พี่นาม สุรนาม: ผู้ก่อตั้ง Tofusan แบรนด์น้ำเต้าหู้ยอดขายกว่า 470 ล้านบาท

วันนี้ Career Fact จะมาพูดคุยกับ ‘พี่นาม’ สุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้ง Tofusan แบรนด์น้ำเต้าหู้ที่มียอดขายกว่า 470 ล้านบาท ติดตามได้ที่นี่

 

เริ่มธุรกิจแรกตอนอยู่ชั้นประถม

พี่นามเรียนที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ อย่างที่เรารู้กันว่าที่นี่เป็นโรงเรียนหญิงล้วน ดังนั้นผู้ชาย ที่จะเข้าไปเรียนได้ต้องมีพี่หรือน้องสาวเรียนอยู่ เพื่อผู้ปกครองจะได้รับส่งสะดวก ทำให้พี่นามกลายเป็นเด็กผู้ชายเพียงไม่กี่คน ในห้องเรียนที่เต็มไปด้วยเด็กผู้หญิง

โดยในสมัยนั้นมีขนมที่แถมสติ๊กเกอร์ในซองชนิดหนึ่ง กำลังเป็นที่นิยมในหมู่เด็กๆ ด้วยความที่บ้านของพี่นามอยู่ใกล้กับตลาดค้าส่ง เขาจึงเกิดไอเดียซื้อขนมชนิดนั้นในราคาส่ง แล้วนำมาขายให้เพื่อนในราคาที่ต่ำกว่าร้านทั่วไป พี่นามก็จะได้ส่วนต่างราคามาเป็นกำไร ปรากฏว่าขายได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว แต่ก็ต้องหยุดไปเพราะโดนครูจับได้

 

นักเคลื่อนไหวที่ใส่ใจรอบด้าน

เมื่อโตขึ้น พี่นามก็เริ่มตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของไทย และเคลื่อนไหวด้านนี้มาโดยตลอด ทำให้หลายๆ ครั้งก็มีโอกาสเข้าไปอยู่ในพื้นที่สื่อ นอกจากนั้นในช่วงมหาวิทยาลัย พี่นามยังได้ตั้งมูลนิธิ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น Training Center โดยได้ทุนจากภาครัฐถึง 15 ล้านบาท เพื่อมาทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ

จริงๆ แล้วพี่นามสอบติดคณะรัฐศาสตร์ แต่ที่บ้านไม่อนุญาตให้เรียน สุดท้ายจึงไปจบที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตามด้วยผลการเรียน ที่ประกอบกับประสบการณ์การทำงานในภาคการศึกษามาก่อน ก็ทำให้เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งต้องแข่งขันกับผู้สมัครอีกกว่าพันคน

พี่นามเล่าว่าเป็นทุนการศึกษาที่ดีมาก เนื่องจากครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง และมีเพียงเงื่อนไขว่าจะต้องกลับมาพัฒนาประเทศ โดยสาขาที่พี่นามเลือกไปเรียนคือ Development of Technology เห็นแบบนี้หลายคนคงคิดว่าเขาไปเรียนด้าน IT แต่ไม่ใช่เลย เพราะพี่นามเล่าว่า เขาได้เรียนเกี่ยวกับ ‘กังหันลม’ เรียนว่าประโยชน์ของมันคือการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ในอีกด้านเลวร้ายที่ไม่มีใครคิดถึงคือ มันสามารถทำให้วัวเป็นโรคบ้า เพราะเห็นแสงกระพริบที่เกิดจากแสงสะท้อนบนกังหันลมตลอดเวลา รวมถึงมนุษย์เองก็อาศัยบริเวณนั้นไม่ได้ เพราะเสียงของใบพัดที่ดังรบกวน เรื่องเหล่านี้เอง ที่ทำให้พี่นามเริ่มเข้าใจว่า ถ้าอยากจะสร้างอะไรขึ้นมา จะต้องคิดในบริบทต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านที่ดีและไม่ดี

 

ล้มและลุกหลายครั้งก่อนจะมาเป็นน้ำเต้าหู้

หลังจากกลับมาที่ประเทศไทย พี่นามได้มาช่วยงานที่ร้านขนมไทยของเพื่อน แต่ทำไปได้สักพักก็ชวนเพื่อนมาทำธุรกิจอื่น ซึ่งตอนนั้นมีอยู่ 3 อย่างในใจ คือ น้ำเต้าหู้ ชาไทย และข้าวเหนียวมะม่วง

พี่นามเล่าว่าช่วงที่ไปเรียนอยู่ออสเตรเลีย สิ่งที่ได้กลับมาเป็นวิชาความรู้เพียง 30% แต่อีก 70% คือประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ซึ่งมีทั้งการแอบไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารไทย ต้องล้างจาน ขับรถไปส่งของ ได้ทำอะไรหลายๆ อย่าง และตอนนั้นเองที่ทำให้เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจ นั่นก็คือ ที่ออสเตรเลียไม่มีข้าวเหนียวมะม่วงอร่อยๆ ให้ทาน พอเป็นแบบนี้พี่นามจึงได้พัฒนาสินค้า เป็นข้าวเหนียวมะม่วง ที่เพียงแค่นำทุกอย่างเข้าไมโครเวฟ กะทิก็จะเยิ้มลงข้าวอย่างลงตัว แต่ปรากฏว่าเมื่อสินค้าพร้อมขาย กลับเป็นช่วงที่ธุรกิจการบินเติบโต ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งผลไม้สดไม่ได้สูงเท่าแต่ก่อน ความต้องการของตลาดที่เคยมีจึงหายไป สุดท้ายธุรกิจนี้ก็ไม่ได้ไปต่อ

ส่วนธุรกิจชาไทย หลังจากลองทำ พี่นามก็พบว่าด้วยประสบการณ์ที่มีในตอนนั้น หากทำต่อไปเรื่อยๆ ก็คงทำได้เพียงการขายเฟรนไชส์ จึงตัดสินใจล้มเลิกในที่สุด ทำให้กลับมาที่ตัวเลือกสุดท้าย นั่นก็คือ ‘น้ำเต้าหู้’

 

ทำไมต้องเป็นธุรกิจอาหาร

พี่นามบอกว่าพออยู่กับอะไรมานาน ก็จะทำให้เรารู้ลึกเกี่ยวกับเรื่องนั้น เหมือนอย่างพี่นามที่มีโจทย์หลังจากกลับมาไทย ว่าต้องมาใช้ความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศ เขาจึงได้เข้าไปช่วยงานร้านขนมไทยของเพื่อน ที่รับสินค้าต่อมาจากชาวบ้านอีกที ซึ่งก็ทำให้พี่นามได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา หรือแม้กระทั่งใช้ความรู้ที่ได้จากอินเทอร์เน็ตมาสอนชาวบ้านต่อ ทำให้เริ่มมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหาร แล้วจึงต่อยอดมาจากตรงนั้น

 

ทำไมถึงเลือกธุรกิจน้ำเต้าหู้ทั้งที่มีเจ้าตลาดรายใหญ่ครองอยู่แล้ว

อย่างที่รู้กันว่าตลาดน้ำเต้าหู้มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว แต่พี่นามกลับมองเห็นช่องว่างเล็กๆ ในตลาดนี้ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง อย่างพ่อพี่นามก็ยังติดรสชาติน้ำเต้าหู้สดใหม่ ที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมากมาย ทำให้พี่นามมองว่าก็น่าจะมีกลุ่มคนประเภทเดียวกันที่ต้องการสินค้าประเภทนี้ ซึ่งพอพี่นามหาความต้องการของผู้โภคเจอ ธุรกิจมันก็เลยโตได้เร็ว

โดยในวันที่เชนร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เข้ามาติดต่อให้พี่นามไปวางขายน้ำเต้าหู้ เขายังไม่เชื่อเลยด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้น Tofusan ยังเป็นน้ำเต้าหู้ขวดแก้วที่ขายราคา 30 บาท สุดท้ายก็ต้องย่อขนาดลง เพื่อให้ขายได้ถูกลง จากนั้นจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นขวดพลาสติก ค่อยๆ พัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

แต่ปัญหาหลักๆ ก็คงเป็นเรื่องไม่มีเงินทุนสูงมาก จึงไม่สามารถดึงตัวคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วยได้ งานแทบทุกอย่างจึงต้องทำด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด ซึ่งพี่นามก็เล่าว่าต้องกัดฟันสู้ ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาคนในทีมให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

 

คำแนะนำสำหรับเพื่อน SME

ที่ผ่านมาพี่นามได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทรายใหญ่หลายๆ แห่ง ซึ่งปัญหาที่ทุกบริษัทเป็นเหมือนกันคือ ‘ความล่าช้า’ เนื่องจากมีขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ดังนั้นแม้ SME จะสู้เรื่องต้นทุนไม่ได้ แต่ต้องอย่าลืมข้อได้เปรียบของเรา ก็คือ ‘ความเร็ว’

อย่างไรก็ตามข้อด้อยของ SME อาจจะเป็นเรื่องผู้ประกอบการที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่มีเวลาที่จะไปหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม เรื่องนี้พี่นามได้แนะนำว่า ให้ลองหาเพื่อนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันเยอะๆ ซึ่งพอได้ความรู้อะไรใหม่ๆ มา ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนนำมาใช้ทันที ต้องดูด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นเหมาะกับธุรกิจเราหรือไม่ บางทีของเดิมที่มีอยู่อาจจะเหมาะแล้ว เพียงแค่ปรับอีกนิดเพื่อให้มีดีได้มากกว่าเดิม

 

นิยามและบทบาทในการบริหารงาน

ปรัชญาในการบริหารองค์กรของพี่นามคือ ‘ความใส่ใจ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่นามพยายามส่งต่อให้กับพนักงานทุกๆ คน เริ่มตั้งแต่พนักงานใหม่ต้องมีพี่เลี้ยงที่ดูแลถึงขั้นการการพาไปทานข้าวในวันแรกๆ ของการทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้จะไม่ได้มีกฎข้อบังคับชัดเจน แต่ก็ได้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่พี่นามพยายามจะสร้างขึ้นมา

และเมื่อถามถึงบทบาทหน้าที่ของพี่นามในปัจจุบัน นอกจากการคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้ธุรกิจเติบโตแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญก็คือ ‘การสนับสนุนพนักงานทุกคน’ โดยพี่นามเล่าว่า แม้คนในองค์กรจะมองเขาเป็นเจ้านาย แต่ในมุมกลับกันแล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น คนที่ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขก็คือพี่นาม เริ่มตั้งแต่การเข้าไปขอโทษเมื่อเกิดข้อผิดพลาด จากนั้นก็ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก

 

จังหวะเวลาและพนักงานคือปัจจัยสู่ความสำเร็จ

เมื่อถามถึง Key Success Factor พี่นามได้ให้คำตอบว่าคือเรื่องของ ‘เวลาที่ถูกต้อง’ เพราะจริงๆ แล้ว ก็มีผู้เล่นหลายคนที่เข้ามาสู่ตลาดนี้ก่อนและหลังจาก Tofusan แต่ก็อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่า อย่างไรก็ตามมีจังหวะที่ดีอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ ต้องมี ‘พนักงาน’ ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทไปสู่ความสำเร็จด้วย

ดังนั้นพี่นามจึงให้ความสำคัญกับพนักงานมาก แม้จะมีเงินทุนจำกัด แต่พนักงานจะต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้ เช่น มีการเลี้ยงข้าวร้านดังทุกวันศุกร์ เพราะเมื่ออยู่ในธุรกิจอาหาร ก็อยากให้พนักงานรู้ว่าอาหารที่ดีเป็นอย่างไร หรือมีฝ่ายหัวหน้าและ HR ที่รับฟังและคอยช่วยแก้ปัญหาให้ทุกเรื่องแม้จะไม่ใช่เรื่องงานก็ตาม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานทำงานแล้วมีความสุข

 

เป้าหมายด้านชีวิตและธุรกิจ

เป้าหมายชีวิตของพี่นามค่อนข้างเรียบง่ายเขาหวังแค่พอมีพอใช้ไม่ขัดสน แต่ถ้าเป็นในมุมของธุรกิจพี่นามก็อยากให้ Tofusan เป็นบริษัทไทยที่พัฒนา Innovation Food จนสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่งวิธีการที่จะทำให้บริษัทพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ก็คือต้อง ‘ลองผิดลองถูก’ เพราะพี่นามเชื่อว่า ทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นความล้มเหลวจึงเกิดขึ้นได้ และเมื่อล้มเหลวบ่อยๆ คนในองค์กรก็จะรู้ว่าเขาสามารถล้มเหลวได้ และเมื่อเกิดความผิดพลาดก็จะมีผู้บริหารอย่างพี่นามที่คอยแก้ปัญหาอยู่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่สะดุด

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights