ทำงานใน UN ทำอะไร?
สิทธิมนุษยชนก็คืองานอาสาจริงเหรอ?
Career Fact มีคำตอบจาก ‘พี่ตั้ม’ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักสิทธิมนุษยชนผู้ได้ทำงานร่วมกับองค์กรสหประชาชาติ (United Nations) หรือที่เรามักจะเรียกสั่นๆ ว่า UN พี่ตั้มจะมาเล่าเรื่องราวเส้นทางอาชีพด้านสิทธิมนุษยชนของเขาและอธิบายงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ทุกคนเข้าใจกัน
เอาชนะอคติทางเพศ
ครอบครัวพี่ตั้มถ้าไม่ทำงานสายแพทย์ก็ทำธุรกิจ พี่ชายเป็นแพทย์ พี่สาวเป็นทันตแพทย์ พี่ตั้มจึงเป็นเหมือนแกะดำในครอบครัว ตอนนั้นขอบเขตจินตนาการของเขาค่อนข้างแคบ ไม่รู้ว่าอาชีพที่เป็นไปได้มีอะไรบ้าง ยิ่งงานสิทธิมนุษยชนที่ทำอยู่ตอนนี้ยิ่งนึกไม่ถึงเลย
จุดเปลี่ยนของพี่ตั้มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงม.ต้น เมื่อพี่ตั้มเปิดตัวว่าเป็นเกย์ ตอนนั้นสังคมยังไม่เปิดกว้าง และยังมีการตีตราว่าการเป็นเกย์นั้นน่าอาย คนเป็นเกย์ไม่มีทางประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ตอนแรกแน่นอนว่าเขาก็หงุดหงิด แต่ไปๆ มาๆ ก็เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมสังคมเราถึงมีอคติทางเพศมากขนาดนี้ ทำไมถึงมีคนที่ถูกกดขี่ ถูกมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นธรรม เพียงเพราะการมีเพศสภาพที่แตกต่าง พี่ตั้มจึงเริ่มสนใจศึกษาด้านสังคมขึ้นมา
พี่ตั้มเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคิดว่าหลายคนในกลุ่มนี้น่าจะมีความคิดที่คล้ายๆ กันในแง่ของการอยากพิสูจน์ว่าสิ่งที่เคยโดนคนอื่นดูถูกนั้นไม่จริง และแสดงให้เห็นว่าเราก็ประสบความสำเร็จได้ จากที่เคยเป็นเด็กเรียนได้กลางๆ ก็เลยตั้งใจเรียนมากขึ้นจนมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้
เรียน Dual Degree
เมื่อเข้ามาเรียนที่เตรียมอุดมฯ ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะเพื่อนส่วนใหญ่เข้าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์กันหมด พี่ตั้มก็ไปสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เหมือนกัน เพราะสนใจเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนและกฎหมายมหาชน
ด้วยความที่พี่ตั้มสอบในรอบรับตรงเลยสอบเสร็จเร็วกว่าคนส่วนใหญ่ จึงมีเวลาว่างพอที่จะหาข้อมูลเรื่องการเรียนต่อที่ต่างประเทศ จนไปเจอมหาวิทยาลัย Sciences Po ที่ประเทศฝรั่งเศส พี่ตั้มลองไปสมัครแต่ไม่ได้คิดว่าจะไป จนได้ไปสัมภาษณ์แล้วสนใจมาก เพราะคิดว่าการเรียนการสอนของเขาน่าจะต่างจากที่ไทยมาก วิธีการสัมภาษณ์คือให้ไปทำแบบฝึกหัด ให้บทความกึ่งนิตยสารกึ่งวิชาการเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เวลาไม่ถึงชั่วโมงในการให้เรามาพรีเซนต์ เพื่อดูว่าเราหาจุดสำคัญของเรื่องนี้และนำไอเดียมาพัฒนาต่อได้หรือไม่ ซึ่งตลอดหลายปีในโรงเรียนไทยไม่เคยได้ทำอะไรแบบนี้เลย พอได้ลองทำก็ชอบมาก พี่ตั้มจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่นั่น
พี่ตั้มเลือกเรียนแบบ Dual Degree หรือปริญญาแบบควบ คือ 2 ปีเรียนที่ฝรั่งเศส และอีก 2 ปีเรียนที่มหาวิทยาลัยที่เป็น Partner กันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาได้วุฒิปริญญาบัตร 2 ใบ
ปกติแล้ว Dual Degree ต้องสมัครตั้งแต่ตอนม.ปลาย ตอนนั้นพี่ตั้มไม่ได้ศึกษามาก่อนเลย แต่โชคดีที่ปีนั้นเปิดนักเรียนในโครงการนี้เพิ่ม แม้จะเปิดรับเพียงแค่คนเดียว พี่ตั้มก็ไม่ปล่อยโอกาสทิ้งไป เขาลองไปสมัครโดยไม่คิดว่าจะได้รับเลือก เพราะคนที่เกรดสูงๆ สมัครเยอะมาก แต่สุดท้ายเขาก็ได้โควต้านั้น เมื่อลองไปถามกรรมการภายหลังก็พบว่าเขาชอบเรียงความของพี่ตั้มมาก จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับเลือก
เรียงความของพี่ตั้มได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่พี่ตั้มได้ทุนไปเรียนซัมเมอร์ที่ประเทศโคโซโว เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมากที่สุดในยุโรป ในขณะนั้นโคโซโวมี UN เข้ามาดูแลปรับปรุงสถาบันการเมืองให้ดีตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่กลายเป็นว่าคนไม่ได้รู้สึกชื่นชมกับสิ่งนี้และไม่รู้สึกว่ามันช่วยอะไรชีวิตพวกเขา ทำให้พี่ตั้มรู้สึกสนใจและอยากศึกษาสังคมในสเกลที่เล็กลงมากขึ้น เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงรากของปัญหา
พี่ตั้มเขียนเรื่องนั้นลงไปในเรียงความ เขาอยากเรียนด้านมานุษยวิทยาที่ Columbia University ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่ม เพราะสาขาการเมืองเปรียบเทียบที่เขาเรียนอยู่ที่ Sciences Po เน้นสถาบันกฎหมาย สถาบันการเมือง ซึ่งสอนให้เข้าใจหน้าที่ต่างๆ ของสถาบัน แต่ไม่ได้ทำให้เข้าใจว่าชีวิตคนได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากสถาบันเหล่านี้ อะไรคือปัจจัยที่สถาบันเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์กับชีวิตพวกเขา
เรียนจบแล้วทำอะไร
คนที่เรียนจบการเมืองเปรียบเทียบส่วนมากเป็นนักวิชาการ สำหรับสาขาการเมืองเปรียบเทียบ หลายคนจะทำงานในพรรคการเมืองหรือนักวิเคราะห์นโยบาย ส่วนคนที่สนใจทำภาคเอกชนก็อาจไปทำด้าน HR ถ้าจบมานุษยวิทยาแล้วมีทักษะ IT ด้วยก็มีจำนวนไม่น้อยที่หันไปทำงานด้าน UI/UX เพราะนำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์มาประยุกต์กับภาคธุรกิจได้
งานสิทธิมนุษยชนมีงานหลายประเภทให้ทำ แบ่งเป็นองค์กรแสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร ในส่วนขององค์กรแสวงหาผลกำไร คนที่สนใจอาจไปทำตำแหน่งด้านตรวจสอบการมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน ส่วนตัวอย่างองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น NGO หน่วยงานรัฐ และ UN ซึ่ง NGO ก็มีหลายระดับตั้งแต่ระดับชุมชนไปถึงระดับนานาชาติ
ฝึกงานครั้งแรกกับUN
พี่ตั้มอยากเรียนต่อไปจนถึงปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาเพราะชอบเรียนรู้ในด้านนั้นมาก จึงคิดว่ากลับมาไทยเพื่อหาประสบการณ์และคิดหัวข้อวิจัยไปพลางๆ
ตอนแรกพี่ตั้มอยากเป็นนักวิชาการ เพราะมีอิสระ สามารถวิจารณ์อะไรต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง แต่พอได้มีโอกาสฝึกงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของ UN แล้วกลายเป็นว่าชอบงานที่ได้ทำ เขาจึงเปลี่ยนใจเลื่อนแพลนเรียนต่อออกไปก่อน การทำงานใน UN ทำให้เข้าใจประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหลากหลาย ซึ่งตรงกับเรื่องที่เขาสนใจพอดี อย่างเช่นเรื่อง จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อก่อนพี่ตั้มไม่ได้คิดว่าน่าสนใจ แต่พอศึกษาจริงๆ พบว่าเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน มีปัญหาประเด็นให้แก้
ระหว่างการฝึกงาน พี่ตั้มรู้จักกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็น NGO ที่ทำงานด้านความยุติธรรมสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และหลังจากจบการฝึกงาน เขาได้ตัดสินใจเข้าทำงานในมูลนิธิฯ ในตำแหน่งนักวิจัย โดยทำหน้าที่เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้และชุมชนชนพื้นเมืองในชายแดนภาคเหนือเป็นหลัก
งานที่ต่างกัน
หลังจากทำงานเป็นนักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนมาระยะหนึ่ง พี่ตั้มได้ย้ายทำงานที่บริษัท Asia Group Advisors (AGA) ซึ่งเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรที่ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ(Public policy) เป็นพิเศษ
ลักษณะงานต่างจากเดิมมาก ตอนทำ NGO ถ้าเจอปัญหาที่ขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนต้องหาทางตอบโต้เสมอ แต่พอเป็นงานในบริษัทที่แสวงหาผลกำไร สิ่งสำคัญคือความต้องการของลูกค้า งานที่เขาทำออกมาก็ต้องสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าด้วย
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันในการทำงานแต่พี่ตั้มชอบมากคือการได้ใช้เวลาในการทำศึกษาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น การคิดกลยุทธ์ต่างๆ อย่างละเอียด และคิดว่าจะทำงานยังไงให้บริษัทใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ได้ผลลัพธ์ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ดีที่สุด
กลับมาทำงานกับ UN อีกครั้ง
ในขณะที่การทำงานกับ AGA ให้ทักษะการทำงานกับพี่ตั้มมากมาย เขาก็ยังคงอยากกลับมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตามความมุ่งมั่นเช่นเดิม
แม้พี่ตั้มจะมีแผนไปศึกษาต่อด้าน Politics and International Studies ที่ Cambridge University ณ ประเทศสหราชอาณาจักรในช่วงปลายปีนี้ เขาอยากก้าวกลับมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก่อน เขาจึงสมัครและได้รับเลือกกลับเข้ามาทำงานในตำแหน่ง Human Rights Consultant ที่ UN ในหน่วยงานเดิม ปัจจุบัน เขามีความรับผิดชอบมากขึ้นจากช่วงที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกงาน โดยทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างๆได้อย่างเต็มที่
วันที่บอกที่บ้านว่าจะทำงานนี้
พี่ตั้มกล่าวแบบติดตลกว่าลำพังแค่เรื่องไม่เป็นหมอก็น่าจะทำให้ที่บ้านอกหักได้มากพอสมควรแล้ว พอรู้ว่ามาทำสิทธิมนุษยชนอีกยิ่งทำเขาอกหักไปกันใหญ่
ตอนฝึกงานที่ UN ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก ที่บ้านคงคิดว่ากำลังหาลู่ทางทำงาน แต่เมื่องานต่อมาเริ่มทำ NGO ก็เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ ที่บ้านไม่เข้าใจว่าพี่ตั้มทำอะไร คิดว่าไปช่วยเหลือคน แล้วเขาจะไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ไปทำงานอาสาสมัครในวันเสาร์อาทิตย์แทน ครอบครัวจะพยายามชี้ชวนให้พี่ตั้มหันไปทำงานอื่นตลอดเวลา คอยแนะนำงานให้ว่ามีที่ไหนเปิดรับเพิ่มไหม
สำหรับพี่ตั้ม ครอบครัวอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจงานของเขา 100% ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่กว้าง นอกจากความยากลำบากในการอธิบายเนื้องานซึ่งไม่ใช่ประเภทงานที่แพร่หลายนัก อีกหนึ่งข้อท้าทายสำหรับผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนคือ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอาจขัดกับอุดมการณ์ของพ่อแม่ โดยเฉพาะหากพวกเขามีอุดมคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมไม่ตรงกับเรา เราอาจหาจุดบาลานซ์ที่เราจะพออยู่ด้วยกันได้ เช่นเราก็อธิบายให้เขาฟังแค่ในจุดหนึ่ง แต่บางเรื่องก็ไม่ต้องไปพูดถึง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยึดมั่นในเป้าหมายของเราและอาจมองหาคนรอบตัวที่สามารถคอยสนับสนุนและช่วยรักษาจิตใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ
แม้ปัจจุบันที่บ้านยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่ได้เห็นด้วยกับงานประเภทนี้เท่าไร แต่สิ่งที่ครอบครัวพี่ตั้มปฏิเสธไม่ได้คือ ‘ความพยายาม’ ของพี่ตั้ม และเส้นทางอาชีพก็มีความก้าวหน้าขึ้นมาอย่างชัดเจน ทำให้ครอบครัวไม่สามารถที่จะเถียงได้ว่าชีวิตพี่ตั้มไม่มีความมั่นคง
ปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย
แน่นอนว่ามีปัญหาสิทธิมนุษยชนอยู่มากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญในเมืองไทยคือ ความไม่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีอำนาจ บางครั้งสิทธิมนุษยชนถูกมองว่าเป็น ‘อภิสิทธิ์’ คนที่ออกมาเรียกร้องคือคนที่อยากได้เพิ่ม ถูกมองว่าเป็นคนเรื่องมากเอาแต่ใจ ซึ่งในความเป็นจริงมันคือสิ่งที่เราทุกคนพึงมี และการออกมาพูดเป็นแค่การเรียกร้องสิ่งที่ทุกคนควรจะได้รับอยู่แล้ว ปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง จึงทำให้คนเริ่มตระหนักรู้กันมากขึ้น พี่ตั้มคิดว่านี่จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศที่สำคัญ และต่อไปก็หวังว่าจะมีคนเข้ามาทำงานในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
สิทธิมนุษยชน? งานการกุศล?
มุมมองของคนในสังคมไทยมักจะสับสนระหว่างงานการกุศลและงานสิทธิมนุษยชน ตอนแรกที่พี่ตั้มทำงานกับมูลนิธิ เมื่อมีคนถามว่าทำงานที่ไหนแล้วพี่ตั้มพูดชื่อมูลนิธิขึ้นมา คนจะคิดว่าพี่ตั้มทำค่ายอาสาช่วยเหลือเด็ก หรือเป็นงานแนวอาสา งานการกุศลช่วยเหลือคน
ความเป็นจริงแล้วงานสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่ต้องการแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่และมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น ในแง่ที่พยายามเปลี่ยนความคิดของสังคม เปลี่ยนบรรทัดฐาน เพื่อให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น และให้คนเข้าถึงโอกาสในชีวิตมากขึ้นและเท่าเทียมกัน
ความแตกต่างคือถ้าเราทำงานการกุศล เมื่อเราเห็นปัญหาเฉพาะหน้าแล้วเราเข้าไปแก้ เช่น เราเห็นคนในชุมชนหนึ่งไม่มีข้าวกิน เราก็เอาข้าวไปให้เขากิน แต่ถ้าเป็นงานสิทธิมนุษยชนเราจะเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเขาไม่มีข้าวกิน รากฐานของในความเหลื่อมล้ำสังคมคืออะไร หรือเขาถูกละเมิดสิทธิอะไรหรือเปล่า ทำไมเขาถึงไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่าคนอื่นๆ และเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนได้ยังไง มากกว่าที่เราจะเอาข้าวไปยื่นให้เขากิน
บทเรียนที่อยากจะฝาก
หลายคนที่สนใจเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอาจรู้สึกท้อ ไม่ว่าเนื่องจากแรงกดดันหรือความไม่เข้าใจของครอบครัว หรือข้อจำกัดอื่นๆ ในสังคมไทย แต่อยากขอให้รักษาความมุ่งมั่นไว้เพราะการได้เข้ามาทำงานด้านนี้จะคุ้มค่าอย่างแน่นอน
ความสนุกของงานสิทธิมนุษยชนคือการได้เรียนรู้จากคนหลากหลายแบบ หากเรายิ่งเปิดกว้างและถ่อมตัวก็จะยิ่งสามารถเรียนรู้ได้มาก และการเข้าใจความหลากหลายนั้นจะทำให้เราทำงานสิทธิมนุษยชนได้ดีขึ้น
แม้งานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีผลสำเร็จชัดเจนเหมือนงานธุรกิจที่มีกำไรเป็นความสำเร็จเชิงรูปธรรม แต่งานสิทธิมนุษยชนเราตั้งเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เป็นโปรเจกต์ใหญ่ คนที่ทำต้องเข้าใจและอดทนเพื่อช่วยกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เราตั้งใจ