Cancel Culture วัฒนธรรม ‘แบน’ ที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภค

#แบนfoodpanda กลายเป็นแฮชแท็กที่ร้อนแรงที่สุดในช่วง 1-2 วันมานี้ แต่ผลกระทบของแฮชแท็กนี้ไม่ได้เกิดแค่ในโลกออนไลน์เท่านั้นเมื่อมีผู้ใช้งานพร้อมใจกันลงมือยกเลิกบัญชีบนแอปพลิเคชันจน foodpanda ต้องนำปุ่มยกเลิกบัญชีออก ทั้งยังมีร้านอาหารประกาศยกเลิกการเป็นพาร์ทเนอร์กับ foodpanda เป็นจำนวนมาก

ปรากฏการณ์ ‘แบน’ แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและไม่ได้เกิดขึ้นในแค่เมืองไทย วันนี้ Career Fact จึงพาทุกคนไปเจาะลึกกับความหมายของ Cancel Culture หรือ วัฒธรรมการคว่ำบาตร ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร แล้วทำไมถึงมีอิทธิพลมากมายต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน

 

Cancel Culture คืออะไร

Cancel Culture หรือวัฒนธรรมการยกเลิก พูดง่ายๆ ก็คือสถานการณ์ที่กลุ่มคนในสังคมรวมตัวแล้วช่วยกัน ‘ยกเลิก’ หรือ cancel อะไรบางอย่างที่พวกเขารู้สึกว่ามีปัญหาหรือขัดแย้งกับแนวคิดและหลักการของพวกเขา ไล่ตั้งแต่ผู้คน แบรนด์ ภาพยนตร์ รายการทีวี และอื่นๆ อีกมากมาย ตราบเท่าที่เราจะนึกออกได้

ปัจจุบันวัฒนธรรมนี้มักโลดแล่นอยู่บนอินเตอร์เน็ต เป็นการแสดงออกของผู้คนที่มักไม่มีอำนาจหรือชื่อเสียงอะไรมากมาย เพื่อส่งสารบอกไปถึงพวกผู้มีอำนาจทั้งหลายที่อยู่ด้านบนว่า เสียงของพวกเขาเองก็มีความหมายไม่น้อยไปกว่าใครๆ และพวกเขาก็สามารถสั่นคลอนหอคอยงาช้างได้เช่นกันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ตัวอย่างของ Cancel Culture ในโลก

มีหลายแบรนด์ระดับโลกที่เคยถูกแคนเซิลหรือคว่ำบาตรมาก่อนบนโลกอินเตอร์เน็ต เพราะการกระทำที่ขัดขวางการแสดงออกของพนักงานหรือขัดแย้งกับหลักการสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Starbucks ที่สั่งห้ามไม่ให้พนักงานสวมเสื้อยืดและเข็มกลัดของกลุ่มที่เรียกร้อง Black Lives Matter หรือแบรนด์ Pepsi ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการนำขบวนประท้วงต่างๆ ทั่วโลกมาทำเป็นโฆษณา ซึ่งเป็นนัยว่าลดทอนคุณค่าของการเคลื่อนไหวนั้นๆ

ถ้าเป็นในฝั่งของคน นักเขียนเจ้าของนามปาก JK Rowling ผู้รังสรรค์โลกเวทมนตร์อมตะตลอดกาลอย่าง Harry Potter ก็คือคนที่ถูกแคนเซิลบ่อยเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว เรื่องล่าสุดก็น่าจะเป็นความคิดเห็นของเธอบนโลกอินเตอร์เน็ตที่แสดงความรังเกียจคนข้ามเพศอย่างชัดเจนจนโดนผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากโจมตี

กระทั่งการ์ตูนดิสนีย์บางเรื่องในยุคก่อนๆ ก็ถูกเอามาพูดถึงในแง่ที่เหยียดสีผิว (Racism) และกลายเป็นตัวอย่างไม่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนด้วย

 

Cancel Culture เป็นเรื่องดีจริงไหม

ข้อดีหนึ่งของ Cancel Culture คือการแสดงออกถึง Free Speech ของคนธรรมดาทั่วไป ว่าพวกเขามีสิทธิมีเสียงจะชื่นชอบ สนับสนุน หรือเลิกติดตามใครก็ได้ และยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้บริโภค เพราะเมื่อคนดัง แบรนด์ หรือสื่อต่างๆ เลือกจุดยืนของพวกเขาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน พวกเขาก็ต้องยอมรับในผลของการกระทำที่จะตามมาให้ได้ หรือเมื่อมีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้นการใช้วิธี ‘แบน’ ก็ส่งผลกระทบต่อตัวแบรนด์หรือบริษัทไม่น้อยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มองว่าวัฒนธรรมแบบนี้เป็นเรื่อง Toxic หรือเป็นพิษต่อสังคมเป็นอย่างมาก มองว่าเป็นแนวคิดที่ซ้ายหรือ Liberal จนสุดโต่งเกินไปที่จะแคนเซิลทุกๆ อย่างหรือทุกๆ คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แนวคิดนี้จึงยังคงเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันอยู่

จากสถานการณ์ภายในประเทศไทย มีประชาชนมากมายออกมาเรียกร้อง (Call Out) บนโลกอินเตอร์เน็ตให้เหล่าคนดัง ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ออกมาพูด (Speak Up) หรือใช้เสียงของตัวเองที่กระจายได้ไวกว่าและทั่วถึงกว่าคนทั่วไปเพื่อพวกเขาบ้าง และใครที่เลือกจะไม่ทำหรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยู่เคียงข้างความรุนแรง ก็มักจะถูกแบนหรือแคนเซิล โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของประเทศ

 

Career Fact ไม่ได้กำลังด่วนสรุปว่า Cancel Culture เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่อย่างไร แต่เรากำลังอยากจะให้ทุกท่านมองเห็นต้นตอของปัญหา ว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้น และผลลัพธ์ของมันจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

 

ขอสู้เคียงข้างประชาชนทุกคน

 

อ้างอิง
https://bit.ly/3wSq6Z3
https://bbc.in/2UhPKJQ
https://bbc.in/36HvBPV

สูตรความสำเร็จกับ "ที่สุด" ของประเทศ

คอร์สออนไลน์กับผู้บริหาร ผู้นำทางความคิด แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

Verified by MonsterInsights