วิฑูรย์ สูงกิจบูลย์: เจ้าของเพจ สรุปให้ อดีตวิศวกร สู่นักเขียน Best Seller

Home » Career Fact » Interview » วิฑูรย์ สูงกิจบูลย์: เจ้าของเพจ สรุปให้ อดีตวิศวกร สู่นักเขียน Best Seller

วันนี้ Career Fact ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณวิฑูรย์ สูงกิจบูลย์ หรือเซ็นเซแป๊ะ เจ้าของเพจ “สรุปให้” ซึ่งเซ็นเซแป๊ะจะมาแบ่งปันเรื่องราว ความคิด และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา จากระดับผู้จัดการในองค์กรยักษ์ใหญ่สู่เส้นทางของนักเขียน พร้อมทั้งสอดแทรกแนวคิดดีๆ ในเรื่องราวต่อไปนี้

 

ชีวิตในวัยเด็ก

เซ็นเซแป๊ะเกิดในครอบครัวคนจีนฐานะปานกลาง ที่บ้านทำธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เป็นครอบครัวที่อบอุ่นครอบครัวหนึ่ง เซ็นเซแป๊ะบอกว่าครอบครัวและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานหนึ่งของการประสบความสำเร็จ ถ้าครอบครัวดีเราก็จะมีพื้นฐานที่ดี แต่ถ้าครอบครัวเราไม่ดีก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จไม่ได้ เพราะวันหนึ่งที่เราโตไปเราก็สามารถสร้างครอบครัวเป็นของตัวเองให้ดีได้

เซ็นเซแป๊ะมีความฝันว่าอยากเป็นวิศวกร เพราะตอนนั้นที่บ้านปลูกบ้านหลังใหม่ โดยมีคุณพ่อของเขาเป็นคนเขียนแบบเอง เซ็นเซแป๊ะชอบไปดูตอนก่อสร้าง และที่ชอบที่สุดคือการสร้างบันได เขาสงสัยว่าคำนวณยังไง มุมเท่าไร กี่ชั้น กี่ขั้น ถึงจะสร้างออกมาได้พอดี เขารู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ นอกจากนี้นการที่คุณพ่อเป็นช่างก็มีอิทธิพลต่อความฝันพอสมควร เซ็นเซแป๊ะเคยเห็นคุณพ่อทำงานช่างต่างๆ แล้วรู้สึกว่าเท่ ถ้าช่วยท่านได้น่าจะดี และตัวเขาเองก็ไม่ได้มีหัวการค้า การเรียนวิศวะน่าจะเหมาะ ที่บ้านก็ทำวัสดุก่อสร้าง เลยคิดว่าถ้าเป็นวิศวกรน่าจะช่วยที่บ้านได้ เซ็นเซแป๊ะจึงไปเรียนปวช.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

สมัยเรียนวิศวะเซ็นเซแป๊ะรู้สึกว่าไม่ชอบเลย เกรดตกหนักมาก และเริ่มคิดว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง แถมยังเป็นการเรียนที่หนักมากสำหรับเด็กม.ปลาย บางวันเลิก 1 ทุ่ม พอเข้าช็อปก็เหนื่อยมากตัวเหม็นเหงื่อเหม็นตะไบเหล็กทั้งวัน แต่ในเมื่อเลือกแล้วก็ต้องเรียนต่อไป

จากเด็กต่างจังหวัดที่ต้องย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ ต้องอยู่ด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตเอง ทำให้เซ็นเซแป๊ะมีความรับผิดชอบและมีวินัยสูงมาก แต่เซ็นเซแป๊ะไม่ได้เพิ่งมามีวินัยตอนเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เขามีวินัยตั้งแต่เด็ก ระหว่างนั่งรถสองแถวไปเรียนก็จะอ่านหนังสือทุกวัน เป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่ง เขาอ่านหนังสือทบทวนเยอะมากทั้งเช้าและเย็น และก่อนสอบก็อ่านทบทวนอีกรอบ

“โลกเรานั้นย้อนแย้ง วินัยมาคู่กับอิสระ ยิ่งเราอยากมีอิสระคุณยิ่งต้องมีวินัย ตื่นเช้ามาก็ต้องรีบทำงานให้เสร็จจึงจะมีเวลา ถ้าเราอยากมีรายได้เพิ่มเราจะสบายไม่ได้ เรายิ่งต้องขยัน อะไรที่เราอยากได้คือต้องทำตรงกันข้ามเสมอ ถ้าอยากรวยเราจะนั่งสบายไม่ได้ บางทีเราคิดว่าคนรวยสบาย ความจริงคือคนรวยทำงานหนักมาก ถ้าเราฝึกวินัยตั้งแต่เด็ก วินัยเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อที่ถ้าเรายิ่งฝึกไว้โตไปมันก็จะยิ่งแข็งแรง”

 

เริ่มทำงานที่โตโยต้า

เซ็นเซแป๊ะได้ทำงานที่โตโยต้าเป็นงานแรก ซึ่งสมัยเรียนเขาไม่ได้เรียนเก่งเลย ได้เกรด C D หลายตัวมาก ตอนเด็กเขาเคยคิดว่าชีวิตจะแย่แล้ว ปรากฏว่าพอเข้ามาทำงานจริง รุ่นพี่หรือผู้บริหารก็เคยได้ C D กันทั้งนั้น การทีเกรดแย่ไม่ได้ทำให้ชีวิตแย่ แต่การที่ได้เรียนรู้อะไรจากการได้เกรดแย่นั้นสำคัญกว่า เซ็นเซแป๊ะเคยคิดจะซิ่วตอนปี 2 เพราะเกรดแย่มาก แล้วไปเรียนคณะที่น่าจะชอบมากกว่า ซึ่งในตอนนั้นเขาอยากลองเรียนสายภาษา แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งเขาก็นึกถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ให้โอกาสเขามา เขาจึงคิดทบทวนว่าจะทิ้งสองปีนี้ไปเลยเหรอ? เมื่อคิดได้ดังนั้นเซ็นเซแป๊ะจึงตัดสินใจกัดฟันสู้ต่อ และทำเกรดวิชาอื่นๆ ให้ดีเพื่อมาถัวเฉลี่ยให้พอไปสมัครบริษัทใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าได้

 

การหาจุดเด่นของตัวเราเอง

บางทีเราต้องกลั้นใจทำในสิ่งที่เราไม่ชอบบ้าง มันไม่ได้ไร้ความหมาย มันคือการพิสูจน์ตัวเองว่าเราเคารพตัวเองได้ ต่อให้เรารู้ว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่เราชอบเสียทีเดียว แต่เราต้องหาพื้นที่ให้เรายังอยู่ได้โดยที่ไม่ทิ้งความเป็นตัวเรา ถ้าเรามีสิ่งที่ไม่ถนัดเราต้องหาสิ่งที่ถนัดมากลบจุดด้อยเราให้ได้ และจุดเด่นเราต้องแข็งแรง

เซ็นเซแป๊ะยกตัวอย่างทักษะของคนกับการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่าก้าวแรกสู่สังเวียนที่เซ็นเซอ่านตั้งแต่เด็ก ในการ์ตูนเรื่องนั้นพูดถึงว่าโลกใบนี้จะมีพื้นที่สำหรับคนพิเศษเท่านั้นที่อยู่ได้ พื้นที่นี้เหมือนตะแกรงร่อนสมมติว่าสกิลของเราเป็น Radar Chart ที่แต่ละคนมีรูปร่างแตกต่างกัน และคนที่จะอยู่บนตะแกรงนี้ได้มีอยู่ 2 ประเภท คนประเภทแรกคือคนที่เก่งทุกอย่าง เป็นเหมือนหินก้อนที่ใหญ่มากไปอยู่ตรงไหนของตะแกรงก็อยู่ได้ไม่มีทางตกตะแกรง ซึ่งคนแบบนี้มีน้อยมากบนโลก และคนอีกประเภทหนึ่งคือคนที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ และเรียนรู้ที่จะวางมุมแหลมของ Radar Chart ให้พาดไปกับตะแกรงเพื่อที่จะไม่ตกลงไป แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าด้านแหลมของตนอยู่ตรงไหน ทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ ปัญหาคือบางทีเราไม่รู้ว่าเราเก่งด้านไหนจึงทำให้ไม่สามารถอยู่บนตะแกรงหรือพื้นที่พิเศษนั้นได้

 

แบ่งประสบการณ์การทำงาน12ปีกับโตโยต้า

พอได้เข้าทำงานไปสักพักหนึ่งเซ็นเซแป๊ะก็เริ่มอินกับวิธีคิดแบบคนญี่ปุ่น ตัวเซ็นเซเองเป็นคนมีวินัยประมาณหนึ่ง แต่พอเจอวินัยของคนญี่ปุ่นถึงรู้ว่ายังมีช่องว่างให้ตัวเขาได้พัฒนาอีกเยอะมาก การทำงานกับคนญี่ปุ่นทำให้มีวินัยมากขึ้น และเมื่อมีวินัยการทำอะไรอย่างอื่นก็ง่ายขึ้น

“วินัยเป็นเหมือนกล้ามเนื้อพื้นฐาน สมมติว่าความร่ำรวยเป็นร่างกาย การทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักอาจจะเป็นแขนซ้าย และการขายเก่งเป็นแขนขวา วินัยก็เหมือนขา ต่อให้คุณเก่งในท่อนบนมากๆ แต่ขายืนไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ จะเดินไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวก”

การทำงานกับคนญี่ปุ่นจะทำให้เซ็นเซแป๊ะมีวินัยและตรงต่อเวลามาก ทั้งเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ขนส่งสาธารณะ ทุกอย่างกระตุ้นให้เขาต้องมีวินัยตลอดเวลา ทุกวันนี้เซ็นเซแป๊ะประกอบอาชีพวิทยากรมากว่า 300 คลาส และสิ่งที่ยังคงเป็นความภาคภูมิใจของเขาคือการที่ไม่เคยไปสายเลย สายที่สุดคือไปถึงหน้างานก่อนเริ่ม 5 นาที แต่โดยปกติเซ็นเซแป๊ะจะไปถึงก่อนเริ่ม 1 ชั่วโมงเสมอ สิ่งนี้เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาได้มาจากการทำงานและทำให้มีวินัยในอีกหลายๆ เรื่อง

นอกจากเรื่องวินัย คนญี่ปุ่นจะมีคำพูดอยู่คำพูดหนึ่งว่า “Good process leads to good result.” หรือแปลว่ากระบวนการที่ดีจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ สิ่งที่คุณต้องโฟกัสคือกระบวนการไม่ใช่ผลลัพธ์ เช่น การเขียนหนังสือหรือทำเพจให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ไปดูที่ยอดฟอลโลเวอร์ ไม่ใช่ดูที่ยอดขายว่าขายดีหรือไม่ดี แต่ต้องโฟกัสว่าทำยังไงให้ฟอลโลเวอร์เพิ่ม หรือเขียนแบบนี้ผลตอบรับจะออกมาเป็นยังไง มันอยู่ที่กระบวนการลงมือทำงานเป็นส่วนใหญ่

ในหลายๆ บริษัทจะมีกระบวนการปรับปรุงการทำงาน โตโยต้าก็เช่นกัน โดยให้คนในทีมมาคุยกันว่าทีมเรามีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจ จะพัฒนายังไง อะไรคือสาเหตุ วิธีแก้ ซึ่งเซ็นเซแป๊ะก็แชร์ประเด็นต่างๆ จนคนในทีมชอบ รวมถึงผู้บริหารและคณะกรรมการ เขาจึงได้รับเชิญไปพูด และโชคดีที่เขาพูดญี่ปุ่นพอได้เลยได้เป็นตัวแทนไปพูดในโอกาสต่างๆ รวมถึงการประกวดด้วยเช่นกัน

 

ทำให้เยอะกว่าที่คาดหวัง

จุดที่เปลี่ยนชีวิตของเซ็นเซแป๊ะจุดหนึ่งคือการประกวดรถยนต์ต้นแบบ ซึ่งปีนั้นทางทีมที่จัดงานเน้นโฟกัสไอเดียมาที่ประเทศไทย และเซ็นเซก็เป็นหนึ่งในสิบกว่าทีมที่เข้ารอบ และสุดท้ายได้รับรางวัลชนะเลิศ จึงได้ไปพรีเซนต์และดูงานที่เยอรมันและสเปน ทำให้เขาได้ออกจากการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งคือออกแบบพัฒนาและทดสอบรถยนต์ต้นแบบ แต่งานนี้ที่เขาได้ลองทำนั้นรวมถึงกระบวนการและความคิดก่อนที่จะมาเป็นรถยนต์ต้นแบบ ต้องมีฟังก์ชันอะไรบ้าง และที่เซ็นเซแป๊ะประทับใจมากที่สุดคือการที่รถยนต์คันนั้นที่เขาเขียนแบบขึ้นมาได้กลายเป็นรถยนต์จริงๆ ซึ่งในปัจจุบันก็มีขายแล้วจริงๆ และเป็นเทรนด์ของยุคนี้ด้วย

สิ่งที่เซ็นเซแป๊ะได้เรียนรู้จากงานนี้คืออย่าทำงานแค่ตามคำบรรยายลักษณะงาน (Job Description) เพราะสิ่งนั้นมีไว้เพื่อบอกงานขั้นต่ำที่ทุกคนต้องทำ แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จจะทำเท่านี้ไม่ได้ เพราะคนอื่นๆ ก็ทำเท่านี้เหมือนกันหมด เราจะต้องทำให้มากกว่า เพื่อนบางคนบอกว่าเซ็นเซแป๊ะเป็นคนที่ “เยอะ” ชอบทำอะไรเยอะแยะไปหมด แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เซ็นเซแป๊ะมองว่าที่มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะความเยอะในเรื่องอื่นๆ เช่น ลองขอทำงานเป็นเทรนเนอร์ในองค์กร ลองเป็นคอลัมน์นิสต์ หรือลองเป็นอะไรอื่นๆ เยอะมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน แต่สิ่งนั้นก็ได้กลายเป็นโบนัสในชีวิตในภายหลัง และได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเซ็นเซแป๊ะจึงเน้นย้ำให้ทุกคนได้ลอง “ทำให้เยอะกว่าที่คาดหวัง”

 

จุดเปลี่ยนจากผู้บริหารสู่นักเขียน

เซ็นเซแป๊ะไม่ได้อยากออกจากงานเก่าเลย เพราะเป็นงานที่ดี เงินเดือนสูงมาก เลื่อนขั้นได้เร็ว เขาเคยฝันว่าจะไปถึงระดับผู้อำนวยการแต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึง ซึ่งจุดเปลี่ยนในตอนนั้นคือเรื่องครอบครัว

เซ็นเซแป๊ะเล่าว่าในชีวิตคนเราจะมีจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ อยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเมื่ออายุ 25 ปีหรือที่เรามักจะเรียกกันว่าเบญจเพส ซึ่งเป็นวัยที่หลายๆ เหตุการณ์จะมาทับกันพอดี ทั้งเรื่องของคู่ชีวิต การงาน หรือการเรียนต่อปริญญาโท ในด้านการงานเป็นช่วงที่เราเริ่มทำงานได้ประมาณ 3 ปีและจะเริ่มตัดสินใจว่าจะทำต่อหรอเปลี่ยนงาน และในด้านของคู่ชีวิต ถ้าเราคบกันมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย พอเริ่มทำงานแต่ละคนก็จะมีสังคมของตัวเอง มันจะเป็นจุดเปลี่ยนว่าเราจะไปต่อกับคนนี้หรือเราจะแยกกันไปตามเส้นทางของตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์สำคัญของเซ็นเซแป๊ะคือการได้รับข้อเสนอให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ และเซ็นเซก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

จุดที่สองคือช่วงอายุ 35-38 หรือจุดที่เราทำงานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งจนครบ 15 ปีหรือเรียกว่าเป็นจุดอิ่มตัว เพราะเราทำอะไรคล้ายเดิม สิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม แต่ความท้าทายน้อยลง อย่างในวันแรกทุกอย่างของเรามันใหม่หมด แต่พอถึงจุดที่เราประสบความสำเร็จในองค์กรแล้วเราจะรู้สึกว่าทุกอย่างดูง่ายเกินไป มันไม่ท้าทายเราอีกต่อไป เราสูญเสียความเป็นผู้ท้าชิง สูญเสียความอยากที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และเป็นจังหวะเดียวกับการที่มีครอบครัวหรือลูกเริ่มโตพอดี จึงเป็นช่วงชีวิตที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของหลายๆ คน

สำหรับเซ็นเซแป๊ะตอนนั้นลูกคนโต 2 ขวบและคนเล็ก 6 เดือน เซ็นเซแป๊ะนอนไม่พอด้วยความที่เป็นผู้จัดการในบริษัทญี่ปุ่นด้วย เขาจะนับถือตำแหน่งนี้ว่าทรงเกียรติมากๆ ต้องมาเข้างานก่อนลูกทีม และควรกลับหลังลูกทีม หรือไปถึงบริษัทประมาณ 7 โมง และกลับ 2 ทุ่ม เซ็นเซแป๊ะพยายามอย่างเต็มที่ให้เป็นมืออาชีพ แต่ก็มีจุดนึงที่ไม่ลงตัว ซึ่งจุดนั้นคือเซ็นเซแทบไม่ได้เลี้ยงลูกเองเลย และเคยขับรถบนทางด่วนแล้วหลับในไปประมาณ 3 วินาที ลืมตามาอีกที่คือถึงโค้งตรงทางลงแล้ว ซึ่งถ้าตอนนั้นหลับต่ออีกแค่เสี้ยววินาทีเดียวก็อาจจะไม่ได้มีวันนี้ เขาเลยคิดว่าน่าจะได้เวลาที่ต้องปรับตัวแล้ว

สำหรับคนในวัยนั้นมักจะให้เวลากับการงาน กับความสำเร็จ กับครอบครัว แต่กลับลืมคนที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือตัวเอง วันนั้นเป็นวันที่เซ็นเซกลับมาคุยกับตัวเองและตั้งคำถามว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นวิศวกรแล้วเขาจะอยากเป็นอะไร ถามตัวเองซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายได้คำตอบว่าอยากเป็น “นักเขียน” เขาจึงตัดสินใจลองทำดู

เซ็นเซกล้าเปลี่ยนเส้นทางมาทำอาชีพที่ใครๆ ก็มองว่าไส้แห้งอย่างนักเขียนเพราะเขามีเงินเก็บจากการทำงานเป็นวิศวะมาพอสมควรแล้วบางคนรู้ว่าชอบอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน แต่ไปต่อไม่ได้เพราะไม่ได้มีความพร้อมด้านการเงิน เซ็นเซเปรียบเทียบว่าถ้าการที่เขาได้ทำงานในองค์กรใหญ่ระดับโลกนั้นเหมือนอยู่บนเรือลำใหญ่ เป็นที่สุดของความมั่นคง บริษัททำให้เขาได้เห็นเส้นทางอาชีพตั้งแต่เข้าไปจนอายุ 60 ว่าจะเกษียณด้วยตำแหน่งไหน มีเงินทุนสำรองเท่าไร มีสวัสดิการอะไรบ้าง แต่ว่าวันหนึ่งเรือลำใหญ่นี้แล่นไปคนละทางกับที่เขาอยากจะไป เขาก็ต้องกระโดดลงเรือไป เขาเห็นแล้วว่ามีเกาะที่ชื่อว่าเกาะนักเขียนอยู่ และสิ่งที่ทำให้เขาไปถึงเกาะนั้นได้ก็คือพื้นฐานด้านการเงิน ซึ่งเปรียบเสมือนเรือลำเล็กๆ ที่เซ็นเซแป๊ะค่อยๆ สร้างขึ้นมาตลอดหลายปี และถ้าหากเขาไม่มีเรือลำเล็กลำนี้แล้วจะทำให้ชีวิตของเขาไปต่อได้ยากมากๆ

 

สร้างตัวตนในฐานะนักเขียน

เริ่มแรกเซ็นเซแป๊ะทำงานนักเขียนก่อน แล้วค่อยๆ ต่อยอดมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เซ็นเซแป๊ะกล่าวว่าอย่างแรกต้องเชื่อก่อนว่าเราทำได้ เขาเริ่มหาแรงบันดาลใจหาผลงานเก่าๆ ที่เคยทำ ตั้งแต่รางวัลเขียนเรียงความ กล่าวสุนทรพจน์ และต้องเชื่อมั่นในตัวเองเสมอ ต่อมาเซ็นเซแป๊ะได้มีโอกาสเจอคนที่ทำอาชีพนักเขียน ได้ไปสัมภาษณ์เขา ไปหาคนที่เขาทำได้ ดูวิธีที่เขาทำ และลงมือทำ นักเขียนคนนั้นบอกกับเซ็นเซแป๊ะตรงๆ เลยว่าอาชีพนี้อาจจะไม่พอเลี้ยงครอบครัวถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน Best Seller เซ็นเซแป๊ะก็เกิดคำถามว่าแล้วต้องทำยังไงถึงจะเป็นนักเขียน Best Seller ได้ จนได้คำตอบว่าต้องสร้างตัวตนให้คนรู้จักก่อน เซ็นเซแป๊ะจึงลองเปิดเพจในเฟซบุ๊ค พอเปิดไปได้สักพักก็มีคนมาทักมาถามว่า “อยู่โตโยต้ามาก่อนเหรอ สรุปเป็นนี่นา ช่วยมาสอนสรุปหน่อยได้ไหม” เซ็นเซจึงได้ต่อยอดในด้านวิทยากรเพิ่ม

การที่เราลองทำอะไรเยอะๆ เช่น ในปีนี้เซ็นเซแป๊ะเป็นทั้งนักเขียน วิทยากร คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอีกสิ่งนึงที่เพิ่งได้เริ่มลองทำคือการสร้างทีม คือเป็นกรรมการบริหารบริษัทสรุปให้ เซ็นเซแป๊ะให้ 1 คำกับปีนี้ว่า “ลอง Wrong = ลอง Learn” คือลองทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น และเตรียมใจไว้เลยว่าถ้าลองเยอะต้องผิดเยอะแน่นอน แต่การผิดพลาดเยอะๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ และการเรียนรู้นั้นนำไปสู่การประสบความสำเร็จได้

กว่าเซ็นเซจะมีวันนี้เขาได้เคยสร้างเพจมามากถึง 17 เพจ เขียนไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันโพสต์กว่าคนจะเห็นและติดตาม ซึ่งผ่านกระบวนการล้มเหลวมาเยอะกว่าจะสำเร็จได้

 

17 เพจ สู่สรุปให้

17 เพจที่เซ็นเซแป๊ะเคยลองทำมา มีเพจที่ลงมือทำจริงจังและต่อเนื่องจริงๆ ประมาณ 3-4 เพจเท่านั้น เพจหลักพัน 1 เพจ และหลักหมื่นอีก 1 เพจ และเพจหลักแสนอีก 1 เพจ นั่นหมายความว่า ถ้ามีอะไรที่อยากทำ ให้ทำเลย ถ้าสิ่งนั้นทำให้ตัวเองดีขึ้น ทำให้สังคมดีขึ้น และไม่ได้กระทบใคร อย่าไปคิดนาน เซ็นเซแป๊ะก็เลยเปิดเพจเพิ่มตลอด เขาได้เรียนรู้ว่ามันก็ไม่ได้เสียหายอะไร ไม่ต้องไปอายถ้าไม่มีคนติดตาม เพราะถ้าไม่ลองทำ ยิ่งน่าอายกว่า

เซ็นเซแป๊ะชอบคำพูดของคนญี่ปุ่นประโยคหนึ่งว่า “ถ้าคุณถาม 1 ครั้ง คุณจะอายแค่ครั้งเดียว แต่ถ้าคุณไม่ถามไม่ลองทำคุณจะอายอยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต” และ 17 เพจนั้นก็ได้สอนเซ็นเซว่าการทำเพจนั้นไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องลองทำ และเรียนรู้ และลองทำไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันเซ็นเซแป๊ะทำเพจหลักอยู่เพจเดียวคือเพจ “สรุปให้” เพราะเขาอยากโฟกัส ไม่ได้มีทีมเยอะ และการทำเพจให้สม่ำเสมอต้องใช้เวลา เขาเคยลองทำสองเพจพร้อมกันแล้วกลายเป็นว่าทำได้ไม่ดีทั้งสองเพจ จึงตัดออกเหลือแค่เพจที่คิดว่าน่าจะสร้างคุณค่าให้สังคมได้เยอะที่สุดดีกว่า

 

เคยอยากเลิกทำสรุปให้ไหม?

เซ็นเซแป๊ะเคยอยากเลิกทำเพจบ่อยมาก บางครั้งก็ท้อมาก แต่นั่นก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องเจอ เซ็นเซแป๊ะเล่าว่าคอนเท้นไหนที่เป็นกระแสมากๆ คนที่มาเห็นจะมีหลายประเภทมาก บางทีเขาไม่ได้มองสิ่งนั้นในมุมเดียวกับเรา ทำให้โดนกระแสตีกลับค่อนข้างรุนแรง

มีครั้งหนึ่งช่วงโควิดแรกๆ เซ็นเซแป๊ะออกมาแชร์มายด์เซ็ทเกี่ยวกับ Entrepreneurship หรือความเป็นผู้ประกอบการ อย่างการที่คุณเป็นพนักงานประจำแต่ถ้ามีมายด์เซ็ทเป็นมืออาชีพคุณอยู่รอดได้แน่ๆ เซ็นเซแป๊ะอยากถ่ายทอดว่าตอนเป็นผู้จัดการต้องคิดอะไรและทำยังไง แล้วพอออกมาทำอาชีพอิสระต้องทำยังไงให้รอดทั้งสองฝั่ง มันมีแก่นอะไร วิธีคิดอะไรที่พอมาแชร์กันได้และจะทำให้ไม่ตกงาน แต่เนื่องจากคำพาดหัวอาจจะฟังดูรุนแรงเกินไป หลายคอมเมนต์ก็ไปในทางไม่พอใจว่า “คุณไม่ใช่ผมไง คุณจะเข้าใจอะไร สอนคนอื่นเก่งนักแหละตัวเองทำได้ไหมล่ะ” ตัวเซ็นเซแป๊ะเองก็พยายามไม่ตัดสินคน ใครทำไม่ได้ก็พยายามให้กำลังใจกันแม้จะไม่มีทางเข้าใจเขาเต็มร้อยก็ตาม แต่ก็จะมีคนอีกประเภทเสมอที่รอซ้ำเติมเวลาที่พิมพ์หรือตอบอะไรที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

“ยิ่งเพจเราโตมากเท่าไรเรายิ่งเจอแบบนี้เยอะ และเรายิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ถามว่าเลิกไหม บอกเลยว่าคิดบ่อยมาก แต่ก็เลิกไม่ได้ ให้เรานึกว่าเวลาเราโดนด่าครั้งหนึ่ง แต่ก็มีคนที่ชอบคนที่รู้สึกขอบคุณและรู้สึกมีประโยชน์มากกว่าคนที่เกลียด เราก็มองตรงที่เป็นประโยชน์ดีกว่าแล้วก็ทำต่อไป”

 

เคล็ดลับของเพจสรุปให้

เคล็ดลับที่เพจประสบความสำเร็จและยืนยาว คือการมีพาร์ทเนอร์ที่ดี พาร์ทเนอร์ที่ดีจะช่วยเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ช่วยแบ่งเบางานและคงไว้ซึ่งความสม่ำเสมอ ตอนนั้นเซ็นเซแป๊ะได้เจอเซ็นเซเล็กจากการเป็นวิทยากรด้วยกันที่โตโยต้า ตอนนั้นต่างคนต่างทำเพจเกี่ยวกับเรื่องลูก ก็เลยชวนมาทำเพจร่วมกัน แม้ว่าปัจจุบันเซ็นเซเล็กจะเปลี่ยนเส้นทางการไปสู่การเป็นที่ปรึกษาระดับประเทศแล้ว แต่จนถึงตอนนี้เขาก็เป็นพาร์ทเนอร์คนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง

นอกจากนี้เมื่อก่อนเซ็นเซแป๊ะมีเพจหลักหมื่นอยู่เพจหนึ่ง แล้วเวลาลงโพสต์สรุปหนังสือกระแสตอบรับจะดีตลอด เซ็นเซแป๊ะเลยลองสร้างเพจแยกออกมา กลายมาเป็นเพจ “สรุปให้” ซึ่งเป็นเพจที่มีจุดประสงค์ชัดเจนมากว่าเป็นเพจสรุปหนังสือ เพื่อคนที่รักการเรียนรู้ และสามารถช่วยประหยัดการเรียนรู้ให้พวกเขาได้ พอจุดประสงค์ชัดเจน เพจก็จะสามารถเติบโตต่อไปได้ง่าย บางช่วงก็มีผู้ติดตามเพิ่มวันละพันคน เพราะมีอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยแชร์ให้อย่าง พี่หนุ่ม จักรพงษ์ เมฆพันธ์ หรือ พี่บอย วิสูตร ซึ่งเซ็นเซแป๊ะคิดว่าการที่มีเพจใหญ่ที่มีผู้ติดตามมากขนาดนั้นเลือกที่จะแชร์คอนเทนต์ของเขาแปลว่าโพสต์ที่ทำไปมันมีคุณค่ามากพอที่จะเพจเหล่านั้นจะแชร์ให้ฐานผู้ติดตามได้อ่านได้

เมื่อก่อนเพจแรกๆ ของเซ็นเซแป๊ะกว่าจะโตได้ 4-5 หมื่นใช้เวลา 4 ปี แต่สรุปให้กลับใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ดูจากตัวเลขก็น่าจะบอกได้แล้วว่าเพจนี้น่าจะเป็นเพจที่สร้างคุณค่าให้สังคมได้เยอะ ดังนั้นจึงโฟกัสการทำเพจนี้มากเป็นพิเศษ

 

ความสำคัญของการสรุป

เซ็นเซแป๊ะมองว่าการสรุปเป็น Future Skill เพราะเป็นทักษะที่ AI ยังทำแทนไม่ได้ คนที่สามารถตกผลึกอะไรที่ซับซ้อนแล้วมาเล่าให้ฟังแบบเข้าใจได้ง่ายจะเป็นคนที่องค์กรต้องการมาก นอกจากนี้ยิ่งโลกมีข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ทักษะการสรุปยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันข้อมูลนั้นเยอะมากจนล้นโลก ใครที่สรุปเก่ง และช่วยประหยัดเวลาชีวิตคนฟังได้ แปลว่าคุณกำลังทำให้คนอื่นๆ มีเวลาชีวิตที่มากขึ้น ยังไงคนก็รักคุณ เพราะฉะนั้นทักษะสรุปจึงจำเป็นกับทุกคน เดี๋ยวนี้ทุกอย่างในโลกสั้นลง ทั้งเพลง ยูทูป พอดแคสต์ ทุกอย่างสั้นลงทุกวันเพราะคนชอบอะไรที่สั้นและประหยัดเวลา

 

เป้าหมายในอนาคต

เซ็นเซแป๊ะเจอ Ikigai (ความหมายของการมีชีวิตอยู่) ของตัวเองแล้วซึ่งก็คือการเขียนหนังสือ ในระยะ 10 ปีที่จะถึงจึงอยากให้เป็นช่วงที่คืนประโยชน์ให้สังคม เพราะครอบครัวก็อบอุ่นแล้ว ลูกๆ ก็เริ่มโตแล้ว เลยอยากโฟกัสกับการสร้างคุณค่าคืนให้กับประเทศมากขึ้นผ่านเพจสรุปให้ และเร็วๆ นี้ก็จะมีแอปพลิเคชั่นสรุปให้ เพื่อเป็นแพล็ตฟอร์มสรุปสิ่งที่มีประโยชน์ และะให้ทุกคนเข้าไปเรียนรู้ได้ในต้นทุนที่ต่ำมาก ส่วนความฝันสูงสุดคืออยากเป็นนักเขียนล้านเล่ม ซึ่งต้องทำไปเรื่อยๆ และอยากทำไปจนเกษียณ

การที่สรุปให้โตได้ขนาดนี้ไม่ได้เกิดจากการทำคอนเทนต์ของคนเพียงคนเดียวแต่เกิดจากการเชิญชวนคนที่อยากแบ่งปันความรู้และชอบการอ่านเข้ามาช่วยทำเพจผ่านการเรียน โดยเซ็นเซแป๊ะจะสอนทักษะการสรุปให้ เป็นคอร์สเรียนที่มีค่าคอร์สปกติ แต่มีลูกเล่นคือถ้าผู้เรียนสรุปหนังสือได้ครบ 5 เล่ม ถือว่าได้คืนคุณค่าให้กับสังคมแล้ว เซ็นเซแป๊ะก็จะคืนเงินค่าคอร์สให้ทั้งหมดพร้อมแถมเสื้อสรุปให้ ซึ่งคนที่เรียนจบคอร์สก็จะได้ทั้งความภูมิใจในตัวเอง ได้เห็นคอนเทนต์ตัวเองบนเพจสรุปให้ บางโพสต์มีคนเห็นมากเป็นล้านก็มี เซ็นเซแป๊ะอยากเชิญชวนทุกคนที่สนใจมาสมัคร รุ่นที่ 6 ที่กำลังจะเปิดรับสมัครในเดือนกรกฎาคมนี้

 

สรุปประสบการณ์ชีวิต

ถ้าจะแทนตัวเซ็นเซแป๊ะด้วยประโยคเดียวเพื่อสรุปเรื่องราวของทั้งชีวิต เซ็นเซแป๊ะขอแทนตัวเองด้วยประโยคที่ว่า “เล็กน้อย สม่ำเสมอ เท่ากับมหาศาล” คือการลงมือทำเล็กๆน้อยๆแต่มีวินัยในการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ จะได้ผลลัพธ์ออกมามหาศาล 3 สิ่งนี้ประกอบขึ้นมาเป็นตัวตนของเซ็นเซ นอกจากนี้เซ็นเซยังฝากถึงทุกคนว่าการลงมือทำคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ การคิดเก่งก็ดี แต่การทำเยอะอาจจะดีกว่า

 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน