พี่หนุ่ม ปิยะศักดิ์: ผู้ปฏิเสธงานที่วอลล์สตรีทเพื่อพาเงินติดล้อยิ่งใหญ่

างครั้ง ‘โอกาส’ ครั้งใหญ่มักจะมาพร้อมการตัดสินใจครั้งสำคัญ หากมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วโอกาสอีกมากมายพร้อมเกิดขึ้นในทุกเส้นทาง เพียงแค่มองสิ่งที่อยู่ข้างหน้าแล้วทำให้มันดีที่สุด

วันนี้ Career Fact จะมานำเสนอเรื่องราวของ ‘พี่หนุ่ม’ ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล ผู้ที่ปฏิเสธโอกาสทำงานที่วอลล์สตรีทเพื่อมาลงหลักปักฐานกับบริษัทเล็กๆ ด้านสินเชื่อ ก่อนที่จะพาบริษัททะยานเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และเขาคือผู้ที่เชื่อว่าโอกาสคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกคน

ทำไมเขาถึงปฏิเสธการทำงานกับบริษัทชื่อดังแห่งวอลล์สตรีท? เขารับมืออย่างไรกับเส้นทางชีวิตที่ไม่เป็นไปตามแผน? ติดตามผ่านเรื่องราวที่เรากำลังจะเล่าได้ที่นี่

 

วัยเด็กในต่างแดน

พี่หนุ่มเกิดและเติบโตที่อเมริกา แต่แม้จะย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างแดนแล้ว ครอบครัวก็จะส่งพี่หนุ่มกับพี่ชายกลับมาเมืองไทยทุกซัมเมอร์เพื่อให้เขาได้ใกล้ชิดกับญาติที่เมืองไทยด้วย พี่หนุ่มเล่าว่าตอนเด็กๆ เขาไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไรจนเกือบซ้ำชั้นในช่วงเรียนเกรด 2-3 นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคภูมิแพ้และน้ำหนักตัวที่มาก จนถึงจุดที่หมอต้องสั่งให้เขาออกกำลังกายทุกวัน จึงทำให้พี่หนุ่มต้องเริ่มปรับปรุงตัวเองด้วยการว่ายน้ำวันละชั่วโมงและเริ่มฝึกเทควันโด

แต่แล้วสิ่งที่ถูกบังคับกลับเปลี่ยนเป็นความสนุก เขาหลงรักเทควันโดจนสอบได้สายดำมาครองและยังเปิดสอนเทควันโดให้กับคนอื่นๆ ด้วย ส่วนด้านการเรียนพี่หนุ่มก็เริ่มตั้งใจเรียนและทำคะแนนได้ดีขึ้น พี่หนุ่มกล่าวว่า “ถ้าเราทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ แต่ถูกบังคับให้ทำ หรือทำในสิ่งที่ไม่เก่ง แต่ตั้งใจทำมันไปเรื่อยๆ วันหนึ่งมันจะเป็นความเก่งและความชอบไปโดยธรรมชาติ ความไม่ชอบมันเป็นเพียงความรู้สึก”

 

เลือกเรียนต่อเมืองไทย

หลังจากจบไฮสคูลด้วยเกรดที่ดีขึ้น และทุกอย่างกำลังไปได้ดี สิ่งที่เขาต้องทำต่อคือเรื่องเรียนที่ต้องเลือกสมัครเข้ามหาวิทยาลัย โดยมี University of Virginia เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง ซึ่งช่วงที่พี่หนุ่มติดรายชื่อรอเรียกอยู่นั้น เขาก็ยื่นใบสมัครสาขา BBA ที่ธรรมศาสตร์ จากคำแนะนำของเพื่อนที่เมืองไทยด้วย แต่ปัญหาเรื่องตารางและเวลาสอบทำให้พี่หนุ่มไม่สามารถกลับมาสอบได้ ทางคณะจึงให้เขาสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และยื่นคะแนน SAT ทางแฟกซ์แทน โอกาสในครั้งนั้นทำให้เขาเลือกเปลี่ยนเส้นทางกลับมาเรียนต่อปริญญาตรีที่เมืองไทย โดยที่เขาวางแผนกลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกาหลังจากเรียนจบ ทว่าบางอย่างก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนเสมอไป เมื่อโอกาสครั้งใหม่กำลังทำให้พี่หนุ่มต้องตัดสินใจอีกครั้ง

 

เลือกงานที่สานต่อเป้าหมาย

พี่หนุ่มมีประสบการณ์ทำงานทั้งด้านที่ปรึกษากับบริษัท Boston Consulting Group (BCG) และประสบการณ์ติดต่อธุรกิจสถาบันการเงินระดับภูมิภาคกับ Asia Pacific M&A ของ AIG หลังจากนั้นมีข้อเสนอติดต่อเข้ามาจาก AIG นิวยอร์คให้ไปทำงานด้วยกันที่วอลล์สตรีทอเมริกา กับอีกบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อขนาดเล็กในประเทศไทย แม้ใครหลายคนจะคิดว่านี่คือโอกาสทองที่จะได้ทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในวอลล์สตรีท แต่พี่หนุ่มในตอนนั้นมีคำว่า ‘เป้าหมาย’ เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจครั้งสำคัญ และเขาก็เลือกปฏิเสธโอกาสการทำงานกับวอลล์สตรีทที่บ้านเกิด

เป้าหมายที่ว่าก็คือการเรียนต่อปริญญาโท ก่อนหน้านั้นเขาตระเวนสมัครเรียนปริญญาโทสาขา MBA ที่อเมริกาอยู่ราว 1 ปีแต่ก็ยังต้องพบกับความผิดหวัง พอเข้าสู่ปีที่สองเขาต้องกลับมานั่งคิดอีกครั้งว่าจะกลับไปที่อเมริกาหรือใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยต่อ ซึ่งเป้าหมายแรกในใจของพี่หนุ่มยังคงอยากเรียนต่อปริญญาโทต่อ จึงมองหาแนวทางที่จะสร้างโอกาสอีกครั้ง เขาคิดถึงเรื่องการเขียน Essay ที่ต้องมีเรื่องราวที่ดีเป็นตัวช่วยในการสมัครเรียน ทำให้เขามองว่าการเป็น Head of Marketing ในบริษัทเล็กๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนาจะช่วยให้เรื่องราวของเขาน่าสนใจมากกว่าการไปเป็นพนักงานคนหนึ่งในบริษัทใหญ่ในวอลล์สตรีทเท่านั้น

ส่วนเป้าหมายในระยะยาวพี่หนุ่มในตอนนั้นคือการกลับไปทำธุรกิจที่อเมริกาในบั้นปลายชีวิต เขาจึงเห็นว่าการทำงานกับบริษัทเล็กๆ ในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจและได้บริหารคนตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้เขาเรียนรู้และนำไปใช้กับเป้าหมายนั้นได้ สุดท้ายทั้งสองเป้าหมายจึงทำให้เขาตัดสินใจรับตำแหน่ง Head of Marketing ของบริษัท ‘เงินติดล้อ’ ในที่สุด

 

คำถามที่เปลี่ยนมุมมองชีวิต

“สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของคุณคืออะไร?” เป็นหนึ่งในคำถามที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครเรียนต่อปริญญาโท คำตอบของพี่หนุ่มคือ “ผลกระทบต่อสังคม” สำหรับพี่หนุ่มแล้วสิ่งที่เขาตกผลึกจากคำถามนี้คือเรื่องคุณค่าของชีวิต การให้และการสร้างประโยชน์ต่อสังคม ทำให้เขาอยากสร้างอิมแพคต่อโลกใบนี้ให้ดีขึ้นระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และเปลี่ยนมุมมองจากเดิมที่คิดหาทางทำให้ตัวเองก้าวหน้าเพียงด้านเดียวเป็น ‘ให้’ คนอื่นมากขึ้นหลังจากเจอคำถามนี้ พี่หนุ่มบอกว่าความจริงของชีวิตที่สอนเขามักจะออกมาในรูปแบบ ‘ยิ่งให้ยิ่งได้’ เพราะถ้าเรานึกถึงคนอื่นและยินดีให้ความช่วยเหลือคนอื่นด้วย สุดท้ายแล้วมันจะกลับมาหาเราทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบต่อสังคมในแง่ของการทำงานสำหรับพี่หนุ่มเกี่ยวโยงกับการที่เขาเติบโตในอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่มอบโอกาสให้ครอบครัวของเขาได้เริ่มต้นสร้างตัวและสร้างชีวิตใหม่มาหลายสิบปี เมื่อได้มาทำงานที่เงินติดล้อก็ทำให้พบเจอปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยบ่อยขึ้น ทำให้เขาให้ความสำคัญของสังคมที่สร้างโอกาสมากขึ้น “โอกาสที่คนแบบพ่อของพี่ หรือคนเสิร์ฟในร้านอาหารที่สุดท้ายจะมีบ้าน มีรถ มีปัญญาส่งลูกสองคนเรียนมหาวิทยาลัยดีๆ มันแทบไม่มี” พี่หนุ่มกล่าว

ในทางธุรกิจสำหรับพี่หนุ่ม เขาคิดว่าการให้คนได้ทางตรงคือลูกน้อง ทั้งให้โบนัส ให้เงินเดือน แต่ในฐานะบริษัทก็ต้องให้คนอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนเรื่องเรื่องค่าธรรมเนียมหรือการเซ็นสัญญาที่ลูกค้าต้องได้รับสิทธิครบทุกขั้นตอน รวมทั้งเรื่องดูแลพนักงาน ให้โอกาสพนักงานได้เรื่องดีๆ จากบริษัท และเมื่อเงินติดล้อมีคนรู้จักเยอะก็ยิ่งต้องให้ความรู้กับลูกค้ามากขึ้น ทุกอย่างต้องโปร่งใสขึ้น อิมแพคต่อสังคมจึงไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ลูกค้าเงินติดล้อ แต่เป็นลูกค้าทั้งอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ “ในการแข่งขัน ถ้ามีใครสักคนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ลูกค้าก็จะเรียกร้องสิทธิของเขา” พี่หนุ่มกล่าว
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมการทำงานที่เงินติดล้อจึงเป็นตัวเติมเต็มแพชชั่น ‘การให้’ ตรงนี้เยอะมากสำหรับพี่หนุ่ม

 

เอาชนะความกดดัน

อย่างที่รู้กันดีว่าการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งพี่หนุ่มก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับโอกาสขึ้นเป็น Managing Director ของบริษัทตั้งแต่อายุเพียง 32 ปี พี่หนุ่มยอมรับว่าช่วงแรกที่รับงานตำแหน่งนี้มีแรงกดดันในทุกเรื่อง รวมทั้งเป็นแรงกดดันในการพิสูจน์ตัวเอง แต่เขาจะคิดและถามตัวเองเสมอว่า “คนอื่นทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้” นั่นทำให้เขาเรียนรู้และพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองมาเสมอ “พอมีประสบการณ์ ทุกอย่างก็จะดูช้าลง เราก็จะตื่นเต้นน้อยลง เพราะผ่านเรื่องต่างๆ มาเยอะ” พี่หนุ่มกล่าว

ส่วนตัวเขายังมีความตื่นเต้นในการทำงานทุกวันนี้ตลอด เพราะเรื่องที่กดดันว่า “จะทำได้มั้ย?” ลดน้อยลงไปมาก จึงทำให้เขาสนุกกับงานมากขึ้น วันแรกพี่หนุ่มตั้งเป้าว่าต้องอยู่ให้ได้ 3 ปีโดยไม่โดนไล่ออกและไม่ทำบริษัทพัง พอผ่านจุดนั้นได้ พี่หนุ่มก็ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะต้องทำให้องค์กรเติบโตขึ้นให้ได้ และในฐานะเบอร์หนึ่งขององค์กรการทำงานหนักอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ทำให้เขาปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทใหม่ ปรับบรรยากาศที่ทำให้เขาอยากมาทำงานทุกวัน เริ่มสร้างคอมมูนิตี้ในการทำงาน สร้างความสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานทุกช่วงวัย ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีช่วงเวลาที่เหนื่อยล้าในการทำงานอยู่บ้าง แต่พี่หนุ่มคิดว่านี่คือสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขามีความสุขในบทบาทของผู้นำองค์กร “มีหลายๆ โมเมนท์ที่เห็นความทุ่มเทจากพนักงานแล้วมันชาร์จพลังในการทำงานของเรา” พี่หนุ่มกล่าว

 

บทถัดไปของหนังสือชีวิต

ในขณะที่หลายคนเร่งให้ตัวเองประสบความสำเร็จในเวลาอันสั้น พี่หนุ่มก็มีโอกาสที่จะโยกย้ายงานไปสู่บริษัทที่ใหญ่ขึ้นระดับสากลจากคำแนะนำของเพื่อนๆ และคนรู้จัก แต่เขาบอกว่านิยามความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนมองว่าความสำเร็จคืออะไร แล้วใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด ในปีแรกที่รู้สึกกดดันสิ่งที่พี่หนุ่มทำคือ อ่านหนังสือชีวประวัติของซีอีโอดังๆ ตั้งแต่ สตีฟ จ็อบส์ วอร์เรนต์ บัฟเฟตต์ หรือ ซีอีโอคนเก่า ของ IBM อย่าง ลูว์ เกิรส์ทเนอร์ สำหรับเขาแล้วการเรียนรู้จากผู้นำที่ประสบความสำเร็จช่วยให้เข้าใจและรับมือความกดดันได้ดีขึ้น เขาเล่าว่าพอได้อ่านหนังสือเหล่านั้น เขาหันกลับไปมองชั้นหนังสือทำงานตัวเอง แล้วคิดได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่คือกำลังสร้างหนังสือเล่มหนึ่งที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของการทำงานและบริษัทในแบบฉบับของตัวเอง นั่นทำให้พี่หนุ่มตัดตัวเลือกอื่นๆ ที่แม้จะเป็นบริษัทใหญ่ทั้งหมดไปได้

หลังจากพาเงินติดล้อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราอยากรู้ว่าพี่หนุ่มตั้งใจจะทำงานกับเงินติดล้อไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งพี่หนุ่มให้คำตอบกับเราว่า “เงินติดล้อคือผลงานมาสเตอร์พีซ” สำหรับเขา และเปรียบเทียบให้เข้าใจว่าไม่ต่างจากดาวินชีที่มีงานชิ้นเอกเป็นรูปวาดโมนาลิซ่า และไม่ว่าดาวินชีจะย้ายไปอยู่ที่ไหนเขาก็จะหอบรูปนี้แล้วก็ปรับแต่งมันไปเรื่อยๆ สิ่งที่พี่หนุ่มคิดคือ ถ้าเงินติดล้อไม่ได้ถึงทางตันหรือไม่สามารถเติบโตได้มากไปกว่านี้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องย้ายออก เขาจึงไม่ได้มีเป้าหมายว่าบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จะจบตรงจุดไหน ภาพที่พี่หนุ่มวาดไว้หลังตัวเองหมดหน้าที่คือภาพของตัวเขาตอนอายุ 70 – 80 ที่กำลังนั่งจิบกาแฟเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อดูว่าเงินติดล้อจะสร้างผลงานอะไรอีกบ้างและหวังว่าบริษัทจะสามารถอยู่ได้แม้ไม่มีเขาเป็นหัวเรือ

 

ฝากถึงคนรุ่นใหม่

พี่หนุ่มบอกว่า คนที่อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ส่วนใหญ่มักมองที่ผลลัพธ์ว่าจะได้เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวย แต่คนที่จะสามารถเป็นเศรษฐีได้ คือคนที่มองสิ่งที่อยู่ข้างหน้าแล้วทำให้มันดีที่สุด นี่คือสิ่งที่เขาคิดว่าเรียบง่ายที่สุด พี่หนุ่มอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำงานให้เข้าใจว่าทุกอย่างต้องอดทนและต้อง “โฟกัสที่กระบวนการและผลลัพธ์ที่เราจะได้รับ” พัฒนาในสิ่งที่ทำอยู่ตลอดและลงมือทำไปเรื่อยๆ พี่หนุ่มแนะนำว่าความกังวลต่างๆ จะหายไปเมื่อเราโฟกัสในสิ่งที่ทำอยู่มากกว่ามัวเอาใจไปอยู่กับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น

อีกสิ่งที่สำคัญสำหรับพี่หนุ่ม คือ ‘ความอดทน’ เหมือนครั้งที่พี่หนุ่มในวัยเด็กเคยอยากได้สุขภาพที่ดี อยากได้คะแนนที่ดีขึ้น สิ่งที่เขาเลือกทำก็คือออกกำลังกายและตั้งใจเรียน พี่หนุ่มต้องเผชิญกับปัญหามาโดยตลอดทั้งชีวิต ทำให้เขาเรียนรู้และใช้ความอดทนเป็นธีมหลักที่ยึดถือมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

“ระหว่างทางจะมีอุปสรรคมาทดสอบ สิ่งที่เราต้องทำคืออดทน” พี่หนุ่มกล่าวทิ้งท้าย

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน