ฮอนดะ โซอิจิโร่: ผู้สร้างอาณาจักร Honda แม้เรียนไม่จบ

ในระยะ 5 ปีให้หลัง จะเห็นว่ามีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทักษะที่ตลาดต้องการก็แทบจะต้องอัปเดตกันปีต่อปี แถมคอร์สเรียนออนไลน์ที่น่าจะสอนทักษะที่ตรงจุดกว่ามหาวิทยาลัยก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนตั้งคำถามถึงความจำเป็นของมหาวิทยาลัย

เราจึงอยากนำเสนอเรื่องราวของชายที่เคยกล่าวไว้ว่า “ใบปริญญามีค่าน้อยกว่าตั๋วหนัง” และเขาคนนั้นก็คือ ฮอนดะ โซอิจิโร่ ชายที่เรียนไม่จบแม้กระทั่งมัธยมปลายแต่สามารถสร้างอาณาจักรรถยนต์อันยิ่งใหญ่ของตัวเองได้

ทว่า คำกล่าวนี้เคยย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเองบ้างหรือเปล่า?

ทักษะที่ได้มาจากความหลงใหลและการลงมือทำ

ฮอนดะ โซอิจิโร่ เกิดในครอบครัวช่างตีเหล็กและช่างทอผ้า นั่นจึงเป็นที่มาของความหลงใหลในกลไกการทำงานของเครื่องจักรเป็นพิเศษ และเมื่อพ่อของเขาเปิดร้านซ่อมจักรยาน เขาจึงมีโอกาสได้ช่วยงานในส่วนนี้ด้วย

จนเขาอายุย่างเข้า 15 ความรู้และทักษะเกี่ยวกับเครื่องจักรของเขาก็ล้ำหน้าเพื่อนวัยเดียวกันไปมาก เขาไม่เห็นความจำเป็นของโรงเรียนอีกต่อไป เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือการศึกษาที่ได้ลงมือทำจริงๆ เขาจึงเลือกหยุด ‘เรียน’ ที่โรงเรียนและไป ‘เรียน’ ที่อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในโตเกียวแทน

 

เตะตาเพราะทำสิ่งที่ไม่มีใครทำ

โซอิจิโร่ไปเป็นช่างยนต์ฝึกหัดที่ Art Shokai ในโตเกียวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนสักเยนเดียว ที่นั่นเพียงแค่ให้ที่ซุกหัวนอนและหาข้าวมาให้กินเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ทำให้เขาหยุดเรียนรู้ เขาใช้เวลาว่างอ่านนิตยสารมอเตอร์ไซค์และจดจำรายละเอียดทุกอย่างจนแม่นยำ

นอกจากนี้เขายังคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานอยู่เสมอ บางครั้งเขาสามารถลดขั้นตอนลงจนทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย บางครั้งเขาใช้เครื่องมือในแบบที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน

ตัวอย่างเช่น เขาคิดค้นวิธีที่ทำให้อะไหล่ล้อรถทนทานขึ้นด้วยการเปลี่ยนจากไม้ไปใช้เหล็กแทน จนทำให้ได้รับการจดสิทธิบัตร

จากช่างฝึกหัดจึงกลายเป็นหัวหน้าช่างและเจ้าของอู่สาขาแถวบ้านในเวลาเพียง 6 ปี โซอิจิโร่ในวัย 21 กลายเป็นช่างที่ทุกคนเรียกหาในละแวกนั้นมากที่สุด

 

ถูกโตโยต้าปฏิเสธ

ถึงแม้อู่ Art Shokai จะประสบความสำเร็จจนทำกำไรอย่างล้นหลาม นั่นก็ยังไม่ใช่ความสำเร็จในแบบที่โซอิจิโร่ต้องการ เขาพยายามประดิษฐ์วงแหวนลูกสูบ (piston rings) ขึ้นมาโดยใช้เงินเก็บทั้งหมดของตัวเอง แต่กลับไม่มีใครในอู่ให้ความสนใจ เขาจึงตัดสินใจเป็นฝ่ายเดินจากมา แน่นอนว่าพอเขามีผลงานยืนยันความเก่งของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเขาจะมองว่าใบปริญญาไม่ใช่สิ่งสำคัญ

จนกระทั่งในปี 1937 เขาได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองร่วมกับคนรู้จักภายใต้ชื่อ Tokai Seiki โดยเขาได้ทำสัญญากับทางโตโยต้าว่าจะจัดหาวงแหวนลูกสูบให้ แต่สุดท้ายสัญญานั้นก็ขาดสะบั้นเมื่อของล็อตแรกส่งไปถึงโตโยต้า

ในบรรดาวงแหวนลูกสูบ 30,000 ชิ้นที่เขาเคยส่งไปให้โตโยต้าตรวจสอบ มีเพียง 50 ชิ้นที่ผ่านการพิจารณา และมีเพียง 3 ชิ้น หรือ 0.01% เท่านั้นที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน

หลังจากนั้น เขาได้ใช้เวลาเกือบทั้งวันขลุกอยู่ในห้องเครื่องเพื่อพัฒนาวงแหวนลูกสูบ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า เขาจึงต้องจำใจกลับเข้าวงจรการศึกษาอีกครั้ง เพราะรู้ตัวแล้วว่าตัวเองยังขาดความรู้ทางเทคนิคที่จำเป็น

เขาลงเรียนการศึกษาภาคค่ำที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งหนึ่งในฮามามัตสึ และไปเยือนโรงงานของโตโยต้าทั่วญี่ปุ่นเพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ จนในที่สุดโซอิจิโร่ก็สามารถผลิตวงแหวนลูกสูบที่ผ่านมาตรฐานของโตโยต้าได้สำเร็จในปี 1941

 

ยืนกรานว่าใบปริญญาไม่ใช่สิ่งจำเป็น

ถึงแม้จะยอมรับว่าตัวเองขาดความรู้ แต่เขาก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าใบปริญญาไม่ใช่สิ่งจำเป็น สุดท้ายโซอิจิโร่ก็ไม่ได้ใบรับรองอะไรจากสถาบันที่เขาเข้าเรียนอยู่ดี เขาดร็อปเรียนออกมาก่อนโดยปฏิเสธการเข้าสอบ เพราะสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่ใบปริญญา แต่เป็นความรู้ที่ได้จากที่นั่น

กระทั่งตอนตั้งบริษัทฮอนด้า โซอิจิโร่ก็ยังปฏิเสธการจ้างงาน “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เรียนจบสูงอยู่หลายหน เพราะเชื่อว่าวิธีการคิดแบบทำตามกฎเป๊ะๆ ที่สถาบันการศึกษาหล่อหลอมนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการคิดอะไรนอกกรอบและการลองผิดลองถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความสำเร็จให้แก่ฮอนด้า

จะเห็นว่า แนวคิดการให้ความสำคัญกับทักษะในการทำงานเป็นหลักของโซอิจิโร่นั้น ค่อนข้างคล้ายกับเทรนด์โลกอนาคตอยู่ไม่น้อย

แม้ปัจจุบันค่านิยมเรื่องใบปริญญาในเมืองไทยจะยังเหนียวแน่นอยู่ แต่หากมหาวิทยาลัยยังไม่ปรับตัว ความสำคัญก็อาจจะถูกลดลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights