พี่แพม จิตรานุช: อดีตผู้จัดการอาวุโสช้อปปี้เพย์ลาออกมาเพื่อธุรกิจชุดนักเรียนที่บ้าน

เปิดเส้นทางชีวิตของ ‘พี่แพม’ จิตรานุช อมรวัฒนา อดีตผู้จัดการอาวุโส ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) ในเครือ SEA บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่ากิจการสูงที่สุดในอาเซียน

Career Fact จะมาเล่าถึงประสบการณ์ของพี่แพมตั้งแต่ความฝันในวัยเด็กที่มีผลต่อหน้าที่การงานยังไง ไปจนถึงการทำงานในระดับอาวุโส และการลาออกมาเพื่อสานฝันธุรกิจครอบครัว

 

เป็นนักขายตั้งแต่เด็ก

ครอบครัวของพี่แพมทำธุรกิจ SME ขายชุดนักเรียน โดยทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ พี่แพมโตมากับการนั่งใต้โต๊ะทำงานคุณแม่ ไม่ว่าคุณแม่จะทำงานเป็นแคชเชียร์ บริหาร ประชุม ให้เงินเดือนพนักงานจนถึงไล่พนักงานออก เธอก็เห็นมาแล้วทุกบทบาท และเพื่อนเล่นของพี่แพมก็คือพนักงานขายในร้าน เธอจึงมองว่าการขายของเป็นเรื่องสนุก และกลายเป็นเซลส์ขายชุดนักเรียนในร้านตั้งแต่อายุ 13-14 ขวบ ตอนกำลังจะสอบเข้าม.ปลายก็ทำการตลาดเอง เช่น เอาส่วนลดไปฝากให้โรงเรียนกวดวิชาช่วยแจก ตอนนั้นเรียกได้ว่าเธอ ‘อิน’ กับการขายของมาก

ชีวิตในวัยเด็กของพี่แพมมีผลมากกับการตัดสินใจในด้านอาชีพการงาน เธอโตมาโดยที่ในหัวมีแค่การเรียนด้านบริหาร เพราะไอดอลของพี่แพมคือคุณพ่อและคุณแม่ และการที่ครอบครัวของพี่แพมทำธุรกิจการค้านั้นทำให้เธอรู้สึกเหมือนโดนปลูกฝังมาโดยสายเลือด

 

งานแรกกับการเป็นคอนซัลท์

พี่แพมเลือกทำงานคอนซัลท์เพราะรุ่นพี่ BBA ม.ธรรมศาสตร์เป็นคอนซัลท์กันเยอะมาก เป็นเทรนด์ของช่วงนั้นด้วยที่ส่วนใหญ่มักจะเลือกทำงานสายไฟแนนซ์ไม่ก็คอนซัลท์

ในวัยนั้น พี่แพมมองว่าตัวเองยังมีต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ช่วงอายุ 20-25 ปีจึงควรทำงานให้ได้เยอะที่สุดทั้งในแง่ชั่วโมงทำงานและความหลากหลายของสิ่งที่อยากเรียนรู้ พี่แพมเชื่อว่าการที่เราสามารถตัดช้อยส์ได้นั้นง่ายกว่าการบอกว่าเราชอบอะไร ถ้ามีอะไรที่คนบอกว่าดี เราก็ลองทำดู แล้วมาดูว่าสิ่งนั้นเหมาะกับเรามั้ย ถ้าใช่ก็ไปต่อ เราต้องรู้ว่าเรามีแต้มต่ออะไรจะได้ไปได้ถูกจุด พี่แพมมีประสบการณ์ตรงกับการทำงานที่หลากหลาย เธอจึงอยากให้เด็กที่จบมาใหม่ๆ ทำงานให้เต็มที่ กล้าที่จะลอง เพราะหลังจากนั้นอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราจะรู้ว่าการที่เราได้เรียนรู้อะไรเยอะๆ เห็นโลกการทำงาน มีแง่มุมที่หลากหลาย มันเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงๆ

ตอนที่พี่แพมไปสัมภาษณ์ในสายคอนซัลท์ มีผู้สัมภาษณ์คนหนึ่งโทรมาให้คำแนะนำหลังจบสัมภาษณ์ว่าเธออาจจะไม่ใช่แนวคอนซัลท์ ซึ่งเขาพูดให้คำแนะนำด้วยความหวังดี ไม่ได้ด่าว่าอะไร แต่เหมือนเขาเห็นอะไรบางอย่างในตัวพี่แพม สุดท้ายเธอก็ยังได้เข้าไปทำงานในสายคอนซัลท์อยู่ดี สิ่งหนึ่งที่เธอชอบในงานนี้คือการได้ร่วมงานกับบริษัทที่เธอสนใจ ทำให้เธอจะอยากทำโปรเจกต์นี้ไปเรื่อยๆ จนไม่อยากย้ายไปโปรเจกต์ต่อไป บางทีพี่แพมก็สนิทกับทีมในบริษัทที่เธอไปทำโปรเจกต์ด้วยจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในทีมของบริษัทเขาไปแล้ว แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องร่วมโปรเจกต์กับบริษัทที่เข้าไปแล้วรู้สึกไม่อินเลยในอุตสาหกรรมนี้ เวลาเจอกรณีแบบนั้นก็จะรู้สึกว่าเป็นงานที่เหนื่อยมาก

การที่พี่แพมได้ทำงานคอนซัลท์ ทำให้เธอได้เรียนรู้เยอะมาก และทำให้พี่แพมรู้ว่าตัวเองชอบการมี Sense of Ownership หรือการมีโปรเจกต์เป็นของตัวเองให้ดูแล

 

เริ่มต้นทำงานในเครือ Sea

ตอนแรกที่พี่แพมเข้าไปทำที่ Sea Group ยังเป็นบริษัท Garena ซึ่งตอนนั้นมีแค่ธุรกิจเกม พี่แพมเป็นคนที่ไม่เล่นเกมเลย แต่บังเอิญได้รับอีเมลให้ลองมาสมัครงานที่ระบุว่ากำลังมองหาคนที่มี Ownership สูงมาช่วยทำโปรเจกต์ใหม่จากศูนย์ เมื่อเห็นแล้วก็ตื่นเต้นมากจึงตอบตกลง จนได้ไปสัมภาษณ์กับ Garena Lab ที่ตอนกำลังจะออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจเกม พวกเขาเล่าถึงความคาดหวังของตำแหน่งงานที่ทำให้พี่แพมกลับบ้านไปแล้วนอนไม่หลับ พี่แพมตื่นเต้นมากที่จะได้เป็น Product Owner ถึงแม้ตอนนั้นเธอก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็น Product อะไร แต่แค่ได้เริ่มต้นทำบางสิ่งจากศูนย์ก็ทำเอาตื่นเต้นมากแล้ว พี่แพมอธิบายความรู้สึกนั้นว่าเหมือนเป็นรักแรกพบ แม้ว่าจะมีหลายๆ คนโทรมาคุยกับพี่แพมด้วยความกังวลและเป็นห่วงด้วยความที่เป็นบริษัทที่ใหม่ และให้ลองศึกษาดูดีๆ ก่อน เธอทำตามคำแนะนำและได้ไปดูประวัติของหัวหน้าก็รู้สึกว่าเขาเก่งมาก มีทั้งโปรไฟล์และผลงานที่ดี ทำให้ยิ่งมั่นใจในบริษัทนี้

พี่แพมได้เข้าไปทำงานในตำแหน่ง Management Associate (MA) ในตอนนั้นเธอเป็นศิษย์เก่า BBA TU คนแรกๆ ที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ พี่แพมขอทำโปรเจกต์อะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวกับเกม เพราะไม่มีความรู้เรื่องเกมเลยจริงๆ

ตอนแรกพี่แพมเข้ามาด้วยโจทย์ที่ว่าบริษัทมีฐานร้านอินเทอร์เน็ต และพี่แพมต้องช่วยสร้างธุรกิจอีกธุรกิจขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์หลักคือต้องการให้ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ต์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ของบริษัทไปต่อได้ และจะเพิ่มรายได้ให้ร้านเหล่านั้นได้ยังไง ซึ่งตอนนั้นเธอต้องเริ่มต้นจากศูนย์ตั้งแต่โทรหาคนรู้จักไปเรื่อยๆ หรือขอทางผู้ใหญ่ให้แนะนำให้ จนได้สัญญาฉบับแรกจากพาร์ทเนอร์ พี่แพมอ่านอย่างละเอียดหลายรอบมาก เพราะกังวลแทนธุรกิจว่าจะทำได้ดีพอมั้ย เธอต้องติดต่อผู้ขายเอง ตั้งอัตรากำไรเอง รวมถึงทำมาร์เก็ตติ้งและคุยกับร้านอินเทอร์เน็ตนับไม่ถ้วน

พี่แพมบอกว่าตอนนั้นเวลา 10 เดือนแต่รู้สึกเหมือนทำงานมาแล้ว 3 ปี พี่แพมทำงานทุกวันเพราะตอนนั้นสนุกมาก ไม่เหนื่อยเลย และเป็นช่วงเวลาการทำงานที่ดีที่สุด ทุกเช้าอยากรีบตื่นมาทำงานต่อเพราะได้เห็นความคืบหน้าของงานที่เธอได้ทำเสมอ

พี่แพมได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วหลังจากการทำงานใน 10 เดือนแรก ทุกอย่างพัฒนาเร็ว และเธอมีทีมที่ดีมากๆ การไปคุยกับผู้บริหารของบริษัทอื่น เธอต้องนำเสนอผลิตภัณ์ต่างๆ ในนามของตัวแทนประเทศ เพื่อให้เขารู้ว่าเขากำลังคุยกับคนที่สามารถตัดสินใจได้ พี่แพมจึงได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็น Country Product Manager ตอนนั้นจำนวนคนในทีมไม่ได้เยอะมาก มีประมาณ 30-40 คน ซึ่งเธอมองว่าจำนวนคนในทีมไม่ใช่ตัวบอกความยากและความยิ่งใหญของงาน แต่คือสโคปหรือความกว้างของงานที่เธอต้องดูแลต่างหาก

 

ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

ช่วง 10 เดือนแรกพี่แพมรู้สึกกดดันมาก และหลังจากนั้นพอได้เลื่อนตำแหน่งก็ยิ่งกดดันและเครียดมากกว่าเดิม เพราะเป็นงานสเกลใหญ่ที่ต้องแบกรับอะไรหลายอย่าง ตอนนั้นพี่แพมอายุแค่ 24 ปี เธอมีปัญหาการตกลงงานกับพาร์ทเนอร์ที่ใหญ่และอาวุโส เป็นความกดดันที่ต้องทำงานกับคนที่อาวุโสมากๆ ซึ่งเธอต้องพยายามมองหาเส้นทางตรงกลางที่ธุรกิจจะไปได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่าคนที่คอยซัพพอร์ทพี่แพมอยู่เสมอก็คือหัวหน้า แต่เธอก็ต้องคิดเองและมีความรับผิดชอบเองด้วยเช่นกัน พี่แพมอธิบายเพิ่มเติมว่า ณ วันนั้นมันยากมากที่จะตัดสินใจว่าจะทำยังไงให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท พร้อมกับทำให้พาร์ทเนอร์เห็นตรงกัน ยังมีอีกความกดดันคือต้องทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ และความกดดันนี้ได้ฝังรากลึกลงไปในตัวพี่แพมไปแล้ว เธอจึงเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ อะไรที่เคยกลัว อะไรที่คิดว่ายาก สุดท้ายแล้วก็ก้าวผ่านไปได้

 

ทักษะการเป็นผู้นำ

พี่แพมมองความท้าทายมุมแรกคือการพิสูจน์ตัวเอง ต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่าเธอเป็นผู้นำได้แม้อายุยังน้อย เพราะตอนนั้นเด็กมาก เธอเพิ่งเรียนจบแล้วต้องไปเป็นหัวหน้าของเพื่อนและรุ่นพี่หลายคน เพราะเป็นคนที่รู้จักผลิตภัณ์มากที่สุด สิ่งที่ทำให้พี่แพมผ่านตรงนั้นมาได้คือแรงขับเคลื่อนและแรงจูงใจ (Drive and Motivation) ทำให้มีทางออกให้กับปัญหาทุกอย่าง พี่แพมอาจใช้เวลาพิสูจน์มากหน่อย แต่สุดท้ายเธอก็สามารถนำทีมได้โดยที่ไม่ได้เป็นบอสใคร เธอสามารถบริหารการใช้คนให้ถูกต้องกับงานและสถานการณ์ได้ แสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้แค่เก่งอย่างเดียว แต่ยังสามารถมองออกด้วยว่าใครเก่งด้านไหน แล้วให้เขาทำงานที่ถูกต้องเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการทำงาน

ในอีกมุม พี่แพมยอมรับว่าบางทีเธอก็มีความเป็นเผด็จการ (Dictatorship) และเป็นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ไปพร้อมๆ กัน ทำให้บางครั้งคนในทีมเครียดตามไปด้วย พี่แพมคิดว่าตอนนั้นก็ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่ถ้ามองกลับไปจริงๆ ก็อดคิดไม่ได้ว่าเธอควรดูแลลูกทีมได้ดีกว่านี้

ถ้าให้เปรียบเทียบการฝึก MA กับการว่ายน้ำ พวกเขาจะไม่ได้บอกเด็กล่วงหน้าว่าจะให้ลงน้ำ แต่มักจะถีบให้ตกน้ำแล้วค่อยโยนห่วงยางไปช่วยในภายหลังเพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้เอง พี่แพมมองว่าการทำแบบนี้มีข้อดีคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไปรอด ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้ หลังผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เธอสามารถมองได้ว่า ทุกอย่างมีทางออกจริงๆ อยู่ที่ว่าทางออกมาเวลาไหนมากกว่า จากมายด์เซ็ทนี้ทำให้เกิดอีกมายด์เซ็ทหนึ่งตามมาว่าความเป็นไปไม่ได้ไม่มีจริง ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ต้องรู้ว่าเป็นไปได้ในเวลาไหน หน้าที่ของเราคือต้องสร้างเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อเตรียมความพร้อมที่สุดให้กับวันที่สิ่งนั้นจะเป็นไปได้

 

เรียนต่อ MBA

เหตุผลที่พี่แพมตัดสินใจเรียนต่อก็เพราะเธอรู้สึกว่าได้ทำอะไรไปเยอะ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปมันดีไหม ไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดเป็นยังไง เธออยากเห็นโลก อยากเห็นอุตสาหกรรมอื่นที่ใกล้เคียงกัน และอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เธออยากรู้ว่าการสร้างผลกระทบ (Impact) ในด้านอื่นๆ ทำได้ตรงไหนบ้าง เธอเองก็ยังเด็กอยู่ เลยอยากลองเรียนรู้ และอยากลองทำงานในประเทศอื่นๆ

พี่แพมเน้นย้ำว่าการตัดสินใจเลือกทางนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพราะมีความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายสูง บางทีรวมถึงต้นทุนชีวิตที่จะต้องอยู่ห่างจากครอบครัวนานๆ หรือบางคนอาจจะมีโอกาสในอาชีพที่ดีมากๆ แต่ก็ต้องทิ้งไป มันมีค่าเสียโอกาสเสมอ ซึ่งตอนนั้นพี่แพมลองช่างน้ำหนักแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้คุ้มค่า พี่แพมจึงตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐอเมริกา

 

การฝึกงาน

พี่แพมเคยทำ Summer Internship ที่ ShopBack ประเทศสิงคโปร์ โชคดีที่เธอได้อยู่ใกล้กับ CCO ของกรุ๊ป ทำให้เธอได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง และอิมแพคที่ได้สร้างกับทีมที่ไปอยู่ ช่วงนั้นพี่แพมบินไปกลับไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นประจำ การทำงานในตลาดภูมิภาคนั้นไม่ได้มี Ownership แค่ในประเทศ ทำให้เธอรู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีอิมแพคในหลายประเทศ สนุกไปอีกแบบ แต่พอทำงานในระดับภูมิภาค มันอาจจะต้องดูหลายๆจุดไปพร้อมๆกัน เราอาจจะไม่ได้มี ownership ในประเทศใดประเทศหนึ่ง พอพี่แพมทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ตัวเองว่าเธอน่าจะชอบการทำงานในประเทศใดประเทศหนึ่งมากกว่าทำงานในระดับภูมิภาค

 

ทำงานในอเมริกา

หลังจากเรียนจบ MBA พี่แพมอยากจะลองมีประสบการณ์ทำงานในสตาร์ทอัพที่อเมริกา เธอจึงเลือกยื่นสมัครงานในบริษัทที่ไม่ใหญ่มาก เพราะพี่แพมรู้ตัวแล้วว่าไม่ได้อยากทำงานสายเฉพาะ เช่น Product Marketing หรือ Product Manager แต่เธออยากทำงานที่จะได้ช่วย CEO หรือเจ้าของโดยตรงเหมือนงานก่อนๆ ตอนนั้นพี่แพมอยากทำงานเทคสตาร์ทอัพกับบริษัทด้านสุขภาพไม่ก็การศึกษา พี่แพมยื่นสมัครงานไปร้อยกว่าที่ แต่ได้สัมภาษณ์แค่ 10 ที่ และได้ไปต่อในรอบสุดท้ายแค่ 3 ที่ ซึ่งสุดท้ายเหลือบริษัทเดียวที่รับพี่แพม เป็นบริษัทเทคสตาร์ทอัพเกี่ยวกับด้านสุขภาพที่นิวยอร์ก

พี่แพมได้ทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเพราะเธอไม่เคยรู้จักตลาดนี้เลย การที่เธอจะทำให้บริษัทเติบโตได้ก็ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจผู้บริโภค ดูฐานข้อมูล ดูแบบธุรกิจต่างๆ เยอะมาก ต้องสำรวจดูพฤติกรรม ทำความเข้าใจ วางแผนการเติมโต เธอต้องคิดเองทำเองเหมือนเดิม แล้วเข้าสู่ขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป เพื่อซัพพอร์ทสิ่งที่เธออยากจะทำให้บริษัทโตต่อไปทั้งในด้านที่ไม่เคยทำ และการพัฒนาให้ดีขึ้น พี่แพมชอบงานและรู้สึกสนุกกับงานที่ทำมากแต่แล้วโควิดก็มา และด้วยความที่บริษัทค่อนข้างเล็กจึงขยับขยายได้ยาก แรงซัพพอร์ทอาจไม่มากนัก บวกกับการที่ต้องอยู่ไกลบ้าน พี่แพมจึงตัดสินใจออกจากงานและกลับมาไทย

 

เริ่มต้นในไทยอีกครั้งกับ Sea Group

ในวันที่กลับมาไทย สิ่งแรกที่พี่แพมพยายามมองหาก็คืองานลักษณะเดิม ซึ่งตอนนั้นพี่แพมมีข้อเสนอของ 2 บริษัทอยู่แล้ว บริษัทหนึ่งเป็นบริษัทเทคจากซานฟรานที่ต้องการมาเปิดออฟฟิศในไทย และอีกบริษัทหนึ่งเป็นเทคในระดับภูมิภาค พี่แพมตัดสินใจยากมาก ระหว่างที่อยู่ในโค้งสุดท้ายของการตัดสินใจ Sea Group ก็ได้กลับเข้ามาในหัว พี่แพมได้กลับไปคุยกับเจ้านายคนเดิมแล้วเธอก็เลยอยากกลับไปทำงานอีกครั้ง สุดท้ายหลังจากที่ได้คุยกับเจ้านายเธอตัดสินใจส่งอีเมลไปปฏิเสธอีก 2 บริษัท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปฏิเสธโอกาสดีๆ แต่ที่ตัดสินใจแบบนั้นเป็นเพราะรูปแบบอิมแพคที่พี่แพมอยากสร้าง และตอนที่ไปเรียนที่ Yale ที่นั่นสอนเรื่อง Leaders for Business and Society ซึ่งเป็นคติที่พี่แพมยังคงเชื่อ เธอเชื่อว่าคนที่จะช่วยสร้างอิมแพคได้ดีที่สุดทั้งด้านสังคมและธุรกิจที่ตรงกับใจที่แพมที่สุดตอนนั้นก็คือ ShopeePay เท่านั้น และการที่บริษัทให้โอกาสเธอขนาดนี้ เธอจึงตัดสินใจกลับไปทำงานที่ Sea Group ทันที

 

การทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมายด์เซ็ทที่ต่าง ในครั้งแรกที่พี่แพมเริ่มทำงาน เธอเคยรู้สึกว่าเราอยู่ในจุดสูงสุดที่ดูแลผลิตภัณฑ์ระดับประเทศแล้ว ถ้าจะไปต่อคือต้องระดับภูมิภาค แต่สิ่งที่ลืมคิดไปคือไม่ใช่แค่ตัวเธอโตขึ้นอย่างเดียว แต่บริษัทก็โตขึ้นมากเช่นกัน Sea Group ในวันนั้นกับ Sea Group ในวันนี้เป็นคนละสเกลกันเลย พี่แพมที่กลับมาทำงานในหน่วยงานที่คล้ายๆเดิม แต่ด้วยวัยวุฒิของการบริหาร ทำให้เธอกลายเป็นผู้อาวุโสในบริษัททันที และการวางตัวหรือการตัดสินใจในการทำงานก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เธอไม่จำเป็นต้องลงมือทำทุกอย่างเอง ตอนนี้เธอมีทีมที่ใหญ่ เก่ง พร้อม รออยู่ในทุกด้าน พี่แพมมีหน้าที่คุมและคิดทิศทางให้ชัดเจน และบอกเป้าหมายของธุรกิจครั้งนี้ว่าต้องการอะไร เธอต้องดึงประสิทธิภาพของแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด และให้เขาเห็นหนทางว่ากำลังทำอะไรในเส้นทางไหน เพราะเมื่อก่อนปัญหาของตัวพี่แพมคือในบางครั้งอาจเห็นเส้นทางในการทำงานที่ไม่ชัดเจน ทำให้กังวล พอเธอรู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนของคนที่ทำงานหนักๆ เธอจึงอยากให้แสงนำทางให้กับพวกเขาว่าอะไรคือเป้าหมายระยะสั้น กลาง และ ยาว ไม่ใช่แค่ตัวงานแต่รวมถึงตัวคนทำงานด้วย

 

มุมมองของความคิดที่เปลี่ยนไป

ตอนเป็น MA พี่แพมเปรียบเทียบว่าเหมือนเธอเล่นรถไฟเหาะ มีทั้งช่วงที่กลัวมากแต่ก็มีช่วงที่มีความสนุก

แต่การกลับมาทำงานครั้งนี้มายด์เซ็ทไม่ใช่ธีมสวนสนุกแล้ว แต่กลายเป็นธีมออกรบ เหมือนเธออยู่ในสนามรบที่เธอพยายามขยายอาณาเขตของประเทศออกไปให้ไกลที่สุด เป้าหมายใหม่คือตอบตัวเองให้ได้ว่าเธอจะคุมทัพยังไง วางกลยุทธ์ยังไง เพื่อให้ทัพของเธอบุกไปในทุกๆ ร้านค้าแล้วมี ShopeePay อยู่ในทุกที่

 

เป้าหมายที่ยังทำไม่สำเร็จ

พี่แพมเพิ่งตัดสินใจลาออกจาก Sea Group เธอยอมรับว่าเธอรู้สึกเสียดายมากๆ แต่เธอยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ยังทำไมสำเร็จ Ownership สุดท้ายคือธุรกิจของที่บ้าน ซึ่งพี่แพมคิดว่าถ้าตอนนี้ไม่ทำ แล้วจะได้ทำตอนไหน สมมติอีก 5 ปีแต่งงานมีลูกขึ้นมาก็คงจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะมากแล้ว และโจทย์ที่ยากที่สุดคือเธอคือต้องมาทำงานให้คุณแม่ที่เธอมองเป็นไอดอลมาตลอดในวัยที่เธอโตมาขนาดนี้ เป็นโจทย์ที่เธอต้องรีบทำตอนที่ยังมีไฟ

ซึ่งจริงๆ แล้วพี่แพมมองว่าธุรกิจชุดนักเรียนของที่บ้านก็มีความเสี่ยง ในวันหนึ่งเด็กๆ อาจจะไม่ใส่ชุดนักเรียนแล้วก็ได้ แล้วถึงวันนั้นเธอจะหันหัวเรือของธุรกิจที่บ้านไปทางไหน ปรับโครงสร้างยังไง ปรับกลุ่มเป้าหมายยังไง เราจะเติมเต็มกลุ่มเป้าหมายปัจจุบันยังไงให้โตไปมากกว่านี้ ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์ที่พี่แพมตั้งเอาไว้และอยากจะทำให้สำเร็จในวัยนี้

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมากับช้อยส์ที่ตัดไปมากมายยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่พี่แพมไม่กล้าทำคือการเป็นผู้ประกอบการ เป็นสิ่งที่พี่แพมกลัวมาก เธอกลัวการทำธุรกิจเจ๊ง กลัวว่าจะทำออกมาไม่ดีเพราะไม่เชื่อใจตัวเอง ที่ผ่านมาเธอเชื่อใจในหัวหน้า เชื่อใจในลูกน้อง และเชื่อใจในบริษัท จึงกล้าทำทุกอย่างเพราะมีคนที่เชื่อใจอยู่ด้วยและผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้ แต่เธอยังไม่เชื่อใจตัวเอง เพราะฉะนั้นการเป็นผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งเดียวที่พี่แพมหนีมาตลอดทั้งชีวิต แล้วตอนนี้คือเวลาที่พี่แพมอยากลอง เพราะถ้าไม่ลองในครั้งนี้ก็ไม่รู้จะไปลองครั้งไหนแล้ว

 

สิ่งสุดท้ายที่พี่แพมอยากฝากถึงทุกคนคือ “Listen to your inner voice” การรับฟังเสียงในความคิดของตัวเอง ในวันที่ความคิดมีหลากหลาย และ มีคนมากมายที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายรูปแบบ

ตัวเราเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด ไม่ใช่ทุกความคิดจะปรับใช้กับชีวิตเราได้ เราต้องตกผลึกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตด้วยตัวเอง หาสิ่งที่เราทำดี สิ่งที่เราทำไม่ดี สิ่งที่เรามองหาใหม่ หาให้เจอว่าคืออะไร และสิ่งถัดไปที่เราอยากจะทำคืออะไร เพราะเราเป็นคนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด เรารู้ว่าต้องการอะไร และอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา

 

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights