อเควคเอ อเมซี: นักเขียนผู้ทำให้สังคมยอบรับความแตกต่างด้วยปลายปากกา

การยอมรับตัวตนของตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าตัวตนของของเราถูกด้อยค่าและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบตัว แล้วเธอคนๆ นี้เปลี่ยนตัวเองจากนักเขียนที่ซ่อนตัวเองอยู่หลังหน้ากาก สู่การเผยตัวตนเพื่อบอกให้ชาวผิวสีและคนข้ามเพศทุกคนลุกขึ้นสู้ได้อย่างไร?

 

วันนี้ Career Fact ขอนำเสนอเรื่องราวของ อเควคเอ อเมซี (Akwaeke Emezi) นักเขียนชาวไนจีเรีย Non-Binary (กลุ่มคนที่ไม่กำหนดว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง) คนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Women’s Prize for Fiction ในปี 2019 .

 

ชีวิตวัยเด็ก

อเควคเอ อเมซี เกิดที่เมืองอบา ประเทศไนจีเรีย สิ่งหนึ่งที่เธอรู้สึกว่าตัวเองโชคดีคือการที่เธอมีโอกาสเข้าถึงหนังสือ แค่ในบ้านก็มีหนังสือของพ่อแม่ที่วางอยู่บนชั้นวาง บางเล่มญาติๆ ของเธอที่อาศัยอยู่ที่ลอนดอนก็ส่งมาให้ บางเล่มเธอซื้อมาเองจากร้านขายของมือสอง

 

เมื่อเธออายุ 16 ปี เธอและครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่ภูมิภาคแอปพาเลเชีย สหรัฐอเมริกา ข้อดีของการย้ายมาที่นี่คือมีหนังสืออีกหลายเล่มรอให้เธอได้อ่าน แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ถูกปฏิบัติราวกับเป็นตัวประหลาดเช่นกัน

 

“คณบดีคนขาวที่โรงเรียนฉันเอาแต่แนะนำให้คนอื่นรู้จักฉันว่าเป็นเด็กจากแอฟริกาตะวันตกอายุ 16 ปีที่เคยอ่านหนังสือของนักเขียนชื่อดังอย่างดิกคินส์ ตอลสตอย และดอสโตเยฟสกีมาแล้ว เหมือนว่านั่นเป็นสิ่งที่พิเศษหรือน่าแปลกใจนักหนา”

 

การย้ายมาอเมริกาไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครคิด ชีวิตวัยเด็กของเธอออกจะค่อนไปทางลำบากเสียมากกว่า เพราะทุกอย่างจะถูกกำหนดโดยคนขาวในภูมิภาคที่เธออาศัยอยู่ เธอจึงต้องเรียนรู้การใส่หน้ากากให้กับตัวเองเป็นครั้งแรก

 

“ฉันเรียนรู้และปรับตัวได้เร็วมากๆ เพราะเราอาศัยอยู่ที่เมืองทางตอนใต้ เราจึงตอนเรียนรู้วิธีการยิ้ม วิธีการทำตัวให้น่ารัก และวิธีการทำให้ตัวเองมีสเน่ห์ เพื่อให้คนขาวพอใจ” เธอกล่าว 

 

สวมหน้ากากเขียนหนังสือเล่มแรก

ประสบการณ์ที่เธอพบเจอตอนวัยรุ่นมีอิทธิพลสำคัญต่อการเขียนหนังสือเล่มแรกของเธอในปี 2018 ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า ‘Freshwater’ หรือน้ำจืด นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตัวเธอเอง ในเรื่องจะกล่าวถึงเด็กสาวชาวไนจีเรียคนหนึ่งที่ “เท้าข้างหนึ่งเหยียบอยู่บนแดนแห่งจิตวิญญาณ” จนมีตัวเธออีกคนค่อยๆ แยกตัวออกมาระหว่างที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการนำเรื่องเล่าพื้นเมืองมาเล่าใหม่ ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณชั่วร้ายที่ลงมาเกิดในร่างมนุษย์ หรือ Ogbanje ที่ทำให้ครอบครัวนั้นๆ พบเจอแต่ความโชคร้าย เช่น เด็กที่มีวิญญาณชั่วร้ายจะเสียชีวิตหลังลืมตาดูโลกได้ไม่นาน หรือก่อนที่จะได้แต่งงาน วิญญาณชั่วร้ายนั้นจะกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับครอบครัวนั้นๆ เรื่อยไป

.

Freshwater ถูกโปรโมทในฐานะ ‘นิยาย’ เชิงอัตชีวประวัติ ซึ่งเป็นแนวที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อทำให้สำนักพิมพ์และคนอ่านที่ไม่ค่อยรู้เรื่องราวของคนไนจีเรียอย่างเธอสนใจมากขึ้น เธอยังรู้อีกว่า หนังสือจะขายดีต่อเมื่อคนอ่านไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องจริง

 

“ฉันเขียนหนังสือเล่มนี้โดยเลือกที่จะใส่หน้ากากและปิดบังสิ่งที่ตัวเองเป็น ฉันไม่พยายามบอกว่าเรื่องราวในหนังสือเป็นเรื่องราวของชีวิตฉันจริงๆ ซึ่งก็ทำให้หนังสือขายดี” เธอกล่าว

 

Freshwater ได้รับความนิยมมากจนมีการตีพิมพ์ใหม่ถึง 3 ครั้ง และได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากสำนักข่าว The New York Times ในปี 2018 และยังมีชื่อเข้าชิงอีกหลายรางวัลอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในปี 2019 เธอแต่ง ‘PET’ นิยายสำหรับเยาวชนที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงข้ามเพศผิวสีคนหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหนังสือดีเด่นระดับชาติ และเมื่อปีที่แล้ว ‘The Death of Vivek Oji’ อีกหนึ่งผลงานของเธอ ซึ่งเป็นนิยายเกี่ยวกับครอบครัวที่สูญเสียลูกของตัวเองไป ก็เป็นหนังสือที่ขายดีเช่นเดียวกัน

 

การถอดหน้ากากกับหนังสือเล่มใหม่

นักเขียนทุกคนคงอยากเป็นเหมือนอเควคเอที่ไม่ว่าจะเขียนอะไรมาคนก็อยากอ่านอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มใหม่ของเธออย่าง ‘Dear Senthuran’ เล่าถึงเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของความสำเร็จที่แสนจะสวยงามของเธอ หรือก็คือความเศร้าโศกและความวิตกกังวลที่ทำให้เธอเคยเกือบคร่าชีวิตตัวเอง

 

Dear Senthuran พูดถึงเรื่อง Ogbanje ที่อเควคเอเคยพูดถึงแล้วครั้งหนึ่งในเรื่อง Freshwater แต่ครั้งนี้ เธอจะไม่ใส่หน้ากากและไม่ปิดบังตัวตนของเธออีกต่อไป เธอจะบอกความจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเธอหรือจิตวิญญาณที่มีตัวตน โดยการเล่าเรื่องทั้งหมดตั้งแต่วิธีการเลี้ยงดูของชาวไนจีเรีย เรื่องราวเส้นทางชีวิตของเธอตั้งแต่เรื่องเพศสภาพของเธอ ไปจนถึงงานเขียนที่เธอรังสรรค์ขึ้น

 

คำแรกๆ ที่เข้ามาในหัวเมื่อถูกถามถึงเรื่องการเปิดเผยตัวตนจริงๆ ของเธอคือคำว่า หวาดกลัวและโดดเดี่ยว “การเปิดเผยสิ่งที่ตัวเองเป็นย่อมมาพร้อมกับความเจ็บปวด” เธอกล่าว เพราะการเปิดเผยเรื่องราวพื้นเพชีวิตของตัวเองเช่นนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวของเธอแย่ลง หรืออาจจะโดนสังคมรังเกียจก็ได้ มีคำพูดคำหนึ่งที่โด่งดังในคนชาวตรินิแดดว่า “ถ้ารับมือกับคำวิจารณ์ไม่ได้ ก็อย่าเอาตัวเองเข้าไปยุ่งกับเรื่องที่ยังเป็นประเด็นให้คนถกเถียงกันอยู่” ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เธอพยายามจะบอกตัวเองอยู่บ่อยครั้งว่า จะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอเขียนอย่างแน่นอน ยิ่งเธอเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของตัวเองมากเท่าไร เธอก็ยิ่งต้องเจ็บปวดจากมันมากเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็จะได้มีความสุขกับสิ่งที่เธอกำลังจะได้รับกลับคืนมายิ่งกว่าความเจ็บปวดเหล่านั้น

 

อเควคเอเป็นจุดศูนย์กลาง

ในการเขียนหนังสือเล่มใหม่ครั้งนี้ เธอตั้งใจจะเขียนเรื่องราวของสิ่งที่เธอเป็นจริงๆ ชื่อรองของหนังสือเล่มใหม่ของเธอคือ A Black Spirit Memoir ซึ่งแปลว่าบันทึกความทรงจำของจิตวิญญาณผิวสี เธอตั้งชื่อแบบนี้เพื่อให้แน่ใจว่าสำนักพิมพ์จะไม่ทำให้ภาพของหนังสือเปลี่ยนไปเพียงเพราะต้องการขายหนังสือให้ได้มากกว่าเดิม และทำให้คนอ่านมองหนังสือผิดไปจากเรื่องที่เธอตั้งใจอยากให้มันเป็นจริงๆ

 

แต่ละบทของหนังสือคือจดหมายแต่ละฉบับที่เธอเขียนถึงคนสำคัญในชีวิตของเธอ เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือการเขียนเพื่อคนอ่านผิวสีโดยเฉพาะ เธอจึงพยายามเขียนในภาษาที่ชาวไนจีเรียทั่วไปอย่างเธอเข้าใจได้ง่ายมากที่สุด และละเว้นเครื่องหมายจุลภาคต่างๆ ที่มีเพื่ออธิบายให้ ‘คนนอก’ (หรือคนขาว) เข้าใจ

 

หนังสือเล่มนี้คือการทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เธอต้องทำเพื่อปรับตัวให้เข้ากับชุมชนของคนขาวที่เธอเคยทำมาตลอดหลายปี “มันเหมือนกับเป็นหน้ากากที่ฉันต้องใส่เพื่ออยู่รอด ถ้าฉันทำตัวเป็นมิตร ไม่เป็นพิษเป็นภัย ฉันก็จะไม่ถูกทำร้ายหรือย่ำยีจากแนวคิดคนขาวอยู่เหนือกว่าใครที่ฝังลึกอยู่ในหัวคนพวกนี้”

 

เธอเชื่อว่า ไม่มีควรมีใครถูกทำร้ายจากระบบนี้ และใครก็ตามที่ยังมีความคิดแบบเดิมๆ ที่ยังแบ่งแยกประเภทของคนอยู่ต้องถูกรื้อเอาความคิดนั้นออกให้หมด “การที่คุณต้องจ่ายภาษีเพิ่มเพราะว่าคุณเป็นศิลปินผิวสีเป็นอะไรที่ฉันรับไม่ได้ ทำไมฉันต้องจ่ายในเมื่อคนขาวไม่ต้องจ่าย แต่ฉันก็ทำอะไรไม่ได้ และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ฉันแต่งหนังสือเล่มล่าสุดขึ้นมา” 

 

ไม่ใช่ผู้นำแต่เป็นกระบอกเสียง

งานเขียนของเธอถูกนิยามว่า ล้ำหน้า สุดโต่ง และเป็นนวัตกรรม บางทีคำนิยามพวกนี้อาจจะถูกต้อง แต่ส่วนตัวแล้วเธอไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นผู้นำ เธอมองว่า ตัวเองเป็นท่อลำเลียงที่ส่งผ่านจินตนาการหรือแนวคิดของใครหลายคนให้กลายเป็นหนังสือที่จับต้องได้ ตัวอย่างเช่น เซ็ตติ้งในเรื่อง PET คือโลกที่ปราศจากตำรวจและห้องขัง เธอก็ให้เครดิตกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่คอยผลักดันการล้มล้างระบบห้องขัง

 

“กระบอกเสียง คงเป็นคำที่เหมาะสมกว่าในการนิยามฉัน” และต้องเป็นกระบอกเสียงที่อยู่สูงที่สุดและเสียงดังที่สุด ถึงจะทำให้สารที่เธอเธอป่าวประกาศออกไปเข้าถึงคนได้มากที่สุด เธอตั้งใจจะพยายามทำต่อไปเรื่อยๆ โดยเธอมีแผนการที่จะเขียนหนังสืออีกสองเล่ม ที่จะออกวางจำหน่ายในปี 2022

 

“สิ่งที่เราป่าวประกาศเป็นเหมือนกับมนต์คาถาแห่งความเป็นไปได้ ความเป็นไปได้ที่จะมีโลกที่น่าอยู่กว่าโลกที่เราอยู่ในตอนนี้”

 

อเควคเอกล้าถอดหน้ากากออก และเปิดเผยในสิ่งที่ตัวเธอเป็น ไม่ว่าจะเป็นการที่เธอเป็นคนผิวสี หรือการเป็นคนที่สำนึกทางเพศที่ไม่ใช่ชายและหญิงของเธอ เป้าหมายต่อไปของเธอ คือการตั้งใจเขียนหนังสือเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนที่เป็นแบบเธอกล้าที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับความเป็นจริงอันโหดร้ายเพื่อเปลี่ยนโลกในอุดมคติให้กลายเป็นความจริง

 

อ้างอิง

https://bit.ly/3gmuSI5

https://bit.ly/3gjWkGx

https://bit.ly/2SlaXRZ

https://bit.ly/3w8jQwY

https://bit.ly/3iq0sre

https://bit.ly/3xaa4dE

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights