะทำให้ไปได้ไกลกว่า

ทำงานต่างประเทศดีกว่าจริงไหม?

ส่วนตัวพี่เบลล์คิดว่าการมาทำงานที่อเมริกาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือการได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น ได้เห็นอะไรหลากหลาย ได้ลองใช้เครื่องมือที่แปลกใหม่ ซึ่งส่วนนี้พี่เบลล์มองว่าอาจเพราะอเมริกาเป็นตลาดใหญจึงต้องคอยเป็นฝ่ายริเริ่มลองทำอะไรก่อนเสมอ แล้วค่อยให้ตลาดอื่นทำตาม การทำงานที่นี่จึงเปิดโอกาสให้เธอได้ออกความเห็นมากกว่าตอนอยู่ที่ไทยซึ่งจะมีทิศทางกำหนดให้ในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันความกดดันก็มากกว่าเช่นกัน ส่วนในแง่รายได้แน่นอนว่าก็สูงกว่า แต่ก็ต้องเสียภาษีมากขึ้นและมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น

เป้าหมายเรื่องธุรกิจ

ชีวิตในอเมริกาของพี่เบลล์ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียนและเรื่องงาน แต่ยังมีเรื่องธุรกิจที่เธอสร้างขึ้นมาเองกับมือร่วมกับเพื่อนอีกหนึ่งคน โดยระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยเธอพบว่าสามารถเปิดบริษัทเป็นของตัวเองที่อเมริกาได้หากมีวีซ่านักเรียน ตัวพี่เบลล์ซึ่งมีความสนใจด้านจิวเวลรี่และอยากมีร้านเป็นของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อได้มาเจอกับเพื่อนชาวไทยในมหาวิทยาลัยเดียวกันที่มีความสนใจด้านออกแบบก็เลยชวนมาเปิดร้านด้วยกัน

น่าเสียดายที่โปรเจกต์นี้อยู่ได้ไม่นานเพราะเพื่อนต้องกลับไปทำธุรกิจที่ไทย ส่วนตัวพี่เบลล์เองพอได้วีซ่า H-1B ก็ไม่สามารถรับรายได้ที่อเมริกามากกว่า 1 ทางได้ สุดท้ายก็ต้องปิดร้านไป แต่การได้ลองทำร้านนี้ขึ้นมาก็ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างและยังเป็นการตอกย้ำแพชชั่นการมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วย

เธอจึงยังวางแผนว่าจะทำธุรกิจของตัวเองอยู่ตลอด จนระยะหลังมานี้เธอค่อนข้างสนใจโปรตีนทางเลือกที่ทำจากพืช (Plant-based Protein) เป็นพิเศษและเทรนด์โปรตีนประเภทนี้ก็กำลังมาแรง เธอทำธุรกิจโปรตีนเวย์จากพืชร่วมกับเพื่อนอีกสองคนที่อยู่เมืองไทย โดยเธอเห็นว่าตลาดโปรตีนเวย์ในเอเชียส่วนใหญ่ก็ยังมีส่วนประกอบหลักเป็นนมวัว ส่วนโปรตีนจากพืชก็มักจะมีรสชาติที่ทานยาก ราคาก็สูงกว่าด้วย


Worthy’ – แบรนด์โปรตีนเวย์จากพืชที่แก้ไข Pain Point เรื่องรสชาติ จึงถือกำเนิดขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เธอคิดว่าทุกคนควรมีคือเป้าหมาย

เพราะเมื่อมีเป้าหมายแล้วเราก็สามารถย้อนกลับมามองตัวเองได้ว่ากำลังอยู่จุดไหน แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะเดินจากจุดนี้ไปให้ถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตามเธอไม่ได้มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่คือการได้พัฒนาตัวเองหรือการก้าวข้ามอุปสรรคระหว่างทาง เหมือนเป็นการเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ จนมีทักษะติดตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การได้ลองพยายามลงมือทำยังช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเป้าหมายเดิมที่เราตั้งไว้นั้นเหมาะกับเราจริงๆ หรือเปล่า บางทีเราอาจจะได้พบกับทางเลือกใหม่ที่เหมาะกับตัวเองมากกว่าก็ได้

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights