ผู้นำที่หายไปในช่วงวิกฤติ ยังควรถูกเรียกว่าผู้นำหรือไม่?

ในเวลาที่ประเทศหรือองค์กรเกิดวิกฤต ผู้นำที่ดีจะต้องเป็นคนนำทัพเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เข้าควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่ชี้นิ้วสั่งการจากเบื้องบนโดยไม่รับรู้ความเป็นไป

จากเหตุระเบิดของโรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติกในย่านกิ่งแก้วที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่จนประชาชนในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจำเป็นต้องอพยพ แม้ว่าล่าสุดเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้สำเร็จ แต่ก็เกิดคำถามตามมาจากประชาชนในโซเชียลมีเดียว่า ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานขนาดนี้ รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องหายไปไหนกันหมด? ทำไมจึงเหลือเพียงเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่มีอุปกรณ์ไม่ครบมือ จิตอาสา และประชาชนคนอื่นๆ เท่านั้นที่ต้องช่วยเหลือกันเองในยามวิกฤต แล้วผู้นำที่หายไปในช่วงวิกฤติยังควรถูกเรียกว่า "ผู้นำ" อยู่หรือเปล่า?

หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามถึงผู้นำระดับประเทศของไทยอย่างจริงจัง ว่าพวกเขามีความสามารถหรือทักษะอย่าง Crisis Management เพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่?

 

CrisisManagementคืออะไร

Crisis Management (การจัดการในสภาวะวิกฤต) คือ การประยุกต์กลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างกะทันหันได้ทันท่วงที เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม โรงงานระเบิด ข้อมูลลูกค้าหลุดจำนวนมาก หรือระบบถูกแฮ็ก ทักษะนี้ต้องอาศัยการตัดสินใจที่รอบคอบและฉับไว รวมถึงต้องมีความเป็นผู้นำค่อนข้างสูง เพื่อรับมือกับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ได้ เช่น ความปลอดภัย ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียงขององค์กร

Crisis Management ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมความเสียหายให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อเหตุการณ์ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างที่กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ ไปจนถึงขั้นตอนการดูแลหลังจากเหตุการณ์ร้ายๆ จบลง

 

ขั้นตอนของCrisisManagement

1. ประเมินความเสี่ยง
การระบุความเสี่ยงที่เป็นไปได้ในอนาคตและวางแผนเพื่อลดผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นนั้นมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างระบบตรวจสอบความเสี่ยงและส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าเลยทีเดียว ซึ่งระบบเหล่านั้นก็อาจมีหลายรูปแบบและแตกต่างกันตามความเสี่ยงที่ประเมินค่าได้

สิ่งสำคัญคือควรอบรมพนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรให้รับรู้ถึงความเสี่ยง รวมถึงแผนการรับมือต่างๆ ที่เตรียมมาสำหรับในอนาคต

2. ตอบสนองต่อวิกฤต
เมื่อวิกฤตได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำขององค์หรือผู้จัดการที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรกำกับดูแลให้การตอบสนองเป็นไปตามแผนการที่วางไว้

หากวิกฤตนั้นส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขและความปลอดภัยของประชาชน ผู้จัดการฝ่ายวิกฤตควรแถลงการณ์ต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด ควรมีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความรู้และช่วยเหลือประชาชนในการอพยพ อย่างไรก็ดี องค์กรจำเป็นต้องเลือกตัวแทนที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อข้อมูลที่สอดคล้องกับแผนการของผู้จัดการฝ่ายวิกฤต

3. แก้ไขวิกฤต
หลังจากเหตุการณ์วิกฤตจบลงและทุกอย่างเริ่มค่อยๆ กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกถึงการฟื้นฟูความเสียหาย อัพเดตสถานการณ์ และนำบทเรียนที่ได้รับมาปรับปรุงแผนการรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

 

ผู้นำแบบไหนถึงจะจัดการกับCrisisManagementได้ดี

ผู้นำที่แท้จริงไม่ใช่แค่คนที่ลงมือสั่งการเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น แต่ควรเป็นคนที่ลงพื้นที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญโดยทันทีเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น ผู้นำจึงมักถูกวัดกันที่สมรรถภาพการทำงานภายใต้แรงกดดันของเหตุการณ์

ยกตัวอย่างเช่น บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐฯ เขาโด่งดังมาจากทักษะความเป็นผู้นำและการบริหารงานที่คล่องแคล่ว ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาผ่านวิกฤตและเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมาได้หลายต่อหลายครั้ง ส่งผลให้ผลงานหลายโครงการของเขายังมีประโยชน์ต่อประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ในขณะที่ผู้นำหลายคนแม้จะมีภาพลักษณ์ที่ดูดี แต่ก็กลับจัดการกับปัญหาต่างๆ ภายในองค์กรได้ไม่ดีเท่า หรือผู้นำหลายๆ คนก็ขาดทั้งภาพลักษณ์ที่ดีและทักษะการบริการจัดการที่ดีด้วย

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3hhL5A4
https://bit.ly/3dMKvrS

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights