Roy Raymond: ชายเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ชุดชั้นใน Victoria’s Secret

ใครจะรู้ว่าแบรนด์ชุดชั้นในผู้หญิงชื่อดังอย่าง “Victoria’s Secret” จะมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ผู้ชาย’ ที่อยากให้มีร้านชุดชั้นในสตรีที่เป็นมิตรต่อคุณผู้ชายและสามีบ้าง

คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า “Victoria’s Secret” ไม่ใช่แบรนด์ชุดชั้นใน เสื้อผ้า และความงามที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การันตีจากแฟชั่นโชว์ประจำปีและเหล่านางฟ้าวิคตอเรีย ซีเคร็ทที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย

วันนี้ Career Fact จะพาคุณไปรู้จักกับ “Roy Raymond” ชายผู้เคยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ Victoria’s Secret

 

ไม่อยากถูกมองเป็นตัวประหลาด

รอย เรย์มอนด์ ก่อตั้งแบรนด์ Victoria’s Secret ขึ้นในปี 1977 และทำรายได้ถึง 5 แสนดอลลาร์ในปีแรกที่ก่อตั้ง ไอเดียบรรเจิดของเขาเกิดขึ้นหลังจากที่เขาเดินเข้าไปในโซนเสื้อและกางเกงชั้นในสตรีของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพื่อหาซื้อชุดชั้นในให้ภรรยา นอกจากชุดนอนลายดอกไม้น่ารักที่ไม่ถูกใจเขาแล้ว รอยยังถูกพนักงานขายปฏิบัติเหมือนกับเขาว่าเป็นพวกวิตถารคนหนึ่งอีกด้วย จากเหตุการณ์นั้นทำให้รอยรู้สึกไม่สบายใจที่จะเดินกลับเข้าไปในโซนนั้นอีก และมีความคิดที่อยากจะเปิดร้านชุดชั้นในสตรีเพื่อคุณสามีบ้าง

รอยปรึกษาเรื่องนี้กับเพื่อนชายคนอื่นๆ แล้วพบว่ายังไม่มีแบรนด์ชุดชั้นในสตรีร้านไหนที่เปิดให้ผู้ชายเข้าไปเลือกซื้อได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นตัวประหลาด เขาจึงกู้ยืมเงินจำนวน 80,000 ดอลลาร์ เพื่อเปิดร้าน Victoria’s Secret ในเวลาต่อมา

นอกจากบรรยากาศภายในร้านที่เป็นมิตรต่อคุณผู้ชายแล้ว ชุดชั้นในของ Victoria’s Secret ยังมีลวดลายที่แปลกใหม่ แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตอนนั้นที่มักเน้นฟังก์ชันการใช้งานมากกว่า

 

วิคตอเรียไม่ใช่ชื่อภรรยา

หลายๆ คนพออ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจจะคิดว่าภรรยาของรอยชื่อวิคตอเรียหรือเปล่า ในเมื่อแบรนด์นี้มีที่มาเกี่ยวกับภรรยาของเขา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ภรรยาของรอยชื่อ เกล เรย์มอนด์ ส่วนชื่อ Victoria’s Secret จริงๆ แล้วมีความหมายมากกว่านั้น

ร้านของรอยและเกลได้รับแรงบันดาลใจมาจากยุควิกตอเรีย ซึ่งให้ความรู้สึกถึงชนชั้นสูงและความสง่างาม คำว่า ‘วิกตอเรีย’ ย่อมหมายถึงทั้งยุควิกตอเรียและราชีนีวิกตอเรีย จากนั้นจึงเติมคำว่า ‘ซีเคร็ท’ เข้าไปเพื่อสื่อถึงความใกล้ชิดหรือสนิทสนมกับลูกค้า เพราะรอยตั้งใจอยากให้ร้านนี้เป็นที่ที่เรื่องเพศไม่จำเป็นต้องเป็นความลับ และชุดชั้นในก็สามารถเป็นเรื่องสนุกได้

 

ความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน

แบรนด์ Victoria’s Secret ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปีแรกที่เปิดตัว ภายในห้าปี รอยก็สามารถเปิดอีกสามสาขาในซานฟรานซิสโกและทำเงินมากกว่า 4 ล้านดอลลาร์ต่อปี ธุรกิจนี้คือตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการเห็นช่องโหว่เล็กๆ ในตลาดจนสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทว่า โมเดลธุรกิจของ Victoria’s Secret ก็ยังมีจุดบกพร่องอยู่ รอยโฟกัสที่ลูกค้าผู้ชายมากเกินไป จนลืมทำการตลาดกับลูกค้าผู้หญิงซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับหนึ่ง ความผิดพลาดนี้ทำให้ Victoria’s Secret ต้องเกือบล้มละลาย ในปี 1982 รอยจึงตัดใจขายธุรกิจให้กับเลส เว็กซ์เนอร์ (Les Wexner) นักธุรกิจหนุ่มที่มองเห็นโอกาสมากกว่า ด้วยมูลค่าเพียงแค่ 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเขาคนนี้คือผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Victoria’s Secret แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

รอยล้มเหลวอีกครั้งในปี 1986 เมื่อเขาเปิดธุรกิจร้านค้าเกี่ยวกับเด็ก หลังจากนั้นไม่นานเขาก็หย่ากับภรรยา

เมื่อวันพฤหัสบดีในปี 1993 ร่างของเขาถูกพบเป็นศพอยู่ที่อ่าวซานฟรานซิสโก ใกล้กับชายฝั่งมารินเคาน์ตี้หลายชั่วโมงหลังจากมีคนเห็นเขาเดินเล่นอยู่บนสะพานโกลเด้นเกต ตำรวจจึงวินิจฉัยว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายของเขาน่าจะมาจากการที่ต้องบอกลาแบรนด์ Victoria’s Secret และภรรยา

เรื่องราวของรอย เรย์มอนด์ อาจมองได้หลายแง่มุม หลายคนทั่วโลกคงมองเห็นถึงหัวทางด้านธุรกิจของนักเรียนบริหารจากแสตนฟอร์ดคนนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ประมาทจนต้องสูญเสียแบรนด์ที่รักไป บางคนอาจคิดว่าเขายอมแพ้กับความล้มเหลวง่ายจนเกินไปจนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง แต่ก็คงไม่แฟร์ที่เราจะตัดสินใครสักคนโดยที่ยังไม่ได้รู้จักกับเขาจริงๆ

 

อย่างน้อยๆ มรดกที่รอยหลงเหลือไว้อย่าง “Victoria’s Secret” ก็คือหลักฐานแสดงว่าครั้งหนึ่งเขาเคยประสบความสำเร็จ มีคนอีกมากมายจดจำเขาได้ และผลงานของเขาก็เป็นที่ประจักษ์ในวงการแฟชั่นมาจนถึงทุกวันนี้

 

อ้างอิง

https://bit.ly/2TTEl28
https://bit.ly/3xPIp2f
https://bit.ly/3qlqUnL

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights